เมื่อลูกเป็น 'เด็กเลี้ยงแกะ' รับมืออย่างไรให้ได้ผล
  จำนวนคนเข้าชม  8338

เมื่อลูกเป็น 'เด็กเลี้ยงแกะ' รับมืออย่างไรให้ได้ผล
 
 

       คงเป็นเรื่องหนักใจไม่น้อย เมื่อครูที่โรงเรียนบอกว่า ลูกมีพฤติกรรมชอบพูดโกหก ไม่ชอบพูดความจริง หรือไปที่ไหนใครๆ ก็หาว่าลูกเป็นเด็กเลี้ยงแกะ ปัญหานี้ถ้ามองให้เป็นเรื่องเล็กก็คงไม่เป็นไร แต่ถ้าพฤติกรรมชอบโกหกสะท้อนถึงอาการป่วยทางจิตของลูก คงต้องรีบเยียวยา เพราะถ้าหากโตเป็นผู้ใหญ่ จนมีหน้าที่การงานที่ดี หรือเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง แต่ยังไม่ทิ้งลายชอบเลี้ยงแกะ อาจส่งผลกระทบต่อตัวเด็ก สังคม และประเทศชาติได้
      
       ในประเด็นการพูดโกหกของเด็กนั้น “นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล” จิตแพทย์ทั่วไปโรงพยาบาลมนารมย์ ให้ข้อมูลว่า ถ้าหากมองในแง่ดี การโกหกเป็นธรรมชาติของเด็ก เพราะโดยพื้นฐานทางจิตใจของเด็กนั้น จะไม่โหดร้ายเหมือนกับผู้ใหญ่ และการโกหกส่วนใหญ่อาจจะมีเหตุผลบางประการ เช่น เกรงว่าจะถูกทำโทษเมื่อทำผิด กลัวพ่อแม่จับได้จึงจำเป็นต้องโกหก
      
       “ต้องพิจารณาถึงสาเหตุด้วยว่า เพราะอะไรเด็กถึงไม่ไว้ใจพ่อแม่ เวลาทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมลงไป ซึ่งพ่อแม่เองก็ไม่ควรมานั่งจับผิด หรือมีทัศนคติที่ไม่ดีใส่เด็ก ซึ่งการสร้างมาตรการลงโทษแบบแก้ไขที่ปลายเหตุ มักใช้ไม่ได้ผล เพราะเด็กจะถูกมองเป็นเด็กไม่ดี และมองตัวเองด้อยคุณค่าลงไปได้ และเมื่อโตขึ้น เด็กจะมีพฤติกรรมร่วมกับการโกหกอีกหลายอย่าง จนกลายเป็นเด็กมีปัญหาในที่สุด” 

       
       ขณะที่ลูกวัยรุ่นเอง จิตแพทย์บอกว่า ปัญหาการโกหกส่วนใหญ่ มาจากการคบเพื่อน การมีกลุ่มเพื่อนที่อาจจะชักจูงไปทำกิจกรรมที่ไม่ค่อยถูกต้อง จึงพยายามหาวิธีการหลบหลีกด้วยการโกหก ซึ่งอาจจะจับได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ดังนั้นสิ่งที่จะตามมาก็คือ อาจจะถูกตำหนิดุด่า จนในที่สุดพฤติกรรมเหล่านั้น แทนที่จะหายไป แต่กลับจะยิ่งถูกส่งเสริมให้รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการถูกตำหนิ จะทำให้สถานการณ์ของปัญหาการโกหกแย่ลง ลูกวัยรุ่นจะยิ่งหายจากครอบครัวมากขึ้น
      
       นอกจากนี้เด็กที่มีความเจ็บป่วยทางด้านจิตเวช เช่น เด็กที่มีปัญหาเรื่องสติปัญญาบกพร่อง มีปัญหาเรื่องภาษา เด็กที่ป่วยเป็นโรคจิต ซึ่งบางครั้งดูเหมือนพูดเรื่องที่ไม่จริง ตามความคิดที่เกิดขึ้นในโลกส่วนตัวจากการที่มีสติปัญญาบกพร่องอยู่แล้ว หรือเด็กที่มีปัญหาทางอารมณ์ เช่น โรคซึมเศร้า อาจจะไม่ได้แสดงออกทางอารมณ์ แต่จะมาแสดงออกทางพฤติกรรม เช่น พูดโกหก หนีเรียน ลักขโมย เป็นต้น

 
       อย่างไรก็ดี “นพ.กัมปนาท” ได้ให้ข้อแนะนำกับพ่อแม่ผู้ปกครองถึงการช่วยลูกไม่ให้เป็นเด็กเลี้ยงแกะ ไว้ดังนี้
      
       1. พ่อแม่ควรสร้างความไว้วางใจกับลูก เพื่อเวลาที่ลูกทำผิด หรือ ทำสิ่งไม่ดีลงไป ลูกจะได้ปรึกษา แทนที่ลูกจะกลัวความผิด และใช้วิธีการโกหก
      
       2. ไม่ควรตำหนิ หรือ ดุด่าลูกเมื่อลูกทำความผิด แต่ควรใช้เหตุผลพูดคุยกัน เพราะบางทีการที่เด็กถูกตำหนิ อาจจะทำให้เด็กมีพฤติกรรมชอบโกหก และบางครั้งพฤติกรรมเหล่านั้นก็อาจจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น
      
       3. ไม่ควรจับผิดลูกมากจนเกินไป เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกเหมือนเป็นนักโทษ เช่น บางครั้ง ลูกกลับบ้านดึก แม่ก็จะคอยซักถาม จับผิดว่า "ลูกไปไหนมา ไปทำอะไร" การที่พ่อแม่ซักถามเหมือนไม่ไว้ใจลูก และไต่สวนเหมือนเป็นผู้กระทำความผิด เด็กอาจจะใช้วิธีการโกหก เพื่อให้พ่อแม่หยุดซักถาม เพื่อหลบหลีกสถานการณ์ต่างๆ
      
       4. หลีกเลี่ยงการลงโทษเมื่อลูกทำผิดหรือจับโกหกได้ เพราะยังมีทางออกที่ดีกว่าวิธีการลงโทษ เช่น พูดจาเพื่อทำความเข้าใจ เพราะการลงโทษ เป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ ส่วนสาเหตุที่แท้จริงอาจเกิดจากเหตุผลบางประการของลูกซึ่งจะต้องทำการพูดคุยกัน ซึ่งถ้าหากเด็กทำผิดแล้ว กลัวการถูกทำโทษ เด็กอาจใช้วิธีการโกหกเพื่อให้พ้นความผิดก็ได้ หากปล่อยไว้นานๆ ก็จะเริ่มติดเป็นนิสัยไปจนโต
      
       5. พยายามสังเกตว่าลูกมีอาการป่วยทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า บกพร่องทางสติปัญญา หรือมีปัญหาเรื่องภาษาหรือไม่ และควรทำความเข้าใจกับเด็กเหล่านี้ ซึ่งบางที่การที่เด็กโกหกอาจไม่ได้ตั้งใจ แต่เป็นเพียงเพราอาการป่วย ทางที่ดีควรรีบพบจิตแพทย์เพื่อทำการรักษาอาการทางจิตเหล่านี้ ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลเสียต่อเด็ก เช่น คิดฆ่าตัวตาย เป็นต้น
      
       ก่อนที่ลูกจะกลายเป็นเด็กเลี้ยงแกะ จนได้รับผลกระทบจากการโกหก พ่อแม่ควรจะเริ่มให้ความสนใจ และสร้างเกราะป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนที่ลูกจะกลายเป็นเด็กเลี้ยงแกะมืออาชีพ
 
 


Life & Family / Manager online