โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร ?
  จำนวนคนเข้าชม  9579

โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร ?


 
          เป็นคำถามที่เราได้ยินกันบ่อยๆ และคำตอบก็จะแตกต่างกันออกไป ตามความใฝ่ฝันและจินตนาการของเด็ก อีกทั้งเปลี่ยนแปลงไปตามวัยของผู้ตอบ เด็กเล็กๆ มักจะตอบว่า “หนูอยากเป็นตำรวจ” “ผมอยากเป็นทหาร” “ผมอยากเป็นหมอครับ” “หนูอยากเป็นพยาบาลค่ะ” พอโตขึ้นมาหน่อยก็จะตอบว่า “ผมอยากเป็นนายก” “ผมอยากเป็นเบ็คแฮม” หรือ “หนูอยากเป็นนางแบบ” ซึ่งทุกคำตอบต่างก็ทำให้คนถามต้องอมยิ้มไปกับความน่ารักของเด็กๆ


           สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองคงได้เตรียมคำตอบให้กับคำถามของลูกๆ ไว้แล้ว อย่างดี เพราะลูกผู้เป็นแก้วตาดวงใจและเป็นความหวังของพ่อแม่ พ่อแม่หลายท่านอาจยังไม่สามารถตอบตนเองได้ในขณะนี้ แต่ก็คงไม่มีใครปฏิเสธที่จะอยากให้เด็กๆ มีอนาคตที่ดีมีความสุข

           ระยะหลังนี้มีคำตอบเท่ห์ๆ จากเด็กๆ ว่า “โตขึ้นหนูจะเป็นคนดี” หรือคำพูดของผู้ใหญ่ที่บอกกับเด็กๆ ว่า “โตขึ้นหนูจะเป็นอะไรก็ได้ แต่ขอให้หนูเป็นคนดี” ซึ่งไม่มีใครปฏิเสธความคิดนี้ได้  แต่อยากเพิ่มเติมเล็กน้อยถึงคำว่า “คนดี” นั้น ต้องเป็น “คนดีของอัลลอฮ์ ” เท่านั้นจึงจะสมบูรณ์ที่สุด

          ไม่ว่าโตขึ้นเขาจะเป็นอะไร เป็นหมอ เป็นพยาบาล เป็นพ่อค้า หรือนักการเมือง ถ้าเขาเป็นคนดีของอัลลอฮ์ แล้ว เขาจะเป็นหมอที่ดีมีจรรยาบรรณ ไม่เลี้ยงไข้ เขาจะเป็นพยาบาลที่มีน้ำใจงามเห็นอกเห็นใจผู้ป่วย เขาจะเป็นพ่อค้าที่ซื่อสัตย์ไม่โก่งราคากักตุนสินค้า  หรือถ้าเป็นนักการเมืองก็จะเป็นนักการเมืองที่มีอุดมการณ์ไม่คอรัปชั่นโกงกิน ซึ่งจะทำให้เขามีความสุขทั้งในโลกดุนยานี้และยังได้รับการตอบแทนด้วยความสุขในสวนสวรรค์แห่งโลกหน้าอาคีเราะฮ์ ซึ่งนับว่าเป็นความสำเร็จที่แท้จริงของชีวิต

          สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อไปจึงอยู่ที่ว่า   แล้วทำอย่างไรล่ะจึงจะทำให้เด็กๆ โตขึ้นเป็นคนดีของอัลลอฮ์ จะต้องอบรมเลี้ยงดูอย่างไรให้เขาเป็นคนดีของอัลลอฮ์   ซึ่งเป็นหน้าที่ของมุร็อบบียฺ (พ่อ-แม่ และผู้ให้การศึกษาอบรม) ที่จะต้องทำความเข้าใจตั้งแต่ต้นว่า  เด็กทุกคนเกิดมาบนความบริสุทธิ์ เปรียบเสมือนผ้าที่ขาวสะอาด ถ้าเราระบายสีดำ ผ้านั้นก็จะกลายเป็นผ้าดำ ดังที่ท่านนบี  ได้กล่าวว่า

“เด็กๆ นั้นเกิดมาบนความบริสุทธิ์ (ฟิตเราะฮฺ) พ่อแม่เท่านั้นที่จะทำให้เขาเป็นยะฮูดี นัสรอนี หรือมะยูซี (ผู้บูชาไฟ)”

          ก่อนที่ พ่อ-แม่(มุร็อบบียฺ) จะทำหน้าที่อบรมเลี้ยงดูให้เด็กๆ เป็นคนดีของอัลลอฮ์  ได้นั้น พ่อ-แม่  จะต้องพยายามเป็นคนดีของอัลลอฮ์  ให้ได้เสียก่อน จึงจะรู้ว่าจะต้องสอนเด็กๆ ให้เป็นคนดีของอัลลอฮ์  ได้อย่างไร พ่อ-แม่  ต้องรู้และศรัทธาถึงความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮ์ ในฐานะพระผู้สร้าง ต้องศรัทธาและยอมรับในพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ที่ทรงประทานให้แก่เรา ต้องเคารพรักและยำเกรงในพระองค์ ดังที่พระองค์ทรงตรัสไว้ในอัลกุรอ่าน ความว่า

 “และพวกเจ้าจงรีบเร่งกันไปสู่การอภัยโทษจากพระเจ้าของพวกเจ้า และไปสู่สวรรค์ซึ่งความกว้างของมันนั้น คือบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน โดยที่มันถูกเตรียมไว้สำหรับบรรดาผู้ที่ยำเกรง” (อาละอิมรอน : 133)

 “แท้จริงผู้ที่มีเกียรติที่สุดในหมู่พวกท่านในสายตาของอัลลอฮ์ คือผู้ที่ยำเกรงต่ออัลลอฮ์มากที่สุด”  (อัล-หุญรอต : 13)

           และเราจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรในฐานะผู้ตักวายำเกรง นั่นคือ ปฏิบัติตามที่พระองค์ทรงใช้ และห่างไกลจากสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม เพียงเท่านี้ท่านก็จะเป็นคนดีของอัลลอฮ์ และเป็นผู้ที่พร้อมจะอบรมลูกหลานที่ท่านรักและรับผิดชอบต่อไป

           ถึงตรงนี้คงไม่มีใครปฏิเสธหรือไม่เห็นด้วยกับข้อความข้างต้น ถ้าเราอยากเห็นเด็กๆ ของเราเป็นคนดี ขณะที่เรายังเป็นคนดีไม่ได้ แล้วพวกเขาจะเป็นคนดีได้อย่างไร ในเมื่อเราคือแบบอย่างและเป็นต้นแบบ วันนี้ถ้าเราเรียกร้องพร่ำสอนให้เขาละหมาด ขณะที่เราไม่เคยละหมาด  วันนี้เราพร่ำบอกให้เขาอ่านอัลกุรอ่าน ขณะที่เราไม่เคยหยิบอัลกุรอ่านบนหิ้งมาเปิดอ่านเลย  แล้วเขาจะเชื่อหรือว่าละหมาดเป็นสิ่งจำเป็น การอ่านกุรอ่านเป็นสิ่งที่ดี ถ้าดีแล้วทำไมพ่อถึงไม่ทำ ทำไมแม่จึงละเลย

           เมื่อพ่อ-แม่ เป็นแบบอย่างที่ดีแล้ว จึงคอยพร่ำสอน พูดคุยบ่อยๆ ให้เด็กๆ ได้รู้จักอัลลอฮ์ ให้เด็กๆ ได้รู้ถึงความยิ่งใหญ่ของพระองค์ ให้เห็นความสามารถของพระองค์ที่ทรงสรรสร้างสรรพสิ่ง ทั้งที่มีชีวิตซึ่งมีอวัยวะภายในที่ซับซ้อน และสิ่งที่ไม่มีชีวิต ทั้งที่มีขนาดใหญ่โตเช่นจักรวาล และสิ่งที่เล็กมากจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เช่น ไวรัส, จุลินทรีย์ ฯลฯ

           พ่อ-แม่ จะต้องพร่ำพูดให้เด็กๆ ได้รู้ถึงพระมหากรุณาธิคุณของอัลลอฮ์  ที่มีต่อปวงบ่าว ตั้งแต่การให้มีชีวิต มีอวัยวะครบถ้วน มีสติปัญญาสมบูรณ์ แล้วยังทรงประทานปัจจัยยังชีพ ทั้งอากาศ น้ำดื่มน้ำใช้ และริสกีต่างๆ อีกมากมาย โดยไม่คิดค่าตอบแทน เราจะต้องพูดให้เด็กๆ รู้จักชุโกรฺขอบคุณต่อพระองค์  นอบน้อมยอมตนต่อพระองค์ด้วยความตักวายำเกรง  ต้องให้เด็กๆ ยินดีที่จะปฏิบัติตามบทบัญญัติต่างๆ ตามที่อัลลอฮ์  ทรงใช้ และห่างไกลจากทุกสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม

          การอบรมเด็กๆ ให้เป็นคนดีในทัศนะของอิสลามจึงมิใช่เพียงหน้าที่ของครูบาอาจารย์ฝ่ายเดียว พ่อแม่ผู้ปกครองย่อมมีบทบาทสำคัญที่เท่าเทียมกันในฐานะ มุร็อบบียฺ ซึ่งเป็นผู้ที่จะให้คำตอบที่แท้จริงได้ว่า..... “โตขึ้นหนูจะเป็นอะไร”

 

บทความจาก : ชมรมผู้ปกครองและครูโรงเรียนอิกเราะสามัญศึกษา

เขียนโดย  :     อิสฮาก  บินซาฟิอียฺ