ทำไมฉันจึงรักและชอบคลุมฮิญาบ
Women World : บูราฮานูดิน อุเซ็ง
ก่อนหน้านี้ ฉันเองเคยมีอคติต่อศาสนาอิสลามมาก มีความรู้สึกและมองการคลุม ฮิญาบของสตรีมุสลิม ดูราวกับว่า มันคือแอกที่กดขี่สรรพสิ่งที่มีชีวิตที่สามารถเดินดินได้อย่างปฏิเสธหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่แล้วความคิดของฉันเริ่มเปลี่ยนแปลง หลังจากเมื่อฉันถูกนักรบฎอลีบานจับกุมที่อัฟกานิสถาน
เมื่อเดือนกันยายน 2001 หลังเหตุการณ์ 9/11 ถล่มสหรัฐอเมริกา เพียง 15 วัน ฉันได้ลักลอบเข้าไปในประเทศอัฟกานิสถานในรูปการคลุม บุรกา (Burqa) สีน้ำเงิน (คือผ้าคลุมซึ่งมีลักษณะครอบตั้งแต่หัวจรดเท้า มีช่องตาข่ายเฉพาะตรงใบหน้า) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเข้าไปทำรายงานข่าวเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตผู้คนภายใต้รัฐบาลกดขี่ฏอลีบาน แต่แล้วฉันถูกจับกุมจนได้ ฉันถูกคุมขังเพียง 10 วัน และถูกต่อว่าถึงความไม่เหมาะสมต่างๆนาๆ ว่าเป็นผู้หญิงที่ประพฤติตนไม่เหมาะสม ไม่ดี หลังจากนั้นพวกเขายอมปล่อยให้เป็นอิสระ เมื่อฉันรับปากว่า ฉันจะอ่านอัลกุรอาน และศึกษาอิสลามอย่างจริงจัง จนถึงวันนี้ ฉันเองยังไม่แน่ใจว่า ใครจะมีความสุขใจและภาคภูมิกว่ากัน ระหว่างตัวฉันเอง หรือพวกเขาเหล่านั้น
เมื่อฉันได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับมาที่ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ฉันยังคงรักษาคำพูดที่ว่าจะศึกษาเกี่ยวกับอิสลามอย่างจริงจัง และรู้สึกประหลาดใจเมื่อพบว่า อคติต่างๆ เกี่ยวกับอิสลามที่มีอยู่และคาดหวังว่าจะได้คำอธิบายอย่างลึกซึ้ง เช่น บทบัญญัติที่เกี่ยวกับการอนุญาตให้สามีสามารถตีภรรยาได้ การที่ผู้เป็นบิดาสามารถบีบบังคับลูกสาวให้กระทำการต่างๆ นั้น เมื่อได้ศึกษาเข้าถึงหลักคำสอนที่แท้จริงแล้ว กลับพบว่าอัลกุรอานมีคำสอนที่สื่อให้ทราบถึงการส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคของสตรี
นับตั้งแต่ถูกจับกุม เป็นเวลา 2 ปีครึ่ง เมื่อได้ศึกษาอัลกุรอาน ฉันตัดสินใจเข้ารับนับถือศาสนาอิสลามอย่างสมบูรณ์ แน่นอน ย่อมมีปฏิกริยาต่างๆ นาๆ จากญาติ พี่น้องและผองเพื่อน ทั้งมีความแปลกใจประหลาดใจ ทั้งผิดหวัง ไม่เป็นอย่างที่คาดคิด และบางคนสนับสนุน ฯลฯ
ในวันนี้ ปฎิกริยาที่มีต่อฉัน มีท่าทีแสดงออกถึงความรู้สึกรังเกียจ ขยะแขยง ความรู้สึกหวาดวิตก
ฉันเฝ้าติดตามกระแสปฏิกริยาต่างๆจากบุคคลสำคัญๆ เช่น อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ Mr.Jack Straw ได้กล่าวถึงการแต่งกายของสตรีมุสลิมที่นิยมคลุมหน้าแบบนิกอบ (Niqab การคลุมฮิญาบที่คลุมทั้งหมดเปิดแค่ตาเท่านั้น) ว่าเป็นเสมือนคนที่ต้องการแยกตน ทำตัวแปลกแยกออกจากความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคมประเทศ สอดคล้องกับความเห็นของนายกรัฐมนตรี Tony Blair, และนักเขียนชื่อดัง นักโทษประหารตามหมายจับของอิหร่าน Salman Rushdie หรือแม้แต่นายกรัฐมนตรีอิตาลี Romano Prodi ที่สนับสนุนความเห็นไปในทางต่อต้านเช่นเดียวกัน
ฉันอาจกล่าวได้ว่า ชายชาวตะวันตกส่วนใหญ่ ไม่ว่านักการเมือง คอลัมนิสต์ ฯลฯ ยังคงมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน ด้วยความมีอคติเป็นอันดับแรก หรืออาจเป็นผู้ที่มีความคิดคร่ำครึมีความคิดถูกตอกย้ำจากการที่ถูกบิดเบือนและถูกปลูกฝังมาอย่างยาวนานว่า
“สตรีเพศในโลกมุสลิมถูกกดขี่”
“ถูกบังคับให้คลุม ฮิญาบ”,
“เจ้าสาวอายุน้อย”,
“การคิตอนเข้าสุนัต”,
“ประเพณีการฆ่าเพื่อเกียรติยศ”
“การบังคับแต่งงานแบบคลุมถุงชน” ฯลฯ
การกล่าวหาใส่ร้ายต่อมุสลิม ด้วย อวิชาที่โง่เขลา ด้วยความหยิ่งยะโสอวดดีหลงตนมากกว่าที่จะยอมรับความจริง
ช่วงหนึ่งในสังคมตะวันตกเคยมีการรณรงค์เพื่อเรียกร้องสิทธิสตรีอย่างเข้มข้นในระหว่างปี 1970 (พ.ศ. 2513) หากเราศึกษาอิสลาม ศึกษาอัลกุรอาน อย่างถ่องแท้แล้ว จะพบว่า สิทธิเสรีภาพของสตรีที่เรียกร้องเหล่านั้น อิสลามได้ให้การคุ้มครองมากว่า 1400 ปีมาแล้ว สตรีมุสลิมเป็นผู้มีสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาคเท่าเทียมบุรุษ ทั้งจิตวิญญาน ทางด้านการศึกษา และคุณค่า ศักดิ์ศรีของสตรี การยกย่องฐานะมารดาของลูก เป็นผู้ที่รับหน้าที่การอบรมเลี้ยงดูบุตรอันเป็นหน้าที่ที่มีเกียรติ เป็นต้น
เมื่อมุสลิมยกย่องสถานภาพสตรีมากมายเช่นนี้ ทำไมชายชาวตะวันตก จะมัวหมกมุ่นแค่เรื่องเครื่องนุ่งห่ม การแต่งกาย แม้แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอังกฤษ Mr. Gordon Brown (นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน : ผู้แปล)และ Mr.John Reid ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับ Niqab ในเชิงดูหมิ่นดูแคลน แต่ตรงกันข้ามกลับไปยกย่องชายชาวสก๊อตแลนด์ที่นุ่งกระโปรง ว่าเป็นสิ่งสวยงาม
เมื่อฉันเริ่มนับถือศาสนาอิสลาม และเริ่มคลุมศีรษะ ฉันเริ่มได้รับผลกระทบอย่างมากมาย ผลที่ได้รับลำดับแรกคือ ทั้งๆ ที่ฉันเป็นชาวอังกฤษมาแต่กำเนิด แต่กลับได้รับการปฏิบัติเสมือนเป็นพลเมืองชั้นสองทันที แม้ฉันเคยได้รับทราบถึงความคิดที่วิปลาสของพวก Islamophobia (พวกกลัวอิสลาม: ผู้แปล) แต่ฉันไม่เคยคิดเลยว่ามันจะเลวร้ายมากขนาดนี้ ถึงกับสร้างความเป็นปรปักษ์ต่อกันอย่างรุนแรง มีการต่อต้านจากคนที่ไม่เคยรู้จักกัน คนแปลกหน้าด้วยวิธีการต่างๆ นานา
ครั้งหนึ่งในเวลากลางคืน แท็กซี่ไม่ยอมหยุดรับฉันในฐานะผู้โดยสาร ทั้งๆ ที่ไฟเรืองแสงบนแผงหน้าปัดเปิดแสดงให้รู้ว่า “รถว่าง” คงเห็นฉันอยู่ในชุดฮิญาบจึงไม่ยอมหยุดรับ หรือบางครั้งโชเฟอร์แท็กซี่จอดส่งผู้โดยสารต่อหน้าฉัน เขาจ้องมองฉันราวกับว่ามีเรื่องโกรธเคืองกันมายาวนาน เมื่อฉันเคาะเพื่อให้เปิดล็อคประตู เขากลับขับหนีทันที หรือบางที่เจอโชเฟอร์บางคนประชด หรือกระแนะกระแหน พูดแดกดันว่า “อย่าลืมเอาลูกระเบิดลงไปด้วย” บางคนก็ถามว่า “เฮ้ บินลาดิน อยู่ที่ไหน?”
แน่นอนที่สุด นั่นเป็นเพราะบทบัญญัติคำสอนอิสลามที่กำหนดให้มุสลิมะฮฺ แต่งตัวสุภาพ ส่วนใหญ่มุสลิมะฮฺจะสวมฮิญาบที่เปิดเผยใบหน้าและฝ่ามือ แต่มีส่วนหนึ่งที่นิยมสวม Niqab เครื่องแต่งกายของฉันบ่งบอกว่า ฉันเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม และฉันได้แต่คาดหวังว่า ฉันย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการปฎิบัติอย่างเท่าเทียมตามทำนองคลองธรรม เฉกเช่นเดียวกับ นักการธนาคารแห่งวอลล์สตรีทที่นิยมสวมสูท เคยกล่าวว่า “สูทของนักธุรกิจย่อมบ่งบอกถึงลักษณะหน้าที่การงาน การบริหารของเขา”
ในอดีต ฉันเคยเป็นนักรณรงค์ต่อสู้และร่วมเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคของสตรีมาก่อน เมื่อมารับนับถือศาสนาอิสลาม ฉันกลับพบว่า แนวทางอิสลามกับเป้าหมายที่ฉันรณรงค์ในอดีตนั้น โดยทางปฏิบัติคือเป้าหมายที่เป็นบทสรุปยอดมีน้ำหนักและเป็นจริงมากกว่า เช่น พวกเรารังเกียจการประกวดอวดโฉมของสตรี เราพยายามต่อต้านคัดค้านอย่างจริงจัง ในปี 2003 (พ.ศ.2546) เมื่อคณะกรรมการตัดสินการประกวดนางงามโลก กำหนดให้นางงามอัฟกานิสถาน Miss Vida Samadzai สวมใส่ชุดบีกินี เพื่อให้โลกรับทราบว่าเธอเป็นผู้หญิงที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง และปลดปล่อยสิทธิเสรีภาพของสตรี !
ประธานาธิบดี อิตาลี่ Romano Prodi กล่าวว่า “การคลุม Niqab ทำให้ความสัมพันธ์ทางสังคมมีอุปสรรคมากยิ่งขึ้น” ช่างเป็นคำพูดที่ไร้สาระสิ้นดี ถ้าเป็นเช่นนั้น การติดต่อสัมพันธ์ทางโทรศัพท์ก็ดี มือถือก็ดี การส่งจดหมายอีเล็คโทรนิคส์ หรือ E-Mail ก็ดี การส่งโทรสารหรือ Fax ก็ดี การส่งข้อความ หรือ SMS ก็ดี หรือการติดต่อสัมพันธ์ด้วยเครื่องมือสื่อสารอื่นๆ ที่เราใช้กันทุกวันนี้ ก็จะทำให้ความสัมพันธ์ทางสังคมมีอุปสรรคทั้งสิ้นด้วยละซิ เพราะเราไม่อาจเห็นหน้าค่าตากัน และเชื่อว่ายังไม่มีใครพากันปิดวิทยุ เพียงเพราะเขาไม่อาจเห็นหน้าเจ้าของเสียง
ภายใต้อิสลาม ฉันมีความยึดมั่นถือปฏิบัติ อิสลามสอนให้มุสลิมทราบถึงสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการการศึกษา และกำหนดให้เป็นหน้าที่ทั้งชายและหญิงต้องแสวงหาวิชา ความรู้ ตั้งแต่ในเปลจนถึงหลุมศพ
ไม่ว่าฉันจะเป็นคนโสด หรือมีครอบครัว ไม่ว่าอิสลามสอนว่าหญิงมีหน้าที่ในการทำความสะอาด ซักเสื้อผ้า หรือหุงหาอาหาร หรือมุสลิมได้รับอนุญาตให้เฆี่ยนภรรยาของเขาได้นั้น มันเป็นการง่ายเกินไปที่จะวิจารณ์ หรือกล่าวหาโจมตีอิสลาม ด้วยการยกอ้างคำสอนในอัลกุรอาน หรือฮะดิษบางตอนอย่างไม่ครบองค์ประกอบ หรือไม่รู้ภูมิหลังที่มาที่ไปคำสอนดังกล่าว แล้วนำมาโจมตี ใส่ไคล้อิสลาม ดังเช่นที่มีการกล่าวหาว่า สามีได้รับอนุญาตให้เฆี่ยนตีภรรยา โดยระบุว่า หากชายใดยกมือประทับลงบนภรรยาของเขา แต่ไม่เป็นที่อนุมัติให้ปรากฎร่องรอยบนเรือนร่างของเธอ ซึ่งกุรอานมีบทบัญญัติโดยสรุปความว่า “อย่าตีภรรยาของสูเจ้าอย่างโง่เง่า”
ยังมีผู้ที่พยายามกล่าวหาอิสลามว่าเป็นศาสนาที่กดขี่สตรีเพศ ยกตัวอย่างกรณีหนึ่ง ประมาณปี 1992 (พ.ศ. 2545) Rev.Pat Roverston ออกแถลงการณ์แสดงทัศนะเกี่ยวกับการให้อำนาจแก่สตรี, การต่อต้านระบบครอบครัว โดยออกมารณรงค์ต่อสู้ เพื่อสังคมนิยม ต่อต้านระบบครอบครัว สนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อให้สตรีทิ้งสามี, สังหารเด็ก, ใช้เวทย์มนต์คาถา, ทำลายระบบทุนนิยมและเชิญชวนมารักร่วมเพศ เลสเบี้ยน เป็นต้น
ขอถามว่าใครคือผู้ที่เจริญแล้วอย่างแท้จริง ?
แปลและเรียบเรียงจาก บทความเรื่อง How I came to Love the Veil ของ Yvonne Ridley นักข่าวอิสระ ตีพิมพ์ครั้งแรกลงในในหนังสือพิมพ์ The Washington Post และตีพิมพ์ซ้ำลงในวารสาร Muslim World League ประจำเดือน Dhul – hijjah ฮ.ศ. 1427 / มกราคม 2550