มารยาทของผู้รู้ และผู้แสวงหาวิชาความรู้
  จำนวนคนเข้าชม  11321

 
มารยาทของผู้รู้ และผู้แสวงหาวิชาความรู้

อ.ญะม้าล ไกรชิต

 

1. มีเจตนาบริสุทธิ์เพื่ออัลเลาะห์

มีรายงานจากท่านอบูฮุรอยเราะห์ กล่าวว่า : ท่านรอซูล กล่าวว่า :

          “ผู้ใดศึกษาวิชาความรู้ใด ซึ่งเป็นวิชาความรู้ที่พึงศึกษาเพื่อหวังในความเมตตาจากอัลเลาะห์ แต่เขากลับศึกษาวิชานั้น เพื่อจะได้รับปัจจัยจากโลกนี้ ในวันกิยามะห์เขาจะไม่ได้รับกลิ่นไอจากสวรรค์”(บันทึกโดยอิมามอะห์หมัด และอบูดาวูด)

          ท่านอิมามอะห์หมัด ร่อฮิมะฮุลลอฮ์ กล่าวว่า : วิชาความรู้สำหรับผู้ที่มีเจตนาที่ถูกต้องนั้น ไม่มีสิ่งใดจะมาเทียบเท่าได้
          มีผู้กล่าวถามท่านว่า : จะเป็นเช่นนั้นได้อย่างไร?
          ท่านตอบว่า : เมื่อเขาตั้งเจตนาที่จะขจัดความโง่เขลาออกจากตัวเขาเองและผู้อื่น

           มีรายงานจากท่านอุมัรฺ อิบนุ ซัรรฺ ว่า :
          แท้จริงท่านได้เคยกล่าวกับบิดาของท่านว่า : โอ้บิดาของฉัน ทำไมเมื่อท่านกล่าวตักเตือนผู้คน พวกเขาจึงร้องไห้? แต่เมื่อผู้อื่นตักเตือน พวกเขากลับไม่ร้องไห้
          ท่านกล่าวว่า : โอ้ลูกรัก หญิงที่ร้องไห้คร่ำครวญเนื่องจากนางได้สูญเสียลูกของนางไปอย่างกะทันหันนั้น ย่อมไม่เหมือนกับหญิงที่ถูกจ้างมาให้ร้องไห้คร่ำครวญถึงผู้ที่ตาย (หมายถึง สิ่งที่ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ย่อมไม่เหมือนกับสิ่งที่ทำด้วยความไม่บริสุทธิ์ใจ)

           และท่านอิบนุ ญะมาอะห์ อัลกินานีย์ หลังจากที่ท่านได้อธิบายถึงความประเสริฐของวิชาความรู้ ท่านได้กล่าวว่า :
          แท้จริงจากความประเสริฐของวิชาความรู้ และผู้ที่มีวิชาความรู้ ที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นสิทธิของบรรดาผู้มีความรู้ที่นำความรู้ไปปฏิบัติ เป็นสิทธิของบรรดาผู้มีความรู้ที่เป็นคนดี และมีความยำเกรง พวกเขาเหล่านั้นมุ่งหวังความเมตตาจากอัลเลาะห์ และตำแหน่งอันสูงส่งในสรวงสวรรค์อันผาสุก มิได้เป็นสิทธิของบรรดาผู้ที่แสวงหาวิชาความรู้ด้วยเจตนาที่ไม่ดี ซ่อนเร้นสิ่งสกปรกไว้ในจิตใจ และมิได้เป็นสิทธิของบรรดาผู้ที่แสวงหาวิชาความรู้เพื่อจุดมุ่งหมายทางโลกดุนยา โดยการมีหน้ามีตา มีทรัพย์สิน หรือมีผู้ติดตามและสานุศิษย์

          ท่านอบูยูซุฟ ได้กล่าวว่า : พวกท่านจงให้เป้าหมายในการศึกษาหาวิชาความรู้ คืออัลเลาะห์ และแท้จริงฉันมิได้นั่งอยู่ ณ ที่ชุมนุมใด โดยที่ฉันมีเจตนานอบน้อมถ่อมตน นอกจากฉันจะออกจากที่ชุมนุมนั้น โดยที่พวกเขายกย่องฉัน และฉันมิได้นั่ง ณ ที่ชุมนุใด โดยที่ฉันมีเจตนาให้ผู้อื่นยกย่องฉัน นอกจากฉันจะออกจากที่ชุมนุมนั้นด้วยความอัปยศ อดสู

2. ปฏิบัติตามวิชาความรู้นั้น และคงไว้ซึ่งการสำรวจตน และการเกรงกลัวอัลเลาะห์

          ท่านอาลี บิน อิบนิอะบีฏอลิบ กล่าวว่า : วิชาความรู้นั้นเรียกร้องให้ติดตามด้วยการปฏิบัติ หากมิใช่เช่นนั้น วิชาความรู้นั้นๆ ก็จะจากหายไป

          ท่านอิมามอัชชาฟิอีย์ ร่อฮิมะฮุลลอฮ์ กล่าวว่า : วิชาความรู้นั้นมิใช่เพียงสิ่งที่ถูกท่องจำ หากแต่วิชาความรู้นั้นคือสิ่งที่ยังประโยชน์ (เพื่อนำมาปฏิบัติ)

          ชาวสลัฟบางคนได้กล่าวว่า : โอ้ผู้ที่แบก(มี) วิชาความรู้ พวกท่านจงปฏิบัติตามความรู้ที่พวกท่านมีด้วยเถิด เพราะแท้จริงผู้ที่มีวิชาความรู้คือผู้ที่ปฏิบัติในสิ่งที่เขาได้เรียนรู้มา และการปฏิบัติของเขานั้นต้องสอดคล้องกับวิชาความรู้ของเขา และจะมีชนกลุ่มหนึ่ง ที่พวกเขาแบกวิชาความรู้ไว้ไม่พ้นลูกกระเดือกของพวกเขา(มีความรู้เพียงเล็กน้อย) และการปฏิบัติของพวกเขานั้นขัดแย้งกับวิชาความรู้ของพวกเขา ภายในของพวกเขาก็ขัดแย้งกับกับภายนอกของพวกเขา พวกเขาจะนั่งชุมนุมกันแล้วโอ้อวดซึ่งกันและกัน จนกระทั่งชายผู้หนึ่งจะโกรธเพื่อนของเขาที่ไปนั่งร่วมกับคนอื่น และทิ้งเขาไว้ตามลำพัง ชนกลุ่มนี้ ณ ที่ชุมนุมของพวกเขานั้น กิจการงานต่างๆของพวกเขาจะไม่ถูกยกขึ้นไปสู่อัลเลาะห์ (ไม่เป็นที่ยอมรับ ณ อัลเลาะห์)

          ท่านอัซซุรีย์ ได้กล่าวว่า : แท้จริงสิ่งที่ทำให้วิชาความรู้เสียหาย มีหลายประการด้วยกัน ส่วนหนึ่งก็คือ การที่เขาละทิ้งการปฏิบัติตามวิชาความรู้ จนกระทั่งความรู้นั้นได้หมดไป การลืมวิชาความรู้ และการโกหกต่อวิชาความรู้ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ชั่วช้าที่สุด

          ท่านซุฟยาน อัซเซารีย์ได้ถูกถามว่า : การแสวงหาวิชาความรู้ หรือ การปฏิบัติที่เป็นที่รักยิ่งสำหรับท่านคืออะไร?
          ท่านตอบว่า : จุดประสงค์ของวิชาความรู้นั้นก็เพื่อปฏิบัติ ดังนั้นท่านอย่าได้ละทิ้งการแสวงหาวิชาความรู้เพื่อการปฏิบัติ และท่านอย่าได้ละทิ้งการปฏิบัติเพื่อการแสวงหาวิชาความรู้

          และเช่นเดียวกัน ผู้ที่ศึกษาวิชาความรู้ควรที่จะคงไว้ซึ่งการเกรงกลัวอัลเลาะห์ ทั้งในที่ลับและที่เปิดเผย

          ท่านอิมามอะห์หมัด เราะฮิมะฮุลลอฮ์ ได้กล่าวว่า : รากฐานของวิชาความรู้คือ การเกรงกลัวอัลเลาะห์

3. ปกป้องรักษาวิชาความรู้

          ด้วยการไม่ยึดเอาวิชาความรู้นั้นมาเป็นบันไดนำไปสู่สิ่งต่างๆที่ตนมุ่งหวังในโลกดุนยา ไม่ว่าจะเป็น อำนาจ ทรัพย์สิน ชื่อเสียง การปรนนิบัติ หรือการนำหน้าผู้อื่น

          ท่านอิมามอัชชาฟิอีย์ รอฮิมะฮุลลอฮ์ กล่าวว่า : ฉันต้องการที่ให้มนุษย์ทุกคนได้ศึกษาวิชาความรู้นี้ โดยไม่พาดพิงวิชาความรู้นั้นมายังฉันแม้เพียงอักษรเดียว

4. ดำรงไว้ซึ่งพิธีกรรม บทบัญญัติ และฮุก่มต่างๆที่ชัดเจน

          คือการรักษาญะมาอะห์ที่มัสยิด การให้สลาม ทั้งต่อคนที่รู้จักมักคุ้นและคนทั่วไป การสั่งใช้กันให้กระทำความดี การห้ามปรามกันมิให้กระทำความชั่ว การแสดงออกซึ่งซุนนะห์ต่างๆ(ปฏิบัติตาม) การยับยั้งบิดอะห์(สิ่งอุตริ)ต่างๆ และการดำรังรักษาไว้ซึ่งบทบัญญัติอื่นๆที่ชัดเจน ทั้งนี้เพื่อให้เขาเป็นแบบอย่างที่ดี และเพื่อปกป้องเกียรติของเขาให้พ้นจากการนินทา ใส่ร้าย และการคิดไม่ดี

5. รักษาไว้ซึ่งสิ่งที่ศาสนาส่งเสริม ทั้งด้านคำพูดและการและการกระทำ

          เช่น การอ่านอัลกุรอานอย่างพิจารณา พินิจพิเคราะห์ การรำลึกถึงอัลเลาะห์ อยู่เป็นประจำ ทั้งในใจและด้วยวาจา การวิงวอนและนอบน้อมต่ออัลเลาะห์ ด้วยความบริสุทธิ์ใจและเชื่อมั่นอย่างสม่ำเสมอ และด้วยกับการเอาใจใส่ต่อการปฏิบัติอิบาดะห์ต่างๆที่ศาสนาส่งเสริม(ซุนนะห์) การกล่าวซอละวาตนบี และสิ่งอื่นๆที่เป็นคำกล่าวและการปฏิบัติอันประเสริฐ


6. การนอบน้อม สุขุม และขจัดซึ่งความเย่อหยิ่ง และการโอ้อวด

          ท่านอุมัร อิบนุลค็อฏฏอบ กล่าวว่า : ท่านจงศึกษาวิชาความรู้ และจงศึกษาความสงบสุขและความสุขุมเพื่อวิชาความรู้นั้น และพวกท่านจงนอบน้อมต่อผู้ที่ท่านได้ศึกษาจากเขา แล้วผู้ที่ท่านได้สอนวิชาความรู้ให้แก่พวกเขาก็นอบจะนอบน้อมต่อพวกท่าน และพวกท่านอย่าได้เป็นผู้ที่มีความรู้ที่หยิ่งยโส

          ท่านอิมามมาลิก รอฮิมะฮุลลอฮ์ ได้เขียนสาส์นไปยังคอลีฟะห์ฮารูน อัรรอชีดว่า : เมื่อท่านได้ศึกษาวิชาความรู้ใด ก็ขอให้ความรู้นั้นส่งผล และสะท้อนให้เห็นถึงความสงบเสงี่ยม ความน่าเชื่อถือ และความสุขุม

          ท่านอิมามอัชชาฟิอีย์ รอฮิมะฮุลลอฮ์ กล่าวว่า :  ไม่มีผู้ใดที่แสวงหาวิชาความรู้ด้วยการอาศัยอำนาจและเกรียงไกร แล้วจะประสบความสำเร็จ ผู้ที่จะประสบความสำเร็จในการแสวงหาวิชาความรู้ก็คือผู้ที่แสวงหาวิชาความรู้ด้วยความนอบน้อม ถ่อมตน ด้วยความสมถะ และการให้เกียรติผู้รู้

7. พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ และไม่ปรารถนาสิ่งใดในโลกนี้

          ท่านอิบนุ ญะมาอะห์ อัลกินานีย์ กล่าวว่า : ระดับต่ำสุดของผู้ที่มีวิชาความรู้ คือ ผู้ที่รังเกียจที่จะผูกพันกับโลกดุนยา ต้องการการที่ตัดขาดจากโลกนี้ เพราะเขาคือผู้ที่รู้ดียิ่งถึงความยุ่งเหยิงของมัน และรู้ดียิ่งว่ามันจะสูญสลายในไม่ช้า ดังนั้นจึงสมควรที่เขาจะต้องไม่ให้ความสนใจและวุ่นวายอยู่กับความครุ่นคิดถึงความทุกข์ยากในโลกดุนยานี้

          เชคมุฮัมหมัด อัลอะมีน อัชชินกีฎีย์ กล่าวว่า : ฉันได้เดินทางมาจากเมือง ชินกีฎ(ประเทศมอริเตเนีย) มายังอียิปต์ โดยที่ฉันมีทรัพย์สมบัติอันล้ำค่าติดตัวมาด้วย น้อยนักที่ที่จะพบสมบัติอันล้ำค่าเช่นนี้อยู่ในผู้อื่น สมบัตินั้นก็คือ การพอใจในสิ่งที่มีอยู่ หากฉันต้องการยศถาบรรดาศักดิ์ แน่นอนฉันก็รู้วิธีที่จะทำให้ได้มันมา แต่ทว่าฉันนั้นมิได้มุ่งหวังจากโลกดุนยามากไปกว่าโลกอาคิเราะห์และฉันมิได้อุทิศวิชาความรู้เพื่อที่จะได้รับปัจจัยต่างๆทางโลกดุนยา

8. มีมารยาทอันดีงามและคุณลักษณะที่ดี

          ท่านอิบนุซีรีนกล่าวว่า : พวกเขาศึกษาทางอันเที่ยงธรรม ดั่งที่พวกเขาแสวงหาวิชาความรู้

           มีรายงานจากท่านอิบรอฮีม อิบนุฮะบีบ อิบนุชชะฮีด กล่าวว่า : บิดา ของฉันได้กล่าวแก่ฉันว่า : โอ้ลูกรัก เจ้าจงไปหานักวิชาการ และผู้ที่มีความรู้ด้านฟิกฮฺ จงศึกษาจากพวกท่าน และจงรับจากพวกท่านซึ่งจรรยามารยาทอันดีงาม และแนวทางอันเที่ยงตรง แท้จริงสิ่งเหล่านี้นั้น เป็นที่รักยิ่งสำหรับฉันมากกว่าการที่เจ้าจะท่องจำฮะดีษได้มายเสียอีก

          ท่านอบูซะกะรียา อัลอันบะรีย์ กล่าวว่า : วิชาความรู้ปราศจากมารยาท เปรียบดังเช่นไปที่ไร้ฟืน และมารยามที่ปราศจากวิชาความรู้นั้นเปรียบดังร่างกายที่ไร้วิญญาณ

           ท่านอัลลัยสฺ อิบนุ ซะอฺด ได้ดูแลสอดส่องนักวิชาฮะดีษบางท่าน เมื่อท่านเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ไม่ดีงามจากพวกเขา ท่านจะกล่าวว่า : พึงรู้เถิดว่า การมีมารยาทเพียงเล็กน้อยนั้น สำคัญยิ่งกว่าการมีวิชาความรู้มากมายเสียอีก


9. ชำระภายในภายนอกให้สะอาดปราศจากมารยาทที่ไม่ดี

          เช่น การอธรรม การอิจฉาริษยา การละเมิดผู้อื่น การโกรธเคืองกันเพื่ออื่นนอกจากอัลเลาะห์ การคดโกง การหยิ่งยโส การโอ้อวด การหลงตัวเอง การต้องการมีชื่อเสียงโด่งดัง การตระหนี่ การเห่อของใหม่ การละโมบ การทะนงตน การอวดดี การเสแสร้ง การประจบสอพลอ การชอบให้ผู้อื่นสรรเสริญยกยอปอปั้น การเพิกเฉยต่อข้อบกพร่องของตนเอง การวุ่นอยู่แต่การตำหนิผู้อื่น การนินทา การใส่ร้าย การโกหก การพูดจาน่าเกลียด และการดูถูกผู้อื่น เป็นต้น

          ท่านอิบนุ ญะมาอะห์ กล่าวว่า : จงระมัดระวังลักษณะต่างๆอันเป็นที่น่ารังเกียจ และเป็นมารยาทอันเลวทราม เพราะแท้จริงมันเป็นประตูไปสู่ความชั่วร้ายทั้งมวล แท้จริงนักวิชาในสมัยนี้บางคนมีจิตใจสกปรก ถูกทดสอบ(บะลาอฺ) ด้วยลักษณะอันเป็นที่น่ารังเกียจเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอิจฉาริษยา การหลงตัวเอง การโอ้อวด การกลับกลอก การดูถูกผู้อื่น ส่วนวิธีการรักษาภัย(บะลาอฺ) นี้ก็คือ การอบรมจิตใจ และการชำระจิตใจของพวกเขาให้ใสสะอาด

10. การทุ่มเท และรักษาเวลา

           ด้วยการไม่ทำให้เวลาสูญไปกับสิ่งอื่น นอกจากการแสวงหาวิชาความรู้ และปฏิบัติตามความรู้นั้นๆ และปรากฏว่า ผู้แสวงหาวิชาความรู้บางท่านจะไม่ละทิ้งเวลาให้สูญเปล่า แม้จะป่วยก็ตาม แต่ทว่าเขานั้นกลับใช้วิชาความรู้เยียวยาตนเอง

11. ขยันหมั่นเพียร และทุ่มเทเพื่อเพิ่มพูนวิชาความรู้

          ท่านอิมามอัชชาฟิอีย์ รอฮิมะฮุลลอฮ์ กล่าวว่า : หน้าที่ของผู้ที่ศึกษาวิชาความรู้นั้นก็คือ ต้องเพียรพยายามให้ถึงที่สุด ในการเพิ่มพูนวิชาความรู้ของเขา และอดทนต่อสิ่งกีดขวางที่มาประสบกับเขาในการแสวงหาวิชาความรู้

          ท่านสะอี๊ด อิบนุ ญุบัยรฺ กล่าวว่า : ชายผู้หนึ่งยังคงเป็นผู้รู้ในสิ่งที่เขาได้ศึกษามา แต่เมื่อใดที่เขาได้ละทิ้งการศึกษา โดยคิดว่าความรู้ที่เขามีอยู่นั้นเพียงพอแล้ว เมื่อนั้นเขาจะเป็นผู้ที่โง่เขลาที่สุดเท่าที่เคยเป็น

12. สรรหามิตรที่ดี

          ท่านอิบนุ ญะมาอะห์ อัลกินานีย์ กล่าวว่า : สิ่งที่ผู้แสวงหาวิชาความรู้พึงปฏิบัติ คือ จะต้องไม่สุงสิงกับผู้ใด นอกจากผู้ที่จะยังประโยชน์ให้กับเขา(ผู้มีวิชาความรู้) หรือจะได้รับประโยชน์จากเขา หากผู้ใดได้คบค้าสมาคมกับผู้ที่ทำให้เวลาของเขาสูญไป โดยที่ผู้นั้นไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากเขา หรือเขาไม่ได้รับประโยชน์จากผู้นั้น ไม่สนับสนุนเขาในการแสวงหาวิชาความรู้ เขาควรที่จะตัดความสัมพันธ์คนผู้นั้นตั้งแต่แรกเริ่ม ก่อนที่ความสัมพันธ์นั้นจะมั่นคง เพราะแท้จริง สิ่งใดเมื่อมันมั่นคงแล้ว ก็ยากที่จะขจัดมันออกไปได้

13. ยกย่องผู้สอน มีมารยาทและให้เกียรติต่อท่าน

          ท่านอาบี อิบนุ อบีฏอลิบ กล่าวว่า : บางส่วนจากหน้าที่อันจำเป็นแก่ท่านที่พึงปฏิบัติต่อผู้ที่มีวิชาความรู้คือ เมื่อท่านได้มาหาเขา ท่านจงให้สลามแก่เขาเป็นการส่วนตัว และให้สลามแก่กลุ่มชนโดยรวม และให้ท่านนั่งตรงข้ามกับเขา และอย่าได้ชี้มือของท่าน และอย่าได้ใช้สายตาของท่านเพื่อส่งสัญญาณใดๆ และอย่าได้กล่าวกับท่านว่า : มีผู้หนึ่งได้กล่าวขัดแย้งกับคำกล่าวของท่าน และอย่าได้ซักถามบ่อยจนเกินไป เพราะแท้จริง ผู้ที่มีวิชาความรู้นั้น เปรียบเสมือนดังเช่นต้นอินทผลัมที่มีผลสุก ซึ่งผลของมันนั้นพร้อมที่ร่วงลงมาให้เก็บกินได้ทุกเมื่อ

           ท่านสะอี๊ด อิบนุลมุซัยยิบ รายงานว่า :ท่านอะลี อิบนุ อบีฏอลิบ กล่าวว่า : แท้จริง สิทธิที่พึงปฏิบัติต่อผู้มีวิชาความรู้คือ  อย่าได้ถามเขามากเกินไป อย่าได้รบเร้าในการได้คำตอบจากเขาอย่าได้สอดรู้สอดเห็นในเรื่องส่วนตัวของเขา อย่าได้นินทาผู้อื่นต่อหน้าเขา อย่าได้เสาะหาข้อผิดพลาดของเขา เมื่อเขาได้ผิดพลาดก็อภัยให้แก่เขา ให้เกียรติและยกย่องเขาเพื่ออัลเลาะห์ ตราบใดที่เขายังคงรักษาไว้ซึ่งคำสั่งใช้ของพระองค์ อย่าได้นั่งขวางหน้าเขา และหากว่าเขามีความต้องการในสิ่งใด ให้รีบรุด ปรณนิบัติเขาก่อนผู้อื่น

14. การให้เกียรติ และปฏิบัติตามนักวิชาการ

          โดยการให้เกียรติที่ไม่เกินเลย และปฏิบัติตาม แต่มิใช่ตามโดยไม่มีหลักฐานหรือการพิจารณา

          ท่านเชค อิบนุ อุซัยมีน กล่าวว่า : แท้จริงหน้าที่ของผู้แสวงหาวิชาความรู้คือ ต้องให้เกียรติและยกย่องบรรดาผู้ที่มีความรู้ และให้มีใจเปิดกว้างต่อการขัดแย้งของบรรดานักวิชาการ และให้ยอมรับในข้อผิดพลาดของพวกเขา และนี่คือจุดสำคัญอย่างยิ่ง เพราะมีมนุษย์บางคนคอยติดตามเสาะหาความผิดของผู้อื่น เพื่อใส่ร้ายป้ายสีทำลายชื่อเสียงของพวกเขา ดังกล่าวถือว่าเป็นความผิดอันใหญ่หลวง

           ในเมื่อการนินทามนุษย์ทั่วไปนั้นเป็นบาปใหญ่ ดังนั้นการนินทาใส่ร้ายผู้ที่มีวิชาความรู้ถือว่าเป็นบาปที่ใหญ่กว่า และยิ่งใหญ่นัก เพราะใส่ร้ายป้ายสีผู้ที่มีวิชาความรู้นั้น ผลร้ายของมันมิได้ส่งผลเฉพาะต่อผู้ที่มีวิชาความรู้เท่านั้น แต่มันยังส่งผลต่อเขา และต่อวิชาความรู้ด้านศาสนาที่เขามีอยู่อีกด้วย

15. เปิดใจให้กว้าง และยอมรับในเรื่องที่มีการขัดแย้งกัน

          ท่านเชค อิบนุ อุซัยมีน ได้กล่าวในขณะอธิบายถึงมารยาทของผู้แสวงหาวิชาความรู้ว่า : จะต้องเปิดใจให้กว้างยอมรับในเรื่องที่มีการขัดแย้งกัน หากเรื่องที่ขัดแย้งกันเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการวินิจฉัยและวิเคราะห์(อิจญติฮาด) ก็ให้อภัยกันได้ แต่ถ้าหากเรื่องที่ขัดแย้งกันเป็นเรื่องที่มีหลักฐานชัดแจ้งอยู่แล้ว คือ มีตัวบทชัดเจนในกิตาบบุลลอฮ์ และซุนนะห์ และมติเอกฉันท์ของบรรดาอุละมาอฺ (อิจมาอฺ) การคัดค้าน และไม่ยอมรับในเรื่องดังกล่าว เป็นสิ่งที่อภัย และอ่อนให้ไม่ได้เด็ดขาด