การศึกษาสมัยศาสดามุฮัมมัด
  จำนวนคนเข้าชม  6336

 

การศึกษาสมัยศาสดามุฮัมมัด


          รอบ เอ็น มาลิก (Malik, 1983 : 44) ได้เขียนไว้ในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของท่านว่าตามทัศนะของอัล กุรอานแล้ว ที่มาของความรู้และศาสตร์ต่าง ๆ นั้นจะมีอยู่ 2 ประเภท

(1) วะห์ยู (Revealation)

(2) ประสบการณ์ (Experiences)

          ความรู้ประเภทแรกนั้นเราจะได้มาจากท่านนะบี ในขณะที่ความรู้ประเภทที่สองจะได้มาจากใครก็ได้ อะหมัด ชาละบี (Shalaby, 1954 : 48) ได้เขียนไว้ในหนังสือ “History of Muslim Education” ว่า 

          “ เมื่อท่าน (นะบี) ได้ถึงที่อัลมะดีนะฮ มัสยิดของท่านก็ถูกสร้างขึ้นที่ อัล มิรบัด และในมัสยิดแห่งนี้ท่านเคยสอนบรรดาเศาะหาบะฮ์ของท่านในเรื่อง ความรู้ทางศาสนาและทางโลก ”

          จากข้อเขียนของมาลิกและชาลาบีข้างต้น พอจะสรุปได้ว่าศาสตร์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสมัยของท่านนะบี สามารถจำแนกออกเป็นสองประเภท คือ

(1) ศาสตร์ทางศาสนา

(2) ศาสตร์ทางโลก

         แม้ศาสตร์ในสมัยดังกล่าวนี้จะมีอยู่สองประเภท แต่ศาสตร์ทั้งสองไม่สามารถที่จะแยกออกจากกันได้ เพราะท่านนะบี ได้ให้ความสำคัญแก่ศาสตร์ทั้งสอง ไม่ว่าจะเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวกับโลกนี้หรือโลกหน้า ท่านนะบี  ถือว่าทั้งโลกนี้และโลกหน้าล้วนมีความหมายต่อมนุษยชาติ ดังที่นักปราชญ์ท่านหนึ่งได้กล่าวว่า  

اعمل لدنياك كأنك تعيش ابدا واعمل لاخرتك كأنك تموت غدا.
 

“ จงปฏิบัติเพื่อโลกนี้ของท่านเสมือนท่านจะคงอยู่ชั่วนิรันดร์ และจงปฏิบัติเพื่อโลกอาคิเราะฮของท่านเสมือนท่านจะสิ้นชีพในวันพรุ่งนี้ ”

 

          ตามประวัติศาสตร์อิสลามนะบีมุฮัมมัด  ถือได้ว่าเป็นปฐมาจารย์ของการศึกษาอิสลาม และเป็นบรมครูที่สั่งสอนมวลมนุษยชาติถึงศาสนาแห่งเอกภาพ ท่านเป็นครูที่ผิดแผกไปจากครูคนอื่น ๆ

 

          ♣ ท่านเป็นครูที่ไม่ได้หวังสินค่าจ้างจากการอุทิศตนทั้งแรงกายและแรงใจ เพื่อเผยแพร่สาส์นแห่งผู้อภิบาล แต่เป็นครูที่หวังแต่ความโปรดปรานจากพระองค์ แม้ท่านจะลำบากสักเพียงใด หรือแม้กระทั่งท่านจะถูกบรรดาผู้ปฏิเสธทำร้าย แต่ภารกิจของท่านในฐานะครูก็ยังคงดำเนินตลอดไป

 

         บรรดานักการศึกษาทั้งมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมต่างยอมรับว่าท่านคือครูคนแรกในประวัติศาสตร์อิสลาม ต่อมาบรรดาเศาะหาบะฮและนักปราชญ์มุสลิมก็ได้รับภาระของการเป็นครูสืบต่อจากท่าน

 

          การศึกษาอิสลามของท่านนะบี  ในมักกะฮ์ได้ประสบกับปัญหามากมาย อีกทั้งได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรงจากบรรดาผู้ปฏิเสธและพวกมุชริก แต่การศึกษาอิสลามในสมัยนั้นยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ในระยะแรกที่เมืองมักกะฮ เป็นการศึกษาที่ปฏิบัติกันอย่างลับ ๆ โดยมี ดาร อัล อัรกอมเป็นสถานที่สำหรับอบรมสั่งสอนบรรดาเศาะหาบะฮ แม้กระทั่งเมื่อพระองค์อัลลอฮ์ ทรงอนุญาตให้ท่านเผยแผ่อิสลามอย่างเปิดเผย แต่การพบปะที่ดารอัล อัร กอมก็ยังคงดำเนินต่อไป อายะฮที่พระองค์ทรงอนุมัติให้เผยแพร่โดยเปิดเผยได้ปรากฏในซูเราะฮ อัล ฮิจญร อายะฮที่ 94

فاصدع بما تؤمر واعرض عن المشركين.  

“ ดังนั้น(โอ้มุฮัมมัด) เจ้าจง(ประกาศโดย) เปิดเผยเถิดถึงสิ่งที่เจ้าถูกบัญชามา(ให้เผยแพร่)

และเจ้าจงหันเหไปจากบรรดาพวกตั้งภาคีทั้งหลาย ”

 

           การศึกษาในยุคแรก ๆ นี้จะเน้นและเกี่ยวข้องกับศาสนา ดังนั้น การศึกษาและการเผยแพร่ศาสนาจึงถือเป็นของคู่กัน ไม่อาจที่จะแยกออกจากกันได้ สถาบันการศึกษาในสมัยดังกล่าวนี้คือ ดาร อัล อัรกอมและบ้านของท่านนะบี  เอง วิชาที่ท่านสอนในยุคแรก ๆ มีวิชาอัล กุรอาน อะกีดะฮ์ และชะรีอะฮ์

(Iunggulung, 1986 : 448; Shalaby, 1954 : 30)

         ในสมัยของท่านนะบี ชาวอาหรับส่วนใหญ่ไม่รู้หนังสือ การเรียนการสอนจะปฏิบัติกันโดยใช้วาจา วิธีการสอนด้วยวาจานี้เป็นที่นิยมและยอมรับกันอย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังเป็นวิธีการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับสถานการณ์และสภาวการณ์ในสมัยนั้น ท่านนะบี เป็นผู้หนึ่งที่สอนบรรดาเศาะหาบะฮ์ ด้วยวาจา โดยพวกเขาจะตั้งใจฟังและท่องให้จำ สำหรับผู้ที่สามารถจดบันทึกได้เขาเหล่านั้นก็จะจดบันทึกเก็บไว้

 

 



Islamic Information center of psu Fathoni