เป้าหมายหลักของการอิอฺติกาฟ
  จำนวนคนเข้าชม  8668

 

เป้าหมายหลักของการอิอฺติกาฟ

 


คำถาม

          ทำไมบรรดามุสลิมจึงละทิ้งอิอฺติกาฟ ทั้งๆ ที่มันเป็นสุนนะฮฺ(แบบฉบับ)จากท่านนบี  อย่างชัดเจน? และอะไรคือเป้าหมายหลักของการอิอฺติกาฟ?

 

คำตอบ   

 
ประการแรก

         การอิอฺติกาฟนั้นเป็นหนึ่งในบรรดาสุนนะฮฺที่เน้นให้ปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งท่านเราะสูลุลลอฮฺ เองได้ปฏิบัติไว้เป็นประจำ

          เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสุนนะฮฺประเภทนี้ได้ถูกลบเลือนไปจากวิถีชีวิตของชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ เว้นเพียงไม่กี่คนที่ได้รับความโปรดปรานจากอัลลอฮฺเท่านั้นที่ยังคงปฏิบัติอยู่ ดังนั้นจึงพูดได้ว่า อิอฺติกาฟกำลังอยู่ในสภาพที่เหมือนกับสุนนะฮฺอีกหลายๆ ประเภท ที่ถูกทิ้งหรือเกือบถูกทิ้งหายไปจากสังคมมุสลิมอย่างไม่ได้รับการเหลียวแล  ทั้งนี้เนื่องจากมีสาเหตุหลายประการดังนี้ เช่น

     1- ความอ่อนแอในด้านการศรัทธาของคนส่วนใหญ่

 

     2- การตอบรับที่ไม่มีขีดจำกัดในการเสพสุขทางโลกและตัณหาต่างๆ ซึ่งทำให้ผู้คนไม่สามารถที่จะปลีกตัวออกจากมันได้ แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่สั้นๆ ก็ตาม

 

     3- การมองสวรรค์เป็นเรื่องเล็กของคนส่วนใหญ่และหลายคนชอบที่จะพักผ่อนและสนุก ฉะนั้นจึงไม่มีความต้องการที่จะไปพบกับความยากลำบากในขณะที่อิอฺติกาฟ ถึงแม้ว่ามันการแสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮฺก็ตาม ส่วนคนที่รู้สำนึกถึงความยิ่งใหญ่ของสวรรค์และความสุขของมัน ก็จะทุ่มเทแรงใจและแรงกายเพื่อที่จะไขว่คว้ามา ท่านนบี  ได้กล่าวว่า

«أَلا إِنَّ سِلْعَةَ اللَّهِ غَالِيَةٌ ، أَلا إِنَّ سِلْعَةَ اللَّهِ الْجَنَّةُ» رواه الترمذي وصححه الألباني (2450)

“โอ้ สินค้าของอัลลอฮฺนั้นคือสิ่งที่มีค่ายิ่ง โอ้สินค้าของอัลลอฮฺนั้นคือสวนสวรรค์”

รายงานโดยอัตติรฺมิซียฺ และได้ผ่านการตรวจสอบว่าเป็นหะดีษที่มีสายรายงานที่ถูกต้องโดยท่านอัลอัลบานียฺ หมายเลข (2450)

 

     4- การจำกัดความคำว่าความรักต่อท่านเราะสูลุลลอฮฺของคนส่วนใหญ่นั้น จำกัดเพียงแค่คำพูดไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติโดยการปฏิบัติตามสุนนะฮฺ(แบบฉบับ)ต่างๆ ของท่านนบีมุหัมหมัด ได้ หนึ่งในนั้นก็คือการอิอฺติกาฟ เป็นต้น อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้กล่าวว่า

«لَقَدْ كَانَ لَكُمْ فِي رَسُولِ اللَّهِ أُسْوَةٌ حَسَنَةٌ لِمَنْ كَانَ يَرْجُو اللَّهَ وَالْيَوْمَ الآخِرَ وَذَكَرَ اللَّهَ كَثِيراً» الأحزاب/21

 “แท้จริงในเราะสูลุลลอฮฺนั้นมีแบบฉบับที่ดีสำหรับพวกท่าน สำหรับผู้ที่หวังกับอัลลอฮฺ  วันสุดท้าย และผู้ที่รำลึกถึงอัลลอฮฺอย่างมากมาย”

 (อัลอะหฺซาบ : 21)

           ซึ่งท่านอิบนุกะษีรฺ (เราะหิมะฮุลลอฮฺ) ได้กล่าวว่า (ตัฟซีร อิบนุ กะษีร 3/756) “อายะฮฺนี้เป็นหลักฐานที่ยิ่งใหญ่ที่บ่งชี้ให้มีการปฏิบัติตามแบบฉบับของท่านเราะสูลุลลอฮฺ  ทั้งในคำพูด การกระทำและความเป็นอยู่ของท่าน"

         ด้วยเหตุนี้เองที่มีชาวสะลัฟบางคนถึงกับอุทานด้วยความแปลกใจที่เห็นบรรดามุสลิมส่วนใหญ่ละทิ้งการอิอฺติกาฟ ทั้งๆ ที่ท่านนบี นั้นทำอยู่เป็นประจำ

ท่านอิบนุ ชิฮาบ อัซ-ซุฮฺรีย์ ได้กล่าวว่า

عَجَبًا لِلْمُسْلِمِينَ , تَرَكُوا الاعْتِكَاف , وَالنَّبِيُّ صَلَّى اللَّه عَلَيْهِ وَسَلَّمَ لَمْ يَتْرُكْهُ مُنْذُ دَخَلَ الْمَدِينَةَ حَتَّى قَبَضَهُ اللهُ

 “โอ้ ช่างเป็นที่น่าประหลาดใจแท้ ที่ชาวมุสลิมส่วนใหญ่ได้ละทิ้งการอิอฺติกาฟ

ทั้งๆ ที่ท่านนบี ไม่เคยละทิ้งการอิอฺติกาฟเลยนับตั้งแต่ท่านเริ่มเข้ามายังนครมาดีนะฮฺจนกระทั่งท่านเสียชีวิต”


 

ประการที่สอง

          การอิอฺติกาฟที่ท่านนบี  กระทำอยู่เป็นประจำในบั้นปลายชีวิตของท่านนั้นคือ การอิอฺติกาฟในสิบวันสุดท้ายของเดือนเราะมะฏอน ช่วงเก้าหรือสิบวันนี้ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการอบรมบ่มเพาะจิตใจเชิงปฏิบัติการอย่างแท้จริง ซึ่งในค่ำคืนวันที่อิอฺติกาฟนี้เป็นช่วงเวลาที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีอย่างรวดเร็วต่อวิถีชีวิตของมุสลิม และผลลัพธ์เหล่านี้จะเป็นผลดีต่อการก้าวเดินของเขาในการใช้ชีวิตวันข้างหน้าต่อไปจนกว่าจะถึงเราะมะฎอนอีกครั้งในปีหน้า

           โอ้บรรดาชาวมุสลิม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฟื้นฟูสุนนะฮฺนี้และร่วมกันอิอฺติกาฟอย่างถูกวิธีดังที่ท่านนบี และบรรดาเศาะหาบะฮฺได้ปฏิบัติเป็นแบบอย่างไว้ ย่อมต้องประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ สำหรับผู้ที่ยึดมั่นในสุนนะฮฺท่ามกลางความหลงลืมของผู้คนและความเสื่อมเสียของประชาชาติ


 

ประการที่สาม

เป้าหมายหลักในการอิอฺติกาฟของนบี ก็คือเพื่อแสวงหา ลัยละตุล ก็อดรฺ

มีรายงานจากท่านมุสลิม (หมายเลข 1167) กล่าวว่า

عَنْ أَبِي سَعِيدٍ الْخُدْرِيِّ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُ قَالَ : إِنَّ رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ اعْتَكَفَ الْعَشْرَ الأَوَّلَ مِنْ رَمَضَانَ ، ثُمَّ اعْتَكَفَ الْعَشْرَ الأَوْسَطَ فِي قُبَّةٍ تُرْكِيَّةٍ (أي : خيمة صغيرة) عَلَى سُدَّتِهَا (أي : بابها) حَصِيرٌ . قَالَ : فَأَخَذَ الْحَصِيرَ بِيَدِهِ فَنَحَّاهَا فِي نَاحِيَةِ الْقُبَّةِ ، ثُمَّ أَطْلَعَ رَأْسَهُ فَكَلَّمَ النَّاسَ ، فَدَنَوْا مِنْهُ ، فَقَالَ : إِنِّي اعْتَكَفْتُ الْعَشْرَ الأَوَّلَ أَلْتَمِسُ هَذِهِ اللَّيْلَةَ ، ثُمَّ اعْتَكَفْتُ الْعَشْرَ الأَوْسَطَ ، ثُمَّ أُتِيتُ فَقِيلَ لِي : إِنَّهَا فِي الْعَشْرِ الأَوَاخِرِ ، فَمَنْ أَحَبَّ مِنْكُمْ أَنْ يَعْتَكِفَ فَلْيَعْتَكِفْ ، فَاعْتَكَفَ النَّاسُ مَعَهُ

“มีรายงานจากอบี สะอีด อัลคุดรียฺ (เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ) กล่าวว่า

          แท้จริงท่านเราะสูลุลลอฮฺ เคยอิอฺติกาฟในช่วงสิบวันแรกของเดือนเราะมะฎอน หลังจากนั้นท่านอิอฺติกาฟต่ออีกในช่วงสิบวันกลางของเดือนเราะมะฎอนโดยพำนักอยู่ในกุบบะฮฺ ตุรกิยะฮฺ (หมายถึงกระโจมหรือโดมเล็กๆ) ซึ่งที่ประตูกุบบะฮฺนั้นมีเสื่ออยู่ผืนหนึ่ง ท่านได้ใช้มือหยิบเสื่อผืนนั้นเพื่อปูไว้ในกุบบะฮฺ แล้วโผล่หัวมาพูดกับผู้คนโดยเรียกให้คนเข้าใกล้ท่านแล้วกล่าวว่า 

         “แท้จริงฉันเคยอิอฺติกาฟในช่วงสิบวันแรกของเดือนเราะมะฎอนเพื่อแสวงหาค่ำคืนนี้ (ลัยละตุลก็อดรฺ) หลังจากนั้นฉันอิอฺติกาฟต่อไปในช่วงสิบวันกลางของเดือนเราะมะฎอน และแล้วมีผู้หนึ่งมาหาแล้วบอกฉันว่า แท้จริงค่ำคืนนี้ (ลัยละตุลก็อดรฺ) อยู่ในช่วงสิบวันสุดท้าย ดังนั้นใครก็ตามในหมู่พวกท่านที่ชอบจะอิอฺติกาฟ เขาจงอิอฺติกาฟในช่วงสิบวันสุดท้าย"

แล้วผู้คนต่างก็ร่วมอิอฺติกาฟกับท่าน”

 


ในหะดีษดังกล่าวมีข้อบ่งบอกหลายอย่างดังนี้

 

     1 –บ่งบอกถึงเป้าหมายหลักในการอิอฺติกาฟของท่านนบี ก็คือเพื่อแสวงหา ลัยละตุลก็อดรฺ ซึ่งมีการเตรียมพร้อมเพื่อประกอบกิจและใช้เวลาให้เต็มไปด้วยการอิบาดะฮฺ ทั้งนี้เนื่องจากผลบุญที่ใหญ่หลวงของค่ำคืนนี้ อัลลอฮฺได้กล่าวว่า

 «لَيْلَةُ الْقَدْرِ خَيْرٌ مِنْ أَلْفِ شَهْرٍ» القدر/3      “ลัยละตุลก็อดรฺนั้นประเสิรฐยิ่งกว่าหนึ่งพันเดือน”

 (อัลก็อดรฺ : 3)

     2 –บ่งบอกถึงความพยายามของท่านนบี ในการแสวงหา ลัยละตุลก็อดรฺก่อนที่ท่านจะรู้เวลาของมัน โดยท่านเริ่มที่สิบวันแรก แล้วสิบวันกลาง หลังจากนั้นดำเนินการอิอฺติกาฟต่อไปจนถึงสิบวันสุดท้าย ซึ่งถือได้ว่าเป็นสุดยอดแห่งความพยายามในการแสวงหา ลัยละตุลก็อดรฺ

      3- บ่งบอกถึงการน้อมปฏิบัติตามท่านเราะสูลุลลอฮฺ ของบรรดาเศาะหาบะฮฺ (ริฏวานุลลอฮุอะลัยฮิม) ทั้งนี้พวกเขาเหล่านั้นเริ่มการอิอฺติกาฟแล้วดำเนินการต่อไปจนถึงวันสุดท้ายของเดือน ทั้งนี้เป็นไปด้วยแรงบันดาลใจที่มากล้นของพวกเขาที่จะนำท่านนบี มาเป็นแบบฉบับในชีวิต

     4- บ่งบอกถึงความเมตตาปรานีของท่านนบี ที่มีต่อบรรดาเศาะหาบะฮฺ ทั้งนี้เนื่องจากท่านรับรู้ถึงความลำบากที่พบเจอในช่วงอิอฺติกาฟท่านจึงให้โอกาสแก่พวกเขาที่จะเลือกว่าจะดำเนินการอิอฺติกาฟต่อไปหรือจะหยุดเพียงแค่นี้ โดยท่านกล่าวว่า

« فَمَنْ أَحَبَّ مِنْكُمْ أَنْ يَعْتَكِفَ فَلْيَعْتَكِفْ »

“ดังนั้นใครก็ตามในหมู่พวกท่านที่ชอบจะอิอฺติกาฟ เขาจงอิอฺติกาฟในช่วงสิบวันสุดท้าย”

 

นอกจากนี้แล้วการอิอฺติกาฟยังมีเป้าหมายอื่นๆ อีก อาทิเช่น

1- เพื่อการปลีกตัวจากผู้คนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ทั้งนี้เพื่อให้เวลากับอัลลอฮฺอย่างเต็มที่

2- เพื่อการขัดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์ ทั้งนี้เพื่อเข้าใกล้อัลลอฮฺในสภาพที่สมบูรณ์แบบที่สุด

3- เพื่อการปลีกมาทำอิบาดะฮฺที่ต่อเนื่อง เต็มรูปแบบ อันได้แก่ การละหมาด การดุอาอ์ การซิกิรฺ และการอ่านอัลกุรอาน เป็นต้น

4- เพื่อควบคุมรักษาการถือศีลอดให้ปลอดจากสิ่งยั่วยวนอารมณ์ใฝ่ต่ำและตัณหาจากภายนอกที่อาจทำให้การถือศีลอดเสียรูปไป

5- ลดการกระทำเพื่อความสมหวังในทางโลกที่อนุญาตให้กระทำได้ให้น้อยลงและปลูกความรู้สึกสมถะจากสิ่งต่างๆ มากมายทางโลกถึงแม้ว่าสามารถจะกระทำได้ก็ตาม

 

โปรดดูรายละเอียดจากหนังสือ “อัลอิอฺติกาฟ นัซฺเราะฮฺ ตัรฺบะวิยะฮฺ” ของ ดร.อับดุลละฏีฟฺ บาลฏู

 


www.islamqa.com/ar/ref/49007

แปลโดย: ดานียา เจะสนิ / Islam House