มูลฐานแห่งจริยธรรมในอิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  8321

 

มูลฐานแห่งจริยธรรมในอิสลาม

 โดย : อบู อนัส

          แท้จริงอัลลอฮ์ทรงกำชับให้พวกเจ้าคงไว้ซึ่ง ความยุติธรรม และการทำดี และการบริจาคแก่ญาติใกล้ชิด และพระองค์ทรงกำชับให้พวกเจ้าละเว้น การทำลามก และการชั่วช้า และการละเมิด พระองค์ทรงตักเตือนพวกเจ้าในเรื่องนี้ เพื่อพวกเจ้าจะได้รำลึกถึง (อันนะหฺล 16 : 90)

คำอธิบาย 

          อัลเลาะห์ ได้ทรงสั่งใช้ให้บรรดาผู้ศรัทธาปฏิบัติ 3 ประการ ซึ่งเป็นคำสั่งที่สำคัญยิ่งเกี่ยวกับคุณธรรมความดี และพระองค์ทรงห้ามไว้ 3 ประการ ซึ่งกำชับให้ละเว้นการฝ่าฝืน และการทำชั่ว

สามประการเกี่ยวกับคุณธรรมความดีนั้นได้แก่ ;

1. ความยุติธรรม

          ความยุติธรรม ก็คือบุคคลหนึ่งจะต้องให้สิทธิสมบูรณ์ต่อผู้ที่มีสิทธิในสิ่งนั้น เช่นผู้ที่มีหนี้สินก็จะต้องใช้หนี้ให้แก่ผู้ที่เป็นเจ้าหนี้ นี่คือความยุติธรรม ดังนั้นผู้แย่งชิง หรือผู้ลักขโมย จึงถือว่าเป็นผู้อธรรม (ซอลิม) เพราะเขาเอาสิ่งที่มิใช่สิทธิของตนไป

          คนขาย ที่ตวงหรือชั่งของให้ผู้ซื้อไม่ครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ ก็ถือว่าเป็นผู้อธรรมเช่นกัน เพราะเขาไม่ได้ให้สิทธิที่ครบถ้วนสมบูรณ์แก่ผู้ซื้อ

          ผู้พิพากษา ที่มีใจไม่ยุติธรรมเอนเอียง เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ก็เท่ากับเป็นผู้อธรรม เพราะเขาสิทธิบางส่วนไปให้อีกฝ่ายหนึ่ง อีกทั้งยังมีการรับสินบนด้วน ผู้พิพากษานั้นย่อมเป็นผู้อธรรม เพราะเป็นผู้ที่เอาสิ่งที่มิใช่สิทธิของตนมาครอบครอง

           ดังนั้นความหมายของคำว่ายุติธรรมจึงเป็นมูลฐานของความประเสริฐหลายๆอย่าง

          ความยุติธรรมอีกประการหนึ่งก็คือ ความยุติธรรมที่รัฐบาลพึงมีต่อประชากรของตน ต้องให้สิทธิของประชากร และแสวงหาความเจริญก้าวหน้าให้ประชากรได้มีความเป็นอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ต้องดูแลเอาใจใส่ รักษาผลประโยชน์ของราษฎรโดยไม่ขาดตกบกพร่อง

          ในอัลกุรอานได้เรียกร้องให้มีความยุติธรรมในหลายๆซูเราะห์ด้วยกัน เพราะอัลกุรอานถือว่า ความยุติธรรมนั้นเป็นจุดมุ่งหมายปลายทางของความสุข และความมีเกียรติ

          ดังนั้นอัลกุรอานจึงใช้ให้มีความยุติธรรมเท่าเทียมกัน ไม่ว่าต่อคนที่อยู่ในศาสนาเดียวกัน หรือต่อคนต่างศาสนาก็ตาม อัลกุรอานได้ระบุไว้ในซูเราะหฺ อัลมาอิดะห์ ที่ว่า :

          ผู้ศรัทธาทั้งหลาย ! จงเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีเพื่ออัลลอฮ์ เป็นพยานด้วยความเที่ยงธรรมและจงอย่าให้การเกลียดชังพวกหนึ่งพวกใด ทำให้พวกเจ้าไม่ยุติธรรม จงยุติธรรมเถิด มันเป็นสิ่งที่ใกล้กับความยำเกรงยิ่งกว่า และพึงยำเกรงอัลลอฮ์เถิด แท้จริงอัลลอฮ์นั้น เป็นผู้ทรงรอบรู้อย่างละเอียดในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำกัน(อัลมาอิดะห์ 5 : 8)

        กล่าวคือ อย่าให้ความเกลียดชังของพวกท่านที่มีต่ออีกฝ่ายหนึ่ง มาบีบบังคับให้ปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความอธรรม หากแต่ว่ามนุษย์ทุกคนต้องมีความยุติธรรมทัดเทียมกัน ทั้งแก่ผู้ที่ท่านรัก และเกลียดแก่ผู้ร่วมศาสนาหรือต่างศาสนากัน

            ดังนั้นการปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้ต่อกันอย่างครบถ้วนจึงเป็นสิ่งที่จะเป็น ไม่ว่าเขาผู้นั้นจะเป็นมุสลิมหรือไม่ใช่มุสลิมก็ตาม การกระทำเช่นนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่สูงส่งยิ่งที่มนุษยชาติพึงมีต่อกัน

2. การทำความดี (อัลเอียะห์ซาน)

          หมายถึง การให้นอกเหนือจากสิทธิ เช่น เจ้าหนี้เมื่อจะเก็บหนี้จากลูกหนี้ และพบว่าลูกหนี้ขัดสนมาก จึงให้อภัยเขาโดยไม่เก็บหนี้จากเขาเลย การกระทำเช่นนี้ถือว่าเป็นการทำความดีอย่างหนึ่ง ดังนั้นการทำความดีจึงหมายถึงการมีความรู้สึกเมตตาต่อผู้อื่น มิได้จำกัดความอยู่เพียงแค่การเอามือล้วงกระเป๋าหยิบยื่นเงินให้แก่คนยากจนเท่านั้น หากแต่มีความหมายกว้างกว่านั้นมากนัก นั่นคือการเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน

3. การบริจาคแก่ญาติที่ใกล้ชิด

          เพราะว่าการทำดีต่อบุคคลทั่วไปนั้นเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้นการทำดีต่อเครือญาติใกล้ชิดเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งกว่า โดยเฉพาะในเวลาที่เขาต้องการความช่วยเหลือจากเรา

 นี่คือสามประการที่อายะห์ได้กำชัยให้มุสลิมทุกคนยึดมั่นและปฏิบัติ

 สามประการที่กำชับให้ละเว้นนั้นได้แก่ ;

1. การลามก (อัลฟะหฺชาอฺ)

          คือ การกระทำที่น่ารังเกียจที่เกิดขึ้นจากการกระทำของบุคคลหนึ่ง และเป็นการกระทำที่เป็นภัยต่อตนเอง เช่นการตระหนี่ถี่เหนียว

2. การชั่วช้า (อัลมุนกัร)

คือ การกระทำความผิดที่เป็นภัยต่อตัวเอง และเมื่อกระทำไปแล้วก็มีคนคัดค้านกันมากมาย

          อัลกุรอานมักจะเรียกคุณธรรมความดีงามทางสังคมว่า อัลมะอฺรูฟ ซึ่งหมายถึงความดี และเรียกสิ่งที่ชั่วช้าทางสังคม อัลมุนกัร ที่หมายความว่า ความชั่วช้า ดังอายะห์ที่ 110 ซูเราะห์ อาละอิมรอน ที่ว่า :


          พวกเจ้านั้นเป็นประชาชาติที่ดียิ่งซึ่งถูกให้อุบัติขึ้นสำหรับมนุษย์ชาติ โดยที่พวกเจ้าใช้ให้ปฏิบัติสิ่งที่ชอบ และห้ามมิให้ปฏิบัติสิ่งที่มิชอบ และศรัทธาต่ออัลลอฮ์ และถ้าหากว่าบรรดาผู้ที่ได้รับคัมภีร์  ศรัทธากันแล้ว แน่นอนมันก็เป็นการดีแก่พวกเขา จากพวกเขานั้นมีบรรดาผู้ที่ศรัทธา และส่วนมากของพวกเขานั้นเป็นผู้ละเมิด (อาละอิมรอน : 110)

          อัลกุรอานถือว่า การกำชับในเรื่องคุณธรรมความดี และห้ามปรามกันในเรื่องความชั่วนั้น เป็นรากฐานของอิสลาม เพื่อสร้างประชาชาติที่มั่นคง และมีความตื่นตัวอยู่เสมอ เมื่อมีสิ่งใดที่บกพร่อง ปัญญาชนก็จะเรียกร้องให้ปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องและสมบูรณ์

3. การละเมิด (อัลบัฆยุ)

          คือ การฝ่าฝืนทางการ ฝ่ายปกครอง ด้วยวิธีการรุนแรง เช่นพวกที่ฝ่าฝืนผู้ปกครอง ที่มีความยุติธรรม มีเสถียรภาพและความมั่นคงทางการปกครอง

 

          จากที่ได้กล่าวมาแล้ว ประชาชาติที่ดำเนินตามมูลฐานทั้งสาม และห่างเหินจากสามประการที่สั่งห้ามดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ย่อมเป็นประชาชาติตัวอย่าง

          ดังนั้นประชาชาติใดที่บุคคลในหมู่ชนนั้นๆ หรือประชาชาตินั้นๆมีความยุติธรรม แต่ละคนปฏิบัติตามหน้าที่ของตน และรัฐบาลก็มีความยุติธรรม ปฏิบัติตามหน้าที่อย่างครบถ้วน บุคคลในหมู่ชนหรือประชาชาติต่างก็มีการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน และออกห่างจากการกระทำความผิดส่วนบุคคล ความผิดทางสังคม และการกบฏโค่นล้มรัฐบาล อัลเอียะหฺซาน ก็จะแผ่กระจายไปทั่ว โดยเฉพาะในหมู่ญาติที่ใกล้ชิด และจะไม่พบหมู่ชนใดที่จะมีความสันติสุขยิ่งไปกว่าหมู่ชนนี้และประชาชาติใดที่จะเจริญก้าวหน้าไปกว่าประชาชาตินี้อย่างแน่นอน

          ด้วยอายะห์ที่ว่า อัลเลาะห์ ได้วางระเบียบแบบแผนที่ดียิ่งไว้ให้แก่ประชาชาติ บรรดามุสลิมผู้ทรงคุณวุฒิย่อมเข้าใจดีว่า เป็นอายะห์ที่รวมไว้ซึ่งการชี้แจงถึงความดี และความชั่ว เขาเหล่านั้นจึงกล่าวถึงอายะห์นี้ให้ผู้คนฟังอยู่เสมอในทุกๆโอกาส

          สำนวนอัลกุรอานทางด้านการเรียกร้องเชิญชวนจริยธรรมนั้น เป็นสำนวนที่เรียกร้องให้มีการปฏิบัติโดยตรง มิใช่สำนวนของนักปราชญ์ในการค้นหาทฤษฎี และตั้งหลักฐานแบบตรรกวิทยา หรือการโต้แย้ง หากแต่เป็นสำนวนที่ว่าด้วยมูลฐานของคุณธรรมและความประเสริฐ โดยแจ้งให้ทราบถึงรายละเอียดและจึงเชิญชวน ปลุกมุสลิมให้ตื่นตัวในการปฏิบัติความดี สำนวนเช่นนี้จึงเหมาะสมกับสามัญชนทั่วไป ปัญญาชน และนักปราชญ์ แต่ละคนก็รับเอามาตามขนาดการเตรียมพร้อมของตน มิใช่ว่ารัฐธรรมนูญที่อัลเลาะห์ ทรงประทานให้มุสลิมนั่นบกพร่อง หากแต่เขาเหล่านั้นขาดความเข้าใจที่แท้จริง และขาดการปฏิบัติตามบัญญัติของธรรมนูญนั้นอย่างละเอียดถี่ถ้วน กฎหมายที่เราเห็นว่าเป็นกฎหมายที่ทันสมัย และเจริญแล้วจะมีค่าอะไร ถ้าหากกฎหมายถูกวางไว้บนหิ้ง และคำสอนหรือคำตักเตือนที่มีคุณค่าสูงจะมีประโยชน์อันใดเล่า หากหูที่รับฟังนั้นเป็นหูที่หนวก แท้จริงอัลกุรอานนั้นได้ระบุการศรัทธาไว้ควบคู่กับการปฏิบัติอิบาดะห์เสมอ และเรียกร้องให้มุสลิมมีทั้งสองอย่างคือ มีทั้งการศรัทธา และการปฏิบัติ

          อัลกุรอานถือว่าการศรัทธาและการปฏิบัตินั้น เป็นรากฐานแห่งความสันติสุข ในอัลกุรอานจะระบุว่า “บรรดาผู้ศรัทธาและประกอบการดี” ดังนั้นจึงไม่ถือว่าเป็นการศรัทธาหากปราศจากการปฏิบัติ และไม่นับว่าเป็นการปฏิบัติ หากการปฏิบัตินั้นไร้ซึ่งการศรัทธา

 

 
เผยแพร่โดย : สายสัมพันธ์