แหล่งแจกจ่ายซะกาต
มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม อัตตุวัยญิรีย์
ชาวซะกาต
ชาวซะกาตคือผู้ที่สามารถจ่ายซะกาตให้แก่พวกเขาซึ่งมีแปดประเภท ถูกกล่าวในอัลกุรอาน
อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
“แท้จริงทานทั้งหลายนั้น สำหรับผู้ที่ยากจน และผู้ขัดสน และเจ้าหน้าที่ซะกาต
และบรรดาผู้ที่หัวใจของเขาสนิทสนม(กับศาสนาอิสลาม)
และในการไถ่ทาส และผู้ที่หนี้สินล้นตัว และในหนทางของอัลลอฮฺ
และผู้ที่หมดเสบียงเดินทางในระหว่างเดินทาง”
(อัตเตาบะฮฺ : 60)
จำนวนชาวซะกาต(ผู้มีสิทธิได้รับซะกาต)
อัลลอฮฺด้วยความปรีชาญานของพระองค์ ได้กำหนดผู้ที่สมควรได้รับซะกาตและจำนวนที่ควรได้รับ เช่นเดียวกับการแบ่งมรดกและชาวมรดก(ผู้ที่มีสิทธิในมรดก) บางครั้งทรงกำหนดสิ่งที่ต้องจ่ายโดยไม่กำหนดผู้ที่จะรับเช่น กัฟฟาเราะฮฺต่างๆ เช่นกัฟฟาเราะฮฺซีฮารฺ การสาบาน เป็นต้น บางครั้งทรงกำหนดผู้ที่จะรับแต่ไม่กำหนดจำนวนที่จะรับ เช่น ชาวซะกาตหรือผู้ที่มีสิทธิได้รับซะกาต ซึ่งมีแปดประเภทคือ
1- ฟุกอรออ์(ผู้ที่ยากจน) คือผู้ไม่มีทรัพย์ใดๆ เลย หรือมีเล็กน้อยไม่พอใช้จ่าย(ไม่ถึงครึ่งของรายจ่าย)
2- มะสากีน (ผู้ขัดสน) คือผู้ที่มีรายได้เกือบพอรายจ่าย หรือ ครึ่งหนึ่งของรายจ่าย
3- อามิลูน อะลัยฮา (เจ้าหน้าที่ที่รวบรวมมัน) พวกเขาคือผู้จัดเก็บ ผู้ดูแล ผู้แบ่งสรร คนเหล่านี้หากมีเงินเดือนอยู่แล้วก็ไม่สามารถรับซะกาตได้อีก
4- บรรดาผู้ที่หัวใจของเขายังใหม่ต่ออิสลามคือ มุสลิมหรือกาฟิร หัวหน้าเผ่า ผู้ที่หวังว่าเขาจะเข้ารับอิสลาม หรือ(ผู้ที่เราหวัง)เพื่อให้พ้นจากความชั่วของเขา หรือหวังว่าการให้จะเพิ่มอีมานของเขา หรือหวังการรับอิสลามของคนที่เหมือนกับเขา คนต่างๆ เหล่านี้จะให้ซะกาตจำนวนที่ทำให้บรรลุเป้าหมายได้
5- ในการไถ่ทาสคือบรรดาทาสหรือทาส(มุกาตับ)ที่ต้องการ(ซื้อ)ไถ่ตัวเองจากเจ้านายเพื่อให้พ้นจากการเป็นทาส และเขามีความต้องการซะกาต และที่เข้าข่ายนี้ด้วยก็คือการไถ่ตัวเชลยศึกที่เป็นมุสลิม
6- ผู้ที่หนี้สินล้นตัวคือผู้ที่ติดหนี้ซึ่งมีสองประเภท
6.1- ผู้ที่ติดหนี้เพื่อสมานไกล่เกลี่ยระหว่างผู้ที่ขัดแย้งกัน จะให้ซะกาตตามจำนวนที่เขาติดหนี้แม้เขาจะร่ำรวยก็ตาม
6.2- ผู้ที่ติดหนี้เพื่อตัวเองโดยที่เขาติดหนี้และไม่มีทรัพย์ที่จะชดใช้หนี้
7- ในหนทางของอัลลอฮฺ คือผู้ที่สู้รบในหนทางอัลลอฮฺเพื่อเชิดชูศาสนาของพระองค์ และผู้ที่รวมอยู่ในกรณีเช่นเดียวกับพวกเขา เช่นคนที่เป็นนักดาอีย์ผู้ที่เชิญชวนสู่ศาสนาของอัลลอฮฺ คนเหล่านี้จะไม่ให้ซะกาตหากมีเงินเดือนอยู่แล้ว หรือมีเงินเดือนแต่ไม่พอใช้
8- ผู้เดินทาง คือผู้ที่กำลังเดินทางแล้วหมดเสบียงระหว่างเดินทางไม่มีทรัพย์ที่จะใช้เดินทางกลับบ้านเมืองได้ คนประเภทนี้จะให้ซะกาตจำนวนที่จะเขาจำเป็นต้องใช้ในการเดินทาง แม้เขาจะเป็นคนที่ร่ำรวย(ณ ภูมิลำเนาของเขา)ก็ตาม
- ไม่อนุญาตให้แจกซะกาตแก่คนที่ไม่ใช่แปดประเภทที่กล่าวมา และจะเริ่มให้แก่ผู้ที่จำเป็นที่สุดก่อน
- อนุญาตให้มอบซะกาตแก่คนประภทเดียวจากชาวซะกาต และอนุญาตให้มอบซะกาตแก่บุคคลคนเดียวให้กรอบความจำเป็นของเขา แต่หากซะกาตมีจำนวนมาก สุนัต(สมควร)ที่จะแบ่งสรรให้แก่คนประเภทต่างๆ ที่กล่าวมา
- ผู้ที่มีเงินเดือนสองพันเหรียญ แต่เขาจำเป็นต้องใช้สามพันเหรียญต่อเดือนเพื่อให้พอค่าใช้จ่ายผู้ที่เขาต้องดูแล ก็ให้เขารับซะกาตตามจำนวนที่เขามีความจำเป็น(ให้หนึ่งพันเหรียญ)
- หากให้ซะกาตแก่ผู้คิดว่าเป็นชาวซะกาตหลังจากที่ได้วินิจฉัยและระมัดระวังแล้วแต่ปรากฏว่าเขาไม่ใช่ชาวซะกาตถือว่าซะกาตนั้นมีผลใช้ได้แล้ว
หุก่มการทำให้ทรัพย์ซะกาตงอกเงย
สิ่งที่วาญิบในเรื่องซะกาต คือ ให้ทำการแจกจ่ายแก่ชาวซะกาตโดยเร็ว ไม่อนุญาตให้ชักช้า เพื่อทำให้มันงอกเงยหรือทำการค้าเพื่อประโยชน์ของบุคคลหรือองค์กรหรืออื่นๆ แต่หากทรัพย์นั้นไม่ใช่ซะกาตถือว่าไม่มีปัญหาที่จะทำการค้าแล้วนำไปให้ในหนทางที่ดี
ผู้ที่อนุญาตให้มอบซะกาตให้แก่เขาได้
1- อนุญาตให้แจกซะกาตแก่ผู้ที่ต้องการทำหัจญ์แต่ไม่ทรัพย์ที่เพียงพอ อนุญาตให้แจกซะกาตเพื่อการไถ่เชลยมุสลิม อนุญาตให้แจกซะกาตแก่มุสลิมที่ต้องการแต่งงานและเขายากจน ต้องการปกป้องตัวเองจากความชั่ว(ที่จะเกิดจากการไม่แต่งงาน) และอนุญาตให้แจกซะกาตเพื่อชดใช้หนี้ให้แก่คนที่เสียชีวิต
2- อนุญาตให้เจ้าหนี้ที่มีหนี้อยู่กับลูกหนี้ที่ยากจนในการที่เขาจะมอบซะกาตให้ผู้ยากจนคนนั้นหากไม่ได้มีการตกลงกันว่ามอบซะกาตเพื่อให้จ่ายหนี้แก่เขา(เจ้าหนี้ผู้ให้ซะกาต) แต่ไม่อนุญาตให้ปลดหนี้โดยถือว่ามันเป็นซะกาตแทน
- การให้ทาน(รวมถึงซะกาตด้วย)แก่คนยากถือว่าเป็นทาน และการให้ทานแก่ญาติถือเป็นทานและเป็นการสานสัมพันธ์เครือญาติพร้อมๆ กันไปด้วย
3- หากผู้ที่มีความสามารถทำงานหารายได้แก่ตัวเองได้ แต่เขายอมเสียสละเพื่อศึกษาหาความรู้ ถือว่ามอบซะกาตให้เขาได้ เพราะการศึกษาหาความรู้เป็นการญิฮาดอย่างหนึ่งให้หนทางของอัลลอฮฺ และประโยชน์ของเขาจะเกิดแก่ผู้อื่นด้วย
4- สุนัตให้บุคคลจ่ายซะกาตแก่คนยากจนที่เป็นเครือญาติ ที่เขาไม่ต้องรับผิดชอบเลี้ยงดู เช่น บรรดาพี่น้องชาย พี่น้องหญิง บรรดาลุงและป้า น้าและอา เป็นต้น
หุก่มการให้ซะกาตแก่ลูกหรือพ่อแม่หรือสามีภรรยา
1- อนุญาตให้จ่ายซะกาตแก่พ่อแม่ และผู้ที่อยู่เหนือพ่อแม่(เช่น ปู่ย่าตายาย) บรรดาลูกๆและผู้ที่อยู่ถัดลงไปจากลูก(เช่น หลาน เหลน) หากคนเหล่านั้นยากจน และเขาเองไม่สามารถให้ค่าเลี้ยงดูพวกเขาได้ ตราบที่มัน(การจ่ายซะกาตนั้น)ไม่เป็นการยกเลิกหน้าที่ของเขา(ที่ต้องเลี้ยงดู) เช่นเดียวกันหากคนเหล่านั้นติดหนี้หรือมีค่าสินไหมทดแทนต้องชดใช้ ก็อนุญาตให้ทำการชดใช้แก่พวกเขา เพราะพวกเขาสมควรแก่การให้มากกว่า
2- อนุญาตให้สามีจ่ายซะกาตของเขาแก่ภรรยาหากนางติดหนี้หรือมีกัฟฟาเราะฮฺ(ค่าชดเชย)ต้องจ่าย ส่วนภรรยาสามารถให้ซะกาตแก่สามีได้หากเขาเป็นชาวซะกาต
ผู้ที่ไม่อนุญาตให้มอบซะกาตให้
1- ไม่อนุญาตให้มอบซะกาตแก่ลูกหลานบนีฮาชิม
ตระกูลของท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม และบ่าวของพวกเขา ทั้งนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่พวกเขา เพราะซะกาตเป็นสิ่งที่ใช้ชำระสิ่งโสมมของผู้คน ซึ่งไม่เหมาะที่จะใช้กับตระกูลอันทรงเกียรติของท่านนะบี
2- ไม่อนุญาตให้มอบซะกาตแก่คนกาฟิรยกเว้นเป็นผู้ที่เราต้องการโน้มน้าวจิตใจ และไม่อนุญาตให้มอบซะกาตแก่ทาสยกเว้นทาสที่ต้องการไถ่ตัว
3- ไม่อนุญาตให้มอบซะกาตแก่คนร่ำรวยยกเว้นหากเขาเป็นเจ้าหน้าที่ซะกาต หรือเป็นผู้ที่เราต้องการโน้มน้าวใจ หรือเป็นผู้ที่สู้รบในหนทางของอัลลอฮฺ หรือเป็นผู้ที่หมดเสบียงในขณะกำลังเดินทาง
4.- คนร่ำรวย คือผู้ที่มีรายได้พอเพียงในการใช้ชีวิตของเขาและคนที่เขาต้องเลี้ยงดูตลอดปีอาจจะด้วยทรัพย์ที่เขามีอยู่ หรือจากการค้าขาย หรือจากการผลิตหรืออื่นๆ
สิ่งที่ผู้รับซะกาตควรกล่าว
สุนัตให้ผู้ที่ได้รับซะกาตกล่าวดุอาอ์แก่ผู้ที่ให้ว่า
اللهم صَلِّ عَلَيْـهِـمْ
“ขออัลลอฮฺจงให้ความจำเริญแก่เขา”
(มุตตะฟะกุนอะลัยฮฺ บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หมายเลข 4166 และมุสลิม หมายเลข1078)
หรือกล่าวว่า
اللهم صَلِّ عَلَى آلِ فُلانٍ
“ขออัลลอฮฺจงให้ความจำเริญแก่ครอบครัวผู้นั้นผู้นี้(ระบุนาม)"
(มุตตะฟะกุนอะลัยฮฺ บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หมายเลข 1497 และมุสลิม หมายเลข 1078)
หรือกล่าวว่า
اللهم بَارِكْ فِيهِ وَفِي إبِلِـهِ
“ขออัลลอฮฺจงให้ความจำเริญแก่เขาและอูฐของเขา”
(หะดีษ เศาะฮีหฺ บันทึกโดยอันนะสาอีย์ หมายเลข 2458)
หุก่มการบอกว่าเป็นซะกาต
ผู้ที่จ่ายซะกาตหากรู้ว่าบุคคลหนึ่งเป็นชาวซะกาตและเขารับซะกาตก็จงให้แก่เขาและไม่ต้องบอกว่ามันเป็นซะกาต แต่หากผู้จ่ายไม่รู้เกี่ยวกับตัวเขา(ผู้รับ) หรือเขาเป็นคนที่ไม่รับซะกาต ถ้าอย่างนี้ต้องบอกให้เขารู้ว่ามันเป็นซะกาต
แปลโดย : อิสมาน จารง / Islam House