เสรีภาพในการเลือก แก่นแท้แห่งสาสน์อิสลาม
..........
บรรดานักวิชาการมุสลิมต่างเห็นพ้องว่า สงครามระหว่างมุสลิมกับชนต่างศาสนิกนั้นเกิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขัดขวางความอยุติธรรมและตอบโต้การรุกราน มิใช่เพราะชนต่างศาสนิกไม่นับถืออิสลามหรือไม่ศรัทธาในพระเจ้า สงครามในอิสลามมีเป้าหมายเพื่อปลดปล่อยมนุษย์ให้หลุดพ้นจากการกดขี่ข่มเหง เรียกร้องศักดิ์ศรี ตลอดจนสร้างบรรยากาศการเผยแผ่อิสลามให้ดำเนินไปในภาวะที่ไร้ความกดดัน
มุสลิมมีภารกิจในการรังสรรค์บุคลิกภาพของมนุษย์ให้มีความอิสระเสรีในการเลือกศรัทธาตามความเชื่อของแต่ละคน เปิดโอกาสให้มีการเผยแผ่อิสลาม ให้เกียรติเพื่อนมนุษย์ด้วยการสร้างบรรยากาศแห่งความเสรีในการกำหนดทางเลือกของชีวิต เผยแผ่ความเมตตาแก่สากลจักรวาลด้วยการธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ตอบโต้ความอยุติธรรมและการสร้างความหายนะตลอดจนการล่วงละเมิดทั้งปวง พร้อมทั้งยอมรับความแตกต่างของสังคม
มุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติภารกิจในการแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง หลีกเลี่ยงการทุ่มเทกำลังและศักยภาพ เพียงเพื่อสร้างความแตกแยกและจุดชนวนสงคราม สู่การใช้ชีวิตร่วมกันบนรากฐานแห่งการสร้างความเข้าใจ ความช่วยเหลือ เอื้ออาทร
ดังที่ อัลลอฮ์ ได้ตรัสไว้ความว่า
โอ้มนุษยชาติทั้งหลาย แท้จริงเราสร้างพวกเจ้าจากเพศชายและเพศหญิง และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่าและตระกูลเพื่อจะได้สร้างความรู้จักกัน (อัลกุรอาน 49:13)
ทั้งนี้เนื่องจากความอิสระเสรี การมีสัมพันธ์ที่ดีตลอดจนการสื่อสารเป็นการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการแผ่ขยายของอิสลาม เปิดโอกาสให้มีการใช้สติปัญญา ความแตกต่างและความหลากหลาย แทนที่จะเป็นชนวนแห่งความขัดแย้ง กลับกลายเป็นบ่อเกิดแห่งความโปรดปราน เป็นเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเพิ่มพูนศักยภาพของมนุษยชาติในการดำเนินชีวิตร่วมกันอย่างมีประโยชน์และคุ้มค่า
ถึงแม้มนุษย์จะรักหรือเกลียดชังกัน เป็นมิตรหรือศัตรูระหว่างกัน แต่ในทัศนะอิสลามแล้ว มนุษย์ทั้งมวลคือพี่น้องกัน มนุษย์จึงไม่ใช่หมาป่าที่คอยคำรามขบกัดระหว่างกันตามที่ปรากฏในคำสอนของลัทธิชาตินิยมที่เป็นแหล่งอ้างอิงของสำนักคิดสุดโต่ง และทฤษฎีการเมืองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่พยายามวางก้ามใช้อำนาจและอิทธิพล เพื่อกดขี่ข่มเหงเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
อิสลามถือว่ามนุษย์มีรากเหง้ามาจากบรรพบุรุษคนเดียวกัน ความหลากหลายถือเป็นสิ่งดั้งเดิมของอัลลอฮ์ พระผู้ทรงสร้างสรรพสิ่ง ความแตกต่างด้านภูมิศาสตร์ ประชากรศาสตร์ ชาติพันธุ์ ความเชื่อและศาสนา ถือเป็นแนวทางสู่การสร้างสรรค์ ความช่วยเหลือ การทำความรู้จัก สานเสวนาและสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ทั้งนี้มีความพยายามที่จะทำให้มนุษย์มีความคล้ายคลึงกันในทุกประการเสมือนถ่ายเอกสารสำเนาจากต้นฉบับอันเดียวกันนั่นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้และไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ทั้งทางด้านสติปัญญาและข้อเท็จจริง เพราะจะทำให้การมีชีวิตไร้ความหมาย การสร้างความเจริญตลอดจนการพัฒนาด้านต่างๆจะกลายเป็นอัมพาตและประสบภาวะตีบตัน
ดังที่อัลลอฮ์ ได้ตรัสไว้ความว่า
และหากพระเจ้าของเจ้าทรงประสงค์ แน่นอนพระองค์จะทรงให้ปวงมนุษย์เป็นประชาชาติเดียวกัน (โดยการทำให้มนุษย์ทั้งหมดศรัทธาต่ออัลลอฮ์ และอยู่ในแนวทางอิสลาม) แต่พวกเขาก็ยังคงแตกแยกกัน (อัลกุรอาน 11:118)
กล่าวโดยสรุป เสรีภาพในการเลือกและกำหนดรูปแบบการดำเนินชีวิตควรอยู่บนพื้นฐานของการให้อิสรภาพแก่สติปัญญาในการตัดสินใจ พินิจพิเคราะห์ รู้จักใช้เหตุผลและเปรียบเทียบในการทำหน้าที่เหล่านั้นภายใต้ภาวะที่ไร้ความกดดัน
ภายใต้บรรยากาศดังกล่าว เหล่านักวิชาการจึงแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ พร้อมกับหาข้อยุติในประเด็นต่างๆ ที่ขัดแย้งเพื่อแสวงจุดร่วม กำหนดวัตถุประสงค์ร่วมกัน ตลอดจนตอบโต้แนวคิดสุดโต่งและการบิดเบือนในศาสนาสู่การประยุกต์ใช้หลักคำสอนของอัลกุรอานและซุนนะฮ์ตามเจตนารมณ์อันแท้จริงของอิสลามดังนะบีมุฮัมมัด กล่าวไว้ความว่า
ความรู้ในอิสลามจะถูกถ่ายทอดโดยอนุชนหนึ่งสู่อนุชนหนึ่งที่ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม พวกเขาจะปฏิเสธคำวินิจฉัยของผู้มีแนวคิดสุดโต่งในศาสนา จะตอบโต้ข้อกล่าวหาของกลุ่มมิจฉาชน และจะลบล้างการใส่ไคล้ของกลุ่มผู้อวิชชา (รายงานโดยบัยฮะกีย์)
หะดีษดังกล่าว ไม่ใช่เป็นเพียงแค่คำบอกเล่าปรากฏการณ์เท่านั้น หากเป็นการส่งสัญญาณต่อภารกิจสำคัญของนักวิชาการมุสลิมในทุกยุคทุกสมัยที่จำเป็นต้องยืนหยัดและธำรงไว้ซึ่งสัจธรรมตลอดไป
การดำรงอยู่ทางความคิดและการวินิจฉัยประเด็นศาสนา ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางสังคมนั้น ถือเป็นหนึ่งในสัญญาณที่บ่งบอกถึงความยั่งยืนของอิสลาม ศาสนาที่มีความยืดหยุ่น มีความคล่องและสามารถประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนมีศักยภาพที่จะมอบสิ่งใหม่ๆ ให้แก่มนุษยชาติได้อย่างสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงร่วมสมัยของสังคม หาไม่แล้วอิสลามจะกลายเป็นศาสนาที่เป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ทางความเชื่อ เป็นพิธีกรรมที่มีการรณรงค์ให้ปฏิบัติตามเทศกาลทางศาสนา มีความเชื่ออย่างหลับหูหลับตาหรือความงมงายที่ไร้แก่นสาร และอาจบานปลายถึงขั้นเกิดความรู้สึกที่เย็นชาต่อความตระหนักในหน้าที่ฐานะบ่าวผู้ภักดี
ดังที่อัลลอฮ์ ตรัสไว้ความว่า
และเราได้ให้มวลมนุษย์กระจัดกระจายไปบนหน้าแผ่นดินเป็นกลุ่มๆ ส่วนหนึ่งของพวกเขาก็เป็นคนดี และอีกส่วนหนึ่งหาได้เป็นเช่นนั้น (กลายเป็นคนชั่ว) (อัลกุรอาน 7:168)
ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงในสังคมปัจจุบัน ทั้งภายในสังคมมุสลิมหรือสังคมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระแสยุคโลกาภิวัฒน์ที่บีบบังคับให้โลกทั้งใบมีสภาพคล้ายกับชุมชนเล็กๆ เพียงชุมชนหนึ่งเท่านั้น ยิ่งเพิ่มความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ การวินิจฉัยปรากฏการณ์ร่วมสมัยให้สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของอิสลาม ตลอดจนการวิเคราะห์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงในสังคม โดยใช้หลักการเทียบเคียงกับหลักศาสนบัญญัติที่ถูกต้องและตรงประเด็น
การที่มนุษย์ ต่างมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันทั้งในระดับสังคมเดียวกันหรือสังคมภายนอก นับเป็นเงื่อนไขสำคัญที่มุสลิมต้องศึกษารายละเอียดในประเด็นศาสนาที่ว่าด้วยมารยาท การปฏิสัมพันธ์กับชนต่างวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับคำสอนในอัลกุรอานและซุนนะฮ์ และหน้าที่การให้คำชี้ชัดจึงเป็นภารกิจของนักวิชาการศาสนาผู้ทรงไว้ซึ่งคุณธรรม ที่ให้ความกระจ่างในหลักการของศาสนาและอรรถาธิบายข้อปลีกย่อยของศาสนาได้อย่างถูกต้องและเป็นธรรมที่สุด
กองกำลังหรือข้อตกลงตามสนธิสัญญาต่างๆ ไม่สามารถยับยั้งและสกัดกั้นการประดิษฐ์คิดค้นด้านสติปัญญา จึงเป็นหน้าที่ของนักวิชาการศาสนาผู้ทรงคุณธรรมที่จะต้องลุกขึ้นมาแก้ไขสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ปกป้องจากแนวคิดสุดโต่ง หรือการวินิจฉัยประเด็นศาสนาที่ขัดกับหลักการที่แท้จริง
เป้าประสงค์ของอิสลามคือการมีส่วนร่วมในการรังสรรค์และพัฒนาแนวคิดและวิทยาการร่วมสมัยที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของอัลกุรอานและจริยวัตรของท่านนะบีมุฮัมมัด (ซุนนะฮ์)ด้วยการใช้หลักพื้นฐานที่ถูกต้อง คำนึงถึงข้อเท็จจริงและการวินิจฉัยที่ตรงประเด็นที่สุด
การสร้างพื้นฐานความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง วิเคราะห์สาเหตุของการเกิดโรคด้วยมาตรวัดที่กำหนดโดยอัลกุรอานและซุนนะฮ์ นอกจากนี้มีความจำเป็นต้องศึกษาชีวประวัติของเหล่าศาสนทูตยุคก่อนโดยเฉพาะศาสนทูตคนสุดท้ายมุฮัมมัด และศึกษาถึงความผิดพลาดของมนุษย์ในอดีต เพื่อนำเป็นข้อมูลสำหรับการกำหนดทางเลือกที่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง โดยคำนึงถึงกำลังความสามารถ การวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง ตลอดจนสถานการณ์รอบข้างที่เป็นจริง ไม่ใช่เป็นการสร้างวิมานในอากาศ อันเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาชาติต้องประสบกับภาวะเสื่อมถอยและล้าหลัง
ประชาชาติมุสลิมต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่า การปฏิบัติตาม ศาสนบัญญัติมีเงื่อนไขที่กำลังและความสามารถ อัลลอฮ์ จะไม่ทรงบังคับชีวิตหนึ่งชีวิตใด นอกจากตามความสามารถของชีวิตนั้นเท่านั้น โดยเฉพาะบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับประชาชาติโดยรวม ซึ่งหากเกิดการวินิจฉัยที่ผิดพลาดแล้ว จะไม่เพียงก่อผลกระทบอันใหญ่หลวงต่อการพัฒนาในภาพรวมเท่านั้น แต่เป็นสัญญาณแห่งความปั่นป่วนและความหายนะในระดับประชาชาติเลยทีเดียว
ประชาชาติมุสลิมพึงทราบว่า การสะสมประสบการณ์และองค์ความรู้ตามหลักการศาสนาที่ถูกต้องและตรงตามข้อเท็จจริงนั้นไม่สามารถกระทำได้ด้วยวิธีรับฟังการบรรยายหรือเข้าร่วมสัมมนาเท่านั้น แต่ต้องอาศัยการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านต่างๆไม่ว่าด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจและอื่นๆ ที่ประชาชาติยุคก่อนได้สะสมไว้
เรียบเรียงโดย อ.มัสลัน มาหะมะ