จำนวนคนเข้าชม  16441

 

บททบทวนบางประการเกี่ยวกับละหมาดตะรอวีหฺ

ริยาฎ บิน อับดุรเราะห์มาน อัล-หุก็อยลฺ

  

          อัลหัมดุลิลลาฮฺ มวลการสรรเสริญสดุดีเป็นสิทธิแห่งอัลลอฮฺ พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก ขอความจำเริญและสันติสุขจงประสบแด่ผู้นำแห่งเหล่าศาสนทูต ท่านนบี

           นี่คือข้อสังเกตบางประการที่เรามักจะทำผิดไม่ว่าด้วยความรู้หรือความพลั้งเผลอ ซึ่งฉันรักที่จะสะกิดให้รู้เพื่อเป็นการตักเตือนกันเพื่ออัลลอฮฺ เพื่อคัมภีร์ของพระองค์ ศาสนทูตของพระองค์  และเพื่อปวงมุสลิมทั้งโดยรวมและจำเพาะ .. ขออัลลอฮฺทรงประทานความช่วยเหลือ

  

บททบทวนแรก สำหรับบรรดาอิมามนำละหมาด

ความผิดพลาดส่วนหนึ่งเกี่ยวกับผู้นำละหมาดคือ

          1. การอ่านอัลกุรอานอย่างเร็วและละหมาดอย่างรีบเร่ง และบกพร่องในการรุกูอฺ สุญูด ฏุมะนีนะฮฺ(การรักษาจังหวะให้นิ่งในอิริยาบถการละหมาด) และคุชูอฺ (การสงบเสงี่ยมในละหมาด)

          2. การเกินขอบเขตในการขอดุอาอ์ และการอ่านมันยาวๆ เพราะฉะนั้น ขอให้พี่น้องของฉันพยายามที่จะขอดุอาอ์ด้วยตัวบทที่มีสายรายงานถูกต้องและดุอาอ์ที่มีความหมายรวมครอบคลุม เพื่อท่านจะได้รับผลบุญจากการขอดุอาอ์และการตามสุนนะฮฺด้วย และท่านจะได้ปลอดพ้นจากความผิดพลาดและการทำขัดกับแนวทางของท่านรอซูล พึงทราบเถิดว่าการอ่านกุนูต(ในละหมาดวิติร)สม่ำเสมอนั้นไม่ใช่แนวทางของท่านรอซูล

          3. ความเชื่อว่าจำเป็นต้องมีการเคาะตัมอัลกุรอาน ด้วยเหตุนี้จึงรีบเร่งอ่านถึงระดับที่บกพร่องและละเลยความถูกต้องในการอ่าน

         4. ฉันขอเรียกร้องส่งเสริมให้บรรดาอิมามทำตามสุนนะฮฺในการละหมาดกิยาม(ตะรอวีหฺ) นั่นคือด้วยการละหมาดสิบเอ็ดหรือสิบสามร็อกอัต พร้อมๆ กับให้ละหมาดอย่างดีและอ่านยาวโดยไม่สร้างความลำบากมากเกินไป

          5. พร้อมกันนั้น ขอให้พวกเขาอย่าลืมที่จะตักเตือนและชี้นำผู้คนหลังละหมาดเป็นครั้งเป็นคราวด้วย  หรือระหว่างอะซานกับอิกอมะฮฺ เพราะเราะมะฎอนและค่ำคืนของมันเป็นโอกาสดีที่จะใช้เชิญชวนและตักเตือนซึ่งกัน

 

 

 

บททบทวนที่สอง สำหรับคนทั่วไป

          1. ความพยายามอย่างมากและเกินขอบเขตในการตระเวนหาและย้ายไปยังมัสยิดต่างๆ เพื่อหาอิมามที่มีเสียงอ่านไพเราะเพียงอย่างเดียว แท้จริงได้มีรายงานที่ถูกต้องมาจากท่านนบี ว่า

«ليصل أحدكم في المسجد الذي يليه ولا يتبع المساجد»

 "ให้พวกท่านแต่ละคนละหมาดที่มัสยิดที่อยู่ใกล้เขา และอย่าได้ตระเวนหามัสยิดต่างๆ"

(บันทึกโดย อัฏ-เฏาะบะรอนีย์ ดู เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ 5456)

          บรรดาสะลัฟได้ห้ามจากการกระทำดังกล่าว เนื่องจากเป็นเหตุแห่งการละทิ้งมัสยิดบางแห่งได้ เป็นการล่าช้าจากการตักบีเราะตุลอิห์รอม และมีผลเสียที่เกี่ยวข้องกับการหลงใหลในเสียงอ่านอย่างเดียว และอื่นๆ อีกหลายประการ แต่ไม่เป็นการเสียหายใดๆ ถ้าหากผู้ละหมาดจะยึดเอามัสยิดใดมัสยิดหนึ่งเพื่อละหมาดตลอดทั้งเดือนเราะมะฎอน แม้ว่าจะไม่ใช่มัสยิดในหมู่บ้านของตน ถ้าหากพบว่าการละหมาดในมัสยิดดังกล่าวสร้างความคุชูอฺและการตะดับบุรอัลกุรอานได้มากกว่า


          2. การตะโกนและส่งเสียงครางเมื่อร้องไห้ หรือขึ้นเสียงดังและ การแสร้งร้องไห้ พฤติกรรมนี้ไม่ใช่แนวทางของสะลัฟ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุม ทว่าตัวอย่างของเราคือ ท่านนบี นั้น ท่านจะร้องไห้เพียงแค่ได้ยินเสียงสะอื้นเหมือนน้ำที่เดือดกระเพื่อมในหม้อต้มน้ำเท่านั้น ดังนั้นการพยายามเค้นเสียงร้องไห้นั้นเป็นสิ่งที่ถูกห้าม และมันยังเป็นเหตุที่อาจชักนำสู่การโอ้อวดและก่อความรำคาญแก่ผู้ละหมาด เว้นแต่ผู้ที่ยากจะเลี่ยงหรืองดจากสภาวะดังกล่าวเขาก็ย่อมถูกยกเว้น แต่เขาก็ต้องพยายามปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างตั้งใจจริงจัง เพราะแนวทางที่ดีที่สุดคือแนวทางของท่านนบี มุหัมมัด


           3. การรู้สึกกินใจกับคำพูดของมนุษย์แต่ไม่รู้สึกอะไรกับพระดำรัสของพระผู้อภิบาลปวงมนุษย์ นั่นคือการร้องไห้เมื่อขอดุอาอ์เท่านั้น แต่ทว่ากับอัลกุรอานนั้นไม่ได้ร้องไห้ อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

«لَوْ أَنزَلْنَا هَـذَا الْقُرْآنَ عَلَى جَبَلٍ لَّرَأَيْتَهُ خَاشِعاً مُّتَصَدِّعاً مِّنْ خَشْيَةِ اللهِ» (الحشر : 21)

"หากแม้นว่าเราได้ประทานอัลกุรอานนี้ลงมาบนภูเขาลูกหนึ่ง

แน่นอน เจ้าต้องเห็นมันนบน้อมและแตกออกเนื่องจากความหวั่นเกรงต่ออัลลอฮฺ"


          4. บางคนนั่งพูดคุยกันรอเวลาที่อิมามจะรุกูอฺ เมื่ออิมามรุกูอฺก็เข้าไปละหมาดพร้อมกับอิมาม และจะเป็นอย่างนี้ส่วนมากในมัสยิดหะรอม การทำเช่นนี้เป็นการละทิ้งการตามอิมาม ทำให้พลาดตักบีเราะตุลอิห์รอมพร้อมอิมามและอ่านฟาติหะฮฺ ซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง


          5. การมองดูอัลกุรอานในละหมาดระหว่างการอ่านของอิมาม สิ่งนี้จะมีเป็นส่วนใหญ่ในมัสยิดหะรอม การทำเช่นนี้มีข้อเสียหลายประการเช่น การเคลื่อนไหวของมือทั้งสองและสายตามากเกินไป การละทิ้งสุนนะฮฺให้จับมือและวางที่หน้าอก และละทิ้งการเพ่งมองที่สุญูด เป็นต้น


          6. การละหมาดพร้อมอิมามเพียงแค่สี่หรือหกร็อกอัต จากนั้นก็เลิกไปทำสิ่งที่เป็นภารกิจดุนยาต่อ การทำเช่นนี้ทำให้พลาดผลบุญที่ใหญ่หลวง เพราะท่านนบี  ได้กล่าวว่า

«مَنْ قَامَ مَعَ الإمَامِ حَتَّى يَنْصَرِفَ كُتِبَ لَهُ قِيَامُ لَيْلَةٍ»

 "ผู้ใดที่ยืนละหมาดพร้อมอิมาม จนกระทั่งอิมามได้จากไป(เพราะเสร็จสิ้นจากละหมาดแล้ว) จะถูกบันทึกแก่เขาเท่ากับการยืนละหมาดทั้งคืน"

(บันทึกโดยเจ้าของหนังสือสุนันทั้งหลาย เป็นหะดีษเศาะฮีหฺ ดู เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ 2417)


          7. การกินมากเกินไปเมื่อละศีลอด แล้วก็มาละหมาดในขณะที่ร่างกายหนักอึ้งด้วยอาหาร ทำให้ไม่สามารถละหมาดจนเสร็จ หรือไม่ก็สร้างความรำคาญให้แก่ผู้อื่นด้วยเสียงเรอ

 

 www.saaid.net  แปลโดย : ซุฟอัม อุษมาน / islamhouse

 

 

บททบทวนละหมาดตะรอวีหฺ ของมุสลิมะฮ์  >>>> Click