ยุค 2009 เมื่ออินเทอร์เน็ตถูกมองเป็น 1 ในปัจจัยทำลายครอบครัว
แม้จะเป็นข้อมูลที่มองโลกในแง่ร้ายไปสักหน่อย แต่ศูนย์ Annerberg แห่ง University of Southern California ก็ได้เผยผลการวิจัยที่เกิดจากการเก็บข้อมูลมายาวนานตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นบน "อินเทอร์เน็ต" ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเกิดชุมชนออนไลน์ บล็อก เว็บไซต์เช่นยูทูบ เฟสบุ๊ก มายสเปซ ฯลฯ มีส่วนทำให้เวลาที่สมาชิกในครอบครัวควรมีร่วมกัน "ลดน้อยถอยลง" อย่างน่าใจหาย และหากสถาบันครอบครัวในยุคต่อไปจะมีปัญหา เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันมากขึ้น "อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี" ก็จะถูกบรรจุไว้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีผลต่อความล่มสลายของครอบครัว
การสำรวจครั้งนี้ได้ทำขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา โดยพบว่า การใช้เวลาร่วมกันของคนในครอบครัวลดน้อยลง จากเดิม 11 เปอร์เซ็นต์ในปี 2006 เป็น 28 เปอร์เซ็นต์ในปี 2009 และมีสมาชิกในครอบครัวถูกละเลยมากขึ้นเป็น 44 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากมีสิ่งที่น่าสนใจมากกว่าปรากฏอยู่บนหน้าจอ เมื่อขาดปฏิสัมพันธ์ต่อกันนานวันเข้า ก็มีผลทำให้สัมพันธภาพภายในครอบครัวย่ำแย่ เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันได้ง่ายยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี ทางนักวิจัยของศูนย์ระบุว่า งานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้ต้องการกล่าวโทษอินเทอร์เน็ต หรือเทคโนโลยีที่ทำให้สมาชิกในครอบครัวมีเวลาร่วมกันน้อยลง เพียงแต่ต้องการชี้ว่า ในยุค 2009 อินเทอร์เน็ต และการมาถึงของชุมชนออนไลน์จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ครอบครัวมีความขัดแย้งกันมากขึ้น
แมทธิว กิลเบิร์ต ที่ปรึกษาอาวุโสของมหาวิทยาลัยกล่าวว่า "คนส่วนมากคิดว่าอินเทอร์เน็ตและโลกดิจิตอลช่วยย่อโลกให้ใกล้กันมากขึ้น หลายสิ่งหลายอย่างเดินทางมาปรากฏอยู่ที่หน้าจอเหมือนไม่มีพรมแดนกั้น ผมเองคิดเช่นกัน แต่..มันจะดีจริงหรือ หากเราจะเหลือเวลาไว้ใช้ร่วมกับคนที่เรารักน้อยลง"
พร้อมกันนี้ นายแมทธิวยังยกตัวอย่างถึงการดูทีวีร่วมกันของสมาชิกภายในครอบครัวว่าพอจะเรียกว่าเป็นกิจกรรมที่อบอุ่นได้ แต่กับอินเทอร์เน็ตแล้วไม่ใช่โดยสิ้นเชิง เพราะอินเทอร์เน็ตเป็นการสื่อสารแบบตัวต่อตัวอย่างแท้จริง คุณไม่จำเป็นต้องปฏิสัมพันธ์กับใคร คุณก็สามารถอยู่ต่อหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้นาน ๆ
ประเด็นเรื่องการใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตมากเกินไปจนทำให้สมาชิกในครอบครัวมีเวลาให้กันน้อยลงยังได้เคยถูกหยิบยกไปใช้ในรายการของโอเปรา วินฟรีย์ พิธีกรชื่อดังด้วย เมื่อครั้งหนึ่งเธอได้จัดให้สมาชิกในครอบครัวอยู่ร่วมกันโดยปราศจากคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ทีวี ไอพ็อด วิดีโอเกม เป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อให้ทุกคนในครอบครัวได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกัน และเกิดการสื่อสารระหว่างกันมากขึ้น
ทั้งหมดนี้จึงเป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวทางแก้ไขสัมพันธภาพที่เลวร้ายของครอบครัวด้วยการ "ตัดขาดเทคโนโลยี" และกำลังแพร่ขยายไปทั่วโลก (และส่วนหนึ่งก็กำลังเผยแพร่ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตด้วย) โดยเริ่มมีกลุ่มคนเห็นความสำคัญของการตัดขาดจากเทคโนโลยีกันมากขึ้น และมีการรณรงค์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การลาพักร้อนโดยตัดขาดจากโทรศัพท์มือถือและโทรทัศน์ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ อาจเป็นแนวโน้มที่ไม่น่ายินดีนักกับกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมไอทีที่ทำรายได้ให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่เป็นจำนวนมหาศาล หรือแม้แต่นักการตลาดมือฉมังที่อาจจะต้องมองหาลู่ทางในการสร้างรายได้แนวใหม่ แต่หากมนุษย์เหล่านั้นได้ย้อนคิดสักนิด ก็คงได้ตระหนักมากขึ้นว่า โลกใบนี้ไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อเงิน ธุรกิจ กำไร และรายได้เพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องสร้างจิตใจแห่งความเป็นมนุษย์ให้เกิดขึ้นด้วย
เรียบเรียงจากเอพีนิวส์