ผู้ชายแบบไหนที่จะเลือกมาเป็นคู่ครอง
  จำนวนคนเข้าชม  34368

 

คุณลักษณะของชายที่จะเลือกมาเป็นคู่ครอง


โดย...  อิสมาอีล  กอเซ็ม


          การแต่งงานเป็นสิ่งที่อิสลามส่งเสริมให้เกิดขึ้นเพื่อเป็นการรักษาความบริสุทธิ์ของผู้หญิงและผู้ชาย ให้ออกห่างจากการที่ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการทำซินาหรือผิดประเวณี ในเมื่อการแต่งงานนั้นเป็นสิ่งที่อิสลามส่งเสริมและให้ความสำคัญ และการแต่งงานนั้นเป็นการเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์  ด้วย เราจะเห็นได้ในหะดีษ หรือข้อเขียนของนักวิชาการจำนวนมาก มักจะกำหนดคุณลักษณะของผู้หญิงที่เราจะหามาเป็นคู่ครอง แต่ในที่นี้ขอหยิบยก การที่ผู้หญิงจะสรรหาผู้ชายมาเป็นคู่ครอง

          ประการแรกที่จะต้องพิจารณาสำหรับคนที่จะเข้าสู่ประตูวิวาห์ หรือต้องการที่จะสละโสด คือ ต้องพิจารณาในเรื่องศาสนาของผู้ชาย จำเป็นที่ผู้ชายคนนั้นเป็นมุสลิมที่มีความเอาใจใส่ในเรื่องของศาสนา และเป็นผู้ที่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของอิสลามในการดำเนินชีวิตของเขา  ผู้ปกครองฝ่ายหญิงจะต้องสืบดูผู้ที่จะมาแต่งงานกับลูกสาว ไม่ควรมองแต่รูปกายภายนอกของผู้ที่จะมาเป็นสามี เช่น จะต้องเป็นผู้ที่มีทรัพย์สิน เป็นผู้ที่มีชื่อเสียง เป็นที่นับหน้าถือตาของคนในสังคม โดยที่ไม่คำนึงว่าคนนั้นจะมีความเข้าใจในเรื่องศาสนาหรือไม่

          และสิ่งที่ควรพิจารณาเป็นประการแรกในเรื่องนี้ คือ การละหมาดเพราะว่าการละหมาดนั้นเป็นสิทธิที่บ่าวจะต้องปฏิบัติต่ออัลลอฮ์ ดังนั้นผู้ใดที่ไม่ทำการละหมาด เขาเป็นผู้ที่บกพร่องต่อหน้าที่ที่เขามีต่อพระผู้เป็นเจ้า แน่นอนผู้ที่ละเลยหน้าที่ของเขาที่มีต่อพระเจ้า เขาย่อมละเลยหน้าที่ที่มีต่อผู้อื่นเช่นเดียวกัน

          ชายที่เป็นผู้ศรัทธาจะไม่เอาเปรียบ ข่มเหงภรรยาของเขาอย่างแน่นอน หากเขารักภรรยาเขาจะให้เกียรตินาง และหากเขาไม่พอใจนาง เขาจะไม่อธรรมต่อนาง คุณลักษณะดังกล่าวนี้ไม่มีอยู่ในหมู่ชายที่เป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา

  

          เราจะเห็นว่าอัลลอฮ์ได้กล่าวไว้ในอัลกุรอานว่า แม้แต่ชายที่เป็นทาสของผู้อื่นที่เป็นผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮ์นั้นดีกว่าชายที่เป็นผู้ตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์ ถึงแม้ชายที่ตั้งภาคีจะเป็นที่ชอบพอของเราก็ตาม เพราะมุสลิมจะต้องใช้ชีวิตเพื่อเป็นการภักดีต่ออัลลอฮ์ จุดประสงค์ของอัลลอฮ์ในการที่พระองค์ได้มีบัญญัติให้มุสลิมทำการแต่งงานนั้น เพื่อต้องการที่จะสร้างครอบครัวที่ศรัทธาต่ออัลลอฮ์  ดังนั้น การเลือกคู่ครองเป็นการบ่งบอกถึงเจตนาของเราว่า เราจะสร้างครอบครัวในอนาคตออกมาในรูปแบบใด ผู้นำครอบครัวถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างครอบครัวของมุสลิมให้เป็นไปตามความต้องการของอัลลอฮ์

อัลลอฮ์ตรัสความว่า

قال الله تعالى : (ولبعد مؤمن خير من مشرك ولو أعجبكم))

“และแน่นอนบ่าวที่เป็นผู้ศรัทธานั้นย่อมดีกว่า ชายที่เป็นผู้ที่ตั้งภาคี ถึงแม้เขาจะเป็นที่ชอบพอแก่พวกเจ้า”

  

 

ท่านนะบี ได้กล่าวว่า

“เมื่อผู้ที่พวกเจ้าพอใจในศาสนาของเขาได้มาหาพวกเจ้า (หมายถึงมาทำการสู่ขอบุตรสาว)

ดังนั้นพวกท่านจงทำการนิกาฮ์ (แต่งงาน)ให้แก่เขา

หากพวกเจ้าไม่กระทำ จะเกิดสิ่งที่ไม่ดี และความเสียหายอย่างมากมายในหน้าแผ่นดิน” 

  

(บันทึกโดยอัตติรมีซีย์ 866 และท่านเชคอัลบานีย์ ถือว่าเป็นหะดีษที่ดี โดยท่านได้กล่าวไว้ในหนังสือ ซอเอียะของสุนันอัรติรมีซีย์)

 

          อิสลามนั้นส่งเสริมให้แต่งงานกับชายที่มีความรู้และเคร่งครัดในเรื่องศาสนา และชายที่มีตระกูลที่ดี เช่น เป็นที่รู้กันว่าตระกูลนี้อยู่ในสิ่งที่เป็นความดีและคุณธรรม หมายความว่า ไม่เฉพาะตัวของผู้ชายที่เราจะแต่งงานแล้ว เราจะต้องมองไปดูอีกว่าเครือญาติพี่น้องของเขาเป็นอย่างไร โดยเฉพาะพ่อแม่ของเขา ถ้าพ่อแม่ทั้งสองของเขาเป็นคนดีที่มีความยำเกรงต่ออัลลอฮ์ ก็เป็นการดี เพราะความดีของคนดีที่ตายไป ความดีของเขาจะส่งผลมายังคนรุ่นลูกหลาน ตัวอย่างในซูเราะห์ อัลกะฟีย์ที่อัลลอฮ์  ได้ปกป้องทรัพย์สินของเด็กกำพร้าในฐานะที่พ่อแม่ทั้งสองของเขาเป็นคนดี ความดีของคนทั้งสองนั้นได้รับผลมายังลูกของเขาทั้งสอง

( وأما الجدار فكان لغلامين يتيمين في المدينة وكان تحته كنز لهما وكان أبوهما صالحا فأراد ربك أن يبلغا أشدهما ويستخرجا كنزهما رحمة من ربك )

“และสำหรับกำแพงนั้น มันเป็นของเด็กผู้ชายกำพร้าสองคนที่อยู่ในเมือง 

และใต้กำแพงมีขุมทรัพย์ของทั้งสอง  และบิดาของทั้งสองนั้นเป็นคนดี

พระเจ้าของท่านนั้นต้องการให้ทั้งสองนั้นบรรลุสู่ความเป็นผู้ใหญ่ 

และเด็กทั้งสองจะได้นำทรัพย์สมบัติออกมาด้วยกับตัวเอง เป็นความเมตตาจากพระเจ้าของท่าน”

          จากอายะนี้จะเห็นว่าความดีของบิดาที่ล่วงลับไป ส่งผลที่ดีมายังลูก ซึ่งเป็นการให้เกียรติของอัลลอฮ์ที่ให้แก่เขาในฐานะที่เขาเป็นผู้ศรัทธา เช่นเดียวกันการที่เราเลือกคู่ครองจากสายเลือดที่ดีๆ สิ่งดีๆเหล่านั้นจะส่งผลมายังลูกหลานของเรา

  

          ในปัจจุบันจุดประสงค์ของการแต่งงานตามหลักการได้หายไปจากสังคม การแต่งงานกลับกลายเป็นประเพณีนิยม ที่มักจะอวดกันในเรื่องของมะฮัร(ค่าสินสอด) และตำแหน่งการงานของคู่บ่าวสาว โดยน้อยคนมากที่จะคำนึงในเรื่องของความศรัทธาของคู่บ่าวสาวที่ได้ทำการสมรสกัน เลยทำให้เยาวชนรุ่นหลังที่เกิดมามีพฤติกรรมที่สวนทางกับคำสอนของศาสนา และมีนิสัยที่แข็งกระด้างไม่เชื่อฟังต่อพ่อแม่ และครูบาอาจารย์ และเป็นปัญหาในการอบรมอีกด้วย

          การอบรมเด็กสมัยนี้โดยเฉพาะในเรื่องพฤติกรรมนั้นทำได้ยากมาก การแต่งงานไม่ใช้เป็นการลองผิดลองถูก แต่มันเป็นสิ่งที่มีความสำคัญในการสร้างอุมมะห์ที่ดี ที่จะมาเป็นกำลังสำคัญของอิสลาม  คู่บ่าวสาวที่จะทำการสมรสกันนั้นจะต้องมีเจตนาที่ดีในการแต่งงานด้วย คือ เจตนาให้เป็นไปตามที่อัลลอฮ์ ต้องการ ไม่ใช้มีเจตนาในการแต่งงานเป็นเพียงการปลดปล่อยอารมณ์ทางเพศเพียงอย่างเดียว เพราะหลังจากการแต่งงานจะมีภาระที่หนักอึ้ง คือ การอบรมลูกๆ ให้เป็นคนดีเป็นผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮ์

          เพราะฉะนั้นในการเลือกคู่ครอง ต้องดูผู้ชายที่มีงานทำสามารถหาเลี้ยงตัวเองและสมาชิกในครอบครัวได้ ในปัจจุบันต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งจากปัญหาการหย่าร้าง คือ การที่ผู้ชายไม่สนใจครอบครัว ผู้ชายไม่ทำงานหาเลี้ยงครอบครัวและไม่พยายามที่จะทำงาน สุดท้ายก็นำพาครอบครัวสู่ความแตกแยกและหย่าร้าง

  

          อิสลามส่งเสริมในเรื่องของการแต่งงาน และอิสลามก็ส่งเสริมให้การแต่งงานนั้นเป็นการแต่งงานที่มีความมั่นคง คือ คู่บ่าวสาวสามารถดำเนินชีวิตโดยมีความสุข และส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเรามีความสุขในการดำเนินชีวิตได้ คือ การที่ผู้นำครอบครัวมีความสามารถที่จะทำการเลี้ยงดูคนในครอบครัวได้ ซึ่งไม่ได้หมายถึงให้เลือกคนที่รวยมีฐานะ แต่หมายถึงผู้ที่สามารถทำงานเลี้ยงครอบครัวได้  สืบเนื่องจากคำพูดของท่านนะบี  ได้แนะนำฟาติมะห์ บินติ กัยซ รอฏิยัลลอฮูอันฮา ในขณะที่นางได้มาขอคำปรึกษาต่อท่านนะบี  เพราะมีชายสามคนมาทำการสู่ขอนาง

โดยที่ท่านนะบีได้กล่าวว่า

( أما معاوية فرجل تَرِب ( أي فقير ) لا مال له .. ) رواه مسلم 1480

“สำหรับมูอาวิยะนั้นเป็นชายที่มีความขัดสนยากจน ไม่มีทรัพย์สิน”

(บันทึกโดยมุสลิม)

          จากหะดีษนี้ได้มีชายสามคนมาขอผู้หญิงคนหนึ่งแล้วนางมาขอคำปรึกษากับท่าน ท่านนะบีได้ให้ทางออกด้วยการแนะนำชายที่มีความเหมาะสมที่ทำการเลี้ยงดูนางได้ ท่านนะบีได้บอกว่า มูอาวิยะไม่มีความเหมาะสมที่จะทำการเลี้ยงดูนางเนื่องจาก เขาเป็นคนที่ไม่มีทรัพย์สิน การที่ท่านแนะนำไม่ให้แต่งงานกับ มูอาวิยะนั้น ไม่ได้หมายความว่า เป็นการห้ามแต่งงานกับคนที่ยากจน แต่หมายถึงท่านมองดูจากคนสามคนที่มาว่าใครมีความเหมาะสมมากที่สุด เพราะบางครั้งผู้หญิงมีฐานะแล้วมีผู้ชายที่มีความยากจนมาสู่ขอก็ไม่ใช่ปัญหาที่นางจะแต่งงานกับชายผู้นั้น

          อิสลามมองถึงผลประโยชน์สูงสุดของการแต่งงาน เช่นการครองเรือนของคู่บ่าวสาวจะต้องให้อยู่กันนานๆ  คงไม่มีใครปฏิเสธว่าทรัพย์สินเป็นส่วนหนึ่งจากปัจจัยของการดำเนินชีวิต แต่อิสลามไม่ได้มองเรื่องทรัพย์สินอย่างเดียว

 

         จากหะดีษที่กล่าวมาเป็นการกล่าวของท่านนะบี  ตามวาระและความเหมาะสมของผู้ที่มาถามท่าน เช่นบางครั้งมีคนมาขอให้ท่านสอนในเรื่องศาสนา บางคนท่านสอนเขาในเรื่องของการรู้จักระงับอารมณ์ เพราะท่านรู้ถึงจุดบกพร่องของคนที่มาถาม เช่น บางคนเป็นคนโกรธง่าย บางคนท่านนะบีบอกว่าให้ละหมาดให้ตรงเวลาของมัน แต่ถ้าคนสองคนที่มาขอผู้หญิง อีกคนเป็นคนที่มีฐานะแต่บกพร่องในเรื่องศาสนา อีกคนเป็นคนที่ไม่มีฐานะแต่มีความเคร่งครัดศาสนา ในกรณีนี้ให้เลือกคนที่มีศาสนาเป็นอันดับแรก จากหะดีษที่ผ่านมาคนทั้งสามที่มาทำการสู่ขอ ฝาติมะห์ บินติ กัยซ ทั้งสามคนนั้นเป็นคนที่มีศาสนาทั้งสามคน แต่ท่านเลือกคนที่มีความเหมาะสมกับนางมากที่สุด

          อีกประการที่ผู้หญิงจะต้องดูในการที่จะตกลงแต่งงานกับใคร คือ มารยาทของผู้ชายต้องไม่เป็นผู้ชายที่ชอบใช้อารมณ์ตัดสินปัญหา และชอบทำร้ายผู้หญิงด้วยการทุบตี เหมือนตอนหนึ่งของหะดีษที่ผ่านมา

(أما أبو جهم فلا يضع العصا عن عاتقه)

“สำหรับอาบูญะฮมฺ เขาไม่เคยวางไม้เท้าของเขาจากบ่า ของเขาเลย”

           หนึ่งในสามที่มาสู่ขอ ฟาติมะห์ บินติ กัยซฺ คือ อาบูญะฮมฺ ท่านนะบี บอกว่าอาบู ญะฮมฺ นั้นไม่เหมาะสมเนื่องจากเขาชอบทุบตีผู้หญิง ซึ่งเป็นนิสัยส่วนตัวของเขา และส่งเสริมให้แต่งงานกับผู้ที่มีสุขภาพดีปราศจากโรค เช่น โรคที่เกี่ยวกับการสืบพันธ์ การเป็นหมั้น หรือ หมดสมรรถภาพทางเพศ และที่สำคัญผู้ชายต้องเป็นผู้ที่รู้ในเรื่องของฮุกุม ที่มีอยู่ในอัลกุรอาน และซุนนะห์ของท่านนะบี  ซึ่งถือว่าเป็นความสำคัญมากของการใช้ชีวิตคู่ของบ่าวสาว

 

           อนุญาตให้ผู้หญิงและผู้ชายที่มาทำการสู่ขอกันมองดูซึ่งกันและกัน ในขอบเขตที่ศาสนาได้กำหนดไว้ โดยมีเงื่อนไขจะต้องมีผู้ปกครองฝ่ายหญิงอยู่ด้วย จะให้หญิงชายอยู่กันเพียงลำพังสองคนไม่ได้ และเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองฝ่ายหญิงที่จะต้องสอบถามถึงมารยาท ตลอดจนเรื่องศาสนาของผู้ที่มาทำการสู่ขอลูกสาว จากบุคคลที่ไว้ใจได้ เพื่อขอคำปรึกษากับเขาในเรื่องนี้  และสุดท้ายที่ลืมไม่ได้  คือ การขอให้อัลลอฮ์ เป็นผู้เลือกสรรให้ก่อนที่เราจะตัดสินใจด้วยการละหมาดอิสติคอเราะ

 

 

 

 

ข้อมูลบางจากส่วนเวปอิสลาม คำถามและคำตอบของเชค ซอและห์ อัลมุนัจญิด