การจ่ายซะกาตฟิฏรฺ
  จำนวนคนเข้าชม  8814

หะดีษที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายซะกาตฟิฏรฺ

عَنْ ابنِ عُمَرَ رَضِىَ اللهُ عَنهُمَا قَالَ : فَرَضَ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمْ زَكَاةَ الفِطْرِ صَاعًا مِنْ تَمْرٍ أَو صَاعًا مِنْ شَعِيْرٍ عَلَى الحُرِّ وَالعَبْدِ وَالذَّكَرِ وَالأُنْثىٰ ، وَالصَّغِيْرِ وَالكَبِيْرِ مِنَ المُسْلِمِيْنَ . وَأَمَرَ بِهَا أَنْ تُؤَدّٰى قَبْلَ خُرُوْجِ النَّاسِ إِلَى الصَّلاَةِ .

จากอับดุลลอฮฺ บิน อุมัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า :

“ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กำหนดบัญญัติให้ออกซะกาตฟิฏเราะฮฺหนึ่ง ศออฺ (กันตัง)

ด้วยลูกอินทผลัม หรือหนึ่ง ศออฺ (กันตัง) ด้วยแป้งสาลีแก่มุสลิมที่เป็นเสรีชนและทาส ชายและผู้หญิง

คนแก่และเด็ก และท่านรอซูลได้สั่งให้จ่ายซะกาตก่อนที่ผู้คนจะออกไปเพื่อละหมาดวันอีด”  

(มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ : อัล--บุคอรี 3/291-292 และมุสลิม 983)

คำอธิบาย

          อิมามอันนะวะวีย์กล่าวว่า อุละมาอ์มีทัศนะที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับความหมายของคำว่า ฟะเราะฎอ “فرض”  ซึ่งอุละมาอ์ส่วนใหญ่จากสะลัฟและเคาะลัฟให้ความหมายว่า “ลาซิมและวาญิบ” เพราะซะกาตฟิฏเราะฮฺสำหรับพวกเขามีหุก่มวาญิบ เนื่องจากเข้าอยู่ในภาพรวมคำสั่งของอัลลอฮฺ และเนื่องจากการใช้คำ “فرض”   ยังมีอุละมาอ์บางท่านเห็นว่าซะกาตฟิฏเราะฮฺนั้นสุนัตไม่ใช่วาญิบ

        ท่าน อิบนุ กุตัยบะฮฺกล่าวว่า ที่หมายถึงซะกาตฟิฏเราะฮฺนั้นคือ ซะกาตสำหรับตนเอง ซึ่งมาจากคำว่า “ฟิฏเราะฮฺ” (อัล-ฟัตหุ อัร-ร็อบบานีย์  มะอาชัรหิฮี 9/138)

         หะดีษข้างต้นชี้ให้เห็นว่า ซะกาตฟิฏเราะฮฺไม่เป็นเงื่อนไขของถึงนิศอบ (เกณฑ์)  ทั้งนี้วาญิบสำหรับผู้ยากจนและผู้ร่ำรวย

         อัล-อิมาม อัช-ชาฟิอีย์กล่าวว่า หากมีค่าใช้จ่ายที่เหลือจากค่าใช้จ่ายสำหรับตนเองและครอบครัวในเช้าตรู่ของวันอีดและกลางคืนของวันอีด เมื่อนั้นจึงเป็นวาญิบสำหรับเขาต้องจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ (ชัรหุ อัส-สุนนะฮฺ ของ อัล-บะเฆาะวีย์ 6/71)

        ที่ถูกต้องตามสุนนะของรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม คือ ซะกาตฟิฏเราะฮฺจะต้องจ่ายฟิฏเราะฮฺในวันอีดก่อนออกไปสู่มุศ็อลลา แต่ถ้าหากว่าการให้ฟิฏเราะฮฺทันทีหลังจากเข้าเราะมะฎอนก่อนวันอีดถือว่าใช้ได้ เพราะท่านอุมัรเคยฝากซะกาตฟิฏเราะฮฺให้แก่ผู้จัดเก็บฟิฏเราะฮฺก่อนวันอีดสองวันหรือสามวัน

(อัล-มุวัฏเฏาะอ์ 1/285 ออกโดยอัช-ชาฟีอีย์ 1/248 สายรายงานเศาะฮีหฺ ดูใน ชัรหุ อัส-สุนนะฮฺ 6/76)


บทเรียนจากหะดีษ

         1.   กำหนดให้จ่ายซะกาตฟิเราะฮ์ในเดือนรอมาฎอน เพื่อให้ผู้ที่ถือศีลอดมีความบริสุทธิ์ และเป็นการช่วยเหลือคนยากจน

          2.   การจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺถูกบัญญัติขึ้น (ฟัรฎู) ในปีที่สองหลังจากฮิจญ์เราะฮ์ไปยังนครมะดีนะฮฺ

          3.  มุสลิมที่วาญิบต้องจ่ายซะกาตได้แก่ ผู้ชาย ผู้หญิง มุสลิมที่เสรีชน ทาส คนแก่ หนุ่มสาว จนถึงเด็กทารกที่เพิ่งเกิดในช่วงปลายรอมฎอนก็จะต้องจ่ายซะกาตเช่นเดียวกัน

          4.   ประเภทซะกาต ได้แก่ ลูกอินทผลัมหรือแป้งสาลี ส่วนข้าวสารนั้นเป็นการกิยาสกับแป้งสาลีที่เป็นอาหารหลัก

          5.   อัตราซะกาตที่จะต้องจ่าย คือ 1 ศออฺ ( กันตังของชาวมะดีนะฮฺเท่ากับ 3 ลิตร กับ  1  กระป๋องนมของบ้านเรา)

         6.   ซะกาตจะต้องจ่ายให้เสร็จสิ้นก่อนละหมาดอีด

         7.   ผู้ที่มีสิทธิรับซะกาตฟิฏเราะฮฺ คือคนแปดจำพวกเหมือนกับจำพวกที่สามารถรับซะกาตทั่วไปได้ แต่ที่ดีที่สุดคือจ่ายให้กับคนฟุกอรออ์และมิสกีน (คนยากจนและขัดสน)

         8.   เวลาที่สามารถจ่ายซะกาตคือ เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนรอมฎอนจนถึงเช้าวันอีดก่อนละหมาดอีด

         9.   ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่สอนให้ประชาชาติมีการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะคนที่มีฐานะร่ำรวยจะต้องช่วยเหลือคนที่ยากจน เพื่อให้เกิดความรักใคร่ เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน

ที่มา : หะดีษที่ 34  จากหนังสืออธิบาย 40 หะดีษเดือนรอมฎอน


www.iqraforum.com/forum2/index.php?topic=395.msg4477#msg4477