กำเนิดนักปราชญ์สมัยอับบาซียะฮ์
  จำนวนคนเข้าชม  7128

กำเนิดนักปราชญ์สมัยอับบาซียะฮ์

 

สาขาวิชาศาสนา

          วิชาการศาสนาในสมัยนี้มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสาขาวิชาฟิกฮและหะดีษ นอกจากนั้นมีวิชาตัฟซีร ผู้ที่มีชื่อเสียงในสาขาวิชาตัฟซีรในสมัยนี้ คือ อัล - เฏาะบะรี (al Tabari) ผู้เขียนตำราตัฟซีรชื่อ ญามิอ อัล บายาน ฟี ตัฟซีร อัล กุรอาน (Jami al Bayan fi Tafsir al Quran)

 

สาขาวิชาฟิกฮ

         สมัยนี้ได้กำเนิดอีมานของมัษฮับทั้งสี่คือ อบู หะนีฟะฮ มาลิก ซาฟิอี และหันบะลี อบู หะนีฟะฮ อัล นุอมาน อิบนุ ษาบิต (Abu Hanifah al Nu' man Ibn Thabit) ฮ . ศ . 81-150/700-767

         อบู หะนีฟะฮ อัล นุอมาน อิบนุ ษาบิต (Abu Hanifah al Nu' man Ibn Thabit) ท่านผู้นี้เป็นที่รู้จักในนามอิมามหะนะฟี อบู หะนีฟะฮถือกำเนิดในปลายรัชสมัยราชวงศ์อุมัยยะฮ ท่านเกิดที่เมืองกูฟะฮในประเทศอีรัก ท่านมีเชื้อสายเปอร์เซีย อบู หะนีฟะฮได้ศึกษาวิชาศาสนากับญะอฟัร อัล - ศอดิก (Ja'far al Sadik) อบู หะนีฟะฮเป็นผู้ที่ปราดเปรื่องและเคร่งในศาสนา ด้วยเหตุนี้เองท่านจึงถูกทาบทามให้ดำรงตำแหน่งเป็นกอฎีหลวง แต่ท่านกลับปฏิเสธ อบู หะนีฟะฮ คือ ผู้นำของมัษฮับหะนะฟีที่มีผู้คนนับถือเป็นจำนวนมาก ท่านได้เสียชีวิตที่แบกแดดเมื่อ ฮ . ศ . 150/ ค . ศ . 767

          มาลิก อิบนุ อะนัซ (Malik Ibnu Anas) มีชีวิตอยู่ราวๆปี ฮ . ศ . 94-179/716-795 ท่านเป็นที่รู้จักในนามอิมามมาลิก ท่านอิมามมาลิกเกิดและเสียชีวิตที่มะดีนะฮ ท่านผู้นี้เคยรู้จักกับอบู หะนีฟะฮเมื่อครั้งที่อบู หะนีฟะฮไปศึกษาเล่าเรียนกับอีมามญะอฟัร อัล - ศอดิก เพราะอิมามมาลิกเองก็เคยเรียนอยู่กับอิมามญะอฟัร ผลงานที่ทำให้ท่านมีชื่อเสียง คือ มุวัฏเฏาะอ (Muwatta') ซึ่งเป็นตำราที่รวบรวมหะดีษต่าง ๆ ที่ว่าด้วยเรื่องฟิกฮ และถือได้ว่าตำราเล่มนี้เป็นตำราหะดีษเล่มแรกในสมัยนั้น (Malik Ibn Anas, Abu Abd Allah-al Ma'mun, The Concise Encychopaedia of Islam , 1989 : 250)

         มุฮัมหมัด อิบนุ อิดรีซ อัล - ชาฟิอี (Muhammad Ibn Idris al Shafi I) ฮ . ศ . 150 – 205/767-820 ท่านนี้เป็นที่รู้จักในนามอิมามชาฟิอี ท่านมีเชื้อสายกุรอยชแต่เกิดที่ปาเลสไตน์ และเติบโตที่มักกะฮ อิมามชาฟิอีเป็นศิษย์ของอิมามมาลิกแห่งมะดีนะฮ ตำราที่มีชื่อเสียงของท่านได้แก่ ตำราอัล อุมม (al Umm) อิมามชาฟิอีเป็นผู้หนึ่งที่มีความรู้กว้างขวาง นอกจากท่านจะมีความรู้เกี่ยวกับฟิกฮแล้ว ท่านยังมีความรู้เกี่ยวกับภาษาอาหรับและกวีนิพนธ์ ท่านเสียชีวิตที่อิยิปต์เมื่อปี ฮ . ศ . 205/ ค . ศ . 820

         อะหมัด อิบนุ หันบัล (Ahmad Ibn Hanbal) ฮ . ศ . 164-241/780-855 เป็นที่รู้จักในนามอิมาม หันบะลี ( อ่านว่า หัมบะลี ) ท่านเป็นลูกศิษย์ของอิมามชาฟิอี และเป็นอิมามที่ต่อต้านแนวคิดของกลุ่มมุอตะสิละฮที่แบกแดด ในสมัยของท่านแนวคิดมุอตะสิละฮได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง แม้กระทั่งผู้ครองเมือง เช่น เคาะลีฟะฮมะอมูน ก็เป็นผู้หนึ่งที่ยึดถือแนวคิดมุอตะสิละฮ อิมามหันบะลีมีแนวคิดที่ต่อต้านกลุ่มดังกล่าว โดยเฉพาะแนวคิดเกี่ยวกับอัลกุรอานที่หันบะลีถือเป็นกะลามุลลอฮ (Kalam Allah) และถือเป็นกอดิม (Qadim) กลุ่มมุอตะสิละฮกล่าวว่ากุรอานนั้นเป็นหะดีษ ( ใหม่ ) จากการต่อต้านในครั้งนี้ทำให้อิมามหันบะลีถูกจำคุก และถูกทรมานโดยผู้ครองเมืองในสมัยนั้น ผลงานที่มีชื่อเสียงของอะหมัด อิบนุ หันบัลคือ มุซนัด (Musnad) ตำราที่รวบรวมหะดีษเป็นจำนวนมาก


สาขาวิชาหะดีษ

          สมัยนี้ได้เกิดอิมามทั้งหก คือ อัล บุคอรี (al Bukhari) มุสลิม (Muslim) อบู ดาวูด (Abu Daud) ติรมีษี (Tirmidhi) อิบนุ มาญะฮ (Ibnu Majah) และนะซาอี (Nasai)

          อัล บุคอรี มีชื่อจริงว่า มุฮัมหมัด อิบนุ อิสมาอีล อัล บุคอรี (Muhammad Ibu Ismail al Bukhari) ฮ . ศ . 256/870 ( ส .7) อัล บุคอรีเป็นชาวเปอร์เซีย ฟิลป เค ฮิตติ (Hitti, 1989 : 395) ได้เขียนในหนังสือ The History of the Arabs ว่า อัล บุคอรีได้รวบรวมหะดีษจากผู้รู้หนึ่งพันคนและพยายามคัดเลือกหะดีษจากจำนวนหกแสนฮาดีษ และใช้เวลาสิบหกปี โดยการเดินทางไปยังเมืองต่าง ๆ เช่น เปอร์เซีย อีรัก ซีเรีย ฮิญาซ และอียิปต์ ผลงานที่มีชื่อเสียงของท่านคือ เศาะเหี้ยห อัล บุคอรี (Sahih al Bukhari) สถานภาพของหะดีษต่าง ๆ ที่อัล บุคอรี ได้รวบรวมนั้นมีสถานภาพที่สูงกว่าบรรดาหะดีษที่รวบรวมโดยนักรวบรวมหะดีษท่านอื่น ๆ ทั้งหมด

          มุสลิม มีชื่อจริงว่า อบู อัล หุซัยน มุสลิม อิบนุ อัล หัจญญาจญ (Abu Hasayn Muslim Ibnu al Hajjaj) ฮ . ศ . 261/875 ( ส ) หะดีษต่าง ๆ ที่มุสลิมได้รวบรวมนั้นจะมีความคล้ายคลึงกับบรรดาหะดีษของบุคอรี ยิ่งไปกว่านั้นตำราหะดีษของมุสลิมจะถูกเรียกว่าเศาะเหี้ยหมุสลิม ซึ่งใช้คำว่า “ เศาะเหี้ยห ” เช่นเดียวกับเศาะเหี้ยห อัล บุคอรี สถานภาพของหะดีษต่าง ๆ ที่มุสลิมรวบรวมนั้นจะมีสถานภาพรองจากหะดีษเศาะเหี้ยหของอัล บุคอรี

         อบู ดาวูด (Abu Dawud) ฮ . ศ .261/875 ( ส .) หนังสือเกี่ยวกับหะดีษของท่านคือ ซุนัน อบู ดาวูด (Sunan Abu Dawud) อัล ตีรมีษี (al Tirmidhi) ค . ศ . 279/892 ( ส .) ตำราหะดีษของท่านคือ ซุนัน อัล - ติรมีษี (Sunan al Tirmidhi) อิบนุ มาญะฮ (Ibnu Majah) ฮ . ศ .273/886 ( ส .) ตำราหะดีษของท่านคือ ซุนัน อิบนุ มาญะฮ (Sunan Ibnu Majah) และท่านสุดท้ายคือ อัล - นะซาอี (al Nasai) ตำราหะดีษของท่าน คือ ซุนัน อัล - นะซาอี (Sunan al Nasai)

 


Islamic information center of psu Fathoni