ข้อบัญญัติของการอิอฺติกาฟและหลักฐาน
  จำนวนคนเข้าชม  7942

 

 

ข้อบัญญัติ(หุก่ม)ของการอิอฺติกาฟและหลักฐาน

 

คำถาม     อะไรคือข้อบัญญัติของการอิอฺติกาฟ?


คำตอบ    อัลหัมดุลิลลาฮฺ

 

ประการแรก การอิอฺติกาฟนั้นมีตัวบทบัญญัติไว้ทั้งในอัลกุรอาน อัสสุนนะฮฺ และอัลอิจญฺมาอฺ หลักฐานในอัลกุรอานคือ คำตรัสของอัลลอฮฺที่ว่า

«وَعَهِدْنَا إِلَى إِبْرَاهِيمَ وَإِسْمَاعِيلَ أَنْ طَهِّرَا بَيْتِيَ لِلطَّائِفِينَ وَالْعَاكِفِينَ وَالرُّكَّعِ السُّجُودِ»

“และเราได้บัญชาให้อิบรอฮีมและอิสมาอีลทำความสะอาดบ้านของเรา เพื่อพวกที่เฏาะวาฟ พวกที่พำนักอยู่ (อิอฺติกาฟ) และพวกที่รุกูอฺสุญูด”

[อัลบะเกาะเราะฮฺ: 125]

และคำตรัสของอัลลอฮฺอีกอายะฮฺหนึ่งว่า

«وَلا تُبَاشِرُوهُنَّ وَأَنْتُمْ عَاكِفُونَ فِي الْمَسَاجِدِ»

“และท่านทั้งหลาย อย่าร่วมประเวณีกับภรรยาของพวกท่าน ขณะที่พวกท่านอยู่ในมัสยิด (โดยตั้งเจตนาอิอฺติกาฟ)

[อัลบะเกาะเราะฮฺ: 167]

ส่วนในอัสสุนนะฮฺนั้นมีบัญญัติไว้ในตัวบทหะดีษเป็นจำนวนมาก เช่น หะดีษท่านหญิงอาอิชะฮฺ(เราะฎิยัลลอฮุอันฮา)กล่าวว่า

«كَانَ يَعْتَكِفُ الْعَشْرَ الأَوَاخِرَ مِنْ رَمَضَانَ حَتَّى تَوَفَّاهُ اللَّهُ ، ثُمَّ اعْتَكَفَ أَزْوَاجُهُ مِنْ بَعْدِهِ»

“ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้อิอฺติกาฟในสิบวันสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน 

ต่อมาบรรดาภรรยาของท่านได้ทำการอิอฺติกาฟ  ภายหลังจากที่ท่านเสียชีวิตไป” 

[บันทึกโดยอัลบุคอรี (2026) และมุสลิม (1172)]

          และในส่วนของการอิจญฺมาอฺนั้น มีอุละมาอฺหลายต่อหลายท่านรายงานอิจญฺมาอฺว่าการอิอฺติกาฟเป็นที่บัญญัติในศาสนาอิสลาม  เช่นท่านอันนะวะวียฺ อิบนุกุดดามะฮฺ และอิบนุตัยมิยฺยะฮฺ เป็นต้น

โปรดดูในหนังสืออัลมัจญฺมูอฺ (6/404) หนังสืออัลมุฆฺนียฺ (4/456)และหนังชัรหุลอุมดะฮฺ(2/711)

ท่านอิบนุบาซฺได้กล่าวไว้ในมัจญฺมูอุลฟะตาวา(15/437) ความว่า

          “ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าการอิอฺติกาฟในมัสญิดนั้นเป็นการสร้างความใกล้ชิดกับเอกองค์อัลลอฮฺ สุบหานะฮุวะตะอาลา (อัลกุรบะฮฺ)  และการอิอฺติกาฟในเดือนเราะมะฎอนนั้นประเสริฐกว่าเดือนอื่นๆ  และการอิอฺติกาฟถูกบัญญัติทั้งในเดือนเราะมะฎอนและนอกเหนือเดือนเราะมะฎอน”  [คัดมาอย่างสรุป]

 

       ประการที่สอง บัญญัติ(หุก่ม)ของการอิอฺติกาฟนั้นเป็นสุนนะฮฺไม่ใช่วาญิบ นอกจากว่าจะมีการนะซัรฺ(บนบาน)ว่าจะกระทำจึงถือว่าเป็นสิ่งวาญิบ ทั้งนี้เนื่องจากคำกล่าวของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)ว่า

«مَنْ نَذَرَ أَنْ يُطِيعَ اللَّهَ فَلْيُطِعْهُ ، وَمَنْ نَذَرَ أَنْ يَعْصِيَهُ فَلا يَعْصِهِ»

“ใครก็ตามที่ได้ทำการนะซัรฺ(บนบาน)ว่าจะปฏิบัติในสิ่งที่เป็นการเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺแล้ว เขาผู้นั้นจงปฏิบัติตามคำบนบานนั้นๆ

และใครก็ตามที่ได้ทำการนะซัรฺ(บนบาน)ว่าจะปฏิบัติในสิ่งที่เป็นการทรยศต่ออัลลอฮฺแล้ว เขาผู้นั้นอย่าได้ปฏิบัติตามคำบนบานนั้นๆ”

[รายงานโดยอัลบุคอรี (6696)]

และเนื่องจากท่านอุมัรฺ(เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ)เคยกล่าวกับท่านนบีว่า

يَا رَسُولَ اللَّهِ ، إِنِّي نَذَرْتُ فِي الْجَاهِلِيَّةِ أَنْ أَعْتَكِفَ لَيْلَةً فِي الْمَسْجِدِ الْحَرَامِ . قَالَ : « أَوْفِ بِنَذْرِكَ »

“โอ้ท่านเราะสูลุลลอฮฺ แท้จริงฉันเคยบนบานไว้ก่อนที่ฉันจะเข้ารับอิสลามว่าฉันจะทำการอิอฺติกาฟในมัสญิดอัลหะรอมหนึ่งคืน 

ท่านนบีตอบว่า “ท่านจงปฏิบัติตามคำบนบานของท่านเถิด”

[รายงานโดยอัลบุคอรี (6697)]

และท่านอิบนุมุนซิรฺ ได้กล่าวในหนังสือ(อัลอิจญฺมาอฺ)ของท่าน(หน้า 53)ว่า

"وأجمعوا على أن الاعتكاف سنة لا يجب على الناس فرضا إلا أن يوجبه المرء على نفسه نذرا فيجب عليه" اهـ

“และบรรดาอุละมาอฺได้มีมติเอกฉันท์ว่าการอิอฺติกาฟนั้นเป็นสุนนะฮฺไม่ใช่เป็นสิ่งที่วาญิบแก่มุสลิม

นอกจากว่าเขาจะจงใจทำให้มันเป็นสิ่งวาญิบสำหรับเขาด้วยการนะซัรฺ(บนบาน) เช่นนั้นแล้วจึงถือเป็นสิ่งวาญิบแก่เขา”

โปรดดูรายละเอียดในหนังสือ “ฟิกฮุล อิอฺติกาฟ”ของดร.คอลิด อัลมุชัยกิหฺ หน้า 31

 

 


ที่มา : www.islamqa.com/ar/ref/48999 

แปลโดย: ดานียา เจะสนิ  / Islam House