รอมาฎอน..กับภารกิจสำคัญที่ต้องแสวงหา
โดย ยูซุฟ อบูบักร
อัลฮัมดุลิลลาฮฺ อิลละซี อะดานาลิลอิสลาม..
อัลลอฮุมมา ตะก็อบบัลมินนา ดุอาอานา วะศิยามานา วะกิยามานา..
เมื่อปีที่แล้วเราต่างได้ถือศิลอดผ่านมาเหมือนกับหลายๆ ปีที่ผ่านพ้น ปีนี้แขกสำคัญคนเดิมได้เดินทางมาเยือนเราอีกครั้งตามวาระ ฉะนั้นไม่อยากให้เกิดความเคยชินในการต้อนรับแขกพิเศษกลายเป็นนิสัย จนกระทั่งเรารู้สึกเป็นเรื่องธรรมดาไม่ได้ให้ความสำคัญอะไรมากมาย บทความต่อไปนี้หวังว่าเป็นเครื่องมากระตุ้นให้เราตื่นตัว ให้ความสำคัญกับแขกมากกว่าที่เป็นอยู่ ส่วนหนึ่งจากภารกิจสำคัญในการเตรียมรับรองแขก เพื่อหวังว่าการมาเยือนของเขาจะนำเราไปสู่การปฏิรูปหรือการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ขอนำเสนอสิ่งที่ควรให้ความสำคัญเป็นกรณีพิเศษในเดือนรอมฎอนมีดังต่อไปนี้
หนึ่ง..การถือศีลอด
อัลลอฮ์ ตรัสว่า
“เดือนรอมาฎอนเป็นเดือนที่อัลกุรอานถูกประทานลงมาเป็นข้อแนะนำสำหรับมวลมนุษยชาติ
และเป็นหลักฐานอันชัดเจนเกี่ยวกับข้อแนะนำนั้น และเป็นสิ่งที่มาจำแนกระหว่างความจริงกับความเท็จ
ดังนั้นผู้ใดจากกลุ่มพวกท่านเข้าอยู่ในเดือนนั้นแล้วก็จงถือศีลอด...”
(อัลบากอเราะฮฺ :185)
และท่านเราะซูล กล่าวว่า
“ผู้ใดที่ถือศีลอดด้วยความอีหม่านและหวังในการตอบแทน จะถูกอภัยโทษให้แก่เขาในความผิดที่ผ่านมา”
(บันทึกโดยอัลบุคอรียฺและมุสลิม)
1.1 มีความบริสุทธิ์ใจในการถือศีลอด (อิคลาศ) อัลลอฮ์ ทรงตรัสว่า
“และพวกเขามิได้ถูกบัญชาให้กระทำอื่นใดนอกจากเพื่อเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์ เป็นผู้มีเจตนาบริสุทธิ์ในการภักดีต่อพระองค์
เป็นผู้อยู่ในแนวทางอันเที่ยงตรง และดำรงการละหมาด และจ่ายซะกาต และนั่นคือศาสนาอันเที่ยงธรรม”
(อัลบัยยินะฮฺ : 5)
1.2 รับประทานอาหารสะหูร ท่านเราะซูล กล่าวว่า
“พวกท่านจงรับประทานอาหารสะหูรเถิด เพราะแท้จริงในอาหารสะหูรมีบะรอกะฮ์ (ความจำเริญ) อยู่”
(อัลบุคอรียฺและมุสลิม)
1.3 ให้รีบละศีลอด ท่านเราะซูล กล่าวว่า
“มนุษย์จะยังคงอยู่ในความดีงาม ตราบใดที่พวกเขารีบเร่งในการละศีลอด”
(บันทึกโดยอัลบุคอรียฺ)
สอง...การละหมาด
ท่านเราะซูล กล่าวว่า
“ไม่มีมุสลิมคนใดได้ทำการละหมาดฟัรฏู โดยที่เขาได้อาบน้ำละหมาดอย่างดี มีสมาธิอย่างดีและรูกัวะอย่างดี
นอกจากเขาจะถูกลบล้างความผิดเล็กๆ ในปีที่ผ่านมาทั้งหมด”
(บันทึกโดยมุสลิม)
2.1 พยายามรักษาการละหมาดให้อยู่ในเวลา
ท่านเราะซูล ถูกถามว่า การงานใดประเสริฐที่สุด ?
ท่านตอบว่า “การละหมาดในเวลา”
(บันทึกโดยอัลบุคอรียฺและมุสลิม)
2.2 พยายามรักษาละหมาดศุบฮิและอัศริ
ท่านเราะซูล กล่าวว่า
“ผู้ใดที่ได้ละหมาดบัรดัยนฺ (ศุบฮิและอัศริ) เขาจะได้เข้าสวนสวรรค์”
(บันทึกโดยอัลบุคอรียฺ)
2.3 พยายามรักษาละหมาดญุมอะฮ์
ท่านเราะซูล กล่าวว่า
“ระหว่างการละหมาดห้าเวลา จากญุมอะฮ์ถึงญุมอะฮ์ จากรอมาฎอนถึงรอมาฎอน
พวกเขาจะถูกลบล้างความผิดให้ เมื่อเขาได้ออกห่างจากบาปใหญ่”
(บันทึกโดยมุสลิม)
2.4 พยายามรักษาการละหมาดญะมาอะฮ์
ท่านเราะซูล กล่าวว่า
“การละหมาดญะมาอะฮ์ ประเสริฐกว่าการละหมาดคนเดียวถึง 27 เท่า”
(บันทึกโดยอัลบุคอรียฺและมุสลิม)
2.5 พยายามรักษาละหมาดสุนนะฮ์รอวาติบ (ก่อนหรือหลังละหมาดฟัรฎู)
ท่านเราะซูล กล่าวว่า
“ไม่มีบ่าวมุสลิมคนใดที่ละหมาดเพื่ออัลลอฮ์ ในวันหนึ่ง 12 ร็อกอัตด้วยความสมัครใจนอกเหนือจากละหมาดฟัรฏู
ยกเว้นอัลลอฮ์ จะสร้างบ้านหลังหนึ่งในสวนสวรรค์ให้แก่เขา”
(บันทึกโดยมุสลิม)
2.6 รักษาละหมาดตะรอเวียะและละหมาดวิตรฺ ท่านเราะซูล กล่าวว่า
“ละหมาดที่ประเสริฐสุดหลังจากละหมาดฟัรฏู คือ ละหมาดในยามกลางคืน”
(บันทึกโดยมุสลิม)
2.7 ให้พยายามละหมาดฏุฮาเป็นประจำ ท่านเราะซูล กล่าวว่า
“ทุกตอนเช้ากระดูกทุกข้อของพวกท่านได้ทำศอดาเกาะฮ์
ทุกครั้งที่กล่าว ซุบฮานัลลอฮ์ เป็นศอดาเกาะฮฺ การกล่าว อัลฮัมดุลิลลาฮ์ เป็นศอดาเกาะฮ์
การกล่าว ลาฮิลาฮะอิลลัลลอฮ์ เป็นศอดาเกาะฮฺ การกล่าว อัลลอฮุอักบัร เป็นศอดาเกาะฮ์
การใช้ให้ทำความดีเป็นศอดาเกาะฮ์ การห้ามปรามจากความชั่วเป็นศอดาเกาะฮ์
และเป็นการเพียงพอจากสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาด้วยการละหมาดฏุฮาเพียงสองร็อกอัต”
(บันทึกโดยมุสลิม)
สาม...ซิกรุลลอฮ์
อัลลอฮ์ ทรงตรัสว่า
“ดังนั้นพวกเจ้าจงรำลึกถึงฉันเถิด ฉันก็จะรำลึกถึงพวกเจ้า และจงขอบคุณฉันเถิดและจงอย่าเนรคุณต่อฉันเลย”
(อัลบาเกาะเราะฮฺ :152)
ท่านเราะซูล กล่าวว่า
“เอาหรือไม่ฉันจะบอกพวกท่านถึงการงานที่ดีที่สุดสำหรับพวกท่าน จะเพิ่มพูน (ผลบุญ) มากที่สุด ณ ที่พระเจ้า มีตำแหน่งสูงส่งที่สุด
ประเสริฐกว่าการบริจาคเงินทอง ประเสริฐกว่าที่ท่านออกไปเผชิญหน้ากับศัตรูโดยที่พวกท่านได้ฆ่าพวกเขาและพวกท่านถูกพวกเขาฆ่า ?
พวกเขากล่าวว่า เอาซิ !
ท่านเราะซูล กล่าวว่า การรำลึกถึงอัลลอฮ์ ”
(บันทึกโดยอัตติรมิซียฺ)
3.1 จงเรียนและสอน อ่านและใคร่ครวญอัลกุรอาน
ท่านเราะซูล กล่าวว่า
“จงอ่านอัลกุรอาน แท้จริงในวันกิยามะฮ์มันจะให้ความช่วยเหลือแก่สหายของมัน”
(บันทึกโดยมุสลิม)
และอีกฮะดิษหนึ่ง ความว่า
“ผู้ที่ประเสริฐสุดในกลุ่มพวกท่านคือ ผู้ที่เรียนและสอนอัลกุรอาน"
(บันทึกโดยอัลบุคอรียฺ)
3.2 วิงวอนขอดุอาอ์
อัลลอฮ์ ทรงตรัสว่า
“และเมื่อบ่าวของฉันได้ถามเจ้าถึงฉัน (จงตอบว่า) แท้จริงฉันนั้นอยู่ใกล้
ฉันจะตอบรับคำวิงวอนของผู้ที่วิงวอนเมื่อเขาวิงวอนต่อฉัน
ดังนั้นพวกเขาจงตอบรับต่อฉันเถิดและจงศรัทธาต่อฉัน เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้อยู่ในแนวทางที่ถูกต้อง”
(อัลบาเกาะเราะฮฺ : 186)
3.3 พยายามในการกลับเนื้อกลับตัว (เตาบะฮฺ) ต่ออัลลอฮ์
ท่านเราะซูล กล่าวว่า
“ผู้ใดที่ได้เตาบะฮ์ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก อัลลอฮ์จะทรงตอบรับการเตาบะฮ์ของเขา”
(บันทึกโดยมุสลิม)
และกล่าวอีกว่า
“แท้จริงอัลลอฮ์จะทรงตอบรับการเตาบะฮ์ของบ่าว ตราบใดที่ลมหายใจยังไม่ถึงคอหอย”
(บันทึกโดยอัตติรมิซียฺ)
สี่...ทำศอดาเกาะฮฺ (บริจาคทานโดยสมัครใจ)
อัลลอฮ์ ทรงตรัสว่า
“และความดีงามอันใดที่พวกเจ้าได้กระทำไว้ล่วงหน้าสำหรับตัวของพวกเจ้าเอง พวกเจ้าก็จะได้พบมัน ณ ที่อัลลอฮ์
แท้จริง อัลลอฮ์ เป็นผู้เห็นในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำกันอยู่”
(อัลบาเกาะเราะฮฺ : 110)
ท่านเราะซูล กล่าวว่า
“การทำศอดะเกาะฮฺจะลบล้างความผิด เสมือนการเอาน้ำดับไฟ”
(บันทึกโดยอัตติรมิซียฺ)
4.1 ให้จัดเลี้ยงอาหารแก่ผู้ที่ถือศีลอด
ท่านเราะซูล กล่าวว่า
“ผู้ใดที่เลี้ยงอาหารแก่ผู้ที่ถือศีลอดเขาจะได้รับผลบุญเหมือนผู้ที่ถือ โดยที่ผลบุญของผู้ที่ถือศีลอดไม่ได้ลดน้อยลงแต่ประการใด”
(บันทึกโดยอัตติรมิซียฺ ท่านกล่าวว่าเป็นหะดีษฮะซันศอเฮียะ)
4.2 บริจาคทานแก่หญิงหม้าย คนยากจนและเด็กกำพร้า
ท่านเราะซูล กล่าวว่า
“ผู้ที่เลี้ยงดูหญิงหม้ายและคนยากจน เปรียบเสมือนผู้ที่ออกต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์”
และฉันคิดว่าท่านพูดว่า “เปรียบเสมือนคนยืนละหมาดไม่หยุดพักหรือผู้ที่ถือศีลอดโดยไม่ละ”
(บันทึกโดยอัลบุคอรียฺ)
ท่านเราะซูล กล่าวว่า
“ฉันและผู้ที่เลี้ยงดูเด็กกำพร้าในสวนสวรรค์จะอยู่ด้วยกันอย่างนี้”
ท่านพูดโดยที่ชูนิ้วชี้กับนิ้วกลาง (หมายถึงจะได้อยู่กันอย่างใกล้ชิด)
(บันทึกโดยอัลบุคอรียฺ)
4.3 จ่ายซะกาตฟิตร
"ท่านเราะซูล ได้กำหนดซะกาตฟิตร ให้แก่ผู้ถือศีลอดเพื่อเป็นการชำระล้างจากเรื่องไร้สาระ
และการเกี้ยวพาราสี และเป็นอาหารให้แก่คนยากจน
ผู้ที่จ่ายมันก่อนละหมาดอีฏ ถือว่าเป็นซะกาตที่ถูกตอบรับ
ส่วนผู้ที่จ่ายมันหลังจากละหมาดอีฏถือว่าเป็นศอดาเกาะฮ์ เหมือนกับศอดาเกาะฮ์ทั่วไป”
(บันทึกโดยอบูดาวุด)
ห้า...เข้าร่วมการเอียะติกาฟ
โดยมีความมุ่งมั่นในการทำอิบาดะฮฺช่วง 10 คืนสุดท้ายของเดือนรอมาฎอน
“ท่านเราะซูล เมื่อเข้าช่วงสิบคืนสุดท้าย ท่านจะไม่นอนในตอนกลางคืนโดยจะปลุกให้สมาชิกในครอบครัวตื่น และจะกระชับผ้าขึ้น
(แสดงถึงความมุ่งมั่นในการแสวงหาความดีของท่าน)”
(บันทึกโดยอัลบุคอรียฺและมุสลิม)
“ท่านเราะซูล จะเอียะติกาฟในช่วงสิบคืนสุดท้ายของเดือนรอมาฎอน”
(บันทึกโดยอัลบุคอรียฺ)
5.1 แสวงหาคืนลัยละตุลก็อดร์ ด้วยความอีมานและหวังในการตอบแทน
ท่านเราะซูล กล่าวว่า
“ผู้ใดที่ละหมาดในคืนลัยละตุลก็อดร์ ด้วยความอีมานและหวังในการตอบแทน จะถูกอภัยโทษให้แก่เขาในความผิดที่ผ่านมา”
(บันทึกโดยอัลบุคอรียฺและมุสลิม)
5.2 ดุอาอฺขอในคืนลัยละตุลก็อดร์
จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ รอฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า โอ้ท่านเราะซูลุลลอฮ์ หากฉันประสบตรงกับคืนลัยละตุลก็อดร์ แล้วฉันจะกล่าว (ดุอาอ์) ว่าอย่างไร ?
ท่านตอบว่า เธอจงกล่าวว่า “อัลลอฮุมมา อินนะกา อะฟูวุน ตุฮิบบุนอัฟวา ฟะอ์ฟูอันนีย์”
คำแปล
“โอ้อัลลอฮ์ แท้จริงพระองค์คือผู้ทรงอภัย ทรงรักการอภัย ดังนั้นขอทรงโปรดอภัยแก่ฉันด้วยเถิด”
(บันทึกโดยอัตติรมิซียฺ ,อะหฺมัด , อิบนุมาญะฮฺ และอัลฮากิม)