ผู้ที่ทำบาปใหญ่ไม่ถือว่าเป็นมุอฺมิน
  จำนวนคนเข้าชม  8633

ผู้ที่ทำบาปใหญ่ไม่ถือว่าเป็นมุอฺมิน

โดยอาจารย์ กอเซ็ม เดชเลย์

 

 

         -   การทำซินา นับเป็นการก่ออาชญากรรมที่น่ารังเกียจ เป็นการค้านกับสังคม และความเป็นมนุษย์ อีกทั้งยังเป็นการทำลายเกียรติยศ และละเมิดข้อห้ามของอัลเลาะห์

         -   การดื่มสุรา ทำให้เสียสติสัมปชัญญะ สูญเสียเงินทอง อีกทั้งยังเป็นการทำลายสุขภาพ และผู้ที่ดื่มสุรานั้นเมื่อดื่มสุราแล้ว เขาสามารถก่ออาชญากรรมอื่นๆอีกมากมาย เพราะการดื่มสุราเป็นผลงานของชัยฏอนนั่นเอง 

          -   การลักขโมย และการปล้นสะดมเป็นอาชญากรรมที่น่ารังเกียจอีกเช่นกัน เพราะเป็นการละเมิดทรัพย์สินของผู้อื่นโดยไม่ชอบธรรม

          สืบเนื่องมาจากความน่ารังเกียจ และความร้ายแรงของสิ่งต่างๆข้างต้นนี้เอง ท่านรอซูล จึงได้ปฏิเสธการศรัทธา(อีมาน) สำหรับผู้ที่กระทำสิ่งต่างๆ หรืออย่างหนึ่งอย่างใดข้างต้นนี้

         ดังมีรายงานจากท่านอบีอุรอยเราะห์ รอฎิยัลลอฮุอันฮุ แจ้งว่า : ท่านรอซูล กล่าวว่า :

          ผู้ที่ทำซินา ในขณะที่ขาทำซินาเขามิได้อยู่ในสภาพที่เป็นผู้ศรัทธา(มุอฺมิน) ผู้ที่ดื่มสุรา ในขณะที่เขาดื่มสุรา เขามิได้อยู่ในสภาพที่เป็นผู้ศรัทธา(มุอฺมิน) ผู้ที่ลักขโมย ขณะที่ลักขโมยเขามิได้อยู่ในสภาพที่เป็นผู้ศรัทธา(มุอฺมิน) และผู้ที่ปล้นสะดม ซึ่งมนุษย์ทั้งหลายมองดูเขาขณะที่เขาทำการปล้นสะดม มิได้อยู่ในสภาพที่เป็นผู้ศรัทธา(มุอฺมิน)
(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์ และมุสลิม)

คำอธิบาย

          มุอฺมินที่สมบูรณ์จะประดับประดาตัวเขาเองด้วยคุณงามความดี ออกห่างจากความต่ำช้าทั้งมวล ยึดติดอยู่กับอุดมการณ์ของศาสนา ดังนั้นผู้ที่เป็นมุอฺมินจะไม่ก่ออาชญากรรม หรือกระทำสิ่งที่ต้องห้ามต่างๆ อันได้แก่ : การทำซินา การดื่มสุรา การลักขโมย และการปล้นสะดม ฯลฯ เพราะสิ่งต่างๆเหล่านี้ค้านกับคำว่า “อีมาน” อันจะทำให้สังคมเสื่อมทราม และพังทลายลงในที่สุด

          สำหรับเนื้อหาของฮะดีษนี้ ท่านรอซูล ได้ห้ามการทำซินา และได้ปฏิเสธการศรัทธาสำหรับผู้ที่ทำซินา เพราะการทำซินานั้นเป็นการทำให้หมดสิ้นซึ่งความละอาย เป็นที่ทราบกันดีว่า ความละอายนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการศรัทธา และการทำซินายังเป็นกากรละเมิดข้อห้าม เป็นการทำลายเกียรติยศ และนำไปสู่ความสับสนวุ่นวายในเรื่องของเชื้อสาย และท้ายที่สุด ผลเสียต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นกับบุคคล และสังคม

          การทำซินาเป็นสิ่งที่อัลเลาะห์ ทรงห้ามไว้อย่างชัดเจนในหลายอายะห์ ดังที่ได้ตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานว่า :

          และพวกเจ้าอย่าได้เข้าใกล้การทำผิดประเวณี(ซินา) แท้จริงมันเป็นการลามก และทางอันชั่วช้า  (อัลอิสรออฺ 17 : 32)

          ในฮะดีษนี้ ท่านรอซูล ยังได้ห้ามการดื่มสุรา และปฏิเสธการศรัทธาสำหรับผู้ที่ดื่มสุรา เพราะการดื่มสุรานั้นจะทำให้ขาดสติสัมปชัญญะ สุราจะทำลายผู้ดื่ม ทั้งสติปัญญา การควบคุมตัวเอง ทรัพย์สมบัติ ตลอดจนสุขภาพร่างกายอันแข็งแรงของเขาเอง และยังส่งผลเสียต่อสังคมอีกเช่นกัน เพราะผู้ที่ดื่มสุราสามารถทำอะไรต่อมิอะไรหลายอย่าง ซึ่งเป็นข้อห้ามของอัลเลาะห์ และเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ เช่นการฆ่าผู้อื่น การลักขโมย การทำซินา เป็นต้น ด้วยเหตุนี้เอง การดื่มสุราจึงเป็นสิ่งที่ชั่วร้ายที่สุด ที่จะมีผลย้อนกลับมาหามนุษย์ และยังเป็นสาเหตุให้เกิดการเป็นศัตรู และความโกรธแค้นซึ่งกันและกัน

         อัลเลาะห์ ทรงห้ามการดื่มสุราไว้ ดังที่พระองค์ตรัสว่า :

          ผู้ศรัทธาทั้งหลาย ที่จริงสุรา และการพนัน และแท่นหินสำหรับเชือดสัตว์บูชายัญ และการเสี่ยงติ้วนั้น เป็นสิ่งโสมมอันเกิดจากการกระของชัยฏอน ดังนั้นพวกเจ้าจงห่างไกลจากมันเสีย เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ  (อัลมาอิดะห์ 5 : 90)

          และท่านรอซูล ยังได้ห้ามการลักขโมย และปฏิเสธการศรัทธาสำหรับผู้ที่ลักขโมย เพราะการลักขโมยนั้นเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น โดยมิใช่สิทธิอันชอบธรรม และยังจะทำให้สังคมปราศจากความปลอดภัย และความสงบสุข อันเป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวาย และเกิดอาชญากรรมตามมาในสังคม

          ดังนั้นอิสลามจึงคัดค้านและประณามการลักขโมย และถือว่าการลักขโมยนั้นเป็นบาปใหญ่ สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับโทษอันรุนแรงและแสนสาหัส อัลกุรอานได้กำหนดโทษของผู้ที่ลักขโมยไว้ว่าจะต้องถูกตัดมือ เพื่อเป็นข้อคิด และข้อเตือนใจสำหรับบุคคลอื่นที่คิดจะลักขโมย

พระองค์ตรัสว่า :

          และขโมยชายและขโมยหญิงนั้นจงตัดมือของเขาทั้งสองคน ทั้งนี้เพื่อเป็นการตอบแทนในสิ่งที่ทั้งสองนั้นได้แสวงหาไว้ (และ) เพื่อเป็นเยี่ยงเยี่ยงอย่างการลงโทษ จากอัลลอฮ์ และอัลลอฮ์นั้นทรงเดชานุภาพ ทรงปรีชาญาณ  (อัลมาอิดะห์ 5 : 38)


           ในตอนท้ายของฮะดีษบทนี้ ท่านรอซูล ได้ห้ามทุกๆสิ่งที่อธรรม การเอาทรัพย์ผู้อื่นมาโดยมิชอบธรรม การทำลายซึ่งสิทธิของบุคคลอื่น การกดขี่ข่มเหง การสร้างความหวาดกลัว การแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบธรรม รวมอยู่ในความหมายของคำว่า “ปล้นสะดม” ตามที่ท่านรอซูล ได้กล่าวไว้ในฮะดีษบทนี้ และอัลเลาะห์ ได้ทรงห้ามสิ่งนี้เอาไว้ในดำรัสของพระองค์ที่ว่า :

     ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! จงอย่ากินทรัพย์ของพวกเจ้าในระหว่างพวกเจ้าโดยมิชอบ นอกจากมันจะเป็นการค้าขายที่เกิดจากความพอใจในหมู่พวกเจ้า และจงอย่าฆ่าตัวของพวกเจ้าเอง แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงเมตตาต่อพวกเจ้าเสมอ   (อันนิซาอฺ 4 : 29)

และมีรายงานจากท่านหญิงอาอิชะห์ รอฎิยัลลอฮุอันฮา ว่า : ท่านรอซูล กล่าวว่า :

          “ผู้ใดที่ได้อธรรม(โกง) พื้นดินเพียงคืบเดียว เขาจะถูกนำแผ่นดินทั้งเจ็ดชั้นมาวางบนคอของเขาในวันกิยามะห์”
         (บันทึกโดยอิมามอัลบุคอรีย์ และมุสลิม)

          ด้วยเหตุที่การปล้นสะดมเป็นการกระทำที่ค้านกับคำสอนของอิสลาม และเป็นการอธรรมอันยิ่งใหญ่ต่อสังคม ท่านรอซูล จึงได้ห้ามการกระทำดังกล่าว และยังปฏิเสธการศรัทธาของผู้ที่ได้กระทำเช่นนี้

          ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นจะเห็นได้ว่าการผิดประเวณี การดื่มเหล้า การลักขโมย การปล้นสะดม เป็นสิ่งอันตรายอย่างยิ่งยวด ทั้งต่อบุคคลและสังคม ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วศาสนาอิสลามคงจะมิได้ห้ามเอาไว้ และไม่นับว่าเป็นสิ่งที่จะนำมาซึ่งบาปใหญ่ ซึ่งจะได้รับการลงโทษอันรุนแรงสำหรับผู้ที่ปฏิบัติสิ่งเหล่านี้ และท่านรอซูล ก็คงจะไม่บอกและเตือนเอาไว้ว่ารัศมีแห่งการศรัทธานั้นจะถูกบดบังและหมดไปด้วยการกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากสิ่งต่างๆเหล่านี้ และแน่นอนเมื่อสังคมปลอดภัยจากสิ่งต่างๆเหล่านี้ ก็จะเป็นสังคมที่สะอาดบริสุทธิ์ ผู้คนในสังคมก็จะมีแต่ความสงบสุข และเต็มไปด้วยความรัก ความปรองดองซึ่งกันและกัน

 

          สาระที่ได้รับจากฮะดีษ

1. ศาสนาอิสลามคัดค้านและต่อต้านความชั่ว และไม่ดีงามต่างๆ และส่งเสริมสนับสนุนให้ทำความดี แสวงหาความประเสริฐและมารยาทอันดีงาม
2. ศาสนาอิสลามห้ามการผิดประเวณี การดื่มเหล้า การลักขโมย การปล้นสะดม เพราะสิ่งต่างๆเหล่านี้ เป็นการก่ออาชญากรรมต่อสังคมและคนในสังคม
3. การทำซินา การดื่มเหล้า การลักขโมย การปล้นสะดมนั้นขัดแย้งกับการศรัทธา ด้วยเหตุนี้เองจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่มุสลิมจะต้องออกห่างจากสิ่งเหล่านี้
4. การปฏิบัติตามคำสั่งของศาสนานั้นจะทำให้พานพบกับความดีงามและความปลอดภัย และการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาสนาและขัดแย้งกับคำสอนของอิสลาม จะประสบกับความเสียใจ และความพินาศ

 

 

เผยแพร่โดย : สายสัมพันธ์