60 คำถาม เกี่ยวกับรอบเดือนและนิฟาส
  จำนวนคนเข้าชม  93612

 

60 คำถาม   เกี่ยวกับรอบเดือน(หัยฎ์) และน้ำคาวปลา(นิฟาส)

 

โดย: เชคมุหัมมัด  อิบนุ ศอลิห์ อัลอุษัยมีน 


ความหมายของเลือดรอบเดือน

          รอบเดือนหรือประจำเดือนของสตรี (หัยฎ์) คือ เลือดที่เป็นธรรมชาติของสตรี เป็นเลือดที่เกิดจากการทำความสะอาดภายในมดลูก ซึ่งหลั่งออกมาจากช่องคลอดในเวลาที่แน่นอน ปกติแล้วระยะเวลาของการมีรอบเดือนจะมีระยะเวลาอยู่ระหว่าง 6-7 วัน

การมีรอบเดือน

          อัลลอฮ์   ทรงกำหนดให้สตรีมีรอบเดือนขึ้น เพื่อประโยชน์ทางโภชนาการของทารกในครรภ์มารดา ดังจะเห็นได้ว่าหญิงที่ตั้งครรภ์นั้นจะไม่มีรอบเดือน เมื่อคลอดบุตร เลือดรอบเดือนดังกล่าวจะเปลี่ยนสภาพไปเป็นน้ำนมที่สะสมอยู่ในเต้านมทั้งสองของมารดา ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือสตรีที่อยู่ในระยะให้นมบุตรนั้นจะไม่มีเลือดรอบเดือนด้วยเช่นกัน

ความหมายของน้ำคาวปลา (นิฟาส)

          น้ำคาวปลา (นิฟาส) คือ เลือดที่หลั่งออกมาทางช่องคลอดของสตรีขณะคลอด หลังคลอด หรือก่อนคลอดบุตร  โดยปกติแล้วนิฟาส  จะมีระยะเวลามากที่สุดประมาณ 40 วัน

 

(1) คำถาม เมื่อสตรีหมดรอบเดือนในเดือนรอมาฎอน หลังจากแสงอรุณขึ้น เธอจะต้องงดการรับประทานอาหาร และถือศีลอดหรือไม่ ?  การถือศีลอดในวันนั้นจะใช้ได้หรือไม่อย่างไร ?  หรือจะต้องถือศีลอดทดแทนภายหลัง ?
      
          คำตอบ  เมื่อสตรีหมดเลือดรอบเดือนหลังจากแสงอรุณขึ้นแล้ว เกี่ยวกับการงดรับประทานอาหาร นักวิชาการมุสลิมได้ให้ไว้ 2 ทัศนะ  คือ

          1. ท่านอีหม่ามอะหมัดได้ให้ทัศนะไว้ว่า “เธอต้องงดจากการกินหรือดื่มในวันดังกล่าว แต่มิได้ถือว่าเธอได้ถือศีลอด  ดังนั้นจะต้องถือศีลอดทดแทน”  ทัศนะข้อนี้นับได้ว่าเป็นทัศนะที่ชัดเจนพอสมควร

          2. ไม่ต้องงดจากการกินดื่มในวันนั้น  เพราะการถือศีลอดนั้นใช้ไม่ได้  เนื่องจากยังมีรอบเดือนตั้งแต่เริ่มแรกของวัน จึงนับได้ว่าเธอไม่ใช่ผู้ที่ต้องถือศีลอด เมื่อการถือศีลอดในวันดังกล่าวใช้ไม่ได้ การถือศีลอดก็ไม่มีประโยชน์  เพราะการถือศีลอดเป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับเธอในเวลานั้น การถือศีลอดที่ถูกต้องตามหลักศาสนา ต้องเริ่มตั้งแต่แสงอรุณขึ้น จนถึงดวงอาทิตย์ตกดิน ทัศนะที่สองจึงมีน้ำหนักมากกว่าทัศนะแรก  แต่ทั้งสองทัศนะนี้ เห็นตรงกันว่าเธอจะต้องถือศีลอดทดแทนภายหลัง


(2)  คำถาม   หากสตรีสิ้นสุดการมีรอบเดือน และได้อาบน้ำชำระร่างกายหลังจากเวลา อัลซุบฮ์  ในวันนั้นเธอได้ละหมาดและถือศีลอด แล้วเธอจะต้องถือศีลอดทดแทนอีกหรือไม่อย่างไร ?

         คำตอบ เมื่อสตรีหมดเลือดรอบเดือนก่อนแสงอรุณขึ้นในเดือนรอมาฎอน  แม้แต่แค่เพียงเล็กน้อยก็ตาม เธอจำเป็นต้องถือศีลอด เพราะได้ถือศีลอดแล้วก่อนที่จะอาบน้ำยกฮะดัษ แม้ว่าจะอาบน้ำหลังจากแสงอรุณขึ้นแล้วให้ถือว่าใช้ได้  เช่นเดียวกับผู้ชายที่ร่วมหลับนอนหรือมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาแล้วมาอาบน้ำหลังแสงอรุณขึ้น ถือว่าการถือศีลอดของเขานั้นใช้ได้

           ในโอกาสนี้ข้าพเจ้าจะให้ความกระจ่างในประเด็นที่สตรีบางคนมักจะเข้าใจผิดในเรื่องการมีรอบเดือนในช่วงหลังจากละศีลอดแล้ว  ซึ่งจะเข้าใจว่าการถือศีลอดในวันนั้นเป็นโมฆะ  ความจริงแล้วหากมีรอบเดือนหลังจากเวลาตะวันตกดิน(มัฆริบ)ไปแล้ว แม้แต่เพียงเล็กน้อยถือว่า การถือศีลอดของเธอนั้นสมบูรณ์ ไม่เป็นโมฆะแต่อย่างใด


(3) คำถาม เมื่อสตรีสิ้นสุดการมี นิฟาส  ก่อนกำหนดเวลา 40 วัน จะต้องถือศีลอดหรือไม่อย่างไร ?
 
           คำตอบ   เมื่อสตรีสิ้นสุดการมี นิฟาส ก่อนกำหนดเวลา 40 วัน จะต้องถือศีลอด ละหมาด และอนุญาตให้ร่วมหลับนอนมีเพศสัมพันธ์กับสามีได้ เพราะเธอสะอาดและหมดจากการมี นิฟาส แล้ว ไม่เป็นที่ต้องห้ามสำหรับเธอที่จะถือศีลอด ละหมาด และร่วมหลับนอนกับสามีของเธอ


(4)  คำถาม ปกติแล้วการมีรอบเดือนของสตรีจะมีระยะเวลาประมาณ 7 - 8 วัน หากมีรอบเดือนเกินกว่านั้น  เดือนละสองสามครั้ง จะปฏิบัติอย่างไร ?
  
          คำตอบ   ปกติแล้วสตรีจะมีรอบเดือนอยู่ในระยะเวลาระหว่าง   6 ถึง 7 วัน หรือบางครั้งอาจมีระยะเวลา 8 - 11วัน ในช่วงเวลานี้สตรีไม่ต้องละหมาด จนกว่าจะมั่นใจว่าหมดรอบเดือน เพราะท่านเราะซูล   ไม่ได้กำหนดขอบเขตที่แน่นอนของการมีรอบเดือน และอัลลอฮ์  ทรงตรัสไว้ในอัลกุรอ่าน ความว่า

“และพวกเขาจะถามเจ้าเกี่ยวกับประจำเดือน จงกล่าวเถิด(มุฮัมหมัด)ว่า มันเป็นสิ่งให้โทษ  ดังนั้นพวกเจ้าจงห่างไกลหญิงในขณะมีประจำเดือน และจงอย่าเข้าใกล้นาง  จนกว่านางจะสะอาด”

           ดังนั้นสตรีที่อยู่ในช่วงระยะเวลาที่มีรอบเดือน จะต้องรอจนหมดเลือดรอบเดือนก่อน จึงจะอาบน้ำและทำการละหมาด และในเดือนถัดไปถ้ามีระยะเวลาการมาของเลือดรอบเดือนน้อยกว่า จำเป็นต้องอาบน้ำและละหมาดซึ่งไม่ต้องรอให้ครบตามจำนวนวันในเดือนก่อนหน้า สรุปคือ เมื่อใดที่สตรีมีรอบเดือนไม่ต้องละหมาดแต่เมื่อสิ้นสุดรอบเดือนจะต้องละหมาด โดยไม่จำกัดจำนวนวันในการมีรอบเดือน ว่าจะสิ้นสุดช้าหรือเร็วของในแต่ละเดือน


(5)  คำถาม  สตรีที่มีน้ำคาวปลา (นิฟาส) จะต้องรอจนถึง 40 วันก่อน จึงจะอาบน้ำและละหมาดได้ หรือรอให้ เลือดนิฟาส หมดก่อน แล้วจึงทำการละหมาดและถือศีลอด ? ระยะเวลาที่น้อยที่สุดของการมีนิฟาส หลังคลอดนั้นปกติจะมีกี่วัน ?

         คำตอบ   เลือดนิฟาส หลังคลอดบุตรนั้นไม่มีระยะเวลาที่แน่นอน ถ้าเวลาใดที่ยังคงมีอยู่ ก็ไม่ต้องละหมาด ไม่ต้องถือศีลอด และไม่อนุญาตให้มีเพศสัมพันธ์กับสามี จนกว่าจะหมดเลือดนิฟาสและสะอาด ถ้าหมดก่อนกำหนด 40 วัน เช่น หมดในระยะเวลาเพียง 10 วัน หรือ 5 วัน จำเป็นต้องอาบน้ำและละหมาด และสามารถมีเพศสัมพันธ์กับสามีได้  การมีหรือไม่มีนิฟาสนั้น เป็นสิ่งที่สัมผัสได้ ฉะนั้นในกรณีที่มีนิฟาสให้ปฏิบัติตามหลักการที่วางไว้ เมื่อสิ้นสุดและสะอาดต้องละหมาดและถือศีลอดตามปกติ ถ้าหากมีเกินกว่า 60 วัน ให้ถือว่าเป็นเลือดอิสติฮาฏอฮ์ (استحاضة ) ต้องรอให้ครบจำนวนวันเท่ากับจำนวนวันของการมีรอบเดือนตามปกติ  และหลังจากนั้นต้องอาบน้ำและละหมาด


(6) คำถาม หากสตรีมีเลือดออกมากระปิดกระปรอย ทุกวันตลอดทั้งเดือนรอมาฎอนและ เธอได้ถือศีลอดทุกวัน การถือศีลอดนั้นถูกต้อง และสมบูรณ์หรือไม่อย่างไร ?
 
        คำตอบ  การถือศีลอดของสตรีถือว่าสมบูรณ์ถูกต้อง ส่วนเลือดที่ออกมานั้น  ไม่นับว่าเป็นเลือดรอบเดือน 

“ อาลี อิบนุ อาบีฏอเล็บ ได้กล่าวว่า เลือดที่ออกมาทีละนิดเปรียบเสมือนเลือดที่ออกจากจมูกไม่ใช่เลือดรอบเดือน ”


(7) คำถาม  เมื่อสตรีหมดเลือดรอบเดือนหรือนิฟาส ก่อนแสงอรุณขึ้นแต่ยังไม่ได้อาบน้ำยกฮะดัษ มาอาบน้ำหลังแสงอรุณขึ้นแล้ว การถือศีลอดในวันนั้นถูกต้องหรือไม่อย่างไร ?

           คำตอบ   การถือศีลอดนั้นถูกต้องสมบูรณ์ เพราะเธอได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้ที่ต้องถือศีลอดแล้ว  เช่น ผู้ที่อยู่ในฮะดัษหรือมีญะนาบะห์(جنابة) (การหลั่งอสุจิหรือมีเพศสัมพันธ์) ก่อนแสงอรุณขึ้น แต่เขากลับไปอาบน้ำยกฮะดัษในช่วงเวลาหลังแสงอรุณขึ้นแล้ว ถือว่าการถือศีลอดของเขาถูกต้องสมบูรณ์ อัลลอฮ์  ทรงตรัสไว้ใน อัลกุรอาน ความว่า :

 “ บัดนี้พวกเจ้าจงสมสู่กับพวกนางได้ และแสวงหาสิ่งที่อัลลอฮ์   ได้ทรงกำหนดให้แก่พวกเจ้าเถิด และจงกิน และดื่ม จนกระทั่งเส้นขาว(แสงสว่าง) จะประจักษ์แก่พวกเจ้าจากเส้นดำ(ความมืด) เนื่องจากแสงรุ่งอรุณ”          

          ฉะนั้นเมื่ออัลลอฮ์   ทรงอนุญาตให้มีเพศสัมพันธ์ได้จนกระทั่งมีแสงสว่างของรุ่งอรุณ การอาบน้ำจึงต้องอาบหลังจากแสงอรุณขึ้น
 
          ท่านหญิงอาอีชะฮ์ รอฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า: 

“ ท่านนะบี   ได้ทำการถือศีลอดในเช้าของวันใหม่ทั้งๆที่ท่านยังอยู่ในภาวะที่มีญะนาบะห์เนื่องจากการมีเพศสัมพันธ์กับภริยาในตอนกลางคืน” (นั่นแสดงว่าท่านยังไม่ได้อาบน้ำชำระร่างกาย จนกระทั่งแสงอรุณขึ้นแล้ว) 


(8) คำถาม ในกรณีที่สตรีมีความรู้สึกเหมือนมีเลือดรอบเดือนก่อนดวงอาทิตย์ตกดิน แต่ปรากฏว่าไม่มีรอบเดือนไหลออกมาแต่อย่างใด การถือศีลอดนั้นจะสมบูรณ์หรือไม่อย่างไร ?
 
            คำตอบ เมื่อสตรีมีความรู้สึกเหมือนมีรอบเดือน แต่ไม่มีเลือดไหลออกมา จนถึงพระอาทิตย์ตกดิน การถือศีลอดนั้นถือว่าใช้ได้ และไม่ต้องถือศีลอดทดแทนแต่อย่างใด


(9) คำถาม  ถ้าสตรีสังเกตเห็นว่ามีเลือดออกมา แต่ยังไม่มั่นใจว่าจะเป็นเลือดรอบเดือนหรือไม่ การถือศีลอดนั้นจะเป็นอย่างไร ?
    
          คำตอบ  การถือศีลอดถือว่าใช้ได้เพราะเลือดที่ออกมาไม่ใช่เลือดรอบเดือนจนกว่าจะมั่นใจว่าเป็นเลือดรอบเดือนจริงๆเท่านั้น 


(10)  คำถาม  เมื่อสังเกตเห็นว่ามีเลือดไหลออกมาเพียงเล็กน้อยหรือเพียงไม่กี่หยดในช่วงเวลาที่ไม่ใช่ระยะเวลาของการมีรอบเดือน หรือบางครั้งอาจสังเกตเห็นมีเลือดไหลออกมาเพียงเล็กน้อยหรือเพียงไม่กี่หยดในระยะเวลาของการมีรอบเดือนพอดี ทั้งสองกรณีนี้การถือศีลอดจะเป็นอย่างไร ?

          คำตอบ ถ้ามีเลือดไหลออกมาในช่วงระยะเวลาของรอบเดือนถือว่าเลือดนั้นเป็นเลือดรอบเดือน ถึงแม้ว่าเลือดที่ออกมาจะมีเพียงไม่กี่หยดก็ตาม แต่ถ้ามีเลือดไหลออกมาในเวลาที่ไม่ใช่ช่วงระยะเวลาของการมีรอบเดือนถือว่าเลือดนั้นไม่เป็นเลือดรอบเดือนแต่อย่างใด

 

คำถาม ข้อที่          1-10          11-20          21-30         31-40          41-50          51-60 

 


แปลและเรียบเรียง : 
อ.มีลีกอดียา จาปะกียา , อ.ซาอูเดาะห์  แฉ๊ะ , อ.ซูบัยดะห์  อูมา