สตรีและบุรุษ ได้รับรางวัลและลงโทษเท่ากันไหม?
  จำนวนคนเข้าชม  5561

 

บรรดาสตรีและบุรุษนั้น  จะได้รับรางวัลและได้รับการลงโทษเท่ากันหรือไม่

 

คำถาม

         บางคนในหมู่ของพวกเราได้กล่าวเอาไว้ว่า  บรรดาสตรีเป็นผู้ที่มีความบกพร่องทั้งในเรื่องสติปัญญาและในเรื่องของศาสนา  อีกทั้งด้อยในเรื่องของการได้รับมรดกและการเป็นพยาน  และแม้ว่าสตรีจะมีความบกพร่องในเรื่องดังกล่าวนี้  มีผู้ที่กล่าวว่าพระองค์อัลลอฮ์ นั้น  จะทรงให้เท่าเทียมกันระหว่างสตรีและบุรุษในเรื่องของรางวัลตอบแทนและการลงโทษ  จากข้อมูลข้างต้นนี้  ท่านมีความคิดเห็นว่าอย่างไร  และสตรีนั้นถือว่าเป็นผู้ที่มีความบกพร่องดังกล่าวตามทัศนะของอิสลามหรือไม่


บรรดาการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิ์ของพระองค์อัลลอฮ์

 


คำตอบ

          การมาของศาสนาอิสลามนั้น  มีมาเพื่อยกเกียรติให้กับบรรดาสตรีและได้ยกสถานะของเธอให้สูงขึ้น  และให้เธอมีตำแหน่งที่เหมาะสม โดยให้มีการดูแลและปกป้องเกียรติยศของเธอ   อิสลามจึงสั่งใช้ให้บรรดาผู้ปกครอง  และบรรดาสามีของพวกเธอ  มีหน้าที่ที่จะต้องดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายให้กับพวกเธอ  ให้ดูแลเอาใจใส่อย่างดี  และเมตตาเธอ 

ดังพระดำรัสของพระองค์อัลลอฮ   ที่ว่า

“และจงร่วมกับพวกเธอด้วยดี”    

(ซูเราะฮ al-Nisa’ 4:19)

ดังฮะดีษของท่านนบีมุฮัมมัด ที่ได้กล่าวเอาไว้ว่า

“ผู้ที่ดีที่สุดในหมู่ของพวกท่านนั้นคือผู้ที่ทำดีกับภรรยาของเขา 

และฉันนั้นเป็นผู้ที่ดีที่สุดในหมู่ของพวกท่าน  ซึ่งฉันนั้นเป็นผู้ที่ทำดีต่อบรรดาภรรยาของฉัน”  

(รายงานโดย al-Tirmidhi, 5/709, no. 3895)

          อิสลามได้ให้สิทธิอันชอบธรรมแก่บรรดาสตรีและอนุญาตพวกเธอในการจัดการเรื่องการเงินของเธออย่างเหมาะสม  ดังพระดำรัสของพระองค์อัลลอฮ   ในซูเราะฮอัลบากอเราะฮ์ ที่ว่า

“และบรรดาหญิงที่ถูกหย่าร้าง พวกนาง จะต้องรอคอยตัวของตนเองสามกุรูอ์(สามเดือน) 

และไม่อนุมัติให้แก่พวกนาง ในการที่พวกนางจะปกปิดสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ทรงให้บังเกิดขึ้น ในมดลูกของพวกนาง

หากพวกนางศรัทธาต่ออัลลอฮ์ และวันปรโลก

และบรรดาสามีของพวกนางนั้นเป็นผู้มีสิทธิกว่า ในการให้พวกนางกลับมาในกรณีดังกล่าว หากพวกเขาปราถนาจะประนีประนอม

และพวกนางนั้นจะได้รับ เช่นเดียวกับสิ่งที่เป็นหน้าที่ของพวกนาง จะต้องปฏิบัติโดยชอบธรรม

และสำหรับบรรดาชายนั้น มีฐานะเหนือพวกนางขั้นหนึ่ง และอัลลอฮ์นั้น เป็นผู้ทรงเดชานุภาพ ผู้ทรงปรีชาญาน” 

(ซูเราะฮ al-Baarah 2:228)

          รวมถึงการเกี่ยวข้องกับการซื้อ การขาย การต่อรองราคา  และการทำธุรกรรมทางการเงินกับบุคคลอื่น เช่น  การให้ยืมเงิน การฝากเงินเชื่อ เป็นต้น

 

          อิสลามนั้นได้สั่งใช้ให้สตรีทำการเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า และให้เธอได้มีหน้าที่ความรับผิดชอบที่เหมาะสมกับเธอ  เช่นเดียวกับที่บุรุษนั้นมีหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบในทางศาสนา  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์  การจ่ายซะกาต  การถือศีลอด การละหมาด  การประกอบพิธีฮัจญ์  และการแสดงการเคารพภักดีอื่น ๆ

          ส่วนในกรณีที่บรรดาสตรีได้รับมรดกเพียงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับบุรุษนั้น  เนื่องมาจากว่า  เธอไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำการชำระค่าใช้จ่ายส่วนตัวของเธอ  หรือค่าบ้าน หรือค่าใช้จ่ายของบรรดาลูก ๆ  ด้วยตัวของเธอเอง แต่ผู้ที่มีความจำเป็นจะต้องดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมดนั้นคือ ฝ่ายชาย  เช่นเดียวกันกับที่ฝ่ายชายมีหน้าที่จะต้องดูแลจัดการค่าใช้จ่ายสำหรับบรรดาแขกผู้มาเยือน  เงินค่าใช้จ่ายในการไถ่เชลย  และเงินค่าปรับเมื่อเกิดการขัดแย้งหรือมีการต่อสู้เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มชน

          สำหรับการเป็นพยานของหญิงสองคนจะเทียบเท่ากับการเป็นพยานของชายเพียงหนึ่งคน   เนื่องจากว่า  ผู้หญิงค่อนข้างจะหลงลืมได้มากกว่าผู้ชาย  ซึ่งเป็นธรรมชาติของสตรี  ที่พวกหล่อนนั้นจะมีช่วงเวลาที่เป็นประจำเดือน  มีการตั้งครรภ์  มีการคลอดบุตร  และการมีลูกจำนวนมาก  เป็นต้น ด้วยกับสิ่งเหล่านี้เองส่งผลทำให้เธอเป็นผู้ที่ลืมง่าย 

          ดังนั้น กฎชารีอะ  จึงได้ระบุเอาไว้ว่า  การเป็นพยานของสตรีจำเป็นจะต้องมีสตรีมาเป็นพยานยืนยันเพิ่มอีกหนึ่งคน  เพื่อให้การเป็นพยานถูกต้องมากยิ่งขึ้น  แต่มีอีกหลาย ๆ กรณีที่การเป็นพยานหรือใช้การพิจารณาตัดสินของสตรีเพียงหนึ่งคน  ก็ถือว่าเพียงพอ  ตัวอย่างเช่น  การพิจารณาระยะเวลาในการให้นมบุตร  การพิจารณาข้อผิดพลาดหรือปัญหาภายในครอบครัว และปัญหาอื่น ๆ

          สตรีนั้นมีความเท่าเทียมกับบุรุษในเรื่องของการรับรางวัลตอบแทนความดีเมื่อเขามีความมั่นคงในการศรัทธา  มีการกระทำความดี  ซึ่งเขาจะได้รับชีวิตที่ดีในโลกนี้และได้รับรางวัลตอบแทนในโลกหน้า 

ดังพระดำรัสของพระองค์อัลลอฮ์

“ผู้ใดปฏิบัติความดีไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือเพศหญิงก็ตาม โดยที่เขาเป็นผู้ศรัทธา

ดังนั้นเราจะให้เขาดำรงชีวิตที่ดีและ แน่นอนเราจะตอบแทนพวกเขาซึ่งรางวัลของพวกเขา ที่ดียิ่งกว่าที่พวกเขาได้เคยกระทำไว้”

(ซูเราะฮ al-Nahl 16:97)

           เราได้ทราบกันแล้วว่า  บรรดาสตรีมีสิทธิหน้าที่ความรับผิดชอบของพวกหล่อน  คล้ายกับที่บรรดาบุรุษมีสิทธิหน้าที่ความรับผิดชอบของพวกเขา  ซึ่งพระองค์อัลลอฮ ได้ทรงสร้างบรรดาบุรุษให้เขาได้รับหน้าที่ที่เหมาะสมกับเขา  เช่นเดียวกับที่พระองค์อัลลอฮ ได้ทรงสร้างบรรดาสตรีให้มีภาระหน้าที่ที่เหมาะสมกับเธอ 

 

และพระองค์อัลลอฮ์ นั้นเป็นผู้ทรงอำนาจ

 

จาก  Al-Lajnah al-Daa’imah li’l-Buhooth al-‘llmiyyah wa’l-lfta’, 17/7

 


ที่มา  http://www.islamqa.com/en/cat/16

แปลโดย  นูรุ้ลนิซาอ์