การไม่ใส่ใจเรื่องไร้สาระ
عن أبي هريرة رضي الله عنه قال ....قال رسول الله صلى الله عليه وسلم
من حسن اسلم المرء تركه ما لايعنيه
وفي رواية... من أيمان المرء تركه ما لايعنيه
وفي رواية...ان من حسن اسلام المرء قلةالكلام فيما لا يعنيه
أخرجه الترمذي وابن ماجه
แปลและเรียบเรียงโดย...มุฮฺซิน
มีรายงานจากท่านอบูฮุรอยเราะห์ กล่าวว่า ท่านรอซูล กล่าวว่า :
ส่วนหนึ่งจากความสวยงามของการเป็นมุสลิมของบุคคลหนึ่งก็คือ การที่เขาละเว้นจากสิ่งที่ไร้สาระ
อีกรายงานหนึ่งระบุว่า :
ส่วนหนึ่งจากการศรัทธาของบุคคลหนึ่งก็คือ การที่เขาละเว้นจากสิ่งที่ไร้สาระ
ในรายงานที่สามระบุว่า :
แท้จริง ส่วนหนึ่งจากความสวยงามของการเป็นมุสลิมของบุคคลหนึ่ง คือ การพูดแต่น้อยในสิ่งที่ไร้สาระ
(บันทึกโดย อัตติรมิซีย์ และอิบนุมาญะห์)
คำอธิบาย
ฮะดีษของท่านนบีฮะดีษนี้ ได้สอนเราในเรื่องมารยาทอิสลาม ด้วยการพูดแต่เรื่องดีๆ และมีความประพฤติที่ดี อีกทั้งยังสอนเราในเรื่องความบากบั่นในการดำรงชีวิตและการมุ่งแต่การปฏิบัติตามหน้าที่ กิจกรรมที่ดีอันพึงปฏิบัติต่อสาธารณชน และการประพฤติปฏิบัติที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่เขาในทางโลกและทางธรรม
หากมนุษย์ทุกคนให้ความสนใจอย่างจริงจังกับฮะดีษข้างต้น ปฏิบัติตามคำสอนที่มีอยู่ในฮะดีษนี้ เราก็จะพบว่าทุกคนจะมุ่งอยู่กับสิ่งที่มีสาระและมีประโยชน์หันหลังให้กับสิ่งที่ไร้สาระ เป็นพิษภัยและเลวร้าย ความสัมพันธ์อันดีระหว่างมนุษย์ก็จะแน่นแฟ้นขึ้น ความรักใคร่ปรองดองและความเป็นพี่น้องก็จะมั่นคงยิ่งขึ้น
บรรดานักปราชญ์ถือว่าฮะดีษนี้เป็นเกณฑ์อันสำคัญของมารยาทและศีลธรรม จนกระทั่งท่านมุฮัมหมัด อิบนิ อะบีซัยดฺ กล่าวว่า : ที่สุดแห่งมารยาทของการทำดีทั้งมวลนั้นมาจาก 4 ฮะดีษด้วยกัน คือ คำพูดของท่านนบี ที่กล่าวว่า ;
من كان يؤمن بالله واليوم الآخر فاليقل خيرا أوليصمت
1. ผู้ใดที่ศรัทธาต่ออัลเลาะห์ และวันอาคิเราะห์แล้ว เขาจงพูดแต่สิ่งที่ดี หรือไม่ก็จงนิ่งเสีย
من حسن اسلم المرء تركه ما لايعنيه
2. ส่วนหนึ่งจากความสวยงามของการเป็นมุสลิมของบุคคลหนึ่งนั้น คือการที่เขาละเว้นสิ่งที่ไร้สาระ
3. คำพูดสั้นๆของท่านนบี ที่สั่งเสียว่า :
لاتغضب
ท่านจงอย่าโกรธ
4. และคำพูดของท่านนบี ที่ว่า :
لا يؤمن أحدكم حتى يحب لأخيه ما يحب لنفسه
มุอฺมิน(ผู้ศรัทธา) นั้น จะต้องรักที่จะให้ได้แก่พี่น้องของเขา เหมือนกับที่เขารักที่จะให้ได้แก่ตัวของเขาเอง
(บันทึกโดย อัตติรมิซีย์)
ความหมายโดยย่อของฮะดีษนี้
เมื่อการเป็นมุสลิมของเขาเรียบร้อยดี การศรัทธาของเขาเป็นการศรัทธาที่จริงจัง เขาก็จะละเว้นเรื่องที่ไร้สาระทั้งหลายทั้งปวง เพราะความหมายของคำว่า ลายะอฺนีฮิ นั้นหมายถึง ไม่เกี่ยวข้องกับความสนใจของเขาเลย และไม่เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาและต้องการด้วย เพราะการเอาใจใส่นั้นเป็นแรงดันของความสนใจและต้องการสิ่งหนึ่งที่เห็นว่ามีประโยชน์
กิจการต่างๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับมุสลิมนั้นมีมากมาย ซึ่งเขาจะประสบพบเห็นในระหว่างทางเป็นต้นว่า คนสองคนกำลังพูดคุยกระซิบกระซาบกัน นั่นย่อมไม่เกี่ยวข้องกับท่านในการที่จะต้องไปรู้ว่าเขาทั้งสองกำลังพูดคุยอะไรกัน ถ้าหากท่านเข้าไปยุ่งด้วย ท่านก็เป็นผู้แอบฟังโดยที่เจ้าของไม่อนุญาต และเป็นผู้กระทำการที่เรียกได้ว่า สอดรู้สอดเห็น
หรือว่า ชายคนนั้นม้วนสิ่งต่างๆเข้าไว้ในกระเป๋า หรือหีบห่อของเขาก็ไม่เกี่ยวข้องกับท่านเลยที่จะต้องไปรู้ว่า สิ่งต่างๆเหล่านั้นเป็นอะไร หรือท่านจะต้องถามถึงสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นอะไร
เรายังจำเรื่อง หญิงสาวคนหนึ่งได้ ซึ่งหญิงคนนี้ถือตะกร้ามีผ้าปิดเดินผ่านหน้าชายคนหนึ่ง ชายผู้นั้นถามว่า ในตะกร้ามีอะไร? หญิงสาวตอบว่า : หากแม่ของฉันต้องการให้คนอย่างคุณรู้ถึงสิ่งที่มีอยู่ในตะกร้า แม่ก็คงไม่เปิดมัน
นี่ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับท่าน และท่านก็ไม่มีความเข้าใจในเรื่องนั้นแม้แต่น้อย หากท่านเข้าไปยุ่งด้วย ท่านก็จะพาเรื่องนั้นออกนอกลู่นอกทาง หรือไม่ก็ทำให้เสียเรื่อง ฉะนั้น จึงไม่จำเป็นเลยที่ท่านจะไปยุ่งด้วย
และสิ่งสำคัญยิ่งที่มุสลิมไม่ควรสนใจนั้นก็ได้แก่การพูดจาเหลวไหลไร้สาระ หากมนุษย์ทุกคนรำลึกถึงดำรัสของอัลเลาะห์ ที่ว่า :
ไม่มีคำพูดคำใดที่เขากล่าวออกมา เว้นแต่ใกล้ ๆ เขานั้นมี (มะลัก) ผู้เฝ้าติดตาม ผู้เตรียมพร้อม (ที่จะบันทึก) (ก็อฟ 50:18)
และดำรัสของพระองค์ที่ว่า :
หรือพวกเขาคิดว่า เราไม่ได้ยินความลับของพวกเขา และการประชุมลับของพวกเขาแน่นอน (เราได้ยิน) และทูตของเราอยู่กับพวกเขา เพื่อบันทึก(อัซซุครุฟ 43:80)
เขาก็จะรู้ว่า ทุกๆคำที่เขาพูดออกไปนั้นย่อมจะถูกจดไว้และจะถูกสอบสวน ถ้าหากคำพูดนั้นเป็นคำพูดที่ดี เขาก็จะได้รับผลบุญตอบแทน หากคำพูดนั้นเป็นคำพูดที่ชั่วร้าย เขาก็จะได้รับการลงโทษ หากเป็นคำพูดเล่นหัว หรือเหลวไหลไร้สาระ ก็ย่อมเป็นการเปล่าประโยชน์และเสียเวลา ซึ่งผู้มีสติปัญญาและผู้มีคุณธรรมย่อมหลีกเลี่ยงให้ไกลแสนไกล
คิดว่าด้านนี้แหละเป็นด้านที่ฮะดีษมุ่งหมายจะพูดอยู่มาก ทั้งนี้เพราะในรายงานที่สามของฮะดีษระบุว่า :
ان من حسن اسلام المرء قلةالكلام فيما لا يعنيه
แท้จริง ส่วนหนึ่งจากความสวยงามของการเป็นมุสลิมของบุคคลหนึ่งก็คือ การพูดน้อยในสิ่งที่ไร้สาระ
มีชายคนหนึ่งได้มาหาท่านนบี แล้วกล่าวว่า :
โอ้ท่านรอซูลลุลลอฮ์ ฉันนี้เป็นผู้ที่หมู่คณะของฉันเชื่อฟังปฏิบัติตาม ฉันจะใช้อะไรแก่เขาเหล่านั้น
ท่านรอซูล ตอบว่า :
ใช้ให้เขาเหล่านั้นให้สลามกันให้มาก พูดแต่น้อย เว้นแต่ในสิ่งที่เกี่ยวข้องและสำคัญแก่เขาเหล่านั้น
ส่วนหนึ่งจากถ้อยคำที่เล่ากล่าวกันมาจากท่านอุมัร อิบนิอุบดุลอะซีซ มีว่า :
ผู้ใดถือว่า คำพูดของเขาเป็นงานเป็นการ เขาก็พูดแต่น้อย นอกจากในสิ่งที่เห็นว่าสำคัญแก่เขา
ข้อความของท่านอุมัรนี้ มิได้หมายความว่า การถือว่าคำพูดเป็นงานเป็นการนั้นเป็นเรื่องขัดแย้งกัน หรือถือว่าเป็นงานเป็นการก็ได้ ไม่ถือก็ได้ หากแต่หมายความว่า จำเป็นที่ทุกคนจะต้องรำลึกอยู่เสมอว่า เมื่อจะพูดก็ต้องให้เป็นงานเป็นการ คำพูดของเขาก็จะน้อยลง เว้นแต่ในกรณีที่พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์
และจะต้องรำลึก ณ ที่นี้ว่า อัลกุรอานได้ระบุคุณลักษณะของบรรดาผู้กระทำความผิดในรูปของการที่พวกเขาเหล่านั้นบรรยายคุณลักษณะของตัวเองว่า :
และพวกเราเคยมั่วสุมอยู่กับพวกที่มั่วสุม(อัลมุดดัรซิร 74:45)
กล่าวคือ เราเคยนั่งพูดคุยในเรื่องเหลวไหลในสิ่งที่อัลเลาะห์ ทรงเกลียดชัง นี่เป็นการให้ความหมายโดยท่านอัฏฏอบรีย์ นักอธิบายอัลกุรอาน
หรือหมายความว่า เราเคยพูดกันในสิ่งที่เราไม่รู้ ตามความหมายที่ให้โดยอิบนุกะซีรฺ
หรือเราเคยร่วมวงคุยกับพวกที่พูดคุยกันในเรื่องเหลวไหลไร้สาระ ตามความหมายที่ให้โดยอัรรอซีย์
ถ้อยความทั้งหมดนั้นชี้ให้เห็นว่า มุสลิมจะต้องระมัดระวังไม่พูดในเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ เพราะนั่นเป็นคุณลักษณะของบรรดาผู้กระทำความผิด
เป็นที่ประจักษ์แก่เราว่า คำพูดของคนทั้งหลายนั้นส่วนมากเป็นภัยหรือไม่เหลวไหล ทั้งนี้เพราะอัลกุรอานได้ระบุไว้ว่า :
ไม่มีความดีใด ๆ ในการพูดซุบซิบอันมากมายของพวกเขา นอกจากผู้ที่ใช้ให้ทำทานหรือให้ทำสิ่งที่ดีงาม นอกจากผู้ที่ใช้ให้ทำงานหรือให้ทำสิ่งที่ดีงาม หรือให้ประนีประนอมระหว่างผู้คนเท่านั้น และผู้ใดกระทำดังกล่าวเพื่อแสวงหาความโปรดปรานจากอัลลอฮฺแล้ว เราจะให้แก่เขาซึ่งรางวัลอันใหญ่หลวง (อันนิซาอฺ 4 : 114)
อัลกุรอานถือว่า การพูดด้วยคำพูดที่ดีๆนั้น เป็นการฮิดายะห์หรือการชี้แนะประเภทหนึ่งจากพระผู้เป็นเจ้า ด้วยเหตุนี้อัลกุรอานจึงได้ระบุถึงบรรดาผู้ที่ได้รับชัยชนะว่า :
และพวกเขาจะถูกนำสู่คำพูดที่ดีมีประโยชน์ และจะถูกนำสู่ทางที่ได้รับการสรรเสริญ คือ สวนสวรรค์ (อัลฮัจญ์ 22 : 24)
เป็นหน้าที่ของมุสลิมทีเดียวที่ต้องเมินจากคำพูดที่เหลวไหลเมื่อประสบพบเข้า อัลกุรอานกล่าวไว้ว่า :
และเมื่อเจ้าเห็นบรรดาผู้ซึ่งกำลังวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ในบรรดาโองการของเราแล้ว ก็จงออกห่างจากพวกเขาเสีย จนกว่าพวกเขาจะวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องอื่นจากนั้น และถ้าชัยฏอนทำให้เจ้าลืมแล้ว ก็จงอย่างนั่งรวมกับพวกที่อธรรมเหล่านั้นต่อไป หลังจากที่มีการนึกขึ้นได้ (อัลอันอาม 6 : 68)
|