คุณค่าทางภาษาของอัลกุรอาน
  จำนวนคนเข้าชม  10895

คุณค่าทางภาษาของอัลกุรอาน

โดย : มุสลิม

          อัลฮัมดุลิลลาห์ เราขอสรรเสริญอัลเลาะห์ที่ให้เราได้เป็นมุสลิม ฉะนั้น เราควรภาคภูมิใจในศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นศาสนาที่มีคุณสมบัติพิเศษที่อัลเลาะห์ทรงประทานมาให้แก่มนุษยชาติ

          ศาสนาที่ท่านนบีนูฮฺ อะลัยฮิสสลาม นำมาก็ดี ศาสนาที่นบีอิบรอฮีม นบีมูซา นบีอีซา อะลัยฮิมุสสลาม นำมาก็ดี ตลอดจนบรรดานบีท่านก่อนๆที่อัลกุรอานได้กล่าวไว้นั้นล้วนมีคำสอนอยู่ในขอบเขตเฉพาะแต่ละยุค ใช้ได้เฉพาะกาลเวลาหนึ่งเท่านั้น เมื่อเป็นดังนี้เราคงเคยทราบว่าบางสมัยมีนบีสองท่านมาทำหน้าที่แนะนำพร้อมกัน

          อิสลามมีคุณสมบัติอันสูงส่งมากมายที่อัลเลาะห์ ทรงประทานมาให้ตามยุคสมัย อัลเลาะห์ ทรงให้อิสลามมาสำหรับมนุษยชาติทั้งมวล มิใช่เฉพาะชาติใดชาติหนึ่ง ไม่ว่าเราจะเดินทางไปประเทศใดของโลก ก็จะพบมุสลิมผู้นับถือศาสนาอิสลาม เช่น ในแถบตะวันออกเฉียงใต้ของเอเชีย อันได้แก่ ไทย จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลี จีนแดง ฟิลิปปินส์ เป็นต้น หรือแม้แต่ในยุโรป ออสเตรเลีย หรือแอฟริกาก็ตาม เราก็จะได้ยินผู้กล่าวปฏิญาณว่า

لااله الاالله محمد رسول الله

ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮ์ มุฮัมมัด รอซูลลุลลอฮ์

“ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลเลาะห์ ท่านนบีมุฮัมหมัดเป็นรอซูลของอัลเลาะห์”

          อิสลามได้แพร่ขยายไปในคนทุกชาติทุกภาษา เช่น อินเดียมีภาษาเป็นร้อยๆ ซูดานมีประมาณ 200 ภาษา แต่เมื่อภาษาอาหรับเป็นภาษาศาสนาอิสลาม บุคคลต่างชาติต่างภาษาก็หันมาใช้ภาษาอาหรับเหมือนๆกัน ฉะนั้น ภาษาอาหรับจึงมิใช่เป็นภาษาของชนชาติใดชาติหนึ่ง หากแต่เป็นภาษาของศาสนาอิสลาม มีคนอาหรับจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเข้าใจภาษาของอัลกุรอาน ทั้งๆที่เขาพูดภาษาอาหรับ ทั้งนี้เพราะภาษาอาหรับที่เขาใช้นั้นไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกับภาษาอัลกุรอานก็เป็นได้

          เมื่อมุสลิมได้แพร่ขยายไปได้ 200 ปี สมัยนั้นผู้ที่นำคำสอนของอิสลามไปใช้ในการดำเนินชีวิตจริงๆ มุสลิมกลายเป็นผู้ปกครองโลก มีนักปราชญ์มุสลิมจำนวนมากที่มิใช่เชื้อสายอาหรับ เช่น อิมามบุคอรีย์ และซีบาวัยฮฺ ซึ่งเป็นผู้วางหลักไวยากรณ์อาหรับทั้งๆที่มิใช่เป็นชาวอาหรับ ดังนั้นถ้ามีผู้กล่าวว่า ภาษาอาหรับนี้เป็นภาษาเฉพาะของชาวอาหรับ ก็ควรชี้แจงให้เข้าใจว่าไม่ใช่ หากแต่เป็นภาษาอัลกุรอาน เป็นภาษาต้นฉบับที่ท่านนบี นำมาสั่งสอนแก่มนุษยชาติตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และจะยังคงอยู่ตลอดไปจนกระทั่งวันกิยามะห์ แม้อัลกุรอานก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแม้แต่เพียงอักษรเดียว หากภาษาอาหรับมิใช่ภาษาอัลกุรอาน แน่นอนภาษาอาหรับก็คงสูญสลายไปนานแล้วดังเช่นภาษาอื่นๆ

          การที่อัลเลาะห์ได้ทรงประทานอัลกุรอานให้แก่ประชาชาติมุสลิมนั้น น่าจะเป็นการช่วยยกระดับตัวเราให้มีคุณค่าสมกับคำสอนของอัลกุรอาน มิใช่นำอัลกุรอานลงมาเพื่อให้กับระดับของเรา

          ในการอ่านอัลกุรอาน เราควรคำนึงว่าเรากำลังอ่านอะไร? กำลังสนทนากับใคร? และอัลเลาะห์ ตรัสกับเราว่าอย่างไร ?

          อิกบาล กวีชาวปากีสถานอ่านอัลกุรอานโดยไม่มีสมาธิ บิดาจึงเตือนว่า “อัลเลาะห์ ตรัสกับลูกอยู่นะ” การเตือนเช่นนี้ทำให้เข้าใจว่า การอ่านกุรอานจะต้องสำรวม มีมารยามตั้งใจอ่าน เพราะกำลังอ่านดำรัสของอัลเลาะห์ พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเกรียงไกร

          สิ่งที่จะเป็นกำลังใจอีกอย่างหนึ่งในการศึกษาอัลกุรอาน คือ อัลกุรอานมิใช่ภาษาตลาด การอ่านอัลกุรอานเท่ากับเป็นการทำอิบาดะห์ และการทำอิบาดะห์นั้นจะต้องกระทำเพื่ออัลเลาะห์ เพียงองค์เดียวเท่านั้น กระทำอย่างดีที่สุดและมีมารยาทที่สุด การอ่านของผู้เรียนอาจมีอุปสรรค เพราะไม่มีโอกาสศึกษามาตั้งแต่เด็ก แต่ก็อย่าเสียกำลังใจ เพราะอิสลามส่งเสริมให้เล่าเรียนโดยไม่จำกัดเพศและวัย

          มีฮะดีษที่อิมามติรมิซีย์บันทึกไว้มีความว่า ท่านรอซูล กล่าวว่า :

           ผู้ใดที่อ่านอัลกุรอาน เขาจะได้รับความดีในแต่ละพยัญชนะ และความดีหนึ่งนั้นจะได้ 10 เท่า ฉันไม่ได้กล่าวว่า อะลีฟ ลาม มีม เป็นพยัฐชนะเดียว แต่อะลีฟ เป็นพยัญชนะหนึ่ง ลาม ก็เป็นพยัญชนะหนึ่ง มีมก็เป็นพยัญชนะหนึ่ง

(บันทึกโดยอัตติรมิซีย์)

          การอ่านที่รู้ความหมายก็จะทำให้เรารู้สึกประทับใจยิ่งขึ้นอีกมาก เพราะอัลกุรอานเป็นพจนารถของอัลเลาะห์ ท่านนบี ท่านเป็นรอซูลของมนุษย์และญิน ดังนั้น เมื่อญินได้ยินอัลกุรอานจึงกล่าวว่า :

1. จงกล่าวเถิดมุฮัมมัดว่า ได้มีวะฮียฺมายังฉันว่า แท้จริงพวกญินจำนวนหนึ่งได้ฟังฉัน (อ่านกุรอาน) และพวกเขากล่าวว่า แท้จริงเราได้ยินกุรอานที่แปลกประหลาด

2. ซึ่งนำไปสู่ทางที่ถูกต้อง ดังนั้นพวกเราจึงศรัทธาต่ออัลกุรอานนั้น และเราจะไม่ตั้งสิ่งใดเป็นภาคีต่อพระเจ้าของเรา

(อัลญิน 72 : 1-2)

          บางทีท่านนบีละหมาดเวลากลางคืนท่านก็ร้องไห้ ท่านอบูบักรฺอ่านอัลกุรอานท่านก็ร้องไห้ อันเนื่องมาจากความซาบซึ้งในข้อความในอัลกุรอาน

          มุอฺมินจะต้องมีจิตใจซาบซึ้งในความหมายของอัลกุรอาน คือ อ่านแบบมีชีวิตชีวา การที่เราจะได้ประโยชน์จากการอ่านอัลกุรอาน จะต้องอ่านอย่างเข้าใจความหมาย มีสมาธิ ทำจิตใจให้ผูกพัน และดำเนินตามคำสอนของอัลกุรอาน เพราะเรารู้ว่าอัลเลาะห์ สั่งให้เรากระทำอะไร?

          พวกเขามิได้พิจารณาใคร่ครวญอัลกุรอานดอกหรือ? แต่ว่าบนหัวใจของพวกเขามีกุญแจหลายดอกลั่นอยู่

(มุฮัมหมัด 47 :24)

          อิมามชาฟิอีย์ถือว่า การเรียนภาษาอาหรับเป็นวาญิบ เพราะภาษาอาหรับเป็นภาษาของอัลกุรอาน ซึ่งมีความสำคัญดังที่กล่าวมาแล้ว

           อิมามอิบนิตัยมียะห์ กล่าวว่า : คนที่อ่านอัลกุรอานแล้วไม่รู้เรื่อง ก็เท่ากับเป็นผู้ที่ไม่รู้เรื่องว่าสิ่งที่กำลังอ่านอยู่นั้นมีความหมายว่าอย่างไร? ซึ่งที่จริงแล้วเราน่าจะรู้ความหมายในสิ่งที่เรากล่าวในละหมาดทั้งหมด

 

¨¨¨¨¨¨¨¨¨¨¨¨¨¨¨¨¨¨¨¨¨¨¨¨¨¨¨¨¨¨

ข้อมูลเพิ่มเติม

ซูเราะฮฺ ยูซุฟ  (Yusuf)   อายะหฺที่ 2  (12:2)

ซูเราะฮฺ อัรเราะอฺดฺ  (Ar-Rahdu)   อายะหฺที่ 37  (13:37)

ซูเราะฮฺ อันนะหฺลฺ  (An-Nahl)   อายะหฺที่ 103  (16:103)

ซูเราะฮฺ ฏอฮา  (Ta-Ha)   อายะหฺที่ 113  (20:113)

ซูเราะฮฺ อัชชุอะรออฺ  (Ash-Shuaraa)   อายะหฺที่ 195  (26:195)

ซูเราะฮฺ อัซซุมัร  (Az-Zumar)   อายะหฺที่ 28  (39:28)

ซูเราะฮฺ ฟุศศิลัต  (Fussilat)   อายะหฺที่ 3  (41:3)
 
ซูเราะฮฺ อัซซูรอ  (Ash-shura)   อายะหฺที่ 7  (42:7)

ซูเราะฮฺ อัซซุครุฟ  (Az-Zukhruf)   อายะหฺที่ 3  (43:3)

ซูเราะฮฺ อัลอะฮฺก็อฟ  (Al-Ahqaf)   อายะหฺที่ 12  (46:12)