ข้อชี้ขาดสำหรับผู้ทิ้งละหมาด
  จำนวนคนเข้าชม  7177

 

ข้อชี้ขาดสำหรับผู้ทิ้งละหมาด


โดย  อิสมาอีล  กอเซ็ม


ข้อชี้ขาดของบรรดานักปราชญ์สำหรับผู้ที่ทิ้งละหมาด

          สำหรับปัญหาในประเด็นนี้ นักวิชาการได้มีความเห็นขัดแย้งกันตั้งแต่ยุคอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยที่ท่านอีหม่ามอะหมัดได้กล่าวว่า

 “ผู้ที่ได้ละทิ้งละหมาดนั้น เขาได้ตกศาสนา และจะต้องถูกฆ่า หากเขาไม่กลับเนื้อกลับตัว”

          แต่ในทัศนะของ อะบูอะนีฟะฮฺ มาลิกและชาฟีอีย์ นั้น ยังไม่ตัดสินว่า ผู้ที่ทิ้งละหมาดเป็นผู้ที่ปฎิเสธศรัทธา แต่พวกเขาถือว่าผู้ที่ทิ้งละหมาดเป็นคนชั่วที่ฝาฝืนคำสั่งของอัลลอฮ์ และพวกเขายังมีความขัดแย้งในประเด็นอื่นอีกโดยที่มาลิก และชาฟีอีย์นั้นได้ให้ความเห็นว่า

“ผู้ที่ทิ้งละหมาดนั้นจะต้องถูกฆ่าในฐานะที่มีความผิด”

          ส่วนอบูอะนีฟะฮฺนั้นมีความเห็นว่า ให้ขับไล่พวกเขา (หมายถึงผู้ที่ไม่ละหมาด) โดยไม่จำเป็นต้องฆ่า และเมื่อเรื่องดั่งกล่าวเป็นปัญหาที่ขัดแย้งกัน จำเป็นที่จะต้องนำปัญหานี้กลับสู่อัลกุรอาน และอัซซุนะฮฺ ซึ่งเมื่อเรากลับไปดูอัลกุรอานและอัซซุนนะฮฺ เราจะพบว่าแท้จริงอัลกุรอานและอัซซุนนะฮฺของท่านนะบี ได้ชี้ให้เห็นว่าผู้ที่ได้ละทิ้งละหมาดนั้น เป็นผู้ที่ปฎิเสธศรัทธา


หลักฐานจากอัลกุรอาน

สำหรับหลักฐานในเรื่องนี้ จากอัลกุรอาน คำพูดของอัลลอฮ์ที่ว่า

"ดังนั้น หากพวกเขาได้กลับเนื้อกลับตัว และพวกเขาได้ดำรงละหมาด และพวกเขาชำระซากาต ดังนั้นพวกเขาก็เป็นพี่น้องร่วมศาสนากับพวกเจ้า"

และอีกอายะหนึ่งที่อัลลอฮ์ได้กล่าวไว้ว่า

 “ภายหลังจากพวกเขา ชนรุ่นหนึ่งก็ได้สืบต่อมา พวกเขาได้ทำการละทิ้งละหมาด และปฏิบัติตามอารมณ์ใคร่

ต่อมาพวกเขาก็ได้ประสบกับความหายนะ เว้นแต่ผู้ขอลุแก่โทษและศรัทธาและกระทำความดี

ชนเหล่านั้นแหละจะได้เข้าสวรรค์และพวกเขาจะไม่ได้รับความอธรรมแต่อย่างใด” 

(ซูเราะห์มัรยัม 59-60)


          เมื่อเราพิจารณาใคร่ครวญอายะนี้ เราก็จะเห็นว่าอัลลอฮ์ได้กล่าวถึงกลุ่มชนที่จะมาทีหลัง โดยที่พวกเขาเป็นผู้ที่ละทิ้งละหมาด เป็นผู้ที่ปฏิเสธศรัทธา และจะต้องประสบกับความหายนะ นอกจากผู้ที่กลับเนื้อกลับตัวได้ศรัทธาและประกอบการงานที่ดี และจากอายะนี้ชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่ไม่ละหมาดก็คือผู้ปฏิเสธศรัทธา

          และจากซูเราะห์อัตเตาบะฮฺ อัลลอฮฺได้กำหนดเงื่อนไขเพื่อที่จะให้ความเป็นพี่น้องร่วมศาสนาระหว่างเราและพวกตั้งภาคีไว้ 3 เงื่อนไข คือ

1. พวกเขาจะต้องเลิกการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ

2. พวกเขาจะต้องดำรงละหมาด

3. พวกเขาจะต้องชำระซากาต

          ดังนั้นพวกเขาละทิ้งการตั้งภาคี แต่ไม่ละหมาดก็ไม่ถือว่าพวกเขาเป็นพี่น้องร่วมศาสนา และ เมื่อเราได้พิจารณาอายะอัลกุรอานที่อัลลอฮ์ได้กล่าวถึงในกรณีที่ฆ่ากันตาย: ที่ว่า

 “แล้วผู้ใดที่สิ่งหนึ่งจากพี่น้องของเขา ถูกอภัยให้แก่เขาแล้วก็ให้ปฏิบัติตามนั้นโดยชอบ และให้ชำระแก่เขาโดยดี”

(ซูเราะห์อัลบากอเราะห์ อายะที่ 178 )

          ความหมายอายะนี้ก็คือ ผู้ใดที่ฆ่าผู้อื่นตาย โดยที่มีคนหนึ่งจากเครือญาติของผู้ตายได้ให้อภัยแก่เขา โดยไม่ปรารถนาให้ผู้ที่ฆ่าต้องรับโทษคือ จะต้องถูกฆ่าให้ตายตามกัน ก็ให้ถือปฏิบัติตามนั้น ถึงแม้ว่าญาติคนอื่นจะไม่ยินยอมก็ตาม คำว่า “สิ่งหนึ่งจากพี่น้องของเขา” นั้นหมายถึงว่าได้มีการอภัยส่วนหนึ่งจากเครือญาติของผู้ตายและใช้ถ้อยคำว่าพี่น้องของเขา ให้รู้สึกเป็นพี่น้องกันเพราะผู้ศรัทธานั้นเป็นพี่น้องกัน

          และจากอายะนี้ เช่นเดียวกันทำให้รู้ว่าการทิ้งละหมาดนั้นถือว่า เป็นการกระทำความร้ายแรงกว่าการฆ่าชีวิตของผู้อื่นเสียอีก โดยที่อิสลามยังถือว่าผู้ที่ฆ่ากันตายนั้นยังเป็นพี่น้องร่วมศาสนาอยู่ แต่อิสลามถือว่าผู้ที่ละทิ้งละหมาดนั้นเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา เพราะเขาได้ละทิ้งละหน้าที่ของเขาที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้าซึ่งสร้างเขามา ดังนั้นจำเป็นสำหรับผู้ที่ละทิ้งละหมาดจะต้องกลับเนื้อกลับตัวขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์ เพื่อว่าเขาจะได้รับความเมตตาจากอัลลอฮ์ และจะได้เข้าสวนสวรรค์ของพระองค์


หลักฐานจากอัซซุนนะฮฺ

ท่านเราะซูล  ได้กล่าวว่า

“แท้จริงระหว่างคนคนหนึ่งกับการตั้งภาคี (ต่ออัลลอฮ์) และการปฏิเสธศรัทธา ก็คือ การทิ้งละหมาด”

และอีกคำพูดหนึ่งของท่านที่ว่า

“สัญญาหนึ่งที่จะมาแบ่งแยก ระหว่างเราและพวกเขา (หมายถึงผู้ปฏิเสธศรัทธา) คือการละหมาด

ดังนั้นผู้ใดละทิ้งการละหมาด แท้จริงเขาได้ปฏิเสธศรัทธา”

บันทึกโดย อะหมัด อบูดาวูด อัตตีรมีซีย์

          สำหรับคำว่า “ปฏิเสธ” ในหะดิษนี้ก็หมายถึง การปฏิเสธที่ทำให้ตกศาสนา เนื่องจากท่านนบีมูฮัมหมัด  ได้ทำให้การละหมาดมาเป็นตัวแบ่งแยกระหว่างผู้ศรัทธาและผู้ปฏิเสธศรัทธา และเป็นที่ทราบกันดีว่า แนวทางของการปฏิเสธไม่ใช่แนวทางของอิสลาม และผู้ใดที่ไม่รักษาสัญญานี้ (หมายถึงการละหมาด) ดังนั้นเขาก็เป็นผู้หนึ่งที่ปฏิเสธศรัทธา


ความสำคัญของการละหมาดในอิสลาม

          1. บัญญัติอิสลามได้ให้ผู้ที่ละทิ้งละหมาดนั้นเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา

        2. การละหมาดนั้นเปรียบเสมือนเสาหลักของศาสนาผู้ใดที่ไม่ละหมาด ก็เหมือนกับเขา ได้ทำให้เสาหลักศาสนาล้มลง  นั่นเท่ากับว่า เขาได้ทำลายศาสนาในตัวของเขาเอง

         3. การละหมาดจะเป็นสิ่งแรกที่บ่าวจะต้องถูกสอบสวนในวันกิยามะฮฺ เหมือนหะดิษของ ท่านนะบี ที่ว่า

“สิ่งแรกที่บ่าวจะต้องถูกสอบสวนในวันกิยามะฮฺ ก็คือการละหมาด

ดังนั้นหากว่าการทำละหมาดนั้นดี แน่นอนเขาจะได้รับความสำเร็จ และได้รับความปลอดภัย

และหากว่าการละหมาดนั้นเสีย (ไม่ถูกรับ) แน่นอนเขาจะเป็นผู้ที่ขาดทุน”

          4. การละหมาดนั้นเป็นคำสั่งเสียสุดท้ายที่ท่านรอซูล ได้สั่งเสียแก่ประชาชาติของท่านก่อนที่ท่านจะจากโลกนี้ไป โดยที่ท่านกล่าวว่า

“การละหมาดและสิ่งที่มือขวาของพวกเจ้าได้ครอบครองอยู่ (หมายถึงทาสหญิง)

           จากหะดิษนี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการละหมาดในขณะที่ท่านนะบีจะจากโลกนี้ไป คำสั่งเสียสุดท้ายของท่าน คือ ให้รักษาละหมาด

          5. การละหมาดเป็นการภักดีต่ออัลลอฮ์  อย่างเดียวที่มุสลิมจะต้องถือปฏิบัติไม่ว่าจะอยู่ในสหภาพใด ห้ามละทิ้งเป็นอันขาด ไม่ว่าจะเจ็บป่วยหรือเดินทาง ซึ่งต่างกับดิบาดะฮ์อย่างอื่น

ยกเว้นคน 3 ประเภทคือ คนบ้า เด็กที่ยังไม่เข้าเกณฑ์บังคับของศาสนา และคนนอนหลับจนกว่าเขาจะตื่น


โทษของผู้ที่ละทิ้งศาสนาที่จะได้รับในโลกหน้า

1. มะลาอิกะฮจะทำการลงโทษพวกเขาด้วยการตีที่ใบหน้าและแผ่นหลังของพวกเขา

2. พวกเขาจะต้องไปอยู่ร่วมกันกับบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา และผู้ตั้งภาคีในนรกและอื่น ๆ จากนี้อีกมากมายจากการลงโทษ


          พี่น้องที่รักประตูแห่งการขออภัยโทษกลับเนื้อกลับตัวต่ออัลลอฮ์  ยังคงเปิดอยู่เสมอ ให้พี่น้องได้มุ่งหน้าหาพระองค์ด้วยความบริสุทธิ์ใจ และเสียใจต่อความผิดที่ผ่านมาในอดีต และตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะไม่กลับไปทำความผิดอีกต่อไป และจะทำการเชื่อฟังต่ออัลลอฮ์ให้มาก  แน่นอนอัลลอฮ์ จะอภัยโทษให้กับพี่น้องในความผิดของพี่น้อง ขอความสันติสุขจงประสบแด่ท่านนบี  ตลอดจนเครือญาติ และบรรดาสาวกของท่านทั้งหมด

 


ข้อมูลบางส่วนแปลจากหนังสือ “ฮุก่มของผู้ทิ้งละหมาด” ของ เชคอุซัยมีน