ความละอายในการฝ่าฝืนคำสั่ง
  จำนวนคนเข้าชม  10738

อิห์ซานทำให้เกิดความละอายในการฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮ์

         ความละอายเป็น คุณลักษณะพิเศษของมนุษย์ที่แสดงออกมาในรูปแบบพฤติกรรม อิสลามให้ความสำคัญกับความละอาย เนื่องจากความละอายมีบทบาทในการควบคุมพฤติกรรม การทำความดีและสิ่งสมควร และละทิ้งสิ่งที่ไม่ดี ตลอดจนสามารถยกระดับของพฤติกรรมสู่การมีมารยาทที่ดีงาม นะบีมุฮัมมัด ได้กล่าวว่า

“แท้จริงแล้วทุกๆ สิ่งในศาสนานั้นคือมารยาท และมารยาทอิสลามนั้นคือความละอาย” (รายงานโดยมาลิก)

          ผู้ที่มีความละอายย่อมทำในสิ่งที่ควรและละทิ้งในสิ่งที่ไม่สมควร และแน่นอนผู้ที่มีความละอายย่อมประสบผลสำเร็จในการทำแต่ความดี และห่างไกลจากการทำความชั่วตลอดจนได้รับการยกย่องในสังคม ในทางกลับกันผู้ที่ไม่มีความละอายย่อมทำทุกสิ่งทุกอย่างได้ตามความต้องการ

           จากตัวอย่างหนึ่งของท่านคอลีฟะฮ์อุมัร ซึ่งท่านจะเดินตระเวนในยามกลางคืนเพื่อเสาะหาปัญหาของประชาชน ในคืนหนึ่งท่านได้ฟังคำสนทนาระหว่างสองแม่ลูกที่มีอาชีพขายนมแพะ ซึ่งแม่ได้แนะนำแก่ลูกสาวว่า “เราน่าจะเติมน้ำในนมหน่อยเพื่อจะได้ปริมาณน้ำนมที่มากขึ้น”

ลูกสาวได้ค้านว่า “แม่ยังไม่ทราบหรือว่าอะมีรุลมุมีนีนได้ประกาศห้ามมิให้เอานมผสมน้ำขายแล้ว”

แม่ย้อนตอบว่า “แต่ท่านอะมีรุลมุมีนีนคงไม่เห็นพวกเราหรอก”

ลูกได้โต้ว่า “ถึงแม้ว่าอะมีรุลมุมีนีนจะไม่เห็นพวกเรา แต่พระเจ้าของอะมีรุลมุมีนีนทรงเห็นการกระทำของพวกเรา”

           จริงๆ แล้วมนุษย์กับความศรัทธา(อีมาน) มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระผู้เป็นเจ้าแห่งสากลโลก ทำให้มีพลังสร้างความบริสุทธิ์ในจิตใจ มีจรรยามารยาทที่สูงส่ง และมีการงานที่ดี สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากปราศจากอีมานที่บริสุทธิ์ ดังนั้น ความละอายกับอีมานมีความสัมพันธ์กัน ดังที่ได้กล่าวในหะดีษบทหนึ่งความว่า

“ความละอายและอีมานเป็นสิ่งเดียวกัน หากอย่างใดอย่างหนึ่งหายไป อีกสิ่งหนึ่งย่อมหายไปด้วย” (รายงานโดยฮากิม)

          เมื่อมนุษย์ขาดความละอายแน่นอนความดีย่อมขาดหายไป หมายถึงการขาดหายของอีมานไปโดยปริยาย และเขาจะกระทำทุกสิ่งทุกอย่างตามอำเภอใจ ดังที่ปรากฏในหะดีษ

 “ยามใดที่ท่านไม่มีความละอายแล้ว ท่านจงกระทำทุกสิ่งทุกอย่างตามความต้องการเถิด” (รายงานโดยบุคอรี)

          ลักษณะความละอายมีหลายประเภทเช่นการละอายต่อตนเอง การละอายต่อเพื่อนมนุษย์ และการละอายต่ออัลลอฮ์ ซึ่งเป็นการละอายที่มีระดับสูงสุด เพราะจะพาบุคคลไปสู่การทำความดีในทุกๆ อิริยาบถ ไม่กล้าที่จะทำความชั่ว เพราะคิดเสมอว่าอัลลอฮ์  ทรงมองดูเราอยู่ ซึ่งเขาจะได้ผลบุญอย่างมหาศาล


อิสลาม อีมานและอิห์ซานไม่สามารถแยกออกจากกันได้ 

           คำว่า อิสลาม อีมานและอิห์ซาน  ได้อธิบายในหะดีษบทหนึ่ง จากท่านอุมัร ว่า

          “ในวันหนึ่งขณะที่พวกเรานั่งอยู่กับนะบีมุฮัมมัด พวกเราได้เห็นบุรุษผู้หนึ่งสวมเครื่องแต่งกายที่ขาวโพน และมีผมที่ดำสนิท ไม่เห็นร่องรอยของการเดินทาง และไม่มีผู้ใดเลยในพวกเราที่รู้จัก เขาผู้นั้นได้เข้ามานั่งใกล้นะบีมุฮัมมัด โดยที่หัวเข่าของเขาชนกับหัวเข่านะบีมุฮัมมัด และวางมือของเขาบนตักนะบีมุฮัมมัด พร้อมกล่าวว่า “โอ้มุฮัมมัด จงแจ้งให้ฉันทราบเกี่ยวกับอิสลามซิ?”

นะบีมุฮัมมัด กล่าวว่า

“อิสลามคือ ท่านต้องกล่าวปฏิญาน ยืนยันว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ และมุฮัมมัด เป็นศาสนทูตของอัลลอฮ์  ท่านต้องดำรงละหมาด ท่านต้องจ่ายซะกาต ท่านต้องถือศีลอดในเดือนรอมฎอน และท่านต้องไปบำเพ็ญหัจญ์ ณ บัยติลละฮ์หากท่านมีความสามารถเดินทางไปได้”

เขากล่าวว่า “ถูกต้องแล้ว” 

พวกเราจึงรู้สึกฉงนใจที่เขาถามแล้วเขาก็ยอมรับว่าถูกต้อง เขากล่าวอีกว่า “จงแจ้งให้ฉันทราบเกี่ยวกับอีมาน(ความศรัทธา)ซิ?”

นะบีมุฮัมมัด จึงตอบว่า “ท่านต้องศรัทธาต่ออัลลอฮ์  มะลาอิกะฮ์ของพระองค์ บรรดาคัมภีร์ของพระองค์ บรรดาเราะซูลของพระองค์ วันปรโลกและเชื่อในกฏกำหนดสภาวะทั้งที่ดีและไม่ดีของมัน”

แล้วเขากล่าวว่า “ถูกต้องแล้ว”  แล้วเขากล่าวอีกครั้งว่า "ดังนั้นเจ้าจงชี้แจงเกี่ยวกับอิห์ซานซิ?"

นะบีมุฮัมมัด จึงตอบว่า  “ท่านต้องเคารพภักดี(การทำอิบาดะฮ์) ต่ออัลลอฮ์  เสมือนท่านเห็นพระองค์ แม้ว่าท่านจะไม่เห็นพระองค์แต่พระองค์ทรงเห็นท่าน”

(รายงานโดยบุคอรีและมุสลิม)

          อัลลอฮ์  ได้ประทานอิสลามเป็นระบอบแห่งวิถีชีวิตที่สมบูรณ์ในทุกด้าน คำสอนของอิสลามได้ครอบคลุมบทบัญญัติต่างๆที่มีความสัมพันธ์ระหว่างโลกนี้และโลกอาคิเราะฮ์ ดังที่ได้ปรากฏในนิยามของคำว่า ศาสนา คือ “พลังอำนาจที่สามารถนำพาบุคคลที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ไปสู่ความผาสุกในโลกนี้และโลกอาคิเราะฮ์”

          อิสลามเท่านั้นเป็นวิถีที่ได้วางระบบของการดำเนินชีวิตอันสมบูรณ์ ในการดำเนินวิถีชีวิต มนุษย์ย่อมต้องมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นสิ่งจำเป็น และพระองค์อัลลอฮ์ ประทานสติปัญญาให้มนุษย์ได้ครุ่นคิดถึงความยิ่งใหญ่ของพระองค์ นั่นคือ การศรัทธา ที่มนุษย์พยายามกระทำแต่ความดี ความสงบสุข และความบริสุทธิ์ อันเป็นผลแห่งรัศมีของการศรัทธา และได้แสดงออกมาในรูปแบบของพฤติกรรมของจรรยามารยาทที่งดงาม ซึ่งบุคคลเหล่านี้พระองค์อัลลอฮ์  จะประทานแต่คุณงามความดีบนโลกนี้และความผาสุกในโลกอาคิเราะฮ์ ดังที่ได้กล่าวในอัลกุรอานความว่า

“บรรดาผู้ศรัทธาและกระทำความดี ความผาสุกย่อมได้แก่พวกเขา และเป็นการกลับไปที่ดียิ่ง” (อัลกุรอาน 13:29)

           อัลกุรอานข้างต้นแสดงให้เห็นว่า อัลลอฮ์  ทรงสัญญาสำหรับผู้ศรัทธาที่ทำดีจะได้รับสวนสวรรค์ และการกระทำดีนั้นได้ครอบคลุมถึงเรื่องส่วนตัวและการสมาคมกับส่วนรวม มีวิถีชีวิตที่ปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮ์ และในการมีส่วนร่วมของสังคมต้องแสดงถึงมารยาทที่ดีงามโดยที่เขาต้องคำนึงเสมอว่าพระองค์ทรงเฝ้าดูอยู่แม้ว่าเราไม่เห็นพระองค์

           ดังนั้นอิสลาม อีมาน และอิห์ซาน คือจรรยามารยาทที่ดีงามเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

อีมานคือจุดเริ่มต้นของบุคคลที่มีความศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า และปฏิบัติตามบทบัญญัติต่างๆในการดำเนินชีวิต

อิห์ซาน เป็นผลของอีมานและอิสลามที่แสดงออกในรูปของพฤติกรรมจรรยามารยาทอันงดงามจากการคำนึงว่าพระองค์ทรงมองดูเราตลอดเวลา

.

.

.

เรียบเรียงโดย อ.มัสลัน มาหะมะ