มุฮัมมัด ไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย !
ซุฟอัม อุษมาน
มุฮัมมัด ศาสนทูตแห่งพระผู้เป็นเจ้า
บนพื้นฐานแห่งหลักศรัทธาทั้งหกประการ ศาสนาอิสลามกำหนดให้การศรัทธาต่อความเป็นศาสนทูตของมุฮัมมัด คือหลักศรัทธาสำคัญประการหนึ่งที่จะขาดเสียไม่ได้ เครื่องหมายบ่งชี้ที่บอกถึงความพิเศษของศาสนทูตมุฮัมมัด ที่แตกต่างจากศาสดาหรือศาสนทูตท่านอื่นๆ ก่อนหน้านั้น ท่านถือกำเนิดในคาบสมุทรอาระเบีย เป็นลูกหลานจากเชื้อสายของอิสมาอีล บุตรชายคนโตของศาสนทูตอิบรอฮีม (อับราฮัม)
ก่อนหน้าท่าน ไม่เคยมีลูกหลานผู้ใดในวงศ์วานของอิสมาอีลที่ได้รับการเลือกสรรจากพระผู้เป็นเจ้าให้เป็นศาสนทูต ในขณะที่มีศาสนทูตมากมายจากเชื้อสายของอิสหาก บุตรชายอีกคนหนึ่งของอิบรอฮีม การเกิดในเชื้อสายและตระกูลที่มีเกียรติ ทำให้ท่านได้รับการเลี้ยงดูด้วยจรรยามารยาทที่สูงส่ง ท่านได้รับฉายาว่า “อัล-อะมีน” (ผู้มีความซื่อสัตย์) ตั้งแต่ยังอยู่ในวัยหนุ่ม และเป็นที่เชื่อถือกันในมักกะฮ์ถึงความซื่อสัตย์และความมีมารยาทของมุฮัมมัด
ก่อนการแต่งตั้งเป็นศาสนทูต ท่านไม่เคยเป็นที่เกลียดชังของชาวมักกะฮ์ สังคมมักกะฮฺในสมัยนั้นเป็นสังคมที่วุ่นวาย เสื่อมโทรมทางจริยธรรม ผู้คนนับถือไสยศาสตร์และเคารพรูปเจว็ดซึ่งสร้างขึ้นรายล้อมมหาวิหารกะอ์บะฮ์ ปะปนไปด้วยอบายมุขต่างๆ นานามากมาย มุฮัมมัด จึงมักหาที่เงียบๆ เพื่อปลีกตัวจากผู้คน ชอบสันโดษ และไม่เคยร่วมวงกับผู้คนในมักกะฮฺเพื่อทำเรื่องที่เสื่อมเสีย การได้รับเลือกให้เป็นศาสนทูตเป็นเรื่องนอกเหนือความคาดหมายของท่าน เพราะถึงแม้จะรู้เห็นว่าสังคมในมักกะฮ์เลวร้ายเพียงใด แต่ท่านก็ไม่เคยคาดคิดว่าตนต้องแบกรับภาระหน้าที่อันหนักหน่วงในการปฏิรูปสังคมที่เสื่อมโทรมเพียงนั้น
ครั้งแรกที่ได้รับประทานวิวรณ์และได้พบกับมลาอิกะฮฺญิบรีล ณ ถ้ำหิรออฺ ท่านกลัวจนตัวสั่น รีบลงจากภูเขากลับบ้าน และสั่งให้เคาะดีญะฮ์ภรรยาของตนห่มผ้าให้ เพราะนี่เป็นสิ่งที่ท่านไม่เคยพบและไม่ทราบมาก่อนว่ามันคือ จุดเริ่มต้นของการแต่งตั้งเป็นศาสนทูตจากพระผู้เป็นเจ้า
เริ่มต้นเผยแผ่อิสลาม
การได้พบกับญิบรีลเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต เพราะหลังจากนั้นวิวรณ์จากพระผู้เป็นเจ้าได้ถูกประทานลงมาเรื่อยๆ เมื่อแน่ใจว่าตนคือผู้ได้รับการเลือกสรรและมีบัญชาให้เผยแผ่คำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า มุฮัมมัด จึงเริ่มเชิญชวนผู้อื่นสู่อิสลาม ด้วยการเริ่มต้นกับภรรยา ลูกๆ ญาติพี่น้อง และมิตรสหายผู้ใกล้ชิด รวมทั้งผู้ที่ตนวางใจว่าจะปกปิดและไม่แพร่งพรายความลับเกี่ยวกับศาสนาอิสลามแก่ผู้อื่น กระทั่งได้มีคำสั่งให้ประกาศอิสลามอย่างโจ่งแจ้ง จึงได้เริ่มเรียกร้องผู้คนในมักกะฮ์สู่อิสลามอย่างเปิดเผย
ครั้งหนึ่ง ท่านนะบี มุฮัมมัด ได้ปีนขึ้นเนินเขาเศาะฟา อันเป็นที่ชุมนุมของชาวมักกะฮ์และหันไปเรียกผู้คนเบื้องล่าง
“โอ้ ลูกหลานชาวมักกะฮฺ!ถ้าหากฉันจะบอกว่า ข้างหลังเขาลูกนี้มีกองทัพที่พร้อมด้วยม้าศึกกำลังจะบุกเข้ามา พวกท่านจะเชื่อฉันหรือไม่?”
คำตอบจากผู้คนต่างเป็นเสียงเดียวกัน “เราไม่พบว่าท่านเคยพูดโกหก”
“ถ้าเช่นนั้น ฉันขอประกาศว่า ฉันคือผู้บอกข่าวจากพระผู้เป็นเจ้า ถึงการลงโทษอันสาหัส(สำหรับผู้ที่ไม่เชื่อในพระองค์)”
สิ่งที่ท่านเชิญชวนและเรียกร้องชาวมักกะฮฺก็คือ
“จงกล่าวปฏิญาณเถิด ‘ไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรแก่การเคารพภักดีนอกจากอัลลอฮ์ แล้วพวกท่านจะปลอดภัยและประสบความสุข”
คำประกาศของท่านนะบี สร้างความสะเทือนหวั่นไหวให้กับสังคมของชาวมักกะฮ์ประดุจดังฟ้าคำรามกลางแดดช่วงเที่ยงวัน ไม่มีผู้ใดที่ไม่รู้ความหมายของคำสัตย์ปฏิญาณว่า ‘ไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรแก่การเคารพภักดีนอกจากอัลลอฮฺ’ มันหมายถึง พวกเขาต้องละทิ้งรูปเคารพที่อุตส่าห์ลงทุนลงแรงปั้นมากับมือ ต้องเสียทรัพย์สินที่หมดไปกับ ‘การตลาด’ เพื่อชักจูงอาหรับจากทั่วคาบสมุทรอาระเบียให้มาเวียนไหว้รูปเคารพพวกนี้ ไม่มีคำว่าเสรีภาพในการเสพสมกามตัณหา ไม่สามารถใช้อำนาจข่มเหงใครได้ตามอำเภอใจ ไม่มีการขูดรีด ไม่มีการข่มขู่หรือเข่นฆ่าล้างแค้นตามประเพณีเผ่าพันธุ์ หมดสิ้นความสำราญที่เคยมีแบบไร้ขีดจำกัด ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกรอบที่พระเจ้าบัญชาผ่านผู้เป็นศาสนทูต ทุกเสี้ยวของหัวใจต้องยอมมอบให้กับพระองค์ ไม่ว่าจะต้องใจหรือไม่ก็ตาม
นี่คือความหมายของ ‘อิสลาม’ ศาสนาที่ต้องการปลดเปลื้องความอยุติธรรม และนำมนุษย์กลับคืนสู่การใช้สติปัญญา ควบคุมอารมณ์อันแปดเปื้อน ฟื้นฟูศีลธรรมความดีงามและมนุษยธรรมที่หายไปจากสังคมกลับคืนมา
สิบสามปีที่ท่านนบี มุฮัมมัด เผยแผ่อิสลามในนครมักกะฮฺ ท่านไม่เคยใช้เครื่องมือของความรุนแรง ไม่มีอาวุธ ไม่มีดาบหอกหรือดอกธนู ภาษาที่ท่านใช้คือคำพูดแห่งตรรกะที่เป็นไปตามเหตุผลและรับมาจากวิวรณ์แห่งพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งชาวมักกะฮ์ล้วนเข้าใจได้ดี กระนั้น สิบสามปีในมักกะฮฺกลับเป็นช่วงที่หนักหน่วงยิ่งสำหรับประวัติศาสตร์การเผยแผ่อิสลาม
การเชิญชวนของท่านนะบี ได้รับการต่อต้านจากผู้คนส่วนมาก มิใช่เพียงแค่การปฏิเสธ แต่หมายรวมถึงการด่าทอ ประณาม ใส่ร้ายป้ายสี เหยียดหยาม เสียดสี ทำร้ายร่างกาย กดขี่ข่มเหง ถึงขั้นวางแผนเพื่อฆ่า และวิธีการต่างๆ เพื่อบังคับให้ท่านหยุดการเผยแผ่อิสลาม อีกนัยหนึ่งเพื่อให้ผู้ที่นับถืออิสลามแล้วเลิกตามและหันกลับไปเป็นเหมือนเดิม มีความพยายามจากกลุ่มเด็กหนุ่มที่นับถืออิสลามเพื่อลุกขึ้นต่อสู้กับเหล่าผู้ต่อต้าน แต่ท่านนบี กลับบอกถึงเจตนาของท่านว่า
“แท้จริง ฉันได้รับคำสั่งให้อภัยแก่คนเหล่านั้น เพราะฉะนั้นพวกเจ้าจงอย่าได้ต่อสู้กับพวกเขา”
คำประกาศของบุคคลเช่นนี้หรือที่ผู้ไม่หวังดีต่ออิสลามให้ฉายาว่า “ผู้ก่อการร้าย” !!??
เมื่อการประทุษร้ายรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และชาวมุสลิมไม่มีกำลังที่จะต้านทานได้ ในที่สุดจึงจำต้องทิ้งบ้านเกิดเมืองนอน ทรัพย์สมบัติและญาติพี่น้องด้วยความหดหู่ใจ อพยพสู่เมืองมะดีนะฮ์
อิสลามหลังการอพยพสู่มาดีนะฮ์เมืองมะดีนะฮ์ คือสังคมใหม่ที่ชาวมุสลิมได้ร่วมกันสร้างขึ้นตามอุดมคติแห่งอิสลาม เป็นสังคมที่ปราศจากการกดขี่ข่มเหงจากเหล่าอธรรมชนเช่นที่เคยทำกับพวกเขาในมักกะฮ์ ณ ดินแดนแห่งใหม่นี้ มุสลิมทุกคนสามารถแสดงตนเป็นผู้ศรัทธาอย่างเปิดเผย โดยไม่ต้องเกรงกลัวว่าจะมีผู้ไม่หวังดีคอยรุกล้ำอธิปไตยและเสรีภาพในการนับถืออิสลาม
หลังการอพยพสู่มะดีนะฮ์ การเผยแผ่อิสลามของท่านนะบี และชาวมุสลิมยังคงดำเนินไป และแผ่กว้างมากขึ้น ด้วยการเรียกร้องและเชิญชวนสู่พระผู้เป็นเจ้า สิ่งที่เป็นกุญแจสำคัญซึ่งทำให้อิสลามได้รับการสนองตอบจากผู้คนมากมาย นั่นเพราะการที่พวกเขาสามารถเข้าถึงดำรัสอันบริสุทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้า เมื่อใดที่ดำรัสแห่งพระองค์เข้าสถิตในหัวใจของผู้ใดอย่างมั่นคงแล้ว ไม่มีสิ่งใดอีกที่จะทำให้เขารู้สึกคลอนแคลน
อัลกุรอานระบุถึงหน้าที่ของท่านนะบี ว่า
“พระองค์คือผู้ที่ส่งศาสนทูตลงมายังชนผู้ไม่รู้หนังสือจากหมู่พวกเขาเอง เพื่อให้เขาอ่านพระดำรัสของพระองค์
ขัดเกลามารยาทของพวกเขา สอนพระคัมภีร์และวิทยปัญญา แน่แท้ ก่อนหน้านี้พวกเขาอยู่ในความหลงทางที่ชัดเจน”
(ความหมายอัลกุรอานจากบท อัล-ญุมุอะฮฺ โองการที่ 2)
นี่คือวิถีแห่งการเผยแผ่อิสลามของท่านศาสนทูต และเป็นหน้าที่ของผู้เผยแผ่อิสลามทุกคน นั่นคืออ่านและสอนให้มนุษย์รู้จักข้อเท็จจริงของพระเจ้า หาใช่การขู่เข็ญหรือใช้วิธีรุนแรงเพื่อบังคับให้คนอื่นเชื่อหรือนับถืออิสลาม
“ไม่มีการบังคับใน(การนับถือ)ศาสนา แท้จริงทางนำอันเที่ยงธรรมได้ปรากฏชัดจากความหลงทางอันคดเคี้ยวแล้ว”
(ความหมายอัลกุรอานบท อัล-บะเกาะเราะฮฺ โองการที่ 256)
อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่จะต่อต้านยังคงปะทุอยู่ในใจผู้ปฏิเสธเสมอ โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาเห็นว่านับวันจำนวนมุสลิมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาคอยเตรียมการที่จะทำสงครามกับชาวมุสลิมด้วยการรวมรวมทุนทรัพย์และไพร่พลเพื่อยกมาโจมตีเมืองมะดีนะฮ์
นับเป็นความจำเป็นสำหรับมุสลิมที่ต้องจัดให้มีการปกป้องอธิปไตยของตนในมะดีนะฮ์ ในเมื่อพวกเขาแน่ใจแล้วว่าเหล่าศัตรูพร้อมเสมอที่จะรุกเข้ามา ด้วยเหตุที่สงครามเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ท่านนบีมุฮัมมัด จึงได้กำหนดกฎเกณฑ์และรายละเอียดที่ชัดเจนสำหรับการสงคราม โดยอยู่ภายใต้กรอบบัญชาแห่งพระผู้เป็นเจ้า เพื่อไม่ให้สงครามกลายเป็นเครื่องมือสนองต่อความรุนแรงที่เกินขอบเขตของเป้าหมายในการ “ปกป้องอธิปไตยแห่งอิสลาม” และ “รับประกันเสรีภาพของอิสลามและชาวมุสลิม”
สำหรับศาสนทูต มุฮัมมัด และมวลมุสลิม ไม่มีสิ่งใดที่สำคัญกว่าการได้เห็นประชาชาติดำเนินอยู่ภายใต้คำสอนแห่งอัลลอฮ์ สงครามไม่ใช่เป้าหมาย และอาจไม่จำเป็นถ้าหากไม่มีผู้คนประเภทที่ดื้อแพ่งและไม่รู้จักภาษาแห่งเหตุผล แต่กลับนิยมโอ้อวดและแสดงอำนาจเช่นพวกมักกะฮ์
อิสลาม ระหว่างสงครามและการก่อการร้าย
ถ้าเสรีภาพเป็นที่ยอมรับของมนุษย์ทุกคน อิสลามก็ย่อมมีอธิปไตยอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งสงคราม หากแต่ที่ปรากฏให้เห็นคืออิสลามกลายเป็นเป้าโจมตีทุกยุคสมัย ถ้าไม่ด้วยสงครามก็ด้วยการกล่าวหาว่าร้าย
ถ้าหากการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและอธิปไตยหมายถึงการก่อการร้าย คงไม่มีมนุษย์คนใดที่หนีพ้นจากนิยามนี้ และถ้าหากทุกๆ สงคราม คือความรุนแรงที่ไม่ควรมีอยู่ในโลก แล้วเหตุไฉนทุกประเทศจึงต้องสะสมอาวุธและแข่งกันอวดยุทโธปกรณ์ เมื่อความจริงเป็นเช่นนี้ ใครเล่าคือผู้บริสุทธิ์จากการก่อการร้าย ??
เหตุใดการเรียกร้องสิทธิในการนับถืออิสลามของศาสนทูต มุฮัมมัด จึงกลายเป็นการก่อการร้ายในสายตาของผู้ปฏิเสธ ?
ระหว่างสงครามที่อิสลามกำหนดว่า ห้ามฆ่าสตรี เด็ก คนชรา นักบวช ห้ามทำลายปศุสัตว์ พืชพันธุ์ และต้นไม้ กับสงครามของประเทศมหาอำนาจที่ใช้อาวุธหนัก ระเบิดนิวเคลียร์ เครื่องบิน รถถัง อาวุธชีวภาพ และสารพัดเครื่องมืออันทันสมัยในการล้างผลาญมนุษย์อย่างไม่เลือกหน้า อันไหนที่ควรจะเป็นการก่อการร้าย ?
มีคำสอนใดที่รับผิดชอบต่อความยุติธรรมมากกว่าศาสนาที่สอนผู้ศรัทธาทุกคนว่า
“และอย่าได้ปล่อยให้ความเกลียดชังของพวกเจ้าต่อหมู่ชนใดหมู่ชนหนึ่ง ทำให้พวกเจ้าขาดความยุติธรรม
จงยุติธรรมเถิด เพราะมันเป็นสิ่งที่ใกล้กับความยำเกรงยิ่งกว่า”
(ความหมายอัลกุรอานจากบท อัล-มาอิดะฮฺ โองการที่ 8)
นับเป็นความโหดร้ายในโลกแห่งความเป็นจริง ที่มนุษย์ต้องเผชิญกับความรุนแรงตลอดเรื่อยมาผ่านหลายศตวรรษในอดีต แต่แล้วศาสนาที่สอนให้มนุษย์รู้จักความยุติธรรม และศาสนทูตผู้เคยได้รับฉายาว่า “อัล-อะมีน” กลับถูกสถาปนาให้เป็นผู้ก่อการร้ายที่คุกคามมนุษยชาติ
ดังนั้นการกล่าวหาโจมตีศาสนทูตมุฮัมมัด จึงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ในสายตาของชาวมุสลิม ไม่ว่าผู้ที่ทำการเช่นนั้นจะอ้างถึง ‘เสรีภาพ’ ชนิดไหนก็ตาม เพราะมนุษย์ทุกคนต่างมีเสรีภาพ ถ้าการอ้างถึงเสรีภาพของใครคนหนึ่งคุกคามต่อเสรีภาพของคนอีกคนแล้ว เสรีภาพของฝ่ายไหนที่ควรจะเป็นเสรีภาพที่ชอบธรรม ? การอ้างถึงเสรีภาพในรูปแบบนี้ไม่ใช่ตรรกะแห่งเหตุผลที่พึงรับได้ อย่าว่าแต่การกระทำของฝ่ายที่กล่าวหามิได้วางอยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์แต่อย่างใดเลย
มันไม่ได้มีมูลฐานแห่งความจริงและความยุติธรรมมากไปกว่าการล้อเลียนเสียดสี สร้างความวุ่นวาย และปะทุไฟแห่งความเกลียดแค้น โดยอาศัยความรู้สึกในเรื่องละเอียดอ่อนของผู้ที่ศรัทธาในอิสลาม ซึ่งผู้กระทำต่างก็รู้ดี
เช่นนี้หรือ โลกแห่งเหตุผลและเสรีภาพของมวลมนุษย์ ? ประชาคมโลกจะอยู่อย่างสงบได้เช่นไร ในเมื่อยังมีผู้คนประเภทชอบก่อควันไฟให้เหม็นไหม้ไม่จบสิ้น ??
เสรีภาพและการเคารพเกียรติระหว่างกัน
ถ้าโลกปัจจุบันได้พยายามเรียกหาเสรีภาพทั่วทุกระแหง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดและไม่ว่าเสรีภาพนั้นมีอยู่จริงหรือเป็นเพียงแค่การลวงหลอก เราทุกคนที่เป็นมุสลิมก็ขอใช้เสรีภาพแห่งตนเรียกร้องเกียรติแห่งอิสลามที่ถูกย่ำยีกลับคืนมา ไม่มีสิ่งใดในชีวิตมุสลิมที่สำคัญกว่าพระผู้เป็นเจ้าและอิสลาม การดูถูกศาสนทูตมุฮัมมัด เท่ากับการดูถูกอิสลามศาสนาแห่งพระองค์ มันเป็นความชอบธรรมที่ถูกต้องและเป็นหน้าที่จำเป็นของมุสลิมที่ต้องประกาศให้ผู้คนทั้งหมดได้ทราบว่า มุฮัมมัด ไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย !
หากต้องการทราบความจริงเกี่ยวกับอิสลามและมุฮัมมัด เราต่างก็พร้อมที่จะนำเสนอและอธิบาย ผ่านการสนทนาแลกเปลี่ยนที่เป็นธรรม ไม่ต้องใช้วิธีการที่ไร้คุณค่าเช่นการเหยียดหยามและเสียดสีที่น่าอดสูเหมือนที่พวกเขาทำ
มนุษย์อาจจะมีเสรีภาพอยู่ได้โดยไร้ศาสนา แต่มนุษย์จะอยู่อย่างมีเสรีภาพได้อย่างไร ถ้าเกียรติแห่งตนถูกย่ำยีและถูกคุกคาม ??
ขอพระผู้เป็นเจ้าทรงชี้ทาง !!
Islam House