ทฤษฎีทุนนิยมกับการศึกษาแบบอิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  8522

 

 

ภาวะวิกฤติของทฤษฎีทุนนิยมกับ การศึกษาแบบอิสลาม

 

          ท่ามกลางภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบัน มนุษย์กำลังเผชิญกับปัญหาต่างๆ มากมาย ที่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอาชญากรรม ปล้น ฆ่า ชิงทรัพย์ ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ปัญหาเด็ก เยาวชนและสตรี ปัญหายาเสพย์ติด ปัญหาครอบครัว ชุมชนแออัด และปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย

          ปัญหาต่างๆ นั้นเกิดขึ้นโดยฝีมือของมนุษย์เอง และมันก็กำลังย้อนกลับมาทำลายล้าง สร้างความเสื่อมเสียให้กับสังคมมนุษย์โดยส่วนรวม เช่นเดียวกันกับสังคมไทยในปัจจุบันที่กำลังประสบกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ส่งผลให้บริษัทหลายๆ บริษัท โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งต้องปิดหรือยุบรวมกิจการ มีคนตกงานมากขึ้น  ส่งผลให้คนไทยเกิดความเครียด เห็นแก่ตัวมากขึ้น ก่อให้เกิดการลักขโมย ปล้น ฆ่า ชิงทรัพย์ เกิดภาวะสังคมบีบบังคับ คนตกงานบางคนจำเป็นต้องปล้นเพียงเพื่อต้องการอาหารมายังชีพตนเองและครอบครัวเท่านั้น เกิดปัญหาครอบครัวแตกแยก ปัญหาเด็กเร่ร่อน ขาดการศึกษา กลายมาเป็นปัญหาสังคมตามมาในที่สุด

          ปัญหาต่างๆ เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นถ้าเราไม่ใช่แผนพัฒนาเศรฐกิจแบบทุนนิยมตามแบบตะวันตก ที่หัวใจของระบบนี้คือ ดอกเบี้ย และการเน้นพัฒนาทางด้านวัตถุ ซึ่งขณะนี้เรากำลังอยู่ในยุคทุนนิยมขั้นที่ 4 หรือยุคโลกาภิวัฒน์ มีนักวิชาการบางท่านได้ให้ความเห็นว่าระบบนี้กำลังใกล้จะถึงจุดสิ้นสุด และล่มสลาย เช่นเดียวกับการล่มสลายของระบบคอมมิวนิสต์ในรัสเซีย

          สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบอิสลาม ที่มีหลักการนำมาจากตัวบทอัลฮะดิษ และในคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งถือเป็นแนวทาง แบบฉบับที่สำคัญสำหรับมนุษย์ ซึ่งมนุษย์มิได้คิดหรือเติมแต่งขึ้นมาเอง แต่เป็นระบบแนวทางที่พระองค์อัลลอฮ  ผู้สร้างกำเนิดมนุษย์เป็นผู้บัญญัติขึ้น แน่นอนในอัลกุรอานได้บอกถึงวิถีทางการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในโลกนี้ไว้อย่างครบครัน ดังเช่นได้มีกล่าวในซูเราะฮ์อัลบะกอเราะฮ์ อายะฮ์ที่ 2 ซึ่งมีใจความว่า

"คัมภีร์นี้ไม่มีข้อสงสัย ในนี้มีสิ่งชี้นำแก่มวลผู้ยำเกรง "

 

         ที่สำคัญอิสลามได้ห้ามในเรื่องของดอกเบี้ยเช่นกัน ดังที่ได้มีกล่าวไว้ในซุเราะฮ์อัลบะกอเราะฮ์ อายะฮ์ที่ 275 ซึ่งมีใจความว่า

 "และอัลลอฮ์ทรงอนุมัติในเรื่องการค้าขาย แต่ทรงห้ามการดอกเบี้ย "

         เราจะพบว่าผลของดอกเบี้ยนั้นจะนำมาซึ่งการแบ่งแยกทางชนชั้น ก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน คนจนถูกกดขี่ มีหนี้สินมากขึ้น ขณะที่คนรวยเห็นแก่ตัว และให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้องของตนเป็นสำคัญ ทำให้เกิดปัญหาการขัดแย้งทะเลาะวิวาทกันตามมาในที่สุด แต่ระบบอิสลามมีเรื่องซากาตที่สามารถเข้ามาทดแทนดอกเบี้ยได้สมบูรณ์ที่สุด

 

         อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือ การเน้นพัฒนาทางด้าานจิตใจมากกว่าวัตถุ ให้ความสำคัญในเรื่องของการศึกษา สิ่งแรกที่เยาวชนมุสลิมต้องเรียนรู้ คือการเรียนรู้เพื่อให้เกิดการศรัทธา การรู้จักพระองค์อัลลอฮผู้ให้กำเนิดมนุษย์ การเรียนรู้ในสิ่งที่พระองค์ทรงใช้ และละทิ้งสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม การปฏิบัติอาม้าลอิบาดัตเพื่อแสดงถึงความจงรักภักดีของบ่าวที่มีต่อพระองค์ สิ่งนี้ถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่จะทำให้จิตใจบริสุทธิ์ และจะหล่อหลอมให้เยาวชนกลายเป็นมุสลิมที่สมบูรณ์ในอนาคต ดังเช่นได้มีกล่าวไว้ในซูเราะฮ์ฟาฏิร อายะฮ์ที่ 28 ซึ่งมีใจความว่า

" แท้จริงผู้ที่มีความยำเกรงต่ออัลลอฮ คือจากบ่าวของพระองค์ผู้ซึ่งมีความรู้ "

 

          การเรียนรู้จึงถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาชีวิต การเรียนรู้เพื่อให้เกิดการศรัทธาเป็นอันดับแรก ทำให้มนุษย์ไม่ลุ่มหลงอยู่กับวัตถุ การสะสมทรัพย์ ไม่ยึดติดกับโลกดุนยามากจนเกินไป ดังนั้นการเรียนรู้ด้านศาสนาจึงถือว่ามีความจำเป็นมากในสังคมปัจจุบัน ที่กำลังถูกครอบงำโดยวัฒนธรรมตะวันตก แต่มิใช่ว่าไม่สนับสนุนให้เรียนรู้ด้านสามัญ เพราะในสังคมมุสลิมปัจจุบันยังต้องการแพทย์โดยเฉพาะผู้หญิง เพื่อไว้รักษาผู้หญิงด้วยกันเอง นักวิศวกร นักบริหาร พยาบาล ตำรวจ อาจารย์ ครู ทนายความ ปลัดอำเภอ นายอำเภอ นักบัญชี นักเศรษฐศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่นักการเมือง  เราต้องยอมรับว่าทุกสายอาชีพล้วนแล้วแต่มีส่วนสำคัญในการร่วมกันพัฒนาสังคมมุสลิมทั้งสิ้น มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะร่วมมือ ร่วมใจกัน สามัคคีกันมากแค่ไหน ดังเช่นได้มีกล่าวในซูเราะฮ์อับหุญรอต อายะฮ์ที่ 10 ซึ่งมีใจความว่า

" แท้จริงมวลผู้ศรัทธาย่อมเป็นพี่น้องกัน ดังนั้นพวกเจ้าจงไกล่เกลี่ยในระหว่างพี่น้องสองฝ่ายของพวกเจ้า

และพวกเจ้าจงยำเกรงอัลลอฮเพื่อพวกเจ้าจะได้รับความเมตตาจากพระองค์ "

 

และได้มีกล่าวอีกเช่นกันในซูเราะฮ์อับมาอิดะฮ์ อายะฮ์ที่ 3 ซึ่งมีใจความว่า

" และพวกเจ้าจงช่วยเหลือกันในเรื่องคุณธรรมและความยำเกรง "

 

         และสำหรับแนวทางการศึกษาที่ดีที่สุดสำหรับเยาวชนมุสลิมในยุคปัจจุบัน คือการศึกษาควบคู่กันไปทั้งทางด้านศาสนาและสามัญ เพราะการศึกษาควบคู่กันไปจะทำให้เรามีความรู้กว้างขึ้น มีวิสัยทัศน์ในการมองปัญหา แก้ไขปัญหา ไม่ยึดติดอยู่ในแนวคิดเดียว และที่สำคัญมันจะเป็นการเพิ่มพูนให้เรามีอีหม่านเพิ่มขึ้น ดังเช่นนักศึกษาที่เรียนแพทย์ จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานของอวัยวะต่างๆ ที่ดูลึกลับซับซ้อน ยากแก่การเข้าใจ แต่พอได้อ่านศึกษาโองการอัลกุรอานที่เกี่ยวกับเรื่องแพทย์ ดังเช่นได้มีกล่าวในซูเราะฮ์อัลอะลัก อายะฮ์ที่ 2 ซึ่งมีใจความว่า

" พระองค์ทรงบันดาลมนุษย์มาจากก้อนเนื้อ (ที่วิวัฒนาการมาจากก้อนเลือด จากอสุจิ เป็นลำดับ) "

 

         ซึ่งจะทำให้เรามีการศรัทธาเพิ่มขึ้น นอกจากได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันแล้ว ส่วนนักศึกษาที่เรียนด้านรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ หรือนิติศาสตร์ จะได้ศึกษาเกี่ยวกับทฤษฎีการเมือง ปรัชญา ทฤษฎีเศรษฐกิจ การบริหารงาน หรือกฏหมาย ที่เป็นของนักวิชาการตะวันตก เพราะตำราหนังสือส่วนใหญ่ได้รับการแปลมาจากภาษาอังกฤษทั้งสิ้น เมื่อเรียนรู้มากขึ้น อาจจะถูกแนวคิดแบบตะวันตกเข้าครอบงำได้ ดังเช่นที่เคยมีนักศึกษาไทยที่เคยถูกลัทธิคอมิวนิสต์ครอบงำมาแล้วครั้งหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ถือว่าเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องเรียนรู้ศาสนาควบคู่กันไปด้วย

 

           นอกจากจะทำให้เราสามารถรักษาอิสลามให้มั่นคงอยู่ในตัวเราไว้ได้แล้ว เรายังจะได้เรียนรู้แนวคิดจากการเปรียบเทียบถึงข้อดี ข้อเสีย ผลของสภาการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ที่บริหารตามทฤษฎีตะวันตกกับรูปแบบของอิสลาม และจะทำให้เรามีอีหม่านเพิ่มขึ้น เมื่อได้นำมาประยุกต์ใช้กับทฤษฎีการเมือง เศรษฐกิจ การบริหารงานในรูปแบบอิสลาม การบริหารธนาคารอิสลาม การใช้กฎหมายอิสลามซึ่งมีแม่แบบมาจากคัมภีร์อัลกุรอาน รวมทั้งแบบฉบับอันดีงามที่ท่านศาสดามูฮัมมัด  ได้ทิ้งไว้ให้กับพวกเรา

 

          หลักการสำคัญของการเรียน คือ เราต้องตั้งใจเรียนเพื่อให้เกิดความรู้ที่จะนำมาสู่การมีศรัทธาเพิ่มขึ้น มิใช่ตั้งใจเรียนเพื่อให้มีงานทำ เพื่อผลประโยชน์ของตนเองหรือเพื่อให้มีฐานะ มีหน้ามีตาในสังคม เพราะเราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลกนี้ อย่างน้อยเราก็ยังมีพ่อ แม่ ญาติพี่น้อง คณาจารย์ เพื่อนฝูงที่เราต้องให้ความรัก คอยให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และที่สำคัญคือ เป้าหมายของการมีชีวิตอยู่ในโลกปัจจุบันเพียงเพื่อสะสมเสบียง เพื่อไปสู่อีกโลกหนึ่งที่มั่นคงและถาวรกว่า

 


ชมรมนักวิชาการปทุมธานี