รอมาฏอน อุทยานแห่งการพัฒนา
  จำนวนคนเข้าชม  6822

 

รอมาฏอน อุทยานแห่งการพัฒนา คุณภาพชีวิต ศรัทธาชน


โดย : อ.อาหมัด  อัลฟารีตีย์


          เดือนรอมาฎอนเป็นเดือนแห่งการถือศีลอด มีจุดประสงค์เพื่อฝึกอบรมและหล่อหลอมให้ผู้ศรัทธามีความสำรวมตนจากความชั่วและยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ซึ่งเป็นสุดยอดคุณลักษณะที่ประเสริฐ

อัลลอฮฺทรงตรัสว่า

{ يَأَيُّهَا الَّذِيْنَ آمَنُوا كُتِبَ عَلَيْكُمُ الصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى الَّذِيْنَ مِنْ قَبْلِكُمْ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُوْن }

     “บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย! การถือศีลอดได้ถูกกำหนดสำหรับสูเจ้า ดั่งที่ได้ถูกกำหนดสำหรับบรรดาก่อนหน้าสูเจ้า  เพื่อสูเจ้าจะได้สำรวมตนจากความชั่ว”

(อัลบาเกาะเราะฮฺ  2 : 183)

ท่านรสูลุลลอฮฺ  กล่าวว่า

" مَنْ صَامَ رَمَضانَ إيْمَانًا واحْتِسَابًا غُفِرَ لَهُ مَا تَقدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ  "

     “ผู้ใดถือศีลอดด้วยศรัทธามั่นและหวังในความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ  เขาจะได้รับการอภัยโทษจากความผิดของเขาในอดีต”

(หะดีษรายงานโดยบุคอรีย์เลขที่37 และมุสลิมเลขที่1268)

          กิจกรรมการฝึกอบรมและพัฒนาคุณภาพชีวิตในเดือนรอมาฎอนจะไม่จบลงเพียงในภาคกลางวัน แต่จะต่อเนื่องไปจนถึงภาคกลางคืน ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่ดีเยี่ยมสำหรับผู้ที่ปรารถนาจะตักตวงและแสวงการอภัยโทษและพระเมตตาจากอัลลอฮฺ ผู้ทรงยิ่งในความเมตตากรุณาปราณีและผู้ทรงอภัย นั่นก็คือ การละหมาดยามค่ำคืน นั่นเอง

ท่านรสูลุลลอฮฺ กล่าวว่า

" مَنْ قَامَ رَمَضَانَ إِيْمَانًا وَاحْتِسَابًا غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ "

     “ผู้ใดลุกขึ้น (ละหมาดและประกอบอิบาดะห์) ด้วยศรัทธามั่นและหวังในผลตอบแทนจากอัลลอฮฺ  เขาจะได้รับการอภัยโทษจากความผิดของเขาในอดีต”

(บุคอรีเลขที่ 36 และมุสลิมเลขที่ 1266 )


รอมาฎอนเดือนแห่งอัลกุรอาน


         เดือนรอมาฎอนเป็นเดือนที่อัลลอฮฺทรงประทานอัลกุรอานลงมา  เพื่อเป็นธรรมนูญแห่งชีวิตของมวลมนุษยชาติ  เป็นคำสอนที่ครอบคลุม สมบูรณ์และสอดคล้องกับมนุษย์ทุกยุคสมัย เป็นคัมภีร์ที่นิรันดร์ อัลลอฮฺตรัสว่า

{ شَهْرُ رَمَضَانَ الَّذِى أُنْزِلَ فِيْهِ الْقُرْآنُ هُدًى لِلنَّاسِ وَبَيِّنَاتٍ مِنَ الْهُدَى وَالْفُرْقَانِ }

     “เดือนเราะมะฎอนคือ เดือนที่อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมา  เป็นทางนำสำหรับปวงมนุษย์  และหลักฐานต่างๆแห่งทางนำ และข้อจำแนกระหว่างความจริงและความเท็จ...”

(อัลบาเกาะเราะฮฺ  2 : 185)

          ดังนั้น วิถีชีวิตของมุสลิมในเดือนรอมาฎอนเป็นชีวิตที่แนบแน่นและใกล้ชิดกับอัล-กุรอานเป็นอย่างมาก การอ่านอัล-กุรอานในเดือนรอมาฎอนควรอ่านอย่างน้อย 1 จบ หรือมากกว่านั้น

          ท่านรสูลุลลอฮฺ จะอ่านและทบทวนอัลกุรอานในเดือนรอมาฎอน โดยการนำของญีบรีล 

ท่านรสูล กล่าวว่า

" كَانَ يَلْقَاهُ جِبْرِيْلُ فِى كُلِّ لَيْلَةٍ مِنْ رَمَضَانَ فَيُدَارِسُهُ القُرْآنَ "

     “แท้จริงรสูลุลลอฮฺ พบกับญิบรีลทุกคืนในเดือนรอมาฎอนเพื่อทบทวน อัลกุรอาน”

(หะดีษรายงานโดยบุคอรี เลขที่ 6 )

           อาจกล่าวได้ว่าการมาของรอมาฎอนและการกำหนดให้ถือศีลอดนั้นก็เพื่อให้มุสลิมมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับอัลกุรอาน

 

รอมาฎอนเดือนแห่งดุอาอ์


          ดุอาอฺเป็นอิบาดะฮฺเหมือนกับอิบาดะฮฺอื่นๆที่ผู้กระทำด้วยจิตใจบริสุทธิ์จะได้รับผลบุญ โดยเฉพาะสำหรับผู้ถือศีลอด ดุอาอ์ของเขาจะไม่ถูกผลักไส

ท่านรสูล กล่าวว่า

" الدعاء هو  العبادة "       ความว่า "ดุอาอ์นั้นคืออิบาดะฮฺ"

(ในเศาะเหียะห์ อบูดาวูด เลขที่ 1329 )

ท่านรสูล กล่าวอีกว่า

" ثَلاَثُ دَعْوَاتٍ لاَ تُرَدُّ : دَعْوَةُ الْوَالِدِ وَدَعْوَة الصَّائِمِ وَدَعْوَةُ الْمُسَافِرِ "

     "ดุอาอ์สามประเภทที่ไม่ถูกผลักไสคือดุอาอ์ของบุพการี ดุอาอ์ของผู้ถือศีลอด และดุอาอ์ของผู้เดินทาง"

(รายงานโดยอัลบัยฮะกีย์เลขที่ 6185,ในเศาะเหียห์อัลญามิอฺเลขที่ 3032 )

 

รอมาฎอนเดือนแห่งลัยละตุ้ลก็อดรฺ


อัลลออฺตรัสว่า

{ إِنَّا أَنْزَلْنَاهُ فِى لَيْلَةِ الْقَدْرِ * وَمَا أَدْرَاك مَا لَيْلَةُ الْقَدْرِ *  لَيْلَةُ الْقَدْرِ خَيْرٌ مِنْ أَلْفِ شَهْرٍ   *  تَنَزَّلُ الْمَلاَئِكَةُ وَالرُّوْحُ فِيْهَا بِإِذْنِ رَبِّهِمْ مِنْ كُلِّ أَمْرٍ *  سَلاَمٌ هِيَ حَتَّى مَطْلَعِ الْفَجْرِ }ن

     “แท้จริง เราได้ประทานอัล-กุรอานลงมาในคืนลัยละตุลก็อดริ์ อันใดจะทำให้เจ้าทราบว่า คืนลัยละตุลก็อดริ์คืออะไร? คืนลัยละตุลก็อดริ์นั้นดีกว่าพันเดือน  ปวงมลาอีกะห์และอัร-รูหฺ ( ญีบรีล ) ลงมาใน ( คืน ) นั้น โดยอนุมัติของพระผู้อภิบาลของพวกเขาพร้อมด้วย  ( พระบัญชา ) แห่งกิจการทุกสิ่ง ศานติ! นี่จนกระทั่งเบิกอรุณ”

(อัล-ก็อดรฺ 97: 1-5)

 ท่านรสูลุลลอฮฺ   กล่าวว่า

" تَحَرَّوْا لَيْلَةَ الْقَدْرِ فِى الْعَشْرِ الأَوَاخِرِ مِنْ رَمَضَانَ "

     “จงแสวงหาลัยละตุลก็อดรฺอย่างจริงจังในช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนรอมาฎอน”

(หะดีษรายงานโดยบุคอรีย์เลขที่1886 และมุสลิมเลขที่2006)

 


ดุอาอ์สำหรับคืนลัยละตุลก็อดร์


         ท่านหญิงอาอิชะฮฺได้ถามท่านรสูลุลลอฮฺว่า บอกฉันเถิด ถ้าหากคืนใดฉันรู้ว่า เป็นลัยละตุลก็อกร์ จะให้ฉันกล่าวดุอาอ์ใด ?   

ท่านรสูล  ตอบว่า  จงกล่าวว่า

" اللّهُمَّ إِنَّكَ عَفُوٌّ تُحِبُّ الْعَفْوَ فَاعْفُ عَنِّيْ "

     "โอ้องค์อภิบาลแห่งข้า แท้จริง พระองค์นั้นทรงเป็นผู้อภัยยิ่ง พระองค์ทรงรักการอภัย ดังนั้นได้โปรดอภัยให้แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด"

( รายงานโดยอิบนุมาญะฮฺเลขที่ 3840)


รอมาฎอนเดือนแห่งการเอียะติก้าฟ


         ช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนรอมาฎอนเป็นช่วงเวลาที่ประเสริฐที่สุดและเป็นนาทีทองสำหรับการตักตวงและแข่งขันการทำความดี  ท่านรสูลุลลอฮฺ จึงมีความกระตือรือร้นและจริงจังกับการปฏิบัติตามพระบัญชาของอัลลอฮ์

ท่านหญิงอาอิชะห์รายงานว่า

" كَانَ رَسُول الله  يَجْتَهِدُ فِى الْعَشْرِ الأَوَاخِرِ مَا لاَ يَجْتَهِدُ فِى غَيْرِهِ "

     “แท้จริงท่านรสูลุลลอฮฺ จะกระตือรือร้นและจริงจังกับการปฏิบัติตามพระบัญชาของอัลลอฮ์ ในช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนรอมาฎอน ซึ่งไม่เคยกระทำมากเช่นนี้ในคืนอื่นๆ”

(หะดีษรายงานโดยมุสลิมเลขที่2009)


          ในช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนรอมาฎอน ท่านรสูลุลลอฮฺจะเอียะติก้าฟที่มัสยิดทุกปีไม่เคยขาดตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต  ดังหะดีษรายงานจากท่านหญิงอาอิชะห์ความว่า

"كَانَ النَّبِيُّ  يَعْتَكِفُ العَشْرَ الأَوَاخِرَ مِنْ رَمَضَانَ حَتَّى تَوَفَّاهُ اللهُ، ثُمَّ اعْتَكَفَ أَزْوَاجُهُ مِنْ بَعْدِهِ "

      “แท้จริง ท่านนบี เอียะติก้าฟในช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนรอมาฎอนทุกปีตราบจนท่านเสียชีวิต  ต่อมาบรรดาภรรยาของท่านก็ได้สืบทอดต่อ”

(บุคอรีย์เลขที่1886 และมุสลิมเลขที่2006)

 

รอมาฎอนเดือนแห่งการความโอบอ้อมอารีและเอื้ออาทร


         รอมาฏอนเป็นสถาบันแห่งการฝึกอบรมและพัฒนาคนให้มีความโอบอ้อมอารีและเอื้ออาทร ท่านหญิงอาอิชะห์รายงานว่า

" كان رسول الله أَجْوَدَ النَّاس وَكَانَ أَجْوَدُ مَا يَكُوْنُ فِى رَمَضَانَ "

     “แท้จริงท่านรสูลุลลอฮฺ นั้นเป็นผู้มีจิตโอบอ้อมอารี และท่านจะมีจิตโอบอ้อมอารีมากในช่วงเดือนรอมาฎอน”

(หะดีษรายงานโดยบุคอรีย์เลขที่ 6 และมุสลิมเลขที่2308)

          ส่วนหนึ่งของรูปธรรมแห่งความเอื้ออาทรในเดือนรอมาฎอน ก็คือ การเลี้ยงอาหารแก่ผู้ละศีลอด

" مَنْ فَطَّرَ صَائِمًا كَانَ لَهُ مِثْلُ أَجْرِهِ غَيْرَ أَنَّهُ لاَ يَنْقُصُ مِنْ أَجْرِ الصَّائِمِ شَيْئًأ "

     “ผู้ใดให้อาหารละศีลอดแก่ผู้ที่ถือศีลอด เขาจะได้รับผลบุญตอบแทนเหมือนกับผู้ที่ถือศีลอด และผลบุญที่เขาได้รับนั้น จะไม่ทำให้ผลบุญของผู้ที่ถือศืลอดพร่องเลยแม้แต่น้อย” 

( ติรมีซีย์ : 807 และอิบนุมาญะห์ : 1619)


 
คำเชิญชวน

ภารกิจอันประเสริฐที่มุสลิมพึงปฏิบัติในเดือนรอมาฎอน คือ

• พึงให้เกียรติแก่เดือนรอมาฎอนอันสูงส่งด้วยการไม่ละเมิดขอบเขตต่างๆที่ถูกกำหนดไว้

• เข้าใจและเข้าถึงแก่นแท้และสารัตถะของรอมฎอนพร้อมนำไปฏิบัติด้วยศรัทธาและหวังผลตอบแทนจากอัลลอฮ์

• ละหมาดตะรอเวียฮฺและวิตรฺในคืนของเดือนรอมาฏอน