ศูนย์กลางของการศึกษา
  จำนวนคนเข้าชม  3661

อัล คุฟฟะฮ์  ศูนย์กลางของการศึกษา


          ในปีที่ 13 ของการเป็นนะบี  ท่านได้รับวัหยูอนุญาตให้ฮิจญเราะฮไปยังเมือง ยัษริบ ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม “ มะดีนะฮ์ ” แปลว่า “ เมือง ” การฮิจญเราะฮของท่านในครั้งนี้ได้นำการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่มาสู่สังคมมะดีนะฮ์ ในระหว่างการเดินทางสู่เมืองมะดีนะฮของท่านนั้น ท่านได้สร้างมัสยิดกุบาอ ซึ่งถือเป็นมัสยิดแห่งแรกในประวัติศาสตร์อิสลาม และเมื่อถึงที่เมืองมะดีนะฮ ท่านได้สร้างมัสยิดอีกแห่งหนึ่งที่อับ มิรบัด ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม มัสยิด อัล - นะบะวี (Masjid al Nabawi) และในมัสยิดแห่งนี้เองที่ท่านนะบี ได้สั่งสอนบรรดาเศาะหาบะฮ์ ทั้งวิชาการทางศาสนาและวิชาการทางโลก

(Shalaby, 1954 : 48)

         มัสยิดในสมัยของนะบี   นั้น ไม่ใช่เป็นเพียงสถานที่สำหรับทำการอิบาดะฮ์ แต่ยังเป็นศูนย์กลางของกิจการอื่น ๆ อีกมากมาย ดังนั้น เมื่อเราศึกษาถึงบทบาทของมัสยิด เราจะประจักษ์ว่ากิจการต่าง ๆ ของมัสยิดและการศึกษานั้นมักจะมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมาตั้งแต่ยุคแรกๆ ของอิสลาม ด้วยเหตุนี้บางคนจึงมีทัศนะว่า มัสยิดคือโรงเรียนแห่งแรกในประวัติศาสตร์อิสลาม แม้มัสยิดในสมัยของท่านนะบี   จะมีความเกี่ยวพันกับการศึกษา แต่การศึกษาเหล่านั้นดูเหมือนจะไม่ค่อยมีระบบมากนัก การศึกษาที่เป็นระบบได้เริ่มขึ้นหลังจากได้มีการสร้างอัล - ศุฟฟะฮ (al Suffah) “ อัล - ศุฟฟะฮ ” ตามรากศัพท์แล้วหมายถึง “ ร่มเงา ” ซึ่งในที่นี้หมายถึงส่วนที่สร้างขึ้นต่อเติมจากมัสยิด ผู้คนที่อาศัยอยู่ในที่นี้เรียกว่า “ อัฮล อัล - ศุฟฟะฮ ” (Ahl al Suffah) ในอัล - ศุฟฟะฮแห่งนี้ท่านนะบี  ได้อบรมสั่งสอนบรรดาเศาะหาบะฮ์ เพื่อเตรียมพวกเขาสำหรับการเป็นนักเผยแผ่ศาสนาที่แท้จริง (Lunggulung, 1986 : 48) ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์อัล - ศุฟฟะฮนั้นสามารถจุคนได้เป็นจำนวนมาก เพราะครั้งหนึ่งท่านนะบี   เคยจัดงานวะลีมะฮ (งานแต่งงาน) ซึ่งมีคนเข้าร่วมประมาณ 300 คน

(al Umari, 1991 ; 1:86)

          ชาวศุฟฟะฮ กลุ่มแรกเป็นชาวมุฮาญิรีนที่อพยพจากมักกะฮ ดังนั้นอัล - ศุฟฟะฮ บางครั้งก็จะถูกเรียกว่า “ อัล - ศุฟฟะฮ อัล มุฮาญิรีน ” (al Siffah Muhajiri) อบู ฮุรอยเราะฮ์ ก็เป็นผู้หนึ่งที่อาศัยอยู่ในอัล - ศุฟฟะฮแห่งนี้ นอกจากชาวมุฮาญิรีนก็เคยมีชาวอันศอร และผู้ที่เข้ารับอิสลามใหม่ ๆ บางคนมาพักอยู่ที่อัล - คุฟฟะฮแห่งนี้

(al Umari, 1991 ; 1 : 86)

          ท่านนะบี   จะดูแลเอาใจใส่บรรดาอัฮล อัล - ศุฟฟะฮเป็นอย่างดี บางครั้งท่านจะไปเยี่ยม แล้วถามทุกข์สุขของพวกเขา เพื่อดูว่าใครเจ็บไข้ได้ป่วยบ้าง เมื่อมีอะไรที่ท่านพอจะช่วยได้ท่านก็จะช่วยด้วยความบริสุทธิ์ใจ นอกจากนั้นท่านนะบี  จะกระชับบรรดาชาวศุฟฟะฮให้ตระหนักถึงภารกิจของศาสนา และกำชับให้ศึกษาอัล กุรอาน รำลึกถึงอัลลอฮ์ และวันแห่งการฟื้นคืนชีพ โดยไม่ให้จมปลักอยู่กับความสุขอันเล็กน้อยบนโลกนี้

(al Umari, 1991 ; 1:92-93)

          ในอัล - ศุฟฟะฮแห่งนี้ท่านนะบี  จะรับภาระเกี่ยวกับเรื่องอาหารและเครื่องแต่งกาย สำหรับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ บางอย่างชาวศุฟฟะฮต้องหามาเอง อาจจะโดยการตัดฟืนหรืออื่น ๆ สาเหตุที่ท่านนะบี   ปฏิบัติเช่นนี้เพราะท่านนะบี   ต้องการที่จะสอนพวกเขาให้รู้ถึงวิธีการช่วยเหลือตัวเอง (Bilgrimi and Ashraf, 1985 : 18)

 

          อัล - ศุฟฟะฮถือเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาวิชาการอิสลาม

          วิชาที่มีการสอนในอัล - ศุฟฟะฮได้แก่วิชาอัล กุรอาน ตัจญวีด และวิชาการอิสลามอื่น ๆ ผู้สอนในสถาบันแห่งนี้คือท่านนะบี  เอง และผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากท่านนะบี  

          วัตถุประสงค์ของการศึกษาในสถาบันแห่งนี้คือ การขัดเกลาจิตใจและจุดประทีปแห่งดวงวิญญาณให้สว่างไสว และยกระดับมนุษย์จากระดับมุอมินให้เป็นระดับมุหซิน

(Milgrimi and Ashraf, 1985 : 18)

          มุหซินมาจากคำว่า “ อิหซาน ” ซึ่งหมายถึง การทำอบาดะฮ์ต่อเอกองค์อัลลอฮ์ เสมือนเราเห็นพระองค์ หากเราไม่เห็นพระองค์ แท้จริงพระองค์จะทรงเห็นเรา จากวัตถุประสงค์ดังกล่าวชาวศุฟฟะฮจึงใช้เวลาเกือบทั้งหมดของพวกเขาแสวงหาความรู้ และทำการอิบาดะฮต่ออัลลอฮ์  เขาเหล่านั้นจะคุ้นเคยกับชีวิตที่เรียบง่าย จะใช้เวลาละหมาด ขอพร ศึกษาอัล กุรอานด้วยกัน และฝึกฝนตัวเองอยู่กับการรำลึกถึงผู้อภิบาลแห่งสากลโลก นอกจากนั้นชาวศุฟฟะฮบางคนจะใช้เวลาศึกษาศิลปะการเขียน ผู้สอนวิชาศิลปะการเขียนนี้บางครั้งจะได้รับรางวัลเป็นค่าตอบแทน ซึ่งปรากฏว่าครั้งหนึ่งอุบัยดะฮ อิบนุ อัล - ษาบิต (Ubaydah Ibnu al Thabit) ท่านได้รับคันธนูเป็นรางวัลในฐานะที่ท่านได้สอนอัล กุรอานและวิธีการเขียนให้แก่ชาวศุฟฟะฮ

          หลังจากที่ได้ศึกษาเล่าเรียนในอัล - ศุฟฟะฮ บางคนได้กลายเป็นนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เช่น ท่านอบู ฮุรอยเราะฮ์  ผู้ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะผู้จำหะดีษ และรายงานหะดีษเป็นจำนวนมาก แม้ว่าชาวศุฟฟะฮเหล่านี้จะอุทิศตนเพื่อศึกษาหาความรู้และปฏิบัติอิบาดะฮ์ แต่เขาเหล่านี้ไม่ได้ปลีกตัวจากสังคม หรือแม้กระทั่งการต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ  ซึ่งครั้งหนึ่งเคยปรากฏว่าชาวศุฟฟะฮบางคนได้เป็นสักขีพยานในเหตุการณ์ที่ฮุดัยบิยะฮ

(al Umari, 1991 : 90-91)

 

Islamic Information center of psu Fathoni