บททบทวนเกี่ยวกับละหมาดตะรอวีหฺ ของมุสลิมะฮ์
ริยาฎ บิน อับดุรเราะห์มาน อัล-หุก็อยลฺ
บททบทวนที่สาม สำหรับเหล่าสตรี
1. การมายังมัสยิดในสภาพที่ใส่เครื่องหอม ในการนี้ย่อมขัดแย้งอย่างใหญ่หลวงกับหะดีษของท่านรอซูล ที่ว่า
«أيّما امرأة استعطرت، فمرت بقوم ليجدوا ريحها، فهي زانية»
"หญิงนางใดที่ใส่น้ำหอม แล้วเดินผ่านไปยังกลุ่มคนพวกหนึ่งเพื่อให้พวกเขาได้รับกลิ่นของนาง นางก็เท่ากับเป็นผู้ทำซินา"
(บันทึกโดย อะห์มัด และ อัต-ติรมิซีย์ ท่านกล่าวว่า เป็นหะดีษหะสัน เศาะฮีหฺ ดู เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ 323, 2701, 4540)
และจะเป็นเยี่ยงไรเล่าสำหรับนางที่ทำเช่นนั้นเพื่อไปเดินจับจ่ายในตลาด !!
2. การไม่ปกปิดร่างกายให้มิดชิดและเปิดเผยบางส่วนให้เห็น ทั้งๆ ที่นางจำเป็นต้องปกปิดร่างกายทั้งหมด และหิญาบของนางต้องไม่บางและรัดรูป แต่ต้องกว้าง ปกปิดมิดชิด และหลวมพอควร และต้องไม่เปิดเผยส่วนใดๆ ของเครื่องประดับของนาง นี่ไม่ใช่การทำโทษหรือกักขังนาง ทว่าเป็นการรักษาเกียรติ ปกป้องและดูแลตัวนางเอง
3. การมามัสยิดพร้อมกับคนขับรถที่ไม่ใช่ญาติสนิทเพียงลำพัง ด้วยการนี้นางก็ได้ทำความผิดตามหลักศาสนาเพื่อให้ได้บุญจากการงานที่มีสถานะเพียงแค่อนุญาตหรือส่งเสริมให้ทำเท่านั้น และนี่ย่อมเป็นสิ่งที่ผิด
4. การที่นางละทิ้งลูกๆ กับการทำผิดบาปต่างๆ เช่น ปล่อยให้ดูหนังฟังเพลง เป็นต้น หรือปล่อยให้ออกไปกับพวกที่ทำชั่ว ในขณะที่อัลลอฮฺได้ว่า
«يَاأَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا قُوا أَنفُسَكُمْ وَأَهْلِيكُمْ نَارًا»
"โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงปกป้องตัวพวกเจ้าและครอบครัวของพวกเจ้าให้รอดพ้นจากไฟนรกเถิด"
(อัต-ตะหฺรีม 6)
การที่นางอยู่กับลูกๆ ที่บ้านในกรณีนี้ย่อมเป็นสิ่งที่จำเป็นกว่า เพื่อที่จะได้คอยดูแลพวกเขา
5. การนำลูกๆ ที่ซุกซน สร้างความรำคาญและรบกวนแก่ผู้ละหมาดมายังมัสยิดด้วย
6. การยุ่งง่วนหลังละหมาดด้วยการพูดคุยไร้สาระ นินทาผู้อื่น และทำเสียงดังกระทั่งได้ยินไปถึงพวกผู้ชาย แทนที่จะกล่าวตัสบีหฺว่า สุบหานัล มะลิกิส กุดดูส (สามครั้ง) การซิกิร และอิสติฆฟารฺ !! ทั้งๆ ที่มีสุนนะฮฺให้แยกย้ายกันทันทีหลังอิมามละหมาดเสร็จ และไม่ล่าช้าเว้นแต่มีความจำเป็น ส่วนผู้ชายให้คอยอยู่สักครู่เพื่อให้ผู้หญิงได้ออกไปหมดก่อน หรือให้ผู้หญิงรออยู่ก่อนเพื่อให้ผู้ชายได้ออกไป ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ออกไปพร้อมๆ กันในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากประตูทางเข้าออกอยู่ใกล้ๆ กันซึ่งจะทำให้เกิดการปะปนคละเคล้าบริเวณประตู
7. การย้ายที่จากสถานที่ซึ่งประเสริฐที่สุดและเป็นที่รักที่สุดสำหรับอัลลอฮฺ (นั่นคือมัสยิด หลังเสร็จละหมาดแล้ว) ไปยังที่ที่เลวที่สุดและเป็นที่เกลียดชังที่สุดสำหรับอัลลอฮฺ นั่นก็คือตลาดร้านค้าทั้งหลาย โดยไม่มีความจำเป็นใดๆ
8. การไม่เข้าแถวให้ชิด มีช่องและที่ว่างระหว่างแถว
9. การละทิ้งความพยายามในการมุ่งมั่นทำความดีเชื่อฟังอัลลอฮฺและรำลึกถึงอัลลอฮฺเมื่อมีรอบเดือน เพราะยังมีอะมัลอีกมากมายที่ทำได้ในช่วงนั้น เช่น การขอดุอาอ์ การตัสบีหฺ การเศาะดะเกาะฮฺ และการเศาะละวาตต่อท่านนบี เป็นต้น
บททบทวนที่สี่ สำหรับมุสลิมและมุสลิมะฮฺทุกคน
จงตักวาต่ออัลลอฮฺ ในการศิยาม(ถือศีลอด) กิยาม(การละหมาดกลางคืน) และการขอดุอาอ์ของพวกท่าน และอย่าได้เป็นเยี่ยงผู้ที่คลายม้วนหรือปมขมวดของเขาหลังจากที่อุตส่าห์ได้ม้วนกระชับไว้อย่างดี ด้วยการที่พวกท่านอุตส่าห์ถือศีลอดยามกลางวัน ละหมาดยามกลางคืน ร่ำไห้พร้อมๆ กับอิมาม แล้วพวกท่านก็เหินห่างไปและปล่อยให้ผลบุญของพวกท่านสูญเปล่า
- ดวงตาที่เคยหลั่งน้ำตาก็กลับไปดูของหะรอม กลับไปชมพวกหนังและละครที่เปิดเผยเอาเราะฮฺและคลุกคลีระหว่างหญิงชาย
- หูที่เคยได้ลึกซึ้งกับสิ่งที่ได้ยินได้ฟังก็กลับไปฟังเพลงและสิ่งไร้สาระ
- ลิ้นที่เคยกล่าวอามีนในดุอาอ์ก็กลับไปพูดพล่ามในการนินทาว่าร้าย พูดโกหก เหยียดหยาม พูดเล็กพูดน้อย ด่าว่าและสาปแช่ง รวมทั้งพฤติกรรมอื่นๆ ที่เลวร้ายของลิ้น
- หัวใจที่เคยน้อมนบสงบเสงี่ยมด้วยการอ่านอัลกุรอานก็กลับไปแบกหามความริษยา คดโกง และเกลียดชังพี่น้องมุสลิม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องสำหรับเราโดยเด็ดขาด จงจำไว้เถิดตามหะดีษที่ว่า
«رب صائم حظه من صيامه الجوع والعطش»
"มีผู้ถือศีลอดมากน้อยเพียงไรที่ได้รับภาคผลจากการถือศีลอดของเขาเพียงแค่ความหิวและกระหาย"
(บันทึกโดยอะห์มัด เป็นหะดีษเศาะฮีหฺ)
และที่ท่านนบี กล่าวว่า
«مَن لم يَدَعْ قولَ الزُّورِ والعملَ بهِ فليسَ للهِ حاجةٌ في أن يَدَعَ طعامَهُ وشَرابَه»
"ผู้ใดที่ไม่ละทิ้งคำพูดเท็จและยังทำมันอยู่ ก็ไม่ใช่ความจำเป็นสำหรับอัลลอฮฺที่เขาจักต้องถือศีลอดงดอาหารและเครื่องดื่ม"
(บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์)
และอย่าได้เป็นคนที่เมื่ออยู่คนเดียวกับสิ่งที่อัลลอฮฺห้ามเขาก็ละเมิดมัน เพราะนี่เป็นสิ่งที่มีโทษอันเลวร้ายสาหัส ท่านรอซูล ได้กล่าวว่า
«لأَعْلَمَنَّ أَقْوَاماً مِنْ أُمَّتِي يَأْتُونَ يَوْمَ الْقِيَامَةِ بِحَسَنَاتٍ أَمْثَالِ جِبَالِ تِهَامَةَ، بِيضاً. فَيَجْعَلُهَا اللَّهُ عَزَّ وَجَلَّ هَبَاءً مَنْثُوراً». قَالَ ثَوْبَانُ: يَا رَسُولَ اللهِ صِفْهُمْ لَنَا، جَلِّهِمْ لَنَا، أَنْ لاَ نَكُونَ مِنْهُمْ وَنَحْنُ لاَ نَعْلَمُ. قَالَ: «أَمَا إِنَّهُمْ إِخْوَانُكُمْ وَمِنْ جِلْدَتِكُمْ، وَيَأْخُذُونَ مِنَ اللَّيْلِ كَمَا تَأْخُذُونَ، وَلٰكِنَّهُمْ أَقْوَامٌ إِذَا خَلَوْا بِمَحَارِمِ اللهِ، انْتَهَكُوهَا»
"ฉันจะได้รู้เห็นกลุ่มชนบางพวกในหมู่ประชาชาติของฉันที่มาในวันกิยามะฮฺด้วยอะมัลความดีที่ขาวบริสุทธิ์เช่นภูเขาติฮามะฮฺ แล้วอัลลอฮฺก็ทำให้มันแหลกเป็นผุยผงกระจัดกระจาย"
เษาบาน เศาะหาบะฮฺท่านหนึ่งถามว่า "โอ้ ท่านรอซูลุลลอฮฺ จงบอกคุณลักษณะของพวกเขาแก่เราด้วยเถิด จงอธิบายให้เราเห็นแจ้งลักษณะของพวกเขา เพื่อว่าพวกเราจะได้ไม่เข้าไปอยู่กลุ่มในพวกเขาเหล่านั้นโดยที่เราไม่รู้ตัว "
ท่านนบี ตอบว่า "พึงทราบเถิด แท้จริงแล้วพวกเขาก็เป็นพี่น้องของพวกเจ้า และมาจากเนื้อหนังเดียวกันกับพวกเจ้า พวกเขาเอาเวลากลางคืน(เพื่อทำอิบาดะฮฺ)เหมือนที่พวกท่านทำ แต่ทว่า พวกเขาเป็นพวกที่เมื่ออยู่เพียงลำพังกับสิ่งที่อัลลอฮฺห้าม พวกเขาก็ละเมิดมัน"
(เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ 5028)
เมื่อท่านอยู่เพียงลำพังกับความมืด
แล้วใจก็เรียกร้องให้ท่านทำความผิด
ก็จงละอายจากสายตาของพระผู้อภิบาลเถิด
จงกล่าวแก่ใจของเจ้าว่า ผู้ทรงสร้างความมืดนั้นมองเห็นฉัน
และฉันขอเตือนตัวฉันเองและเตือนท่าน - โอ้ พี่น้องของฉัน - เป็นลำดับแรกและลำดับสุดท้ายด้วยการอิคลาศเจตนาเพื่ออัลลอฮฺ และปฏิบัติตามสุนนะฮฺในการละหมาดและภารกิจอื่นๆ เพราะท่านนบี ได้กล่าวว่า
«مَنْ قامَ رَمَضانَ، إِيماناً واحْتِساباً، غُفِرَ له ما تَقدَّم مِنْ ذَنْبِه»
"ผู้ใดที่ถือศีลอดเราะมะฎอน ด้วยศรัทธาและหวังความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ บาปที่ผ่านมาของเขาก็จะได้รับการอภัย"
(บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ และมุสลิม)
ฉันวิงวอนขอต่ออัลลอฮฺผู้ทรงยิ่งใหญ่และสูงส่ง ให้ทรงประทานประโยชน์ด้วยบททบทวนเหล่านี้ และขอทรงประทานความอิคลาศ ความถูกต้อง และการตอบรับ
แปลโดย : ซุฟอัม อุษมาน / islamhouse
การละหมาดตะรอวีหฺ สำหรับมุสลิมทั่วไป >>>> Click