เนี๊ยะอ์มะฮ์ (ความโปรดปราน)
  จำนวนคนเข้าชม  18453

เนี๊ยะอ์มะฮ์ (ความโปรดปราน)

โดย อ.มุนีร  มูหะหมัด

          เนี๊ยะอ์มะฮ์ คือ ความโปรดปรานที่พระองค์อัลลอฮ์  ประทานมายังปวงบ่าวของพระองค์ เป็นความเมตตาที่พระองค์ประทานมายังบรรดาสรรพสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์ ต้นไม้ ฯลฯ สำหรับความโปรดปรานที่พระองค์ประทานให้กับมนุษย์นั้น มีความยิ่งใหญ่มหาศาลมากกว่าสิ่งถูกสร้างอื่นๆ

         พระองค์ทรงทำให้มนุษย์มีความสามารถเหนือปวงบ่าวของพระองค์ มนุษย์สามารถนำต้นไม้มาสร้างเป็นบ้านเพื่อพักอาศัย นำสัตว์มาเลี้ยงให้เชื่องเพื่อใช้งาน เช่น นำช้างมาฝึกลากไม้ นำควายมาใช้ไถนา นำวัวมาเทียมเกวียน นำม้ามาใช้ขี่ สัตว์บางชนิดมาเป็นอาหาร สามารถใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นประโยชน์ตามความเหมาะสม เพื่อความสะดวกสบาย และความผาสุขของมนุษย์

          แต่ธรรมชาติของมนุษย์ มักเป็นผู้ละเมิด ดังที่พระองค์อัลลอฮ์  ทรงตรัสไว้ในซูเราะฮ์ อัลอะลัก อายะฮ์ที่ 6 ว่า

"หามิได้ แท้จริงมนุษย์เป็นผู้ละเมิดอย่างแน่นอน"

          ทั้งๆที่พระองค์อัลลอฮ์  ได้ประทานสติปัญญาให้แก่มนุษย์ เพื่อใช้จำแนกแยกแยะว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว รวมทั้งได้ส่งศาสนฑูต ผู้มาเผยแพร่ศาสนาโดยนำหลักฐานอันชัดเจนคือ คัมภีร์อัลกุรอาน เพื่อชี้แจงพร้อมทั้งแนะแนวทางให้แก่มนุษย์ถึงข้อปฏิบัติ และทบทวนการกระทำต่างๆ ว่าถูกต้องตามหลักคุณธรรมและจริยธรรม หรือไม่ ?

          แต่ด้วยความเป็นผู้ละเมิดของมนุษย์ เขาจึงคิดว่า ตนเองคือผู้ยิ่งใหญ่ มีความสามารถที่จะเลือกเฟ้นในสิ่งที่ตนเองต้องการ ไม่ว่าจะดีหรือชั่ว ชอบด้วยบัญญัติศาสนาหรือขัดต่อหลักทางศาสนา และคิดว่าเขาจะต้องได้รับความสำเร็จตามที่เขาต้องการ โดยลืมนึกไปว่าความสำเร็จที่ได้มานั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากพระประสงค์ของอัลลอฮ์  เพราะฉะนั้นการแสดงออกซึ่งความกตัญญู จึงไม่มีออกจากปากของมนุษย์บางกลุ่ม บางพวก หรือบางคน

          แท้จริง สิ่งที่ควรอยู่ในใจของมนุษย์ตลอดเวลา คือ มีความซื่อสัตย์ต่ออัลลอฮ์ มีความกตัญญูกตเวทีต่อพระองค์ เพราะเป้าหมายในการสร้างมนุษย์ของอัลลอฮ์  คือ การเคารพภักดีต่อพระองค์ และการเป็นผู้แทนในการดูแล สร้างสรรค์ พัฒนา และนำความสันติสุขมายังโลกมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ที่จะต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนสมบูรณ์ แม้ว่าจะต้องฟันฝ่าต่ออุปสรรคต่างๆก็ตาม ในฐานะของความเป็นมนุษย์ ภารกิจทั้งสองนี้ถือเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องปฏิบัติ หากผู้ใดไม่ปฏิบัติ โดยการแสดงออกทั้งคำพูดและการกระทำ ถือว่ามนุษย์ผู้นั้นเป็นคน"ตระบัดสัตย์" หรือ "อกตัญญู"

          คำว่า"กตัญญู" คือการตอบแทนบุญคุณของผู้ที่มอบความเมตตามาให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระองค์อัลลอฮ์  ซึ่งพระองค์ทรงมอบความเมตตาให้แก่มนุษย์อย่างมากมาย ให้มีสุขภาพดีไม่เจ็บป่วย ให้มีฐานะดีมั่นคงไม่ขาดแคลน ให้มีลูกหลานที่ภักดีต่ออัลลอฮ์ ประพฤติตนอยู่ในโอวาทไม่นำความเดือดร้อนใจมาให้ จึงจำเป็นที่จะต้องแสดงความกตัญญูต่อพระองค์ให้มาก ถ้าดูอายะฮ์ที่ 11 ของซูเราะฮ์ อัฏฏุฮา อัลลอฮ์  ทรงตรัสว่า

"และส่วนความโปรดปรานของพระเจ้าของเจ้า พวกเจ้าจงกล่าวถึง"

           นักวิชาการส่วนใหญ่กล่าวว่า คำว่า"จงกล่าวถึง"  หมายถึง การกล่าวขอบคุณต่ออัลลอฮ์  ด้วยการสดุดี สรรเสริญ เทิดทูนความยิ่งใหญ่ของพระองค์อย่างจริงใจ มีความบริสุทธิ์ใจในการปฏิบัติอิบาดะฮ์ แสดงความเคารพต่อพระองค์ ผู้ใดปฏิบัติคล้ายการแสดงนั่นคือการเสแสร้ง แกล้งทำ และการกระดิกลิ้นไปตามอารมณ์เท่านั้น พระองค์อัลลอฮ์  ทรงรู้ยิ่งถึงเจตนาที่อยู่ภายในหัวใจของมนุษย์ผู้นั้นว่าเป็นอย่างไร.............