ถือศีลอดในประเทศที่ช่วงกลางวันหรือกลางคืนสั้นหรือยาวกว่าปกติ
  จำนวนคนเข้าชม  8370

การถือศีลอดในประเทศที่มีช่วงเวลาในตอนกลางวันหรือกลางคืนที่สั้นหรือยาวกว่าปกติ

 

คำถาม


          ในบางส่วนของกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียที่มีช่วงเวลาในตอนกลางวันที่ยาวนานกว่าเวลาในตอนกลางคืน  โดยขึ้นอยู่กับช่วงฤดูกาลในแต่ละปี  บางปีนั้นเวลาในตอนกลางคืนจะมีเพียงสามชั่วโมง  แต่เวลาในตอนกลางวันจะยาวนานถึงยี่สิบเอ็ดชั่วโมง 

         และถ้าเดือนรอมาฎอนได้มาถึงในฤดูหนาว  ชาวมุสลิมจะทำการถือศีลอดเพียงสามชั่วโมง  แต่ขณะเดียวกันถ้าเดือนรอมาฎอนได้มาถึงในฤดูร้อน  พวกเขาจำเป็นจะต้องทำการถือศีลอดด้วยหรือไม่  เนื่องจากเวลาในตอนกลางวันนั้นยาวนานมาก  ซึ่งพวกเขาคงไม่มีความสามารถที่จะทำการถือศีลอดได้   แต่ถ้าหากว่า  พวกเรามีความจำเป็นต้องทำการถือศีลอดในเวลาดังกล่าวด้วยแล้ว  พวกเราจะเริ่มทานอาหารซูโฮรและทำการละศีลอด (อิฟตัร)  ในเวลาใด  และเราจะนับจำนวนวันในการ  ถือศีลอดในเดือนรอมาฎอนนี้กี่วัน

 


บรรดาการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิ์ของพระองค์อัลลอฮ์


คำตอบ


          อิสลามนั้นเป็นศาสนาที่สมบูรณ์และครบถ้วนแล้ว  ดังพระวจนะของพระองค์อัลลอฮ์  ในบรรดาอายาตต่าง ๆ ที่ว่า

“วันนี้ข้าได้ให้สมบูรณ์แก่พวกเจ้าแล้วซึ่งศาสนาของพวกเจ้า

และข้าได้ให้ครบถ้วนแก่พวกเจ้าแล้วซึ่งอิสลามซึ่งเป็นศาสนาของพวกเจ้า”

(ซูเราะฮ al-Maa’idah 5:3)

“จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ว่าสิ่งใดใหญ่ยิ่งกว่าในการเป็นพยาน  จงกล่าวเถิดว่าอัลลอฮ์  นั้น

คือผู้เป็นพยานระหว่างฉันกับพวกท่าน  และอัลกุรอานนี้ก็ได้ถูกประทานลงมาแก่ฉันเพื่อที่ฉันจะได้ใช้

อัลกุรอานนี้  ตักเตือนพวกท่านและผู้ที่อัลกุรอ่านนี้ไปถึง ” 

(ซูเราะฮ al-An’aam 6:19)

“และเรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใด เว้นแต่เป็นผู้แจ้งข่าวดีและเป็นผู้ตักเตือนแก่มนุษย์ทั้งหลาย 

แต่ว่าส่วนมากของมนุษย์นั้นไม่รู้” 

(ซูเราะฮ Saba’ 34:28)

          พระองค์อัลลอฮ์   ได้ตรัสแก่บรรดาผู้ศรัทธาว่าการถือศีลอดได้ถูกกำหนดแก่พวกเจ้าแล้ว        ดังพระวจนะของพระองค์อัลลอฮ์   ในซูเราะฮ al-Baqarah ความว่า

“บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย  การถือศีลอดนั้นได้ถูกกำหนดแก่พวกเจ้าแล้ว 

เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้มาก่อนหน้าพวกเจ้ามาแล้ว  เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง” 

(ซูเราะฮ al-Baqarah 2:183)

          และพระองค์อัลลอฮ์  ได้อธิบายถึงช่วงเวลาของการเริ่มต้นและการสิ้นสุด  ของการถือศีลอดไว้ในซูเราะฮ al-Baqarah ความว่า

“และจงกิน และดื่ม  จนกระทั่งเส้นขาว  จะประจักษ์แก่พวกเจ้าจากเส้นดำ 

เนื่องจากแสงรุ่งอรุณ  แล้วพวกเจ้าจงให้การถือศีลอดครบเต็ม  จนถึงพลบค่ำ”

(ซูเราะฮ al-Baqarah 2:187)

          จากกฎในการถือศีลอดนี้  มิได้เจาะจงถึงภูมิประเทศใดหรือกลุ่มชนใดเป็นการเฉพาะ  นั่นคือเป็นกฎข้อบังคับสำหรับทั่วโลก  รวมทั้งประเทศที่ผู้ถามได้สอบถามเอาไว้ข้างต้น (กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย)
 
           พระองค์อัลลอฮ์  นั้นเป็นทรงผู้เมตตาผู้ทรงปราณีเสมอ  ต่อปวงบ่าวของพระองค์  ซึ่งพระองค์ได้ทรงชี้แนะพวกเขาถึงหนทางที่สะดวกง่ายดาย  ในการให้ปวงบ่าวของพระองค์สามารถปฏิบัติอิบาดะฮ์ ที่พระองค์ ทรงสั่งใช้ต่อพวกเขา  ตัวอย่างเช่น  พระองค์อัลลอฮ์  ทรงอนุญาตแก่ผู้เดินทางและผู้เจ็บป่วย  ไม่ต้องทำการถือศีลอดในช่วงเดือนรอมาฎอน  เพื่อเป็นการช่วยเหลือปวงบ่าวให้พ้นจากความยากลำบาก  ดังพระวจนะของพระองค์ในซูเราะฮ  al-Baqarah ความว่า

“เดือนรอมาฎอนนั้น  เป็นเดือนที่ อัลกุรอาน  ได้ถูกประทานลงมาในฐานะเป็นข้อแนะนำสำหรับมนุษย์

และเป็นหลักฐานอันชัดเจนเกี่ยวกับข้อแนะนำนั้น  และเกี่ยวกับสิ่งที่จำแนกระหว่าง  ความจริงกับความเท็จ 

ดังนั้นผู้ใดในหมู่พวกเจ้า  เข้าอยู่ในเดือนนั้นแล้ว  ก็จงถือศีลอดในเดือนนั้น 

และผู้ใดป่วย  หรืออยู่ในการเดินทาง  ก็จงถือใช้ในวันอื่นแทน 

อัลลอฮ์  ทรงประสงค์ให้มีความสะดวก  แก่พวกเจ้า  และไม่ทรงให้มีความลำบากแก่พวกเจ้า

และเพื่อที่พวกเจ้าจะได้ให้ครบถ้วนซึ่งจำนวนวัน(ของเดือนรอมาฎอน) 

และเพื่อพวกเจ้าจะได้ให้ความเกรียงไกรแด่อัลลอฮ์  ในสิ่งที่พระองค์  ทรงแนะนำแก่พวกเจ้า

  และเพื่อพวกเจ้าจะขอบคุณ”

(ซูเราะฮ al-Baqarah 2:185)

          ดังนั้นหน้าที่สำหรับมุสลิมที่บรรลุศาสนภาวะแล้ว  เมื่อเดือนรอมาฎอนมาถึง  จำเป็นอย่างยิ่งที่เขาจะต้องกระทำการถือศีลอด  ไม่ว่าภูมิประเทศที่เขาอยู่นั้นจะมีช่วงเวลาในตอนกลางวันสั้นหรือยาว  แต่ถ้าบุคคลใดที่ไม่มีความสามารถที่จะทำการถือศีลอดให้ครบเต็มวันได้แล้ว  อันเนื่องมาจากเขาเกรงว่า  จะทำให้เขาถึงแก่ชีวิตหรือเกิดการเจ็บป่วยขึ้นได้  เขาก็ได้รับการอนุญาตให้ทานอาหารในปริมาณที่เพียงพอที่จะทำให้แข็งแรงขึ้น  ซึ่งเป็นการปลอดภัยสำหรับตนเอง  จากนั้นต้องหยุดกินและหยุดดื่ม  ในช่วงเวลาที่เหลือของวัน  และจำเป็นจะต้องถือศีลอดชดใช้ในจำนวนวันที่ขาดไปภายหลังจากที่มีความสามารถที่จะทำการถือศีลอดได้

และพระองค์อัลลอฮ์   นั้นเป็นผู้ทรงรอบรู้ที่ดีที่สุด

จาก Fataawa al-Lajnah al-Daa’imah, 10/114

 


http://www.islamqa.com/en/ref/islamqa/1730/print


แปลโดย  นูรุ้ลนิซาอ์