ฝึก"สมาธิ"เจ้าตัวน้อย…ด้วยสองมือพ่อแม่
  จำนวนคนเข้าชม  14379

ฝึก"สมาธิ"เจ้าตัวน้อย…ด้วยสองมือพ่อแม่
 
 
 

       เป็นเรื่องธรรมดาที่พ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกเป็นคนเก่ง ดี มีความสุข และพร้อมส่งเสริมให้ลูกเป็นเด็กเฉลียวฉลาด แต่ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาเด็กเครียด และขาดอิสระทางความคิดได้ ซึ่ง รศ.นพ.ศิริชัย หงส์สงวนศรี กุมารแพทย์ด้านจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลนครธน กล่าวว่า สิ่งแรกที่พ่อแม่ควรทำความเข้าใจ คือ ความฉลาดของทุกคนขึ้นอยู่กับสติปัญญาและสมอง ซึ่งสมองของคนเรามีความคิดและความสามารถในการเรียนรู้ที่แตกต่างกันออกไป และส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับพันธุกรรมของแต่ละครอบครัว ดังนั้นการที่จะให้ลูกมีความเฉลียวฉลาด มีพัฒนาการที่ดีนั้น ต้องเริ่มจาก การดูแลลูกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ซึ่งถือว่าเป็นก้าวแรกของกลยุทธ์สร้างลูกสมองดี
      
       “สมองดี คือการคิดได้อย่างมีสติมีปัญญาอย่างแท้จริงและรวมถึงสิ่งที่เป็นคุณงามความดี ซึ่งเด็กจะมีสมองดีมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับยีนเกือบ 80% และยังสามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มได้ตั้งแต่ในครรภ์ ซึ่งช่วงนี้คุณแม่ควรดูแลสุขภาพให้ดี เพราะจะส่งผลให้ลูกมีสุขภาพดีตามมา นอกจากนี้ในเรื่องการบริโภคอาหาร ควรทำตามที่หมอแนะนำ
      
       - ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
       - ผักและผลไม้อย่าให้ขาด
       - เน้นอาหารทะเล โดยเฉพาะปลา น้ำมันปลา เพราะสมองเป็นไขมัน ถ้ามีไขมันดีสมองก็จะดี
       - หลีกเลี่ยงชา กาแฟ และแอลกอฮอล์ทุกชนิด
      
      
       และเมื่อคลอดลูกแล้วก็ควรบำรุงต่อไป เพื่อมีน้ำนมให้ลูก ซึ่งจากการวิจัยพบว่า เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ไอคิวของเด็กจะได้รับการกระตุ้นเพิ่มขึ้นอีก 10% และที่สำคัญพ่อแม่ไม่ควรเครียดมากจนเกินไป เพราะสุขภาพจิตมีส่วนสำคัญต่อพัฒนาการทางสมอง ไอคิว และพฤติกรรม เพราะถ้าพ่อแม่เครียดมากเกินไป มักจะก่อให้เกิดสารคอติซอร์ที่เป็นพิษต่อเซลสมอง ทำให้ลูกกลายเป็นเด็กเลี้ยงยาก ขี้หงุดหงิด ก้าวร้าวและเจ้าอารมณ์ จะผลต่อพัฒนาการต่างๆระหว่างที่เขาโตขึ้น”
 
 
        3 ขวบปีแรกถือเป็นนาทีทองของสมองเด็กที่จะมีพัฒนาการดีที่สุด ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด และเมื่อเด็กเริ่มมีพัฒนาการตามวัยดีขึ้นเรื่อยๆ พ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้หยิบจับ และช่วยเหลือตัวเองด้วยการฝึกให้ทำกิจวัตรประจำวัน และเริ่มเรียนรู้สังคมใหม่ๆด้วยตัวเอง เพื่อพัฒนาศักยภาพในด้านที่ลูกพร้อม
      
       “เมื่อลูกอยู่ในช่วงอายุ 1-3 ขวบ เขาสามารถเริ่มช่วยเหลือตัวเองได้เยอะขึ้น โดยเฉพาะกิจวัตรประจำวัน เช่น การอาบน้ำ แต่งตัว ทาแป้ง หรือทานอาหาร สิ่งเหล่านี้พ่อแม่ควรปล่อยให้ลูกได้ลองทำเอง และควรดูแลใส่ใจอย่างใกล้ชิด คอยพูดคุย หรือทำกิจกรรมร่วมกัน อย่างเช่นการเล่านิทานมีประโยชน์กับเด็กๆ ในเรื่องการเรียนรู้ จินตนาการ กระตุ้นด้านภาษา และช่วยให้เด็กๆ มีทัศนคติที่ดีต่อการอ่านหนังสือ นอกจากนี้อาจหากิจกรรมเสริมอื่นๆ ให้ลูกได้เล่น อาทิ กิจกรรมเข้าจังหวะ ซึ่งมันทำให้สมองเป็นจังหวะ และมีสมาธิดีขึ้น”
      
       นอกจากนี้ นักกิจกรรมบำบัดของโรงพยาบาลนครธน กล่าวว่า พ่อแม่สามารถช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านสมองให้กับลูกๆได้ด้วยการฝึกสมาธิ เพื่อเป็นการกระตุ้นพัฒนาการด้านต่างๆของเด็ก ผ่านกิจวัตรประจำวันหรือกิจกรรมจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ให้เด็กได้เห็น ได้เล่น ได้ลอง มาเป็นตัวเพิ่มประสบการณ์ ซึ่งสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่แรกเกิด ที่สำคัญต้องมีสิ่งกระตุ้น หรือสิ่งเร้า ที่เหมาะกับช่วงวัย
      
 
 
       “โดยเฉลี่ยเด็กอายุก่อน 3 ขวบจะมีสมาธิ ประมาณ 5 นาที และเมื่อ 3 ขวบขึ้นไปก็จะประมาณ 10 - 15 นาที ฉะนั้นการฝึกสมาธิในเด็กจึงต้องใช้ของเล่นที่มาช่วยดึงดูดความสนใจ กระตุ้นให้เด็กๆอยากเล่น แต่ต้องดูความเหมาะสมของวัย อาทิ เด็ก 1 เดือน จะสามารถจ้องวัตถุได้ หรือหันไปหาเสียงที่เขาได้ยินถือเป็นสมาธิเริ่มต้น เด็กอายุ 4 - 9 เดือน จะมีในเรื่องกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เราสามารถหาของเล่นให้เค้าคลานไปหาได้ อายุ 8 - 9 เดือนจะมีพัฒนาการด้านการสัมผัส เริ่มคลานหาเป้าหมาย อาจหาของเล่นเช่น ลูกบอลที่มีแสง-เสียงเพื่อฝึกสมาธิรู้จักวางแผนที่จะคลานไปหาของสิ่งนั้น อายุ1ขวบ สามารถจดจำสีแดงได้เป็นสีแรก อายุ 2 ขวบสามารถจำแนกแม่สีได้ อายุ3 ขวบ เลียนแบบท่าทางของสัตว์นานาชนิด รูปแบบกิจกรรมอาจเป็นการท้ายชื่อสี ชื่อสัตว์ ท่าทางเพื่อกระตุ้นในเรื่องของทักษะการจำและให้เด็กได้แสดงออก ช่วยเสริมทักษะทางสังคมให้เด็ก อีกทั้งเพิ่มสายใยในครอบครัวให้อบอุ่นขึ้นด้วย"
      
       การเล่นของเด็กช่วงอายุ 0 - 6 ปี นอกจากเป็นการช่วยพัฒนาเด็กทางด้านร่างกายและจิตใจแล้ว ยังช่วยเรื่องไอคิว-อีคิว ทำให้เขามีพัฒนาการด้านสมองดีขึ้น และยังช่วยฝึกการสร้างสมาธิให้กับเด็กๆ ไม่ว่าจะแค่1-2นาที ก็สามารถทำได้ เช่นการวาดรูประบายสี หรือการเล่นประกอบกับดนตรีที่มีจังหวะช้าๆ โดยมีพ่อแม่ร่วมเล่นไปพร้อมๆ กับลูก เพราะว่าเด็กในวัยนี้ต้องการฝึกในเรื่องของประสาทสัมผัสทั้งหมด เขายังไม่สามารถมานั่งสมาธิได้เพียงแค่ตอบสนองต่อสิ่งเร้ารอบข้างก็ถือว่ามีสมาธิได้เช่นกัน”
 
 

 

 

นิตยสารรักลูก