แนวคิดทางการศึกษาของนะบีมุฮัมมัด
  จำนวนคนเข้าชม  14387

 

แนวคิดทางการศึกษาของศาสดามุฮัมมัด

 

         เป็นที่ยอมรับในบรรดานักวิชาการมุสลิมว่า ท่านศาสดามุฮัมหมัด เป็นทั้งครูและนักปรัชญาการศึกษาคนแรกในประวัติศาสตร์อิสลาม (Malik, 1983 : 42) แม้ว่าท่านนะบี  จะเป็นผู้ที่ไม่รู้หนังสือและไม่ได้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันการศึกษาใด แต่ท่านนะบี  สามารถที่จะสอนวิชาจิตวิทยา ปรัชญาและกฏต่าง ๆ ทางการศึกษาแก่บรรดาเศาะหาบะฮ์ได้อย่างสมบูรณ์ไม่มีที่ติ (Rahman, 1980 : 3)

          แนวคิดทางการศึกษาของท่านนะบี  วางอยู่บนพื้นฐานของอัลกุรอานและแบบฉบับของท่าน ดังนั้นหากต้องการศึกษาแนวคิดทางการศึกษาของท่าน ก็จำเป็นที่จะต้องศึกษาอัล กุรอานและอัล หะดีษ ไปพร้อมๆ กัน

         เมื่อได้ศึกษาอัลกุรอานอย่างพินิจพิจารณาแล้ว จะพบว่าอัลกุรอานได้กล่าวถึงศาสดาในสาขาวิชาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิชาการทางธรรมหรือวิชาการทางโลก อัลกุรอานได้เน้นถึงความสำคัญของความรู้ แม้กระทั่งนะบี  ยังขอดูอาอ์ จากพระองค์อัลลอฮเพื่อให้พระองค์ทรงเพิ่มพูนความรู้ให้แก่ท่าน  ดังปรากฏในอัล กุรอานซุเราะฮฎอฮา อายะฮที่ 114 (20 : 144) ยิ่งกว่านั้นอายะฮแรกที่ถูกประทานลงมาก็เป็นอายะฮเกี่ยวกับความรู้ (96 : 1-5) นั่นคือการกำชับให้อ่าน และการอ่านมิได้เจาะจงเฉพาะท่านนะบี เท่านั้น แต่การอ่านยังถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องปฏิบัติ และการอ่านก็ถือเป็นวิธีหนึ่งที่จะได้มาซึ่งความรู้

        เมื่อเราศึกษาหะดีษต่าง ๆ ของท่านนะบี  เราจะพบว่าท่านนะบี ให้ความสำคัญแก่การศึกษาเป็นอย่างมาก หะดีษต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการศึกษานั้นมีจำนวนมาก ผู้เขียนขอยกตัวอย่างในที่นี้เพียงบางหะดีษเท่านั้นเช่น

 

“ เมื่อมนุษย์ได้เสียชีวิตลง อะมัลของเขาก็ถูกตัดขาดจากเขา นอกจากเพียงสามสิ่ง :

เศาะดะเกาะฮญาริยะฮ หรือความรู้ที่ได้รับประโยชน์จากมัน หรือลูกที่ศอลิหที่ขอดูอาให้กับเขา ” 

(รายงานโดย มุสลิม) 

 “ มนุษย์จะตามท่าน และผู้คนจากส่วนต่าง ๆ ของแผ่นดินจะมาหาท่าน

เพื่อแสวงหาความเข้าใจเกี่ยวกับศาสนา ดังนั้นเมื่อเขามายังท่านจงบอกให้เขาทำความดี ” 

 (รายงานโดยติรมีษี)
 
 

 “ คำที่เต็มไปด้วยหิกมะฮเป็นสมบัติที่หายไปจากผู้รู้ ดังนั้นที่ใดก็ตามที่เขาพบมัน เขาก็จะมีสิทธิเหนือมัน ”

 

(รายงานโดยติรมีษี และอิบนุ มาญะ) ติรมีษีกล่าวว่าหะดีษนี้เฆาะรีบ และอิบรอฮีม อิบนุ อัล ฟัคลผู้รายงานถือเป็นเฎาะอีฟ ( ดูรายละเอียดใน มิซกัต อัล มะศอบิห เรื่องที่ว่าด้วยความรู้ )

 

 “ การแสวงหาความรู้เป็นวาญิบเหนือมุสลิมทุกคน ”

 

(รายงานโดยอิบนุ มาญะฮ และบัยฮะกี)  เนื้อหาของหะดีษนี้มะอรูฟ ( เป็นที่รู้จัก ) แต่สายรายงานอ่อน

 

 “ ผู้ที่ออกไปเพื่อแสวงหาความรู้ ดังนั้นเขาก็จะอยู่ในหนทางของอัลลอฮจนกว่าเขาจะกลับ ”

(รายงานโดยติรมีษีและดารีมี )

 

          หากหะดีษที่ได้กล่าวมาข้างต้นเราจะเห็นว่าท่านนะบี   ได้เน้นถึงการแสวงหาความรู้ การเผยแพร่ความรู้ และคุณค่าของความรู้ ดังนั้นจึงเป็นที่ประจักษ์ชัดแก่เราว่าความรู้นั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องแสวงหา และเผยแพร่แก่ผู้อื่นต่อไป อินชาอัลลอฮ์ 

 

 

Islamic Information center of psu Fathoni