ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับภาษาอาหรับ
อาจารย์ ผศ.ดร.อับดุลลอฮ์ หนุ่มสุข
ลักษณะทั่วไปของภาษาอาหรับ
ภาษาอาหรับเป็นภาษาเก่าแก่ที่สำคัญภาษาหนึ่งของโลก เป็นภาษาในตระกูลเซมิติก ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับภาษาฮิบรู และภาษาอาราเมอิก เป็นภาษาทางวรรณกรรม นับเป็นเวลากว่า 1,500 ปี ที่สำคัญกว่านี้คือ ภาษาอาหรับเป็นภาษาประจำศาสนาอิสลาม เป็นภาษาของพระคัมภีร์ อัลกุรอาน ที่มุสลิมทุกชาติ ทุกภาษาเกือบ 2,000 ล้านคนทั่วโลกศรัทธา เพราะเป็นพระดำรัสของอัลลอฮ์ ผู้เป็นพระเจ้าเพียงพระองค์เดียว ที่ประทานลงมาเป็นทางนำ และระบอบชีวิตที่สมบูรณ์แบบ แก่มนุษย์ชาติ และเป็นภาษาของการละหมาด และการขอพรของมุสลิมทั่วโลก มุสลิมจะเริ่มศึกษาภาษาอาหรับตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อการเรียนรู้หลักการทางศาสนา การละหมาด การอ่านอัลกุรอาน
ประเทศที่ใช้ภาษาอาหรับเป็นภาษาประจำชาติ
ภาษาอาหรับเป็นภาษาทางราชการของสมาชิกสันนิบาตอาหรับที่มีสมาชิกจากภูมิภาคเอเซียตะวันตก แอฟริกาเหนือ และแอฟริกาตะวันออก รวมกันถึง 22 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ โมร็อกโค ซูดาน อัลจีเรีย ตูนีเซีย ลิเบีย ชด จิบูติ เอริเทรีย มอริตาเนีย อิรัก จอร์แดน ซีเรีย ปาเลสไตน์ เลบานอน เยเมน โอมาน การ์ตา บาร์หเรน สหรัฐอาหรับเอมิเรต คูเวต นอกจากนั้นยังเป็นภาษาที่สองในประเทศมุสลิมอีกหลายประเทศ ทั้งในแอฟริกาและเอเซีย
ความสำคัญของภาษาอาหรับในปัจจุบัน
ภาษาอาหรับไม่เพียงเป็นภาษาเก่าแก่ที่ยังมีชีวิตอยู่ และกระปี้กระเปาเท่านั้น หากยังครองความสำคัญในฐานะที่เป็นภาษาเดียวที่ดำรงรักษาองค์ความรู้อย่างสมบูรณ์ ไว้ให้นักภาษาศาสตร์ได้ทำการศึกษา ภาษาเซมิติกอื่นๆที่ตายไปแล้ว หรือภาษาเซมิติกที่ยังมีชีวิตอยู่ กล่าวได้ว่าในระหว่าง ค.ศ.ที่ 9-12 งานเขียนในด้านปราชญ์ การแพทย์ ประวัติศาสตร์ ศาสนศาสตร์ ดาราศาสตร์ และภูมิศาสตร์ ล้วนเขียนขึ้นด้วยภาษาอาหรับมากกว่าภาษาใดๆทั้งสิ้น
ปัจจุบันภาษาอาหรับเป็นภาษาหนึ่งในภาษาที่ใช้ในองค์การสหประชาชาติ และเป็นภาษาที่มีบทบาทอย่างสูงในวงการธุรกิจ การศึกษา การฑูต และการท่องเที่ยว
อักษรภาษาอาหรับ
ا ب ت ث ج ح خ
د ذ ر ز س ش
ص ض ط ظ ع غ
ف ق ك ل م ن
ها و ي ء لا
อักษรอาหรับมีต้นกำเนิดมาจากอักษรอียิปต์โบราณ การเขียนอักษรอาหรับของชนชาติอะนาคาน เมื่อประมาณ 1850 - 1300 ก่อนคริสตศักราช คือจุดกำเนิดของระบบอักษร "อลิฟเบตท์" หรือ อัลฟาเบท" ในเวลาต่อมา อักษรอาหรับมีความสำคัญในศาสนาอิสลาม เพราะคัมภีร์อัลกุรอานเขียนด้วยอักษรอาหรับ และใช้พูด และท่องจำ ด้วยอักษรและภาษาอาหรับ ภาอาหรับจึงใช้กันอย่างแพร่หลายในชนชาติที่นับถือศาสนาอิสลาม และผู้ที่ต้องการติดต่อค้าขายกับกลุ่มประเทศมุสลิม และตัวอักษรอาหรับจะมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย เช่นภาษาเปอร์เซีย ภาษาอูรดู ภาษาตุรกี ภาษามลายู เป็นต้น
โครงสร้างของอักษรอาหรับ
อักษรอาหรับเขียนจากขวาไปซ้าย มีอักษรพื้นฐาน 28 ตัว การปรับไปเขียนภาษาอื่นเช่น ภาษาเปอร์เซีย ภาษาอูรดู จะเพิ่มอักษรอื่นเข้ามา ไม่มีความแตกต่างระหว่างตัวพิมพ์ และตัวเขียน และตัวเล็กกับตัวใหญ่ อักษรแต่ละตัวจะเขียนติดกับอักษรตัวอื่น แม้ในการพิมพ์ และรูปอักษรจะเปลี่ยนไป ขึ้นอยู่กับตำแหน่งในคำ
การจัดเรียงอักษรอาหรับ
การจัดเรียงอักษรอาหรับมี 2 รูปแบบ
- รูปแบบเดิม คือแบบอับญะดีย์(أبجدي) เป็นการจัดเรียงตามอักษร ฟีนิเชียน คล้ายกับการเรียงแบบ A B C ในภาษาอังกฤษ
- รูปแบบที่ใช้ในปัจจุบัน คือแบบ ฮิญาอีย์ (هجائي) ซึ่งเรียงตามลำดับของอักษร
ภาษาปัจจุบันที่เขียนด้วยภาษาอาหรับ
ได้แก่ภาษาเคิร์ด และภาษาเตร์กเมนในอิรัก ภาษาเปอร์เซีย ภาษาอาเซอรี ภาษาโวรานีเคิร์ด ภาษาบาโลชิในอิหร่าน ภาษาดารี ภาษาพาชตู ภาษาอุซเบกในอัฟกานิสถาน ภาษาอุยกูร์ ภาษาคาซัค ภาษาคีร์กิสในจีน ภาษามาเลย์ในบรูไน และใช้เป็นภาษาในตำราศาสนาอิสลามใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
ลักษณะพิเศษของภาษาอาหรับ
ภาษาอาหรับมีลักษณะพิเศษที่สำคัญดังนี้
- มีระบบการสร้างคำที่น่ามหัศจรรย์ คำหนึ่งสามารถจะผันออกไปได้มากมาย พร้อมทั้งความหมายที่เปลี่ยนไปตามความต้องการ เช่นคำว่ากิน เมื่อจะเปลี่ยนเป็นผู้กิน หรือสิ่งที่กิน หรือเวลากิน หรือที่กิน หรือจะกิน หรือกินแล้ว หรือจงกิน ก็ไม่จำเป็นต้องเติมคำนำหน้าแต่ประการใด เพียงตัดต่ออักษรในตัวของคำเอง ก็จะได้ความหมายที่ต้องการ
- เป็นภาษาที่เขียนโดยไม่จำเป็นต้องมี สระ กำกับ
- คำนามในภาษาอาหรับมี 2 เพศ เพศชาย และเพศหญิง และมีพจน์ 3 พจน์คือ เอกพจน์ ทวิพจน์ พหูพจน์
เราเรียนรู้ภาษาอาหรับเพื่อใช้ในศาสนาอิสลาม เละการสื่อสารทางธุรกิจกันเถอะ แล้วเราจะไม่ตกยุค เพราะภาษาอาหรับใช้ได้ทั้งโลกนี้ (ดุนยา) และโลกหน้า (อาคิเราะฮ์) เพื่อความทันสมัยของเราเอง และเป็นความทันสมัยตลอดกาล
ที่มา : หนังสือ อะฮลัน โดยกลุ่มนักศึกษาภาอาหรับ มหาวิทยาลัยรามคำแหง