ลูกมี ‘สุขภาวะทางเพศ’ ที่ดี สอนได้ตั้งแต่เล็ก
  จำนวนคนเข้าชม  8663

ลูกมี ‘สุขภาวะทางเพศ’ ที่ดี สอนได้ตั้งแต่เล็ก 
 

 
       เรื่องเพศกับคนทุกวัยเป็นของคู่กัน ไม่ต่างจากเด็ก ซึ่งเป็นวัยสำคัญที่ต้องเข้าใจเรื่องเพศอย่างถูกต้อง และเหมาะสมตั้งแต่อยู่ในบ้าน วันนี้มีเคล็ดลับดีๆ จากแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) ถึงการเลี้ยงดูลูกให้เติบโตขึ้นมา โดยมีพื้นฐานสุขภาวะทางเพศที่เข้าใจ และถูกต้องตามแต่ละช่วงวัยดังนี้
 
 
       เด็กเล็กกับสุขภาวะทางเพศ
      
       ตามหลักพัฒนาการแล้ว เด็กเล็กประมาณ 5-8 ขวบ จะเริ่มเรียนรู้บทบาททางเพศ ที่สังคมคาดหวังต่อพวกเขาบ้างแล้ว เช่น การแต่งตัว รวมไปถึงกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะกับเพศของตัวเอง นอกจากนี้ เด็กจะเริ่มสนใจว่า เด็กๆ อย่างพวกเขาเกิดมาได้อย่างไร ทำไมถึงมีความแตกต่างกัน ซึ่งผู้ที่จะให้ชุดข้อมูล และตอบคำถามเหล่านี้ได้ที่ดีสุด คือ พ่อกับแม่ ดังนั้น
      
       - พ่อแม่ควรให้ลูกได้เล่น และเรียนรู้ โดยไม่นำเอาเพศของลูกเองมาเป็นกรอบกำหนด กล่าวคือ เด็กผู้หญิงก็เล่นฟุตบอล หรือการปีนป่ายต้นไม้ได้ ถ้าอยากเล่น ทั้งนี้เพื่อพัฒนาร่างกายทุกส่วน และสร้างความมั่นใจในตัวเองผ่านการเรียนรู้โลกกว้าง
      
       ส่วนเด็กผู้ชาย ก็มีความละเอียดอ่อนได้ ถ้าถูกสอนให้ชื่นชมความงามของธรรมชาติรอบตัว เด็กผู้ชายจึงไม่จำเป็นต้องเล่นแต่ปืน ดาบ หรือรถถังเพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้เด็กขาดพื้นฐานความอ่อนโยน
      
       นอกจากนี้ ทั้งเด็กผู้หญิง และเด็กผู้ชาย ควรถูกฝึกสอนให้ดูแลเรื่องส่วนตัวของตัวเอง เช่น การเก็บที่นอน เก็บข้าวของส่วนตัวให้เข้าที่ ช่วยงานบ้าน และงานในครัว เล็กๆ น้อยๆ ที่เหมาะสมกับความสามารถตามวัยของเด็ก
      
       - เลิกกดดันลูกอย่างผิดๆ ว่าผู้ชายต้องเป็นผู้นำ-ร้องไห้ไม่ได้ เพราะการยึดเอาเพศของเด็กมาเป็นกรอบในการสอน ส่งผลให้เด็กผู้ชายแข็งแกร่งเพียงภายนอก แต่จิตใจเปราะบาง รวมไปถึงเรียนรู้ผิดๆ ว่าต้องแสดงความก้าวร้าว และใช้ความรุนแรง จึงจะเป็นผู้ชายเต็มตัว
      
       - เลี้ยงลูกให้เป็นตัวของตัวเอง และรู้จักแสดงความเห็น โดยให้ลูกได้เลือกเสื้อผ้า สี ข้าวของเครื่องใช้ของเขาเอง อย่าไปคิดแทนลูก เช่น คิดว่าผู้ชายต้องใส่สีฟ้า สีน้ำเงิน หรือผู้หญิงต้องคู่กับสีชมพูเท่านั้น
      
       - ไม่ตำหนิ หรือกล่าวโทษ เมื่อลูกทั้งผู้หญิง และผู้ชายจับต้องอวัยวะเพศของเขา เพราะเขากำลังอยู่ในวัยอยากรู้ อยากเห็น ซึ่งการสอนว่าอวัยวะเพศเป็นของต่ำ และสกปรก จะทำให้เด็กๆ รู้สึกรังเกียจอวัยวะเพศตัวเองลึกๆ เมื่อโตขึ้นก็จะไม่กล้าถามข้อมูล และไม่ใส่ใจในสุขภาพทางเพศของตัวเอง
      
       - ควรสอนลูกว่า อวัยวะเพศแต่ละส่วน เรียกว่าอะไร และมีหน้าที่อย่างไร ไม่ต่างจากการสอนเรื่องคอ หู จมูก ตา เป็นต้น รวมไปถึงสอนให้รู้ว่า เขาเป็นเจ้าของร่างกายตัวเอง และเขาสามารถปฏิเสธไม่ให้ผู้ใหญ่ หรือเพื่อนๆ มาจับต้องร่างกาย โดยเฉพาะอวัยวะเพศของเขาได้
      
       และที่สำคัญ สอนให้ลูกรู้ว่า เด็กทุกคนเกิดมาไม่มีใครเหมือนกันเลย ซึ่งอาจจะมีรูปร่าง หน้าตา สีผิว หรือเพศต่างกัน แต่เด็กๆ ทุกคนเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันได้ และเป็นเรื่องดีที่ลูกจะได้มีเพื่อนหลายๆ แบบ
 
 
       เด็กแรกรุ่นกับสุขภาวะทางเพศ
      
       ช่วงวัยแรกรุ่น อยู่ในช่วงอายุประมาณ 9-12 ปี เป็นช่วงวัยที่เด็กต้องเตรียมความพร้อมหลายๆ ด้าน เพื่อก้าวสู่วัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยแห่งการเปลี่ยนแปลง สำหรับเด็กวัยนี้ควรได้รับการเตรียมตัวเพื่อให้มีพื้นฐานทางสุขภาวะทางเพศ โดยได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และพร้อมใช้ เพื่อจะได้เข้าสู่วัยรุ่นอย่างมีคุณภาพ โดย
      
       - พ่อแม่ต้องบอกลูกให้เข้าใจว่า การเปลี่ยนแปลงของร่างกายเมื่อเข้าวัยรุ่น เป็นเรื่องปกติ ไม่ควรนำมาล้อเลียนกัน เพราะจะทำให้เกิดการโกรธเคือง หรืออับอายในกลุ่มเพื่อนได้
      
       - เพศสัมพันธ์เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ เช่น เพศสัมพันธ์คืออะไร เพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกันเป็นอย่างไร และทำให้เกิดอะไรตามมาบ้าง ส่วนเพศสัมพันธ์ที่ป้องกันทำได้อย่างไรบ้าง ส่งผลอะไรตามมาได้บ้าง เป็นต้น
      
       - สอนลูกให้แยกแยะได้ว่า อวัยวะเพศไม่ได้เป็นตัวกำหนดความสามารถ และบุคลิกภาพ ซึ่งเด็กผู้หญิง และผู้ชายก็มีความคิดสร้างสรรค์ มั่นใจในตัวเอง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อ่อนโยน เป็นผู้นำ มีความละเอียดรอบคอบ กล้าหาญ มีจิตใจเข้มแข็ง ได้เหมือนๆ กัน รวมถึงแยกแยะได้ว่า อวัยวะเพศไม่ได้เป็นตัวกำหนดอารมณ์ ความรู้สึก
      
       - ให้ลูกชายมีส่วนร่วมในงานบ้าน เช่น ถูบ้าน ล้างจาน ซักผ้า เมื่อเป็นผู้ใหญ่ จะได้ไม่กลายเป็นภาระของผู้หญิงที่เป็นภรรยา หรือลูกสาว ส่วนเด็กผู้หญิงควรได้ฝึกให้ทำงานช่างแบบง่ายๆ เช่น เปลี่ยนหลอดไฟ ทำสวน ขุดดิน เพื่อให้พึ่งพาตัวเองได้ โดยที่ไม่ต้องรบกวนผู้ชายเช่นกัน
      
       - ให้ลูกได้ตัดสินใจอะไรด้วยตัวเอง และฝึกรับผิดชอบผลที่จะตามมา โดยพ่อแม่คอยแนะนำอยู่ห่างๆ ซึ่งทักษะนี้ต้องอาศัยเวลาในการฝึกฝน การที่พ่อแม่ใจร้อน และตัดสินใจแทนเด็กๆ ไปทุกเรื่อง ทำให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่รู้วิธีหาข้อมูล ไม่ได้ฝึกคาดการณ์ผลดี หรือผลเสียของทางเลือกแบบต่างๆ การตัดสินใจก็มักจะเป็นไปตามอารมณ์ชั่ววูบเท่านั้น
      
       - ฝึกให้ลูกยืนยันความคิดเห็น และความต้องการของตัวเอง เพาะเป็นทักษะพื้นฐานที่ต้องฝึกฝนสำหรับการใช้ชีวิตในอนาคต เช่น ช่วยให้ลูกกล้าตัดสินใจพาตัวเองออกจากความสัมพันธ์กับคู่รักที่ใช้ความรุนแรง หรือไม่เคารพในความเห็นของเขาเอง
      
       - อย่างไรก็ดี พ่อแม่ต้องยินดีพูดคุย ตอบคำถามเรื่องเพศกับลูก อย่างตรงไปตรงมา รวมทั้งเปิดใจกว้าง และตระหนักว่า สังคมมีคนหลากหลายทางเพศ มีทั้งผู้หญิง ผู้ชาย เกย์ สาวประเภทสอง หญิงรักหญิง และคนรักสองเพศ

 

       จากสังคมทุกวันนี้ เรื่องเพศเป็นเรื่องสำคัญที่เด็กต้องได้รับชุดข้อมูล และความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนั้น การสอนลูกให้มีสุขภาวะทางเพศอย่างถูกวิธีตั้งแต่เล็ก จะทำให้ลูกรับรู้ และเข้าใจว่า การเรียนรู้เรื่องเพศไม่ใช่สิ่งที่เป็นอันตราย หรือเป็นเรื่องสกปรก ลามก แต่เป็นการเรียนรู้เพื่อนำใช้ชีวิตในสังคม เป็นเรื่องของความสุข ความพึงพอใจ และความสัมพันธ์ที่ต้องเคารพสิทธิของตัวเอง และผู้อื่น รวมทั้งรู้ว่า เรื่องไหนควร หรือไม่ควร ซึ่งถือเป็นภูมิคุ้มกันให้กับตัวเด็ก และสังคมต่อไปในอนาคต

 
 
Life & Family / Manager online