มารยาทต่อบุพการี
  จำนวนคนเข้าชม  25401

 

มารยาทต่อบุพการี

 

         มุสลิมต้องยอมรับในสิทธิของผู้เป็นบุพการี และจำเป็นต้องหยิบยื่นความปรารถนาดีต่อท่านทั้งสอง และยังต้องดำรงตนให้อยู่ในโอวาทของท่านทั้งสอง ในฐานะที่พระองค์อัลลอฮฺมีพระบัญชาให้ปฏิบัติ มิใช่ในฐานะที่ท่านเป็นผู้กำเนิด เลี้ยงดู หรือ เป็นผู้ให้เงินทอง และโดยสำนึกแห่งคุณธรรม เราจำเป็นต้องแผ่สิ่งที่เป็นความดี ให้แก่ท่านทั้งสองในทุกฐานะ

อัลกุรอานได้ระบุไว้เกี่ยวกับสิทธิของบุพการี ความว่า

         " และพระผู้อภิบาลของเจ้า ได้ใช้มิให้เจ้าทั้งหลายสักการะสิ่งใด นอกจากพระองค์ และให้ปฏิบัติด้วยดีต่อบุพการี หากท่านผู้หนึ่งผู้ใด หรือทั้งสองท่านถึงแก่ชราภาพต่อเจ้า เจ้าอย่าบ่น อย่าตำหนิท่านทั้งสอง และจงพูดกับท่านด้วยถ้อยคำที่ไพเราะ จงนอบน้อมถ่อมตนต่อท่านทั้งสอง และจงกล่าวว่าพระผู้อภิบาล ขอพระองค์ทรงเมตตาแก่ท่านทั้งสอง เหมือนดั่งที่ท่านทั้งสองได้อภิบาลข้าพระองค์มาแต่เยาว์วัย "

(บท อัลอิสรอฮฺ โองการที่ 23 - 24)

          จากโองการดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงสถานภาพของบุพการีที่มีบุตร พระองค์อัลลอฮฺ ทรงยกย่องผู้ที่เป็นพ่อแม่อยู่ในระดับสูง เพื่อกระตุ้นเตือนให้ผู้เป็นลูกทั้งหลายได้ตระหนักว่า พ่อแม่เป็นปูชนียบุคคลที่ลูกทุกคนต้องให้ความเคารพ ลูกคนใดที่ทรยศต่อพ่อแม่ถือว่าเขาเป็นผู้ฝ่าฝืนพระบัญชาของพระองค์อัลลอฮฺอย่างรุนแรง และถือว่าเขาคือผู้เนรคุณ

          หลักฐานอัลกุรอานและอัลหะดิษที่กล่าวถึงความสำคัญของบิดามารดานั้น มีอยู่เป็นจำนวนมาก ณ ที่นี้ จะนำมาแต่เพียงตัวบทบางตอน แต่ก็มีความหมายมากพอที่จะทำให้ลูกทั้งหลาย ได้ให้ความสนใจแก่ผู้เป็นแม่เป็นกรณีพิเศษ ดังอัลกุรอานได้ระบุไว้ ความว่า

         “และเราได้สั่งแก่มวลมนุษย์ ถึงผู้เป็นบุพการี แม่ของเขาได้อุ้มครรภ์เขาอย่างลำบาก อ่อนเปลี้ยเพลียแรง กับหย่านมเขาในช่วง 2 ปี จงขอบคุณข้าฯ และบุพการีของเจ้า...ไปยังข้าฯ คือที่กลับคืน "

(บท ลุกมาน โองการที่ 14)

         โองการนี้ ได้เน้นให้เห็นถึงความลำบากของผู้ที่เป็นแม่ ว่าต้องประสบกับทุกข์ทรมานขณะอุ้มครรภ์ และขณะให้นม จนกว่าจะหย่านม มากเพียงใด อีกทั้งยังรวมไปถึงการประคบประหงมต่อไป จนกว่าจะเติบใหญ่ ซึ่งทั้งหมดนั้นเพื่อลูกอันเป็นที่รัก

         โองการนี้ เป็นประโยคบอกเล่าที่แจ้งไว้ เพื่อเตือนให้ผู้เป็นลูกได้เกิดสำนึกว่าควรสนองตอบพระคุณเหล่านี้ด้วยวิธีใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่เป็นแม่

 

การทรยศต่อผู้เป็นบุพการี

         ถือเป็น "โทษหนัก" ดังอัลหะดิษระบุไว้ ความว่า

“ข้าพเจ้าไม่ควรแจ้งแก่ท่านทั้งหลาย ถึงโทษที่สุดดอกหรือ"

พวกเขากล่าวว่า "หามิได้ โอ้ ผู้เป็นศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ”

ท่านกล่าวความว่า "การตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ และการทรยศต่อบุพการี"

(รายงานโดย บุคอรี มุสลิม)

มารยาทที่จำเป็นต้องปฏิบัติต่อผู้เป็นบุพการี

          1. ต้องเคารพรัก และเชื่อฟังพ่อแม่ในทุกกรณี ที่ท่านใช้และห้าม จะฝ่าฝืนมิได้โดยเด็ดขาด นอกจากในสิ่งที่ผิดต่อหลักการของศาสนาอิสลาม ซึ่งจะปฏิบัติตามพ่อแม่มิได้ ดังอัลกุรอานได้ระบุไว้ ความว่า

“และหากท่านทั้งสองพยายามให้เจ้าถือภาคีต่อข้าฯ สิ่งที่เจ้าเห็นว่าไม่ตรงกับความจริง เจ้าก็ได้เชื่อฟังท่านทั้งสอง

และจงอยู่กับท่านทั้งสองในโลกนี้ด้วยดี "

(บทลุกมาน โองการที่ 15)

          อัลหะดิษได้ระบุไว้ ความว่า “การเชื่อฟังย่อมไม่ขัดต่อสิ่งถูกต้อง ในเรื่องที่ฝ่าฝืนต่อพระบัญชาของของผู้สร้าง”

          2. ต้องนอบน้อม ถ่อมตน และยกย่อง ให้เกียรติต่อพ่อแม่ในกรณี ไม่ว่าจะเป็นคำพูดหรือการกระทำ และแม้แต่ความรู้สึก ทางใจ โดยต้องไม่ตำหนิ ไม่ขึ้นเสียง ไม่เดินล้ำหน้า และ ต้องไม่เดินไปแห่งใด นอกจากจะได้รับความเห็นชอบ จากท่านทั้งสองเสียก่อน และยิ่งกว่านั้น อย่าให้ภรรยาและลูกของเราสร้างความลำบากใจให้แก่ท่านทั้งสอง ทั้งหมดนี้ รวมอยู่ในความหมายของอัลกุรอานที่ระบุไว้ ความว่า

“เจ้าอย่าได้พูดกับท่านทั้งสอง ด้วยถ้อยคำที่แสดงถึงความไม่พอใจ”

          3. ต้องหยิบยื่นความดีทั้งหลาย ให้แก่ท่านทั้งสอง ตามความสามารถที่มีอยู่ เช่น ให้อาหาร เครื่องนุ่งห่ม การรักษาพยาบาล ป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น และพลีชีวิตจิตใจ ต่อท่านทั้งสอง ดังอัลหะดิษที่ระบุไว้ ความว่า

“ท่าน และ ทรัพย์สินของท่าน เป็นของพ่อของท่าน”

อัลกุรอานได้ระบุไว้

“พวกเขาทั้งหลาย จะถามเจ้าถึงสิ่งที่พวกเขาจะบริจาค

จงกล่าวว่า สิ่งที่ท่านทั้งหลายบริจาคในส่วนที่เป็นความดี ก็จงบริจาคแก่บุพการีและผู้ใกล้ชิด "

(บท อัลบะก็เราะห์ โองการที่ 215)

          4. ต้องขอพร ขออภัยให้แก่ท่านทั้งสอง และยิ่งกว่านั้นให้ฟื้นฟูสมัยของท่านด้วยการให้เกียรติแก่ผู้เป็นเพื่อนของบิดา มารดา ดังอัลกุรอานระบุไว้

“และจงกล่าวว่า พระผู้อภิบาลของข้าพระองค์

ขอพระองค์ทรงมีพระเมตตาแก่ท่านทั้งสอง เหมือนดั่งที่ท่านทั้งสองได้อภิบาลข้าพระองค์มาแต่เยาว์วัย "

(บท อัลอิสรอฮฺ  โองการที่ 24)

          อัลหะดิษ ได้ระบุไว้ ความว่า

“แท้จริง สิ่งที่ดีที่สุดจากความดีนั้น คือ การติดต่อสัมพันธ์ของผู้ชายที่มีต่อผู้เป็นที่รักของพ่อของเขา ภายหลังที่ท่านได้ล่วงลับไปแล้ว "

(รายงานโดย มุสลิม)

         5. สิ่งที่เราจะต้องปฏิบัติต่อพ่อแม่นั้น มีขอบเขตอันจำกัด ใช่ว่าจะต้องปฏิบัติตามในส่วนที่เป็นความผิด เราจะทำตามมิได้เด็ดขาด ดังกุรอานระบุไว้

“ท่านทั้งหลาย จงดำรงอยู่ด้วยความยุติธรรม เพื่อเป็นสัขขีพยานต่ออัลลอฮฺ

แม้จะเป็นผลร้ายแก่ตัวของพวกท่าน หรือ บุพการีและหรือญาติผู้ใกล้ชิด "

(บท อันนิซาอฺ โองการที่ 134)

         ท่านเราะซูล ยังได้กำชับในเรื่องการกตัญญูต่อบิดามารดา โดยเน้นถึงความสำคัญของมารดามากกว่าอื่นใด  จากอบูฮุรอยเราะฮฺ เล่าว่า

“มีชายคนหนึ่งมาหาท่านเราะซูล พลางกล่าวถามว่า ในหมู่ผู้คนที่ฉันควรจะอยู่ร่วมด้วยดีที่สุดนั้นเป็นใคร

ท่านเราะซูล ตอบว่า มารดาของท่าน

เขาถามตอบอีกว่า ต่อจากนั้นเป็นใคร

ท่านตอบว่า มารดาของท่าน

ต่อจากนั้นเป็นใคร

ท่านตอบว่า มารดาของท่าน

เขาถามอีกว่า ต่อจากนั้นเป็นใคร

ท่านตอบว่า บิดาของท่าน

         และเมื่อบิดามารดาเสียชีวิตไปแล้ว ลูกๆสามารถทำทานให้บิดามารดาได้เสมอ

         จากอบูฮุรอยเราะฮฺ เล่าว่า ชายคนหนึ่งได้ถามท่านนบีว่า โอ้ ท่านเราะซูล บิดาของฉันได้สิ้นชีวิตไปแล้ว ท่านได้ทิ้งทรัพย์สินโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์สินจะปลดเปลื้องบาปของท่านได้ไหม หากฉันทำทานในนามของท่าน(บิดา)

ท่านนะบี  ตอบว่า "ได้"

         รวมถึงการที่คำบนบานที่บิดามารดาได้บนบานไว้ก่อนเสียชีวิตแต่ไม่มีโอกาสได้ทำ โดยให้ลูกทำแทน

         จากอิบนิอับบาส เล่าว่า สะอฺด อิบนุ อุบาดะฮฺ ได้ขอให้ท่านเราะซูล วินิจฉัยคำบนบานของมารดาที่ถึงแก่ชีวิตแล้ว แต่มิได้ปฏิบัติสิ่งที่บนบานไว้

ท่านเราะซูล จึงกล่าวว่า "ท่านจงทำในนามของท่าน (มาราดา) เถิด"


ความกตัญญูต่อพ่อแม่

         เป็นหน้าที่โดยตรงของลูกทุกคน ต้องแสดงความกตัญญูและปรนนิบัติพ่อแม่ของตนเองให้ดี ดังปรากฏในอัลกุรอาน ความว่า" และเราสั่งให้มนุษย์ ทำดีต่อพ่อแม่ของเขา "

“และพระเจ้าของเจ้าได้บัญญัติไว้ว่า พวกเจ้าอย่านมัสการสิ่งใดทั้งสิ้น ยกเว้นพระองค์เท่านั้นและจงทำดีต่อพ่อแม่”

“หากคนใดจากทั้งสอง หรือทั้งสองได้บรรลุสู่วัยชราขณะอยู่กับเจ้าเจ้าอย่ากล่าวคำ"อุฟ"กับท่านทั้งสอง

และอย่ากร้าวร้าวท่านทั้งสอง แต่จงกล่าวกับท่านทั้งสองด้วยถ้อยคำอันมีเกียรติ”

“และเจ้าจงลดตัวของเจ้าต่อท่านทั้งสองด้วยความเมตตา และจงขอพรแก่ท่านทั้งสองว่า

โอ้พระผู้เป็นเจ้า โปรดเมตตาท่านทั้งสองเหมือนกับท่านทั้งสองได้เลี้ยงดูข้าพเจ้ามาตั้งแต่เยาว์วัย”


ข้อควรปฏิบัติโดยนิจสิน

          ลูกทุกคนควรขอพร(ดุอา) ให้พ่อแม่ของตนทุกเวลาหลังละหมาด โดยขอให้ท่านมีความสุข ปราศจากโรคภัย ไข้เจ็บ ให้มั่งมีศรีสุข และให้พระเจ้ายกโทษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อท่านได้ชีวิตไปแล้วควรขอพรให้แก่ท่านเพิ่มพูนขึ้นอีก โดยขอให้ท่านมีความสุขในโลกใหม่ ได้รับการอภัยโทษและได้เข้าสวรรค์ในที่สุด ได้ท่านศาสดามุฮัมมัด  ได้กล่าวไว้ความว่า

" ใครเว้นการขอพรให้พ่อแม่ ความเป็นอยู่ของเขาจะคับแคบลง "

" ใครจูบระหว่างสองตาของพ่อแม่ เขาจะได้รับการป้องกันจากไฟนรก "

         การขอบคุณพระเจ้า กระทำโดยการทำละหมาดครบ 5 เวลา และขอบคุณพ่อแม่โดยการขอพรแก่ท่าน หลังจากละหมาด ทั้ง 5 เวลา

         เมื่อท่านทั้งสองแก่ชราลงไป จงหมั่นปรนนิบัติท่านโดยไม่รังเกียจท่าน ลูกต้องคอยยกท่านไปถ่ายปัสสาวะ อุจจาระ อย่าทำท่าขยะแขยงในความสกปรก เพราะเมื่อตอนเรายังเล็กอยู่ ท่านทั้งสองได้ปฏิบัติกับเราอย่างเต็มใจ ไม่ขยะแขยงและไม่รังเกียจ แม้เราจะสกปรก ปัสสาวะ อุจจาระ เต็มที่นอน ส่งกลิ่นเหม็นตลบ แต่ท่านทำให้เราสบายต่อเนื่องมาหลายปี กว่าเราจะช่วยตัวเองได้ ดังนั้นเมื่อท่านกลับคืนไปสู่สภาพอ่อนแอประดุจดังทารก ซึ่งท่านช่วยตัวเองไม่ได้แล้ว จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องปฏิบัติต่อท่าน

ท่านศาสดามุฮัมมัด  กล่าวไว้ ความว่า

“ถ้ามีการแสดงความกร้าวร้าวต่อพ่อแม่ที่มีระดับต่ำกว่าคำพูด "อุฟ” แน่นอนอัลลอฮฺก็จะนำมาห้ามอย่างแน่นอน "

          บุคคลที่เนรคุณพ่อแม่ แม้จะทำความดีมากมายสักปานใด ก็ไม่มีโอกาสได้เข้าสวรรค์ และคนทำชั่วก็อาจได้เข้าสวรรค์ หากเขาเป็นผู้กตัญญูต่อพ่อแม่ โดยอัลหะดิษระบุไว้ ความว่า

 

“ความโปรดปรานของพระเจ้าอยู่ที่ความพอใจของผู้ให้กำเนิด และความกริ้วของพระเจ้า อยู่ที่ความโกรธของผู้ให้กำเนิด”

 

“จะไม่ได้เห็นหน้าฉันเลย คน 3 คน คือ

♦ คนที่เนรคุณพ่อแม่

♦ คนที่ทอดทิ้งแนวทางของฉัน และ

♦ คนที่ไม่ขอพร ซอลาวาตให้แก่ฉัน เมื่อมีการกล่าวชื่อของฉัน”

  
“ท่านทั้งหลาย จงทำดีต่อพ่อของท่านเถิดแน่นอน ลูกๆ ของท่าน จะได้ทำดีต่อท่านต่อไป 

 และท่านทั้งหลายจงรักษาตัวไว้(อย่าล่วงเกินทางเพศต่อหญิงอื่น)แน่นอนผู้หญิงของท่านทั้งหลาย จะได้รับการรักษาตัวเองต่อไป”

 

“ผู้ใดตื่นเช้าโดยพ่อแม่มีความพอใจในตัวเขา หรือเพียงคนใดคนหนึ่ง แน่นอนจักถูกเปิดประตูสวรรค์ให้แก่เขา

และผู้ใดอยู่ถึงเย็นโดยพ่อแม่โกรธเขา หรือเพียงคนใดคนหนึ่ง แน่นอนประตูนรกถูกเปิดให้แก่เขา”

 

" ท่านอย่าตัดขาดความสัมพันธ์กับบุคคลที่พ่อของท่านมีสัมพันธ์   การกระทำเช่นนั้นจะเป็นแสงสว่างสำหรับท่าน

แท้จริงความรักของท่าน ก็คือ ความรักของพ่อท่านนั่นเอง "


" ใครทำร้ายพ่อแม่ของเขา หรือเพียงใครคนหนึ่ง เขาย่อมเข้านรก "

 

 

ชมรมนักวิชาการปทุมธานี