การล่าช้าในการละหมาดสำหรับสตรี
  จำนวนคนเข้าชม  39017

ขอบเขตว่าด้วยการล่าช้าในการละหมาดสำหรับสตรี


คำถาม


         สตรีมุสลิมที่ทำการละหมาดในบ้านนั้น  เมื่อทำการละหมาดด้วยเวลาที่ล่าช้าไปจะมีความผิดหรือไม่ ?

          เมื่อนางละหมาดดุฮฺริ  ก่อนที่จะเข้าเวลาละหมาดอัสริประมาณ 15-30 นาที  และนางได้ทำการละหมาดอัสริ  ก่อนเสียงอะซานของเวลามักริบประมาณ 15-30 นาที  และนางได้ทำการละหมาด    อิชา  ก่อนเสียงอะซานของเวลาละหมาดฟะญัรประมาณ 30 นาที

          หากการกระทำดังกล่าวไม่เป็นที่อนุญาตแล้ว  ขอบเขตของการล่าช้าในการละหมาดคือเงื่อนไขใด  ที่จะสามารถล่าช้าในการละหมาดได้โดยที่ไม่มีความผิด


บรรดาการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิ์ของพระองค์อัลลอฮ์


คำตอบ


“ไม่เป็นการอนุญาตให้ล่าช้าในการละหมาด  เมื่อเวลาละหมาดได้เข้าแล้ว” 

ตามอายะของอัลกุรอ่าน ซูเราะฮ์ อัลนิซา  พระองค์อัลลอฮ์ ทรงตรัสว่า

“แท้จริงการละหมาดนั้น เป็นบัญญัติที่ถูกกำหนดเวลาไว้แก่ผู้ศรัทธาทั้งหลาย”   (ซูเราะฮ์ อัลนิซา 4:103)

“ภายหลังจากพวกเขา  ชนรุ่นต่อมาได้ทำการทิ้งละหมาด  (ละเลยต่อการละหมาด  ไม่ใส่ใจและไม่ทำให้สมบูรณ์  อีกทั้งไม่รักษาเวลาละหมาด)  และพวกเขาได้ปฏิบัติตามอารมณ์ใคร่ของพวกเขา  ดังนั้นแหละที่พวกเขาจะถูกโยนลงสู่ไฟนรก”     (ซูเราะฮ์ มัรยัม 19:59)

สำหรับเวลาของการละหมาด  ได้มีกล่าวไว้ในฮะดีษ  ซึ่งรายงานโดยมุสลิม (217) จาก Abd-Allaah ibn ‘Amr  โดยท่านนะบี   ได้กล่าวไว้ว่า

“เวลาของดุฮรินั้น จะยาวนานจนกว่าจะเข้าสู่เวลาของอัสริ  ส่วนเวลาของอัสรินั้นจะยาวนานจนกว่าแสงอาทิตย์จะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง  และเวลาของมักริบนั้นจะยาวนานจนกว่าแสงอาทิตย์จะเลือนหายไป  สำหรับเวลาของอิชานั้นจะสิ้นสุดเมื่อเข้าสู่เวลาเที่ยงคืน  และสำหรับเวลาของฟะญัรนั้น  จะยาวนานตราบใดที่ดวงอาทิตย์ยังไม่ขึ้น”

(ซึ่งรายละเอียดของการตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับการละหมาดทั้ง 5 เวลานั้น  จะอยู่ในคำตอบของคำถามหมายเลข 9940)

ในการระบุเวลาละหมาดของแต่ละเวลานั้น  สามารถพิจารณาได้ดังรายละเอียดข้างล่างนี้

- เวลาละหมาดดุฮรินั้น  จะหมดเมื่อ  เวลาอัสริได้เริ่มต้นขึ้น

- เวลาละหมาดอัสรินั้น  จะหมดเมื่อ  แสงอาทิตย์ได้เปลี่ยนเป็นสีเหลือง  (ซึ่งในการยืดเวลาละหมาดให้ยาวนานออกไปนั้น  จะทำได้ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเท่านั้น  เช่นเกิดการเจ็บป่วย หรือไม่แน่ใจว่าดวงอาทิตย์ตกเมื่อใด)

- เวลาละหมาดมักริบนั้น  จะหมดเมื่อ  แสงสีแดงได้ลับหายไปจากท้องฟ้า  ซึ่งเป็นเวลาที่เริ่มเข้าสู่เวลาอิชา

- เวลาละหมาดอิชานั้น  จะหมดตอนเที่ยงคืน (ครึ่งหนึ่งของเวลากลางคืน)  ซึ่งเวลาสุดท้ายนั้นไม่ใช่เวลาที่เห็นแสงอรุณรุ่ง

- ส่วนเวลาละหมาดฟะญัรนั้น  จะหมดเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น

         ซึ่งในการละหมาดเป็นที่อนุมัติว่าจะทำการละหมาดในช่วงเวลาใดก็ได้  ไม่ว่าจะเป็นเวลาเริ่มต้น เวลากลาง หรือเวลาสุดท้าย  ตราบใดที่ยังไม่หมดเวลาของเวลาละหมาดนั้น ๆ   แต่ไม่อนุญาตให้ล่าช้าในการละหมาดจนกระทั่งหมดเวลาละหมาดของเวลาโดยไม่มีสาเหตุที่จำเป็น  เช่นการนอนหลับ หรือการหลงลืม

          จากพื้นฐานเมื่อผู้ละหมาดทำการละหมาดดุฮริก่อนที่จะเข้าสู่เวลาอัสริประมาณ 15-30 นาที  เช่นนี้ถือว่าการละหมาดนั้นใช้ได้  และไม่มีความผิดแต่อย่างใด

          ส่วนเวลาอัสรินั้น  จะสามารถละหมาดได้ตราบใดที่  แสงอาทิตย์ยังไม่เปลี่ยนเป็นสีเหลือง  ซึ่งเวลาจะขึ้นอยู่ตามฤดูกาล  หากพิจารณาดูแล้ว  จะพบว่า 15 นาทีก่อนเข้าที่จะเข้าสู่เวลามักริบนั้น  แสงอาทิตย์ได้เปลี่ยนเป็นสีเหลืองแล้ว  ดังนั้นเวลานี้จึงถือว่า  ได้หมดเวลาละหมาดของอัสริไปแล้ว

          สำหรับการละหมาดอิชา  ถือว่าไม่เป็นที่อนุมัติในการที่จะละหมาดอิชา  ก่อนครึ่งชั่วโมง  ของเวลาละหมาดฟะญัร  เนื่องจากว่า  เวลาหมาดอิชานั้นหมดไปแล้วตอนเที่ยงคืน  ซึ่งสามารถคำนวณหาเวลาเที่ยงคืน  ได้ตามฮะดีษดังนี้

“ในการพิจารณาเวลาเที่ยงคืนนั้น  ให้คำนวณจากเวลาครึ่งหนึ่ง  ระหว่างเวลาที่ดวงอาทิตย์ตกกับเวลาที่เห็นแสงอรุณ  ตัวอย่างเช่น  ถ้าดวงอาทิตย์ตกตอนห้าโมงเย็น  และเริ่มการอะซานของเวลาฟะญัรตอนตีห้า  ดังนั้นเวลาเที่ยงคืน (กึ่งกลางของกลางคืน)  ก็คือเวลาประมาณ ห้าทุ่ม”

          แต่ที่ดีควรจะรีบเร่งไปสู่การละหมาดเมื่อเข้าเวลาละหมาดแล้ว  ซึ่งมีฮะดีษของ  อับดุลเลาะฮฺ บิน มัสอูด  รายงานโดยอัล-บุคอรี (496) และมุสลิม (122)  ว่า

ฉันได้ถามท่านเราะซูลลุลลอฮ์    ว่า  การทำความดีอันใดเป็นที่รักยิ่งของพระองค์อัลลอฮ์

ท่านเราะซูล  ได้ตอบว่า “การละหมาดตรงเวลา” 

ท่านอับดุลเลาะฮ์  ได้ถามต่อไปว่า  “แล้วการงานใดอีก” 

ท่านเราะซูล  ได้ตอบว่า  “การทำดีต่อบิดามารดา”

ท่านอับดุลเลาะฮ์  ได้ถามต่อไปว่า  “แล้วการงานใดอีก” 

ท่านเราะซูล  ได้ตอบว่า  “การต่อสู้ในหนทางของพระองค์อัลลอฮ์ ”

 

และพระองค์อัลลอฮ์  เป็นผู้ทรงรอบรู้ยิ่ง

 

http://www.islamqa.com/en/cat/59&page=1


แปลโดย     นูรุ้ลนิซาอ์