นักปรัชญาอิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  37008

 

 

นักปรัชญาอิสลาม

 

 

          ในขณะที่แสงสว่างแห่งความรู้และศาสตร์แขนงต่างๆ ตลอดจนวัฒนธรรมดับลงทีละดวงจากยุโรป ต่อมาแสงสว่างแห่งศาสตร์แขนงต่างๆ ก็กำลังทอแสงอันเรืองรองในตะวันออกกลาง บานสะพรั่งอยู่ในกรุงดามัสกัส กรุงแบกแดด กรุงไคโร ในแวดวงวิทยาการอันหลากหลาย


          ระหว่างศตวรรษที่ 8-11 อันเป็นยุคมืดของยุโรปนั้น วัฒนธรรมของอาหรับ ทั้งวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ แพทยศาสตร์ ฯลฯ กำลังโดดเด่นอย่างสุดขีด


          ในที่สุดงานนิพนธ์ในรูปของภาษาอาหรับจากนักปรัชญาอาหรับในสาขาวิทยาการต่างๆได้แพร่หลายเข้าไปในยุโรปโดยน้ำมือของชาวยุโรปนั่นเอง ด้วยวิธีการศึกษาและในรูปแบบของพ่อค้าวาณิชย์  นักปรัชญามุสลิมที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของโลก มีดังนี้


     1. อัล คินดี ท่านเป็นนักปรัชญาของโลกมุสลิมคนแรกที่มีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่วโลก ท่านเป็นนักวิชาการที่ยิ่งใหญ่ และเป็นคนหนึ่งในจำนวนนักปรัชญาในสมัยคอลีฟะห์ "อัล มะมูน"ท่านได้เขียนตำราเกี่ยวกับวิชาการต่างๆมากมาย เช่น ด้านแพทยศาสตร์ ศาสนศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฯลฯ แต่เป็นที่น่าเสียดายตำราของท่านส่วนมากสูญหายไป ท่านเกิดปี ฮ.ศ.185 และเสียชีวิตปี ฮ.ศ.252


     2. อัรรอซี ถึงแม้ว่าท่านจะไม่ได้เป็นนักปรัชญาอย่างแท้จริงตามแนวทางของ "คินดี" แต่ท่านเป็นนักฟิสิกส์และนักการแพทย์ที่มีชื่อเสียงอย่างยิ่ง ท่านได้เขียนหนังสือปฏิเสธทัศนะของอริสโตเติลไว้หลายเล่ม ท่านได้เสียชีวิตในปี ฮ.ศ.935


     3. อิบนุ อัล นาดีม ถึงแม้ว่าท่านจะไม่ใช่นักปรัชญาที่แท้จริงนัก แต่ท่านก็อยู่ในวงการของนักปรัชญา หนังสือของท่านเป็นหีบสมบัติอันล้ำค่าของความรู้ต่างๆ ในวิชาการหลายๆ แขนง รวมถึงปรัชญาด้วย


     4. อิบนุ มิสกาวัยฮ์ เป็นนักปรัชญาที่สำคัญผู้หนึ่ง ท่านเขียนตำราไว้มากมาย ซึ่งตำราของท่านได้อธิบายหลักการคำสอนอิสลามในแง่ปรัชญา และอธิบายถึงการมีอยู่และเอกภาพของพระผู้เป็นเจ้า โดยใช้เหตุผลประกอบ ยิ่งกว่านั้น ท่านยังได้เขียนตำราในเชิงปรัชญาจริยศาสตร์อีกหลายเล่มด้วยกัน ท่านเสียชีวิตในปี ค.ศ.1030


     5. อิบนุ ซีนา ท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีความรู้อันกว้างขวางในโลกมุสลิม หลายด้านด้วยกัน เช่น ด้านการแพทย์ จนกระทั่งถูกขนานนามว่า "บิดาแห่งวงการแพทย์" ท่านเป็นนักวิทยาศาสตร์อันเฉียบคม เป็นนักปรัชญาที่โด่งดัง ท่านได้เขียนตำราไว้หลายเล่ม ท่านสิ้นชีวิตในปี ค.ศ.1037


     6. อิบนุ ตุเฟล ท่านเป็นนักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่อีกท่านหนึ่งเป็นชาวสเปน ถึงแม้ว่าปรัชญาของท่านจะคล้ายคลึงกับ "อิบนุ บายะห์" ก็ตาม แต่ท่านพยายามมุ่งเน้นไปในทิศทางแห่งการพินิจพิจารณาทางด้านสติปัญญาอย่างมีเหตุผล และการเพ่งทางจิต ท่านเสียชีวิตในปี ฮ.ศ.581


     7. อิบนุ รุชด์ ท่านมีนามเต็มว่า อบูวาลิด มูฮัมมัด บิน อะห์หมัด อิบนิ รุชด์ ท่านเป็นนักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียงอันเรืองรอง ถึงอย่างไรก็ตามชาวตะวันตกก็ยอมรับในความสามารถอันเก่งกาจของท่าน จนกระทั่งยกให้เป็นนักปรัชญามุสลิมที่ยิ่งใหญ่ ท่านเป็นผู้นิพนธ์อันละเอียดอ่อนเกี่ยวกับงานนิพนธ์ของอริสโตเติลได้อย่างลึกซึ้งที่สุด ท่านเชื่อว่าศาสนาอิสลามยกย่องและสนับสนุนการศึกษาปรัชญา และอัลกุรอานได้บัญชาให้แสวงหาความรู้และแสวงหาความจริง เพราะปรัชญาที่แท้จริงนั้นไม่สวนทางและต่อต้านศาสนา อิบนุ รุชด์เป็นนักปรัชญาที่มีความรู้อย่างกว้างขวาง ท่านได้ทิ้งผลงานในเรื่องต่างๆ ไว้อย่างมากมาย โดยเฉพาะด้านปรัชญา นิติศาสตร์และแพทยศาสตร์ กระทั่งทำให้ชื่อเสียงของ อิบนุ รุชด์ แพร่หลายไปทั่วโลก ท่านเกิดในปี ค.ศ.1126 และเสียชีวิตในปี ค.ศ.1198


     8. อัล ฟารอบี ท่านเป็นนักปรัชญาและนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในหมู่มุสลิม ท่านได้เขียนตำราที่เกี่ยวกับวิทยาการต่างๆ ไว้มากมาย เช่น คณิตศาสตร์ ตรรกศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การเมืองและสังคม นอกจากนั้นท่านยังมีบทวิจารณ์งานต่างๆ ของอริสโตเติลและอื่นๆ อีกมาก ท่านเกิดในปี ฮ.ศ.259 และเสียชีวิตในปี ฮ.ศ.339


     9. อิบนุ คอลดูน ท่านเป็นนักปรัชญามุสลิมที่มีความสามารถและสติปัญญาอันเฉียบคม ท่านเป็นผู้อธิบายปรัชญาแห่งประวัติศาสตร์ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้เบิกทางของสังคมวิทยาการร่วมสมัย ท่านได้แต่งตำราเล่มหนึ่งที่มีชื่อเสียงที่สุดและมีคุณค่าอันล้ำค่าแก่ชาวโลก คือ หนังสือ "มู่ก็อดดีมะห์ อินนุ คอลดูน" ท่านเสียชีวิตในปี ค.ศ.1406


     10. อิหม่ามฆอซาลี ท่านมีนามเต็มว่า มูฮัมมัด บิน มูฮัมมัด อบูฮามิด อัลฆอซาลี ณ นครโตส ท่านเป็นอัจฉริยบุรุษที่มีความฉลาดและไหวพริบอันหลักแหลม ท่านได้ศึกษาวิชาการด้านศาสนา ปรัชญา ตรรกวิทยาและอื่นๆ ท่านได้นำความคิดของท่านอันมีความเกี่ยวพันกับสิ่งแวดล้อมในสมัยของท่าน และการศรัทธาที่ท่านยึดมั่นมาตีแผ่ ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่กำลังแสวงหาความจริง มโนธรรมอันสูงส่งซึ่งความคิดในเชิงปรัชญาของท่านนั้น ท่านมีความเห็นว่า "การสนเท่ห์" คือสิ่งนำทางสู่สัจธรรม ผู้ใดไม่สนเท่ห์เขาจะไม่พิจารณา ผู้ใดไม่พิจารณาเขาก็ไม่ประจักษ์ ผู้ใดไม่ประจักษ์เขาจะจมอยู่ในความมืดมนแห่งอวิชาและความหลงใหล


          อนึ่ง " ความสนเท่ห์ " ที่อิหม่ามฆอซาลีได้ให้ทัศนะไว้นี้มีความแตกต่างจากความสงสัยในเชิงปฏิเสธ ซึ่งไม่ยอมรับความจริงใดๆ แต่กลับตรงข้าม ความสนเท่ห์ในทัศนะของอิหม่ามฆอซาลีพยายามที่จะค้นคว้าหาวิธีการอันเป็นบรรทัดฐานนำไปสู่ความจริง เพื่อทำให้เกิดความมุ่งมาดปราถนาในเชิงปรัชญาอันถูกต้อง


          ท่านฆอซาลีได้บรรยายไว้ว่า การสนเท่ห์ของท่านได้เริ่มขึ้นขณะที่ท่านพบคำสอนเอนกประการ รวมทั้งลัทธิต่างๆ ที่เป็นปฏิปักษ์กันทางด้านความคิดเห็น นโยบายและอุดมการณ์ ซึ่งแต่ละฝ่ายก็อ้างว่าตนเองเท่านั้นที่อยู่ในแนวทางอันถูกต้อง แต่มันจะเป็นเช่นนั้นไม่ได้ ถ้าไม่ผิดทั้งหมดก็คงจะมีถูกต้องเพียงลัทธิเดียว ที่เหลือจะผิดทั้งหมด ท่านได้อุปมาลัทธิและคำสอนที่ท่านกำลังประสบอยู่นั้น ดังเช่นมหาสมุทรอันลึกล้ำ ซึ่งผู้คนจำนวนมากกำลังจะจมอยู่ในกระแสคลื่นอันบ้าคลั่งของมัน มีบางคนเท่านั้นที่รอดพ้นจากการจมน้ำ


          ด้วยความทะเยอทะยานอันแรงกล้า ท่านจึงได้มุ่งหน้าศึกษาลัทธิ คำสอน ทฤษฎี และแนวความคิดที่มีอยู่ในสมัยของท่าน ท่านกล่าวว่า ตั้งแต่เยาว์วัย เป็นหนุ่มจนกระทั่งปัจจุบันอายุของข้าพเจ้าเกือบ 50 ปีแล้ว ข้าพเจ้าได้แหวกว่ายอยู่ในกระแสคลื่นอันเชี่ยวกราดแห่งมหาสมุทรอันลึกล้ำ ข้าพเจ้าว่ายโต้คลื่นอย่างไม่เคยหวาดหวั่น ข้าพเจ้าเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ โดยไม่ย่อท้อ ข้าพเจ้าใช้ดุลยพินิจ สอดส่องถึงหลักการเชื่อมั่นของแต่ละพรรค ข้าพเจ้าพยายามเผยโฉมความลี้ลับของลัทธิต่างๆ เพื่อจะได้จำแนกระหว่างข้อเท็จจริงให้เป็นประจักษ์ในที่สุด


         งานประพันธ์ของท่าน อิหม่ามฆอซาลี มีอยู่มากมาย ตำราที่แพร่หลายและโดดเด่นที่สุดของท่าน คือ "อิห์ยาอุลูมุดดีน ฯ " และตำราอื่นๆ อีก ท่านเกิดในปี ฮ.ศ.450 และเสียชีวิตในปี ฮ.ศ.505

 

 

 

โดย : นาย มนตรี  ยะรังวงษ์ / ร.ร สุเหร่าบ้านดอน