อิสลามในสเปน
อิสลามเริ่มเยียบเข้าที่แผ่นดินสเปนเมื่อ ค . ศ .710 โดยการนำทัพของเฏาะรีฟ (Torif) ซึ่งก่อนหน้านั้นวิติสา (Witiza) กษัตริย์วีซิโกร (Visigoth) ได้เกิดข้อพิพาทอย่างรุนแรงกับรอดเดอริก (Rodrick) แต่ในที่สุดรอดเดอดริกก็สามารถกำชัยชนะ (Yahaya and Halimi, 1994 : 337) รอดเดอริกเป็นกษัตริย์ที่ละโมภ ลุ่มหลงในทรัพย์สมบัติและนารี
กล่าวกันว่าครั้งหนึ่งรอดเดอริกได้ลวนลามบุตรีของจูเลียน (Julian) ขุนนางผู้ครองเมืองซีตา (Cauta) ในขณะนั้น (Yahaya, 1990 : 5) จากพฤติกรรมของรอดเดอริกในครั้งนั้น ทำให้จูเลียนโกรธเคืองและเคียดแค้นเป็นอย่างมาก จนเป็นสาเหตุทำให้จูเลียนตัดสินใจเข้าพบมูซา อิบนุ นุศอยร (Musa Ibnu Nusayr) ซึ่งขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งเป็นผู้ครองอัฟริกาเหนือ จูเลียนพยายามที่จะผูกไมตรีกับมุสลิม และพยายามโน้มน้าวมูซาให้ยกทัพไปตีสเปน และได้บรรยายถึงความงดงามและความร่ำรวยของประเทศสเปน ความพยายามทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความประสงค์ของจูเลียน ที่จะให้ทหารมุสลิมยกทัพไปทำศึกสงครามกับกษัตริย์รอดเดอริกผู้ครองสเปนในขณะนั้น
ครั้งแรกมูซาลังเลใจที่จะส่งทหารไปยังสเปน เพราะเกรงจะเป็นกลอุบายของจูเลียน แต่เมื่อมูซาได้รับอนุญาตจากวะลีด อิบนุ อับดุลมาลิก (Walid Ibnu Abd al Malik) เคาะลีฟะฮแห่งดามัสกัส มูซาจึงส่งรี้พลจำนวน 500 นายไปยังสเปนโดยการนำของเฏาะรีฟ (Hitti, 1989 : 493 , Yahaya, 1990 : 5-6; Yahaya and Halimi, 1994 : 337)
ทหารหารเหล่านี้ได้ขึ้นบกที่ชายหาดทางตอนใต้ของสเปน บริเวณดังกล่าวต่อมาชาวอาหรับเรียกว่า เฏาะรีฟัน (Tarifan) ในภาษาอังกฤษเรียกว่า ตารีฟา (Tarifa) (Hitti, 1989 : 443 ; Yahaya, 1990 : 6) จากนั้นทหารมุสลิมได้เข้ายึดเมืองอัลเจซีรัส (Algeciras) จากการยกทัพไปยังสเปนในครั้งนี้ บรรดาทหารมุสลิมได้นำทรัพย์สินสงครามจำนวนมากมายกลับมายังกอยเราะวาน (Qairawan)
ต่อมาฏอริก อิบนุ สียาด (Tariq ibu Ziyad) พร้อมด้วยรี้พลจำนวน 7,000 นาย ได้เดินทัพไปยัง สเปนอีกครั้ง ฏอรีกท่านนี้เป็นแม่ทัพที่กล้าหาญชาญชัย ทหารมุสลิมได้ลงเรือและมุ่งหน้าไปยังสเปนโดยได้รับการสนับสนุนจากจูเลียน การยกตราทัพไปยังสเปนของทหารมุสลิมในครั้งนี้ได้ล่วงรู้ถึงกษัตริย์รอดเดอริก พระองค์จึงไม่รอช้า และทรงยกทัพมาสู้รบกับทหารมุสลิมอย่างห้าวหาญ
เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นทางตอนใต้ของสเปนที่ใกล้กับรีโอ บาร์เบต (Rio Babate) การสู้รบในครั้งนี้มุสลิมได้รับชัยชนะ ส่วนกษัตริย์รอดเดอริกได้สิ้นพระชนม์ในศึกครั้งนี้ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ค . ศ . 711 (Yahaya, 1990 : 6) หลังจากนั้นฏอริกก็มุ่งหน้าไปยังคอร์โดวา (Cordova) ในเดือนตุลาคม ค . ศ .711 คอร์โดวาและโทเลโด (Toledo) ก็ตกอยู่ในเงื้อมมือของทหารมุสลิม
ชัยชนะของฏอริกในครั้งนี้กลายเป็นแรงดลใจให้มูซา อิบนุ นุศอยรเดินทางไปยังสเปนและได้ยึดเมืองเซวิล (Seville) ต่อมามูซาและฏอริกได้พบกันที่ใกล้ ๆ เมืองทาราเวรา (Talavera) จากนั้นทหารมุสลิมก็เข้ายึดเมืองซารากอซซา (Saragossa) แอสตรูเรียส (Astrurias) ลียง (Leon) แอสโตร์กา (Astorga) อารากอน (Aragon) (Yahaya and Halimi, 1994 : 338)
จากชัยชนะครั้งแล้วครั้งเล่าของทหารมุสลิม ทำให้มุสลิมสามารถครอบครองดินแดนอันกว้างใหญ่ของสเปน อันเป็นเหตุทำให้อัล วะลีด (al Walid) เคาะลีฟะฮแห่งซีเรียเกิดความหวาดระแวงต่อชัยชนะเหนือดินแดนสเปนในครั้งนี้ ดังนั้น ท่านจึงบัญชาให้มูซาและฏอริกกลับมายังกรุงดามัสกัสแห่งซีเรีย มูซาตอบรับคำบัญชาและกลับไปยังดามัสกัส แต่เป็นที่น่าสลดใจเป็นอย่างยิ่งที่ต่อมามูซา อิบนุ นุศอยร ถูกเคาะลีฟะฮ์ ซุไลมาน (Kalifah Sulaiman) ผู้เป็นเคาะลีฟะฮคนใหม่ทรมาน ในที่สุดมูซาได้เสียชีวิต ต่อมาบุตรของ มูซาได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ครองอัฟริกาเหนือแทนบิดาของตน
อับดุลอะสีส (Abd al Aziz) บุตรของมูซาท่านนี้ได้ยาตราทัพไปยังสเปนอีกครั้ง และในปี ค . ศ . 715 ท่านก็สามารถยึดเมืองปัมโปลนา (Pamplona) จีโรนา (Geronal) นาร์บอนน์ (Narbonne) มาลากา (Malaga) เอลวีรา (Elvira) ในปีคริสตศักราชที่ 716 อับดุลอะสิสถูกลอบสังหาร การครอบครองดินแดนของสเปนในสมัยอุมัยยะฮก็เป็นอันสิ้นสุดลง (Yahaya and Halimi, 1994 : 338, Yahaya, 1990 : 7-8) ดินแดนที่ถูกมุสลิมยึดครองในสมัยนี้เป็นที่รู้จักในนาม อันดาลุซ (Andalus)
Islamic information center of psu Fathoni