'เสริมพลังเรียนรู้' ให้ถูกทางลูก
  จำนวนคนเข้าชม  16830

 'เสริมพลังเรียนรู้' ให้ถูกทางลูก

 
 
       เพราะเด็ก คือวัยที่จะพร้อมรับสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในช่วง 1-7 ขวบ จะเป็นช่วงที่สมองซีกขวาเปิดกว้างมากที่สุด ซึ่งการทำงานจะเร็วกว่าผู้ใหญ่หลายเท่า ถ้าพ่อแม่ใส่เรื่องที่ดี เด็กก็จะเก็บไว้เป็นพลังแห่งการสร้างสรรค์ และจะทยอยปลดปล่อยออกมาเรื่อยๆ ตลอดชีวิต แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เลวร้าย ก็จะมีพลังแฝงแห่งการทำร้ายชีวิตได้เช่นกัน
      
       ความสำคัญของพลังในวัยเด็กข้างต้น ถือเป็นพลังที่มีความสำคัญต่อตัวเด็ก โดยมีพ่อแม่เป็นตัวแปรต่อพลังที่จะเกิดขึ้น กับเรื่องนี้ ทันตแพทย์สม สุจีรา เผยถึงความสำคัญของพลังในวัยเด็กให้ฟังว่า เด็กทุกคนมีความสงสัย หรือความอยากรู้อยากเห็นอยู่ในตัว เพราะการกระตุ้นจากสมองซีกขวา ซึ่งคำตอบที่ได้ แม้จะไม่เข้าใจ แต่จะถูกฝังไว้เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการค้นหาในอนาคต
      
       เช่น เด็กที่สนใจวิทยาศาสตร์ อาจสงสัยว่า “ทำไมปลาหายใจในน้ำได้ แล้วทำไมคนถึงหายใจในน้ำไม่ได้” เมื่อเด็กยิ่งสงสัย ความรู้สึกนั้น จะเหมือนสปริงที่ถูกอัดไว้ พอถึงเวลาที่เหตุ ปัจจัย และวัยที่เหมาะสม หรือมีโอกาสได้ศึกษา พลังแห่งความสงสัยที่ฝังอยู่จะส่งผลทันที นั่นคือแรงจูงใจ ในการศึกษาเรื่องนั้นเป็นพิเศษโดยที่หาเหตุผลไม่ได้ ดังนั้นสำหรับพ่อแม่ ถ้าลูกเล็กๆ ช่างซักช่างถาม ไม่ควรแสดงอาการเบื่อหน่าย เพราะถ้าเด็กเข้าใจผิดว่า ความสงสัยเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่าย อาจเป็นอันตรายกับชีวิตในอนาคตของตัวเด็กได้
      
       อย่างไรก็ดี คุณหมอ ขอให้ชื่นชมในความสงสัยของลูก และพยายามตอบให้มากที่สุด ไม่ว่าจะค้นจากหนังสือ หรือจากแหล่งอื่นๆ แม้ว่าลูกจะไม่เข้าใจ แต่ขอให้เชื่อว่า ในอนาคต เขาจะนำความรู้จากการตอบ และอธิบายของพ่อแม่ในครั้งนั้น มาหาคำอธิบายเอง ซึ่งบางครั้งอาจรู้สึกว่า ลูกไม่ตั้งใจฟังคำตอบ แต่แท้ที่จริง ตัวเด็กได้บันทึกลงสมองไปเรียบร้อยแล้ว นั่นเพราะสมองของเด็กสามารถรับข้อมูลได้ไวกว่าผู้ใหญ่ 3 เท่า หมายความว่า 3 วินาทีของคุณ คือ 1 วินาทีของเด็ก
      
       *** แนะ 1-7 ขวบ ป้อนความรู้สึก>ความจำ
      
       เพื่อสร้างเสริมพลังในวัยเด็กให้ลูกอย่างถูกต้อง  ช่วงวัย 1-7 ขวบ ควรปล่อยให้ลูกเล่นไปตามธรรมชาติ เพราะการเล่น คือการจินตนาการที่มีความสุข รวมทั้งควรป้อนความรู้สึกให้กับลูกบ่อยๆ เช่น ความรัก ความศรัทธา ความมีเมตตา หรือความพยายาม ขณะเดียวกันเมื่อลูกมีข้อสงสัย ให้หาคำตอบมาอธิบายให้ลูกฟัง
      
       นอกจากนี้ ควรลดการป้อนความจำให้กับเด็ก เพราะการพยายามกระตุ้นให้เด็กใช้สมองซีกซ้ายมากเกินไป เช่น เรียนคณิตศาสตร์ที่ยากๆ ก่อนวัย อาจเป็นผลเสียในอนาคตต่อตัวเด็กเองได้ เพราะเด็กส่วนใหญ่ จะเริ่มต้นใช้สมองซีกซ้ายอย่างเต็มที่ในช่วงประมาณ 10 ขวบ หรือประมาณป.4 ดังนั้นผลการเรียนในระดับ ป.1-ป.3 จะนำมาใช้วัดไม่ได้ว่าเด็กคนนั้นเรียนเก่งจริง
 
 
       ดังนั้น เด็กเล็กที่ถูกบังคับให้เรียนพิเศษคณิตศาสตร์อย่างหนัก แม้ว่าผลการเรียนจะออกมาดีมากในช่วงนั้น แต่เมื่อผ่านพ้นป.4 เนื่องจากการชะงักของจินตนาการในช่วงก่อนหน้า จะทำให้เขามีผลการเรียนที่ลดลง และเป็นเช่นนั้นตลอดไปจนโต เพราะขาดจินตนาการ ความอยากรู้อยากเห็น อันเป็นพลังแฝงที่จะเก็บไว้ตลอดเวลาในช่วงวัยเด็ก แล้วค่อยๆ ปล่อยพลังนั่นออกมา เมื่อโตขึ้นไปจนตลอดชีวิต
      
       “1-7 ขวบ พ่อแม่ควรป้อนความรู้สึกให้ลูกมากๆ เพราะสมองซีกขวาเปิดกว้างที่สุด ขณะที่ความจำควรป้อนให้น้อยที่สุด เช่น ให้ลูกเรียนคณิตศาสตร์ตั้งแต่ 3 ขวบ หรือให้เรียนสิ่งที่ยากๆ วิธีดังกล่าวนี้ ยิ่งทำร้ายเด็ก เพราะจะไปสกัดจินตนาการ และความรู้สึกของเด็กออกหมด ฉะนั้นข้อมูลความจำมันเรียนกันทีหลังได้ ความรู้สึกสำคัญกว่า เพราะจะส่งผลให้เด็กโตขึ้น พลังความรู้สึก หรือแรงบันดาลใจที่พ่อแม่ป้อนให้เขา จะมีพลังสูงมาก ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้เร็ว และมีความสำเร็จได้สูง”
      
       เหมือนกับไอน์สไตน์ ตอน 4 ขวบ เขาสงสัยมาก ว่าทำไมเข็มทิศถึงชี้ไปทางทิศเหนือตลอด เขาก็ถามคนไปทั่วจนได้คำตอบว่า เพราะมันมีสนามแม่เหล็กดึงไป ซึ่งตอนนั้นยังไม่เข้าใจคำว่าสนามแม่เหล็กดีพอ จนกระทั่งตอนโต พอได้มาเรียน และสะดุดกับคำว่า สนามแม่เหล็ก ส่งผลให้พลังในการเรียนรู้มันมาจากไหนก็ไม่รู้ ทำให้เขาสนใจที่จะเรียนรู้ในศาสตร์ดังกล่าวมากขึ้น”

 
       *** สังเกตการเล่น-เสริมให้โดดเด่น
       
        พ่อแม่ ควรสังเกตการเล่นของลูกอยู่เสมอ ว่าลูกชอบเล่นอะไรเป็นพิเศษ เช่น ระบายสี ดนตรี เพื่อที่จะสนับสนุนความชอบของลูกให้โดดเด่น เช่นเดียวกับที่คุณพ่อของไทเกอร์ วูดส์ ที่มีคนถามว่า เลี้ยงลูกอย่างไรให้เก่งกอล์ฟ ซี่งคุณพ่อของไทเกอร์ บอกว่า เขาก็เลี้ยงแบบพ่อแม่คนอื่นๆ เพียงแต่ว่า เขารู้ว่าลูกถนัดตีกอล์ฟ เพราะตอนเด็กๆ เขาสังเกตว่าลูกชอบถือไม้กอล์ฟพลาสติกตีเล่นเป็นพิเศษ จากนั้นจึงพาลูกไปเล่น และฝึกซ้อม จนเก่ง และเป็นมืออาชีพการเล่นกอล์ฟอย่างทุกวันนี้ อย่างไรก็ตามพ่อแม่ต้องสังเกตให้ดีด้วย เพราะเด็กบางคนสามารถทำได้ดีและเก่ง แต่ไม่ใช่ความชอบที่แท้จริง
      
       *** ศิลปะ-ดนตรี-กีฬา 3 ศาสตร์ที่เหมาะกับเด็ก
      
       สำหรับศาสตร์ที่เหมาะสมกับเด็กเล็ก ทันตแพทย์สม เผยว่า มีอยู่ 3 ศาสตร์ คือ ศิลปะ ดนตรี และกีฬา ซึ่งนักวิทยาศาสตร์พบว่า เด็กเล็กที่มีความสามารถทางดนตรีมีปริมาณเส้นประสาทซึ่งเชื่อมระหว่างสมองทั้งสองซีกหนาแน่นกว่าเด็กที่ไม่ได้เล่นดนตรี ดังนั้นเมื่อโตขึ้น สมองจะปรับการเรียนรู้จากจังหวะเสียง ทำนองของดนตรีให้ป้อนไปที่ศูนย์ภาษา ทำให้สามารถเรียน และออกสำเนียงภาษาต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง และรวดเร็ว ขณะเด็กที่เล่นดนตรี กีฬา หรือทำงานศิลปะ จะมีความสามารถทางมิติสัมพันธ์ ส่งผลต่อการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และคณิตศาสตร์ เมื่อโตขึ้นจะพบว่า สมาธิในเด็กกลุ่มนี้ จะสูงกว่าเด็กทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ
      
       “พ่อแม่ทุกวันนี้อยากให้ลูกเก่ง แต่ไม่ต้องถึงกับขั้นเป็นอัจฉริยะหรอก เพียงแต่สอนให้ลูกอยู่ในสังคม และเอาตัวรอดได้ก็พอแล้ว เพราะฉะนั้น จึงอยากฝากไปถึงคุณพ่อคุณแม่ทุกบ้านว่า ให้ลูกเก่งอย่างเดียวไม่พอ แต่ควรให้ลูกฉลาดที่จะใช้ชีวิตด้วย หมายความว่า รู้จักเรียนรู้ และประยุกต์ทุกอย่าง เพื่อให้ชีวิตมีความสุข และเอาตัวรอดได้ดีด้วย ที่สำคัญควรสอนให้ลูกเข้าใจตัวเอง พร้อมกับเข้าใจ และรู้เท่าทันคนอื่น แต่ไม่ใช่เอาเปรียบคนอื่นนะ ต้องฉลาดแบบที่ตัวเองเป็นคนดี” 
 

Life & Family / Manager