ข้อแตกต่างระหว่างนิติบัญญัติ
  จำนวนคนเข้าชม  4976

ข้อแตกต่างระหว่างนิติบัญญัติจากพระเจ้า และบัญญัติจากมนุษย์

          นิติบัญญัติจากเบื้องบน คือ ชุดของคำสั่งให้ปฏิบัติ หรือคำสั่งห้ามซึ่งบัญญัติโดยอัลลอฮ์พระผู้เป็นเจ้า เพื่อใช้บังคับแก่ประชาชาติหนึ่ง โดยผ่านทางศาสนทูตของพระองค์ในประชาชาตินั้น ส่วนนิติบัญญัติจากน้ำมือมนุษย์ คือ ชุดของกฎเกณฑ์ กติกา หรือ ระเบียบแบบแผน ที่ผู้มีอำนาจในประชาชาติหนึ่งเลือกมาบังคับใช้กับสังคมของตนเอง หากนำนิติบัญญัติ ทั้ง 2 แบบ มาเปรียบเทียบกัน คงต้องให้น้ำหนักไปทางนิติบัญญัติจากเบื้องบน ด้วยเหตุผลสำคัญ คือ

          1.ในแง่ที่มาแห่งบทบัญญัติ นิติบัญญัติจากเบื้องบน เป็นหลักกฎหมาย ที่มาจากองค์พระผู้เป็นเจ้า ผู้ซึ่งไม่มีสิ่งใดหลบเร้น ไปจากพระองค์ได้ และพระองค์ผู้ปราศจากความผิดพลาดและความอ่อนด้วยทั้งปวง

         ในแง่จุดมุ่งหมาย นิติบัญญัติจากเบื้องบนครอบคลุมกว้างขวางกว่า เพราะมุ่งสร้างมนุษย์ให้มีแบบฉบับอันงดงาม อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลด้วยกัน ระหว่างบุคคลกับตนเอง และระหว่างบุคคลกับองค์พระผู้เป็นเจ้า ในขณะที่นิติบัญญัติจากมนุษย์ส่วนใหญ่จำกัดอยู่เพียงการจัดระบบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลแต่ละคน โดยแทบจะไม่พูดถึงความสัมพันธ์รูปแบบอื่นเลย

          2. นิติบัญญัติจากเบื้องบน จะรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของสังคมและให้ความสำคัญกับส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ส่วนบุคคล นิติบัญญัตินี้จะไม่ให้สิทธิแก่ปัจเจกชนเพียงเพราะเขาเป็นมนุษย์ แต่ให้สิทธิเพราะถือว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม จึงวางกรอบกติกาในการที่บุคคลจะใช้สิทธิที่ได้รับ โดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น ส่วนนิติบัญญัติจากน้ำมือมนุษย์ เพิ่งตระหนักถึงสิทธิดังกล่าว เมื่อไม่นานมานี้เอง ในอดีตกาล นิติบัญญัติของมนุษย์ถือว่าบุคคลมีสิทธิโดยธรรมชาติ จึงสามารถทำอะไรได้โดยอิสระ

          3. นิติบัญญัติจากเบื้องบนจะกำกับการกระทำของมนุษย์ด้วย 2 ปัจจัยหลัก หนึ่ง เป็นปัจจัยทางโลก ซึ่งเกี่ยวข้องกับรูปลักษณ์ของการกระทำ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในหมู่ผู้คน อีกหนึ่งปัจจัยผูกโยงมนุษย์ไว้กับปรโลก และเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับเจตนาอันแท้จริงในการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งของบุคคล

          นิติบัญญัติจากเบื้องบน เชื่อมร้อยอยู่กับจิตสำนึกของมนุษย์อย่างแนบแน่น กลายเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเคารพเชื่อฟัง และส่งเสริมให้ผู้คนลงมือประพฤติดี โดยมีสัญญาแห่งอานิสงส์เป็นสิ่งตอบแทน และมีสัญญาแห่งการลงโทษสำหรับผู้ประพฤติชั่ว จุดนี้แตกต่างกับกฎหมายของมนุษย์ซึ่งมักจะบัญญัติ แต่เฉพาะโทษเอาไว้ตอบแทนผู้กระทำผิดเท่านั้น

          4. นิติบัญญัติจากเบื้องบน ส่งเสริมให้ผู้คนประพฤติดี และห้ามปรามการประพฤติชั่ว เป็นกฎที่ครอบคลุมทั้งความดี และความชั่ว ในขณะที่นิติบัญญัติจากน้ำมือมนุษย์ มักจะมุ่งแก้ไขความเลวร้ายเท่านั้น หากจะมีเรื่องความดีอยู่บ้าง ก็เป็นผลพวงที่ตามมาจากข้อบัญญัติเกี่ยวกับความชั่ว การตอบแทนใด ๆ ในนิติบัญญัติจากน้ำมือมนุษย์ จึงจำกัดอยู่แต่ในโลกนี้ที่ผู้มีอำนาจดำเนินการ ส่วนนิติบัญญัติจากเบื้องบนนั้น การปฏิบัติตามกฎถือเป็นความดีที่จะได้รับการตอบแทนในโลกหน้า พร้อม ๆ กับที่มีการพัฒนาในโลกนี้ และการฝ่าฝืนกฎก็จะมีโทษตอบแทนในโลกหน้า โดยอาจมีการลงโทษในโลกนี้เพื่อให้หลาบจำด้วย

          5. นิติบัญญัติโดยมนุษย์ สอบสวนได้เฉพาะพฤติกรรมภายนอกของบุคคล ซึ่งสัมพันธ์กับบุคคลอื่น แต่นิติบัญญัติจากเบื้องบน มีการชำระสะสางครอบคลุมทั้งสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของมนุษย์ และสิ่งที่มนุษย์แสดงออกโดย อวัยวะภายนอก ความยุติธรรมและคุณประโยชน์อันจะได้จากนิติบัญญัติเบื้องบนยั่งยืนถาวร เพราะบัญญัติโดยอัลลอฮ์ พระเจ้าผู้ทรงรอบรู้ทุกสรรพสิ่ง ในขณะที่นิติบัญญัติโดยมนุษย์ ไม่เป็นเช่นนั้น จึงประสบกับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขอยู่เสมอ เพราะหากไม่แก้ไขบทบัญญัตินั้น ก็จะกลายเป็นความอยุติธรรมไป

          และเนื่องจากมนุษย์ มีความคิดอ่านที่จำกัด บทบัญญัติที่มนุษย์คิดขึ้น บางครั้งจึงเห็นดีเห็นงามกับความชั่วร้ายโดยเห็นว่าเป็นประโยชน์ ความจริงมีแต่อัลลอฮ์เท่านั้น ที่ทรงรู้ดียิ่งว่าสิ่งใดเป็นคุณ สิ่งใดเป็นโทษ และหลายสิ่งก็ซ่อนเร้นเกินกำลังสติปัญญาของมนุษย์จะหยั่งรู้ได้
 
          กล่าวโดยสรุป นิติบัญญัติจากเบื้องบนนั้น มาจากอัลลอฮ์พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงรอบรู้ ผู้ทรงลึกซึ้งทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกยุคทุกสมัย ทุกสถานการณ์ จึงทรงบัญญัติกฎเกณฑ์ที่สามารถประกันความดีงามแก่มนุษย์ได้อย่างยั่งยืน

          ส่วนนิติบัญญัติจากมือมนุษย์นั้น ดำเนินการโดยบุคคลกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีทั้งความปรารถนา ความต้องการ กิเลสตัณหาของตนเอง และบุคคลย่อมรับเอาอิทธิพลของสภาพแวดล้อม สถานที่ ยุคสมัยและวัฒนธรรมในสังคม ซึ่งจะสะท้อนออกมาในบทบัญญัติที่เขาตราขึ้นด้วย

ชมรมนักวิชาการปทุมธานี