สภาพของมุสลิมหลังรอมาฎอน
  จำนวนคนเข้าชม  13841

สภาพของมุสลิมหลังรอมาฎอน

 

โดย.... อ.อับดุลเราะมัน เจะอารง

 

           รอมาฎอนได้ผ่านไปแล้ว ทิ้งบทเรียนให้ได้ทบทวนมากมาย ซึ่งบางคนไม่แน่ใจว่าจะมีโอกาสต้อนรับรอมาฎอนปีหน้าหรือไม่ เดือนที่เราทำการก้มกราบ และยอมรับสภาพการเป็นบ่าวของพระองค์อัลลอฮ์  เคารพภักดีต่อพระองค์และขอบพระคุณพระผู้เป็นเจ้ามากที่สุด ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจและกำลังทรัพย์จนสุดความสามารถ พยายามรักษาความประเสริฐของรอมาฎอนให้ดีที่สุด เหมือนกับการได้เข้าอบรมหลักสูตร ที่ท่านเราะซูลได้วางและปูแนวทางให้แก่บรรดามุสลิมรุ่นหลังได้ปฏิบัติในเดือนอันประเสริฐนี้

           ถึงแม้ว่ารอมาฎอนได้ผ่านไปแล้ว แต่หน้าที่ของมุสลิมที่ต้องปฏิบัติยังคงอยู่และต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องไปตลอดจนกว่าจะสิ้นลมหายใจ พระองค์อัลลอฮ์  ได้เตือนพวกเราในเรื่องนี้ว่า

فإنَّ معَ العسْرِ يسْراً إنَّ معَ العسْرِ يسْراً فإدا فرغْتَ فانصَبْ وإلي ربِّكَ فارغَبْ
  

“ ฉะนั้น แท้จริงหลังจากความยากลำบากก็จะมีความง่าย แท้จริงหลังจากความยากลำบากก็จะมีความง่าย 

 ดังนั้น เมื่อเจ้าเสร็จสิ้น(จากงานหนึ่งแล้ว)ก็จงลำบากต่อไป”

และในอีกอายะฮฺหนึ่งพระองค์ได้ตรัสไว้ว่า

فسَبِّحْ بِحمْدِ ربِّكَ وكنْ من الساجِدين واعبُدْ ربَّكَ حتى يأتِيَكَ اليقينُ

 “ ดังนั้นจงกล่าวสดุดีด้วยการสรรเสริญพระเจ้าของเจ้า  และจงร่วมอยู่ในหมู่ผู้สุญูด

และจงเคารพภักดีพระเจ้าของเจ้าจนกว่าความแน่นอน(ความตาย)จะมาหาเจ้า”

 

           ปกติแล้วเมื่อถึงปลายปี บรรดาพ่อค้าแม่ค้า นักธุรกิจทั้งหลายจะคำนวณสินค้าและสรุปผลกำไรที่พวกเขาจะได้รับ  มุสลิมก็เช่นเดียวกัน เมื่อสิ้นเดือนรอมาฎอน พวกเขาจะต้องทบทวนถึงหน้าที่การงาน ชั่งผลงานความดีที่ได้ปฏิบัติและสรุป ถ้าผลออกมาเป็นที่พอใจให้ชูโกรขอบคุณพระผู้เป็นเจ้าโดยกล่าวว่า

     الحمْدُ لله الدي هدانا لهدا وما كنَّا لِنهْتَدِيَ لو لا أن هدَانا الله

 “การสรรเสริญทั้งหลายนั้นเป็นสิทธิของอัลลอฮ์ ผู้ทรงแนะนำพวกเราให้ได้รับสิ่งนี้

และใช่ว่าพวกเราจะได้รับคำแนะนำหากว่าอัลลอฮ์ ไม่ทรงแนะนำแก่พวกเรา”

 

         และหากผลออกมาไม่เป็นที่พอใจให้ตั้งเจตนาใหม่ ขอแก้ตัวใหม่ให้ดีกว่านี้ในปีหน้า หรือโอกาสหน้า หลังจากรอมาฎอนได้จากไป กำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่อาจลดน้อยไป ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะเดือนโปรโมชั่นที่พระองค์อัลลอฮ์  ได้เสนอไว้ในเดือนรอมาฎอนนั้นมันเร้าใจ ถูกอกถูกใจมากเป็นพิเศษ มีกำลังใจลุกขึ้นสู้จนได้รับชัยชนะในที่สุด เรื่องขี้เกียจ ล่าช้าเป็นธรรมดาของมนุษย์ที่สามารถรับได้ แต่ถ้าถึงขั้นทิ้งหน้าที่ที่จำเป็น(วาญิบ) คงไม่มีใครไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน ดังนั้นเมื่อรอมาฎอนสิ้นสุด มุสลิมจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน คือ

  

 กลุ่มที่ 1  สภาพการเป็นอยู่ของพวกเขาหลังรอมาฎอนไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากก่อนรอมาฎอน

- ในช่วง 10 วันแรกของเดือนรอมาฎอนพระองค์อัลลอฮ์ได้เปิดประตูแห่งความเมตตา โดยที่เขาไม่ได้ขอไว้

- ในช่วง 10 วันที่ 2  พระองค์ได้เปิดประตูแห่งการอภัยโทษ และเขาไม่ได้ขอเช่นเดียวกัน

-  และ 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมาฎอน พระองค์เปิดประตูให้บุคคลที่พระองค์กำหนดเป็นชาวนรกออกจากขุมนรก และเขาก็ไม่ได้ขออีกเช่นเดียวกัน

ฮะดีษเศาะเฮี๊ยะบทหนึ่งที่ท่านเราะซูล  ได้กล่าวว่า

   إدا كانَ أوَّلُ ليلةٍ من شهْرِ رمضانَ صُفِّدَت الشَّياطِين ومرَدَة الجِنِّ وغُلِّقَت أبْوابُ النِّيران
   فلَمْ يفْتَحْ منْها بابٌ وفُتِحَت أبوابُ الجنَّةِ فلمْ يغْلَقْ منها بابٌ ،  وينادِي منادٍ : يا باغِي
   الخَير : اقْبِلْ ، ويا باغِي الشرِّ اقْصِرْ ، ولله عُتَقاء من النَّارِ ، ودلك في كلِّ ليلةٍ

  

“เมื่อเป็นคืนแรกของเดือนรอมาฎอน บรรดาชัยฏอน(มารร้าย)ทั้งหลายและกลุ่มญินที่ถูกสาปแช่งจะถูกล่ามโซ่

ประตูนรกจะถูกปิดทั้งหมด ไม่มีแม้แต่ประตูเดียวที่เปิดไว้ และประตูสวรรค์จะถูกเปิดทั้งหมด และไม่มีแม้แต่ประตูเดียวที่ปิดไว้

มลาอิกะฮ์จะเชิญชวนโดยกล่าวว่า โอ้ ! ผู้แสวงหาความดี จงมาทางนี้เถิด และกล่าวแก่ผู้แสวงหาทางอื่น จงหยุดเถิด

และสำหรับพระองค์อัลลอฮ์จะมีผู้คนที่พระองค์ได้ปล่อยออกจากนรก สิ่งนี้เกิดขึ้นในทุกๆ คืนของเดือนรอมาฎอน”

(รายงานโดยติรมิซีย์ หมายเลขหะดีษ 682)

          สรุปได้ว่า พวกเขาอยู่ในกลุ่มบุคคลที่ท่านเราะซูล ได้อธิบายสภาพไว้ในหะดีษบทหนึ่งที่ท่านหญิงอาอิชะฮ์ได้ถามท่านเราะซูลถึงความหมายของอายะฮ์

   والدين يؤتُونَ ما آتَوا وقلوبُهم وجِلةٌ أنهم إلى ربِّهمِ راجِعون (المؤمِنون/60)

“และบรรดาผู้ที่ได้บริจาคสิ่งที่พวกเขาได้มา โดยที่จิตใจของพวกเขาเปี่ยมไปด้วยความหวั่นเกรงว่า

แท้จริงพวกเขาต้องกลับไปหาพระเจ้าของพวกเขา” 

ท่านหญิงอาอิชะฮ์ถามว่า : โอ้ท่านเราะซูล พวกเขาเหล่านั้นคือบรรดาผู้ที่เคยผิดประเวณี เคยดื่มสุรา เคยลักขโมย ใช่หรือไม่ ?

ท่านเราะซูล ตอบว่า :  ไม่ใช่เลย !

แต่พวกเขาคือ ผู้ดำรงการละหมาด ถือศีลอด และบริจาคทาน และพวกเขากลัวว่าพระองค์จะไม่ทรงตอบรับการงานของพวกเขาต่างหาก

 (รายงานโดยอะหมัดและติรมิซีย์)

 

           กลุ่มที่ 2 ดีกว่ากลุ่มแรก คือ พวกเขาได้ประพฤติปฏิบัติตนเสมือนกับพวกเขาอยู่ในช่วงรอมาฎอน เพราะพวกเขาเป็นบ่าวของอัลลอฮ์ทั้ง 12 เดือน ไม่ใช่เป็นบ่าวของอัลลอฮ์ในช่วงรอมาฎอนเดือนเดียว

           การงานที่พระองค์อัลลอฮ์ ทรงรับนั้นมีข้อบ่งชี้ที่สามารถมองเห็นได้ เช่นผู้ที่ไปประกอบพิธีฮัจญ์ และฮัจญ์ของเขาได้รับการตอบรับ การทุ่มเทจะได้รับการขอบคุณ บาปทั้งมวลจะถูกอภัยให้ หรือถ้าฮัจญ์ไม่ได้รับการตอบรับให้สังเกตสภาพของตัวเขาก่อนการปฏิบัติพิธีและหลังประกอบพิธีฮัจญ์ แต่หากสภาพหลังจากประกอบพิธีฮัจญ์ดีกว่าสภาพก่อนประกอบพิธีฮัจญ์ หมายถึงเขาได้ปรับตัวเองและเกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่ดีขึ้น ถึงแม้จะเล็กน้อยก็ตาม

          เครื่องชี้วัดของการถือศีลอดและการงานอื่นในเดือนรอมาฎอนว่าพระองค์อัลลอฮ์ ทรงตอบรับ หรือไม่ตอบรับมีข้อบ่งชี้ต่อไปนี้

     1. ปฏิบัติแต่ความดีตลอดไป

     2. มีความภาคภูมิใจและสบายอกสบายใจในการประกอบความดี รักการละหมาดมากขึ้น ชอบเข้ามัสยิดมากขึ้น เป็นต้น

     3. เตาบัตตัว ขออภัยโทษจากความผิดพลาดที่ผ่านมา

     4. มีความเกรงกลัวว่าการงานที่ได้กระทำพระองค์อัลลอฮ์ จะทรงตอบรับหรือไม่

     5. มีความหึงหวงในเรื่องศาสนา หมายถึงไม่ชอบผู้ที่ระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติของอัลลอฮ์  และไม่ชอบผู้ที่เกลียดชัง และผู้ที่ดูถูกดูแคลนศาสนาอิสลามและบทบัญญัติของพระองค์

          ดังนั้นรอมาฎอนที่ผ่านมาเป็นพยานที่จะช่วยตอบคำถามของพระองค์อัลลอฮ์ ว่า เราได้ให้เกียรติแก่รอมาฎอน หรือไม่ ! หรือเราได้ไห้เกียรติแก่รอมาฎอนขนาดใด น้อยที่สุด พอใช้ ปานกลาง มาก มากที่สุด

 

         การเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าด้วยการถือศีลอดยังไม่สิ้นสุดเพียงแค่นี้ วันข้างหน้ายังมีการถือศีลอดสุนัตอีกหลายโอกาส คือ

     1. 10 วันแรกของเดือน ซุลฮิจญะฮ์

     2. วันอะรอฟะฮ์ คือวันที่ 9 ของเดือน ซุลฮิจญะฮ์ สำหรับผู้ที่ไม่ได้ไปประกอบพิธีฮัจญ์

     3. วันอาชูรออ์ คือวันที่ 9 และ 10 ของเดือนมุหัรรอม หรือวันที่ 10 และ 11 ของเดือนมุหัรรอม วันที่ 12 ของเดือนเราะบีอุล เอาวัล คือ วันประสูติของท่านศาสดามุฮัมมัด

     4. ช่วงแรกของเดือนชะบาน

     5. วันจันทร์และวันพฤหัสของทุก ๆ สัปดาห์

     6. ช่วงกลางเดือน วันที่ 13,14,15  ของทุกๆเดือน

          ข้อเตือนสุดท้ายคือ การปฎิบัติความดียังมีช่องทางการปฏิบัติอีกมากมาย คุณไม่มีโอกาสที่จะนั่งเฉยได้ เพราะหน้าที่ของคุณมีมากมาย และจงจำให้แม่นในประโยคนี้

 

   إنَّكمْ مفْتَقِرونَ لِعِبادةِ الله أشدَّ من افْتِقارِكم إلى الطَّعام والشَّرابِ والهَواء والنَّومِ

“คุณมีความจำเป็นที่จะต้องทำการเคารพภักดีต่อพระองค์อัลลอฮ์

มากกว่า  การที่คุณมีความจำเป็นต้องกินอาหาร ดื่มเครื่องดื่ม สูดลมหายใจและนอนหลับพักผ่อน”