ความเจริญรุ่งเรืองแห่งปราชญ์มุสลิม
  จำนวนคนเข้าชม  17184

ความเจริญรุ่งเรืองแห่งปราชญ์มุสลิม 


         การเปิดประตูรับวิชาการแขนงต่าง ๆ จากโลกภายนอก ทั้งจากซีกโลกตะวันตกและซีกโลกตะวันออก ทำให้สมัยอับบาซียะฮ์ ได้รับการยกย่องให้เป็นยุคทองทางศิลปวิทยาการ และเป็นสมัยที่ให้กำเนิดบรรดานักคิด นักปรัชญาและนักสังคมศาสตร์มุสลิมจำนวนมาก


สาขาวิชาปรัชญา

          ในสมัยอับบาซียะฮสาขาวิชาปรัชญารุ่งเรืองมาก ในสมัยนี้ได้ถือกำเนิดนักปรัชญาของโลกมุสลิมคือ

อัล กินดี (al Kindi) ท่านผู้นี้ถือเป็นนักปรัชญามุสลิมท่านแรกในสมัยราชวงศ์อับบาซียะฮและได้รับการขนานนามว่า “ นักปรัชญาอาหรับ ” อัล กินดีเป็นผู้ที่มีความรู้ในหลายสาขาวิชา เช่น ตรรกวิทยา วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ เป็นต้น ( หะซัน , 1979 : 381)

อัล ฟารอบี (al Farabi) เป็นนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงมากในสมัยราชวงศ์อับบาซียะฮ และได้รับสมญานามว่า “ ครูคนที่สอง ” ซึ่งครูคนแรกคืออริสโตเติล อิบนุ ซีนา (Ibnu Sina) ก็เป็นนักปรัชญาอีกท่านหนึ่งที่มีชื่อเสียงมากในราชวงศ์นี้ อิบนุ ซีนานั้นมีความรู้ในหลายสาขาวิชา เช่น วิชาฟิสิกส์ วิชาการแพทย์ วิชาภาษาศาสตร์ และวรรรกรรม เป็นต้น รายละเอียดเกี่ยวกับนักปรัชญาทั้งสามท่านข้างต้นดูในหัวข้อ “ แนวคิดทางความรู้และการศึกษาในสมัยอับบาซียะฮ ”

 
สาขาวิชาประวัติศาสตร์

อิบนุ กุฎอยบะฮ (Ibnu Qutaybah) ค . ศ . 889 ( ส .) เป็นผู้หนึ่งในบรรดานักประวัติศาสตร์คนแรก ๆ ของอิสลาม ชื่อจริงของท่านคือ มุฮัมหมัด อิบนุ มุสลิม อัล - ดีนาวะรี (Muhammad Ibnu Muslim al Dinawari) ท่านเสียชีวิตที่แบกแดดในปี ค . ศ . 889 นักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยกับอิบนุ กุฎอยบะฮอีกท่านหนึ่งคือ

อบู หะนีฟะฮ อะหมัด อิบนุ ดาวูด อัล - ดีนาวะรี (Abu Hanifah Ahmad Ibnu Dawud al Dinawari) ค . ศ . 895 ( ส .) ท่านทั้งสองนี้มีเชื้อสายอีหร่านและเป็นผู้ที่มีความรู้ในหลายสาขาวิชา นอกจากสาขาวิชาประวัติศาสตร์ที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น ท่านทั้งสองยังมีความรู้ในสาขาวิชาภาษาศาสตร์และวรรณกรรม

อัล - เฏาะบะรี (al Tabari) ฮ . ศ . /838 – 923 ชื่อจริงของท่าน คือ อบู ญะอฟัร มุฮัมหมัด อิบนุ ญะรีร อัล - เฏาะบะรี (Abu Ja'far Muhammad Ibnu Jarir al Tabari) ท่านเกิดที่เฏาะบะริสถาน (Tabaristan) ในทางตอนเหนือของอิหร่าน อัล - เฏาะบะรีเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงมากในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ ผลงานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นอมตะของท่านคือ ตาริค อัล - เราะซูล วะ อัล มุลุก (Tarikh al Rasul wa al Muluk) ตำราทางประวัติศาสตร์ของท่านเล่มนี้ได้กลายเป็นหนังสืออ้างอิง และแหล่งค้นคว้าของบรรดานักประวัติศาสตร์ในสมัยต่อมา เช่น มิซกะวายฮ (Mis kawayh) อิบนุ อัล อะษีร (Ibnu Athir) อบู อัล ฟิดา (Abu al Fida) เป็นต้น นอกจากนั้นตำราดังกล่าวก็ยังถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษและใช้เป็นตำราระดับมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา

อัล มัซอูดี (al Mas udi) เป็นนักประวัติศาสตร์มุสลิมอีกท่านหนึ่งที่มีชื่อเสียงมาก ชื่อจริงของท่านคือ อบู อัล หะซัน อะลี อัล มัซอูดี (Abu al Hasan Ali al Mas udi) พี เค ฮิติต (Hitti , 1989 : 391) ได้เขียนในหนังสือ The History of the Arabs ว่า อัล มัซอูดีได้ใช้เทคนิคในการเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ โดยแบ่งเป็นสมัยราชวงศ์ต่าง ๆ แทนที่จะเรียบเรียงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เป็นปี ๆ เทคนิคของมัซอูดีต่อมาได้รับการปฏิบัติโดยอิบนุ คอลดูน นักสังคมศาสตร์ที่มีชื่อเสียงในปลายรัชสมัยราชวงศ์อับบาซียะฮ และอิบนุ คอลดูนเองก็ถือเป็นนักประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งในสมัยนี้ ผลงานที่มีชื่อเสียงของมัซอูดีคือ มุรูจญ อัล - ษะฮับ วะ มะอาดิน อัล- เญาฮัร (Muruj al Dhahab wa Ma adin al Jawhar) ตำราเล่มนี้เป็นสารานุกรมที่เกี่ยวกับประวัติภูมิศาสตร์


สาขาวิชาวรรณกรรมอาหรับและเปอร์เซีย

อบู อัล ฟะรอจญ อัล อิศฟะฮานี (Abu al Faraj al Isfahani) ราวๆปี ค . ศ . 897-967 ท่านมีเชื้อสายมาจากท่านมัรวาน เคาะลีฟะฮคนสุดท้ายแห่งราชวงศ์อุมัยยะฮ อัล อิศฟะฮานีถือเป็นนักประวัติภาษาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่ง ตำราของท่านได้แก่ กิตาบ อัล อะฆอนี (Kitba al Aghani) ตำราเล่มนี้ถือเป็นผลงานทางวรรณกรรมและภาษาศาสตร์ที่แท้จริง

อบู นุวาซ (Abu Nuwas) ราวๆปี ค . ศ . 810 ท่านผู้นี้เป็นนักวรรณกรรมที่มีชื่อเสียงมากในสมัยเคาะลีฟะฮฮารูน อัล - เราะชีด ชื่อของอบู นุวาซได้ติดปากชาวอาหรับทุกคน ในฐานะที่เป็นตัวแทนของคนโง่ที่แหลมคมคล้ายกับศรีธนญชัยของไทย ชื่อจริงของท่านคือ หะซัน อิบนุ ฮานี (Hasan Ibnu Hani) ท่านอบู นุวาซมีเชื้อสายผสมเปอร์เซีย ผลงานของท่านคือ เฆาะสัล (Gazal) เฆาะสัลนี้เป็นงานร้อยกรองสั้น ๆ ที่เกี่ยวกับความรัก

อบู ตัมมาม (Abu Tammam) ราวๆปี ค . ศ . 845 ท่านเป็นกวีหลวงที่มีชื่อเสียงมากในกรุงแบกแดด งานเขียนที่มีชื่อเสียงของท่านคือ ดีวาน (Diwan) งานเขียนดีวานนี้เป็นงานร้อยกรองปลุกศรัทธา และงานร้อยกรองปลุกศรัทธานี้ได้กลายเป็นแบบอย่างที่บรรดานักกวีได้เลียนแบบในเวลาต่อมา กวีที่มีชื่อเสียงอีกท่านหนึ่งในสมัยนี้คือ อัล บุหตุรี (al Buhturi) ค . ศ . 820-897 อัล บุหตุรีได้เขียนงานร้อยกรองเหมือนกับอบู ตัมมาม แต่ชื่อเสียงของท่านถือเป็นรองอบู ตัมมาม

ฟิรเดาซี (Firdawsi) ฮ . ศ .328-411/940-1020 มีชื่อจริงว่า อบู อัล กอซิม มันซูร (Abu al Qasim Munsur) เกิดที่เมืองตุซ ท่านถูกขนานนามว่า “ ฟิรเดาซี ” โดยสุลต่านมะหมูดแห่งฆอซนะ (Ghasnah) (Firasah-Fitrah, The Concise Encyclophedia of Islam, 1989 : 127) นอกจากฟิรเดาซีจะเป็นนักกวีแล้ว ท่านเป็นผู้รวบรวมประวัติของชนชาวเปอร์เซีย โดยได้รวบรวมประวัติของชาวเปอร์เซียตั้งแต่ยุคมืดจนถึงสมัยที่เปอร์เซียตกอยู่ภายใต้เงื้อมมือของชาวอาหรับ


สาขาวิชาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์

         ผู้ที่มีชื่อเสียงในสาขาวิชานี้คือ อัล บีรูนี (al Biruni) ชื่อจริงของท่านคือ อบู อัล รอยฮาน มุฮัมหมัด อิบนุ อะหมัด อัล บีรูนี (Abu Rayhan Muhammad Ibnu Ahmad al Biruni) ค . ษศ .973-1050 อัล บีรูนีเป็นนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ (Hitti, 1989 – 376) นอกจากนั้นท่านยังมีความรู้ในหลายสาขาวิชา เช่น สาขาวิชาดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ เลขคณิต เรขาคณิต เป็นต้น ผลงานชิ้นแรกของอัล บีรูนี คือ อัล อาษาร อัล บากิยะฮ อัน อัล กุรูน อัล คอลิยะฮ (al Athar al Baqiyah an al Qurun al Khaliyah) ผลงานชิ้นนี้เป็นตารางยุคสมัยของชนชาติดึกดำบรรษ์ ผลงานทางดาราศาสตร์ของอัล บีรูนี คือ อัล กอนูน อัล มัซอูดี ฟี อัล ฮัยอะฮ วะ อัล – นุญูม (al Qanun al Mas udi fi al Hayah wa al Nujum) ผลงานอีกชิ้นหนึ่งของท่านคือ อัล ตัฟฮีม ลิ อะวาอิล ศินาอัต อัล - ตันญีม (al Tafhim li Awail Sina at al Tanjim) ผลงานชิ้นนี้เป็นการรวบรวมเนื้อหาเกี่ยวกับวิชาเรขาคณิต เลขคณิต ดาราศาสตร์ และโหราศาสตร์ (Hitti, 1989 : 377)


สาขาไวยกรณ์อาหรับ

           สาขาวิชานี้เริ่มขึ้นที่เมืองกูฟะฮและบัศเราะฮในช่วงฮิจเราะฮศตวรรษที่ 1 สาขาวิชาดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองทั้งสองใช้ภาษาเปอร์เซีย ซึ่งมีผลต่อการใช้ภาษาอาหรับ มีนักปราชญ์จำนวนมากที่กังวลว่าภาษาอาหรับ ซึ่งเป็นภาษาอัลกุรอานจะวิบัติ หากไม่มีการสงวนอย่างจริงจัง วิธีการหนึ่งที่จะรักษาภาษาอาหรับที่บริสุทธิ์นั้น คือการศึกษาหลักไวยากรณ์อาหรับอย่างจริงจัง

ในประวัติศาสตร์อิสลาม ชื่อของ อะบู อัล อัสวัด อัล -Duali ถูกกล่าวขานในฐานะอยู่ที่วางรากฐานวิชาไวยากรณ์อาหรับ สิ่งนี้เกิดขึ้นในสมัยอุมัยยะฮ กล่าวกันว่าอบู อัล อัสวัดได้ศึกษาวิชาไวยากรณ์อาหรับจากท่านอะลี บิน อบู ฏอลิบ หลังจากนั้นไม่กี่ปีก็ถือกำเนิดมัษฮับไวยากรณ์อาหรับสองสำนัก (Hj.Muhamad, 1979 : 190) นั้นคือ สำนักกูฟะฮ และสำนักบัศเราะฮ ผู้นำที่มีชื่อเสียงในสาขาวิชานี้ได้แก่ อัล เคาะลีล อบู อัมร บิน อัล อะอละอ สิบะวัยฮ อัล อัคฟะสี อัล กิสาอี และอัล ฟัรรอ (al farra') (Hj.Muhamad, 1979 : 190)

 
สาขาวิชาคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์

          ในบรรดานักคณิตศาสตร์ทางดาราศาสตร์ อัล เคาะวาริสมี (al Khawarizmi) ถือเป็นคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงมากในสาขาวิชานี้ ชื่อจริงของท่านคือ มุฮัมหมัด อิบนุ มูซา (Muhammad Ibnu Musa) ราวๆปี ค . ศ . 780-850 อัล เคาะวาริสมีเป็นผู้ที่มีความรู้ในสาขาวิชาดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์ ท่านได้เขียนตำราทางดาราศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุด และได้เขียนตำราชื่อ กิตาบ ซูรอต อัล อัรฎ (Kitab Surat al Ard) ตำราเล่มนี้เป็นตำราที่อธิบายแผนที่เล่มแรกในคริศตวรรษที่ 9 นอกจากนั้นท่านก็เป็นผู้ที่เขียนตำราในสาขาวิชาคณิตศาสตร์และพีชคณิตที่ ชื่อหิ ซาบ อัล ญับร วะ อัล มุกอบะละฮ (Hisab al Jabr wa al Muqabalah) ตำราเล่มนี้ถูกแปลเป็นภาษาลาตินในศตวรรษที่ 12 และถูกใช้มาถึงศตวรรษที่ 16 ตำราดังกล่าวนั้นเป็นตำราทางวิชาคณิตศาสตร์และพีชคณิตที่มีความสมบูรณ์ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นตำราแบบเรียนในมหาวิทยาลัยของยุโรป (Hitti, 1989 : 379)

อุมัร อัล คอยยาม (Umar al Khayyam) ท่านเกิดที่นิซาปูร (Nisapur) ราว ๆ ค . ศ . 1038 – 1048 และเสียชีวิตราวปี ค . ศ . 1123 – 24 อุมัร อัล คอยยามมักจะเป็นที่รู้จักในนามนักกวีชาวเปอร์เซีย แต่ความจริงท่านยังเป็นนักคณิตศาสตร์ที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง อุมัร อัล คอยยามได้เขียนตารางปฏิทินชื่อว่า อัล - ตาริค อัล ญะลาลี (al Tarikh al Jalali) ซึ่งเป็นตารางปฏิทินที่มีความถูกต้องและแม่นยำกว่าตารางของกรีจอเรียน พี เค ฮิตติ (Hitti, 1989 : 377) ได้กล่าวในหนังสือ The History of The Arabs ว่าตารางของกรีจอเรี่ยน (Gregorian) จะคลาดเคลื่อน 1 วันใน 3330 ปี ในขณะที่ตารางของอัล คอยยามจะคลาดเคลื่อน 1 วันใน 5000 ปี

อัล บัตตานี (Al Battani) ค . ศ . 877-918 มีชื่อจริงว่า อับดุลลอฮ มุฮัมหมัด อิบนุ ญาบีร อัล บัตตานี (Abd Allah Muhammad Ibnu Jabir al Battani) ในตะวันตกท่านเป็นที่รู้จักในนาม Albategnius อัล บัตตานีถือเป็นนักดาราศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของอิสลาม นอกจากอัล บัตตานีแล้วยังมีนักดาราศาสตร์ที่มีชื่อเสียงอื่น ๆ อีกมาก เช่น ซินด อิบนุ อะลี (Sind Ibnu Ali) ยะหยา อิบนุ อบี มันซศูร (Yahya Ibnu Abi Mansur)

อัล อับบาซ อัล ฟัรฆอนี (al Abbas al Farghani) ก็เป็นนักดาราศาสตร์ที่มีชื่อเสียงอีกท่านหนึ่ง ในซีกโลกตะวันตกท่านเป็นที่รู้จักในนาม “Alfraganus” ชื่อจริงของท่านคือ อบู อัล อับบาซ อะหมัด อัล ฟัรฆอนี (Abu al Abbas Ahmad al Farghani) ผลงานทางดาราศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของท่านก็คือ อัล มุดคิล อิลา อิลม หะยาต อัล อัฟลาก (al Mudkhil ila ilm Hayat al Aflak) (Hitti, 1989 : 76-76)


สาขาวิชาการแพทย์

         ผู้ที่เขียนตำราทางการแพทย์ที่มีชื่อเสียงในสมัยราชวงศ์อับบาซียะฮคือ อะลี อัล - เฏาะบะรี (Ali al Tabari) อัล - รอสี , (al Razi) อัล มะญูซี (al Majusi) และอิบนุ ซีนา (Ibnu Sina)

อะลี อัล - เฏาะบะรี กลางคริสตวรรษที่ 9 ท่านมีชื่อจริงว่า อะลี อิบนุ ซัฮล รอบบัน อัล - เฏาะบะรี (Ali Ibnu Sahi Rabban al Tabari) อะลี อัล - เฏาะบะรีเดิมนับถือศาสนาคริสต์ ต่อมาในสมัยของอัล มุตะวักกิล (al Mutawakkil) ท่านเข้ารับอิสลาม และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแพทย์ประจำตัวเคาะลีฟะฮอัลมุตะวักกิล

อัล - รอสี (al Razi) ฮ . ศ .311/865-925 ชื่อจริงของท่านคือ อบู บักร มุฮัมหมัด อิบนุ สะกะรียา อัล - รอสี (Abu Bakr Muhammad Ibnu Zakariya al Razi) ชาวตะวันตกรู้จักท่านในนาม “Rhazes” รายละเอียดเกี่ยวกับอัล - รอสีให้ดูในหัวข้อ “ แนวคิดทางความรู้และการศึกษาในสมัยอับบาซียะฮ ”

อัล มะญูซี (al Majusi) ฮ . ศ . 384/994 ชื่อจริงของท่านคือ อะลี อิบนุ อับบาซ (Ali Ibnu al Abbas) ชาวตะวันตกรู้จักท่านในนาม “Haly Abbas” อะลี อัล อับบาซเดิมนับถือศาสนามะญซี ( โซโรแอสเตอร์ ) ด้วยเหตุนี้ท่านจึงถูกเรียกว่า “ อัล มะญูซี ” ตำราเกี่ยวกับเวชกรรมศาสตร์ที่ทำให้ท่านมีชื่อเสียงก็คือ อัล กิตาบ อัล มะลิกิ .(Al Kitab al Maliki) ตำราเล่มนี้บางครั้งก็จะเรียกว่า กามิล อัล - ศินาอะฮ (Kamil al Sina ah) ( หะซัน 1979 : 390)

อิบนุ ซีนา (Ibnu Sina) ฮ . ศ . 370-428/980-1037 ชื่อจริงของท่านคือ อบู อะลี อัล หุซายน อิบนุ อับดุลลอฮ อิบนุ ซีนา (Abu Ali al Husayn Ibnu Abd Allah Inbu Sina) ตำราที่มีชื่อเสียงของท่านคือ อัล กอนูน (al Qanun หรือ the Canon of Madecine)

 

         นอกจากสาขาวิชาต่าง ๆ ที่ได้กล่าวข้างต้น ยังมีวิชาการสาขาอื่น ๆ อีกมากที่เจริญรุ่งเรืองในสมัยอับบาซียะฮ์  เช่น วิชาภาษาศาสตร์ จริยศาสตร์ ศูฟี อิลมุกะลาม เป็นต้น

 

 

Islamic information center of psu Fathoni