"ปฏิเสธพ่อแม่" พฤติกรรมปวดหัวใจ ที่แก้ได้ด้วยความรัก
สำหรับครอบครัว อาจต้องมีบ้างที่วันหนึ่ง พ่อแม่ตื่นขึ้นมาแล้วพบว่า กำลังถูกลูก ๆ ของตนเองแสดงกิริยาอาการที่บ่งบอกได้ว่า พวกเขา "ปฏิเสธ-ไม่ให้การยอมรับ" พ่อแม่เหมือนเช่นในอดีต ไม่ว่าจะเป็น การออกคำสั่งแล้วลูกไม่ปฏิบัติตามอย่างว่าง่ายเหมือนเคย การเกเร ดื้อ และพร้อมจะเดินออกนอกแถวที่พ่อแม่เคยขีดเอาไว้
อาการดังกล่าวอาจเริ่มได้ตั้งแต่วัย 5 - 6 ขวบ ซึ่งเป็นวัยที่จินตนาการของเด็กกำลังเบ่งบาน แถมมีโลกและสังคมเพื่อนฝูงรายล้อม ได้เห็นเพื่อน ๆ ทำบางสิ่งบางอย่าง และเด็กเองก็อยากลองทำอะไร ๆ ด้วยตัวเองมากขึ้น
การได้มีสังคม มีเพื่อนเล่น ได้เห็นเด็กคนอื่น ๆ แสดงความสามารถ ส่งผลให้ความรู้สึกอยากพึ่งพิงพ่อแม่ที่เด็กเคยมีในวัยเล็ก ๆ เริ่มเลือนหายไป เขาเริ่มเป็นตัวของตัวเอง อยากแสดงออกถึงความรู้สึก ชอบ - ไม่ชอบ และเมื่อต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่ไม่ชอบ ก็เกิดการปฏิเสธตามมา
นอกจากนั้น สาเหตุของการปฏิเสธพ่อแม่ยังอาจมาได้หลากหลายทาง ไม่ว่าจะเป็น การแสดงออกเพื่อบอกว่าเขาไม่อยากทำในสิ่งที่พ่อแม่ให้ทำ หรือบางครั้งก็อาจเป็นเรื่องของการท้าทาย เพราะเด็กเรียนรู้ได้ว่า หากเขาแสดงอาการดื้อ หรือต่อต้านจะทำให้พ่อแม่เกิดความวุ่นวายใจ หงุดหงิด โมโห และเขาก็อยากแกล้งให้เกิดอาการ - อารมณ์แบบนั้นอีก และก็มีเช่นกัน ที่เด็กแสดงอาการต่อต้านพ่อแม่เพราะว่า เขาขี้เกียจทำงานนั้น ๆ เช่น เขาไม่อยากเก็บของเล่นที่กองระเกะระกะ ซึ่งพอเด็กไม่ปฏิบัติตาม พ่อแม่บางท่านแม้จะบ่น แต่ก็ลุกขึ้นมาเก็บให้เอง เป็นต้น
ทำอย่างไรให้"พ่อแม่"ยังสำคัญ
- ลองเปลี่ยนการออกคำสั่ง หรือการขอร้องให้เรียบง่ายที่สุด จากเดิมที่เคยบอกว่า "เก็บของเล่นให้เรียบร้อย" ก็อาจใช้คำที่เฉพาะเจาะจงให้มากขึ้น เช่น "เก็บดินสอสีใส่ลงในกล่องให้เรียบร้อย" เป็นต้นค่ะ
- พ่อแม่อาจปรับเปลี่ยนการใช้คำพูดให้จูงใจเด็ก ๆ มากขึ้น เช่น การพูดกระตุ้นในเชิงบวก หรือการให้รางวัลเมื่อเด็กทำตาม ซึ่งรางวัลไม่จำเป็นต้องมีราคาค่างวดอะไรเลย เพียงแค่ดึงเด็กมากอดไว้แน่น ๆ แล้วบอกว่า "ขอบใจมากลูก" ก็อาจทำให้เด็กรู้สึกหัวใจพองโตมากขึ้นแล้วค่ะ
- ลองหาคำอื่นมาใช้ในบ้านแทนคำว่า " ไม่ได้ - อย่า - ห้าม " เพราะเป็นเรื่องปกติที่พ่อแม่จะวิตกกังวลในการกระทำต่าง ๆ ของลูก ไม่ว่าจะหยิบ จับ หรือเล่นของเล่นอะไร แต่คำเหล่านี้ ยิ่งลูกได้ยินมากเท่าไร ก็ไม่เป็นผลดีต่อปัญหาพฤติกรรมดังกล่าวเท่านั้น
- ให้ลูกมีโอกาสสานสัมพันธ์กับปู่ย่าตายาย เพราะการเลี้ยงลูกที่มีเพียง พ่อแม่และลูกนั้น อาจเกิดความเครียดได้ง่าย เพราะเด็กก็ต้องการการดูแลเอาใจใส่ พ่อแม่เอง บางครั้งด้วยภาระหน้าที่การงานที่รัดตัว กลับบ้านมาก็อาจพกความเครียดมา 1 ห่อ เมื่อต่างคนต่างมีความต้องการ และไม่ใช่ความต้องการที่สามารถจะแบ่งปันกันได้ ครอบครัวก็หนีไม่พ้นปัญหาให้ต้องตามแก้ ขณะที่ปู่ย่าตายายนั้น จะแตกต่างออกไป คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ปู่ย่าตายายมีเวลา และความอดทนมากกว่าพ่อแม่ อีกทั้งท่านผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ มามาก การสอนหลานให้เป็นเด็กดีจึงมักทำได้อย่างแยบคายค่ะ
Life & Family / Manager online