ซะกาตหุ้น
  จำนวนคนเข้าชม  10708

ซะกาตหุ้น

 

นิพล  แสงศรี


          หากพิจารณาในด้านการซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคลแล้ว หุ้นก็เหมือนการค้าขายทั่วไป  ซึ่งทุกคนสามารถใช้เป็นเครื่องมือทางการค้าและแสวงหาผลกำไรได้  การปฏิบัติเช่นนี้ถือเป็นที่อนุญาตเพราะมีพื้นฐานจากเงื่อนไขทางการค้าตามหลักกฎหมายอิสลาม  ดังนั้นนักนิติศาสตร์อิสลามจึงกำหนดให้จ่ายซะกาตหุ้นบริษัท  เพราะมาจากทรัพย์สินประเภทหนึ่งที่สามารถสร้างผลกำไรให้บริษัท  และหุ้นสามารถเพิ่มขึ้น-ลดลงได้ตามศักยภาพของบริษัทที่จะเพิ่มผลกำไรหรือลดหย่อนผลกำไร

มติเอกฉันท์ของสถาบันวินิจฉัยเกี่ยวกับนิติศาสตร์อิสลามระบุว่า   (ตามคำวินิจฉัยหมายเลข 28  หน้า 63-64  ครั้งที่  4)

          1.ผู้ถือหุ้นจำเป็นต้องจ่ายซะกาต  โดยฝ่ายบริหารของบริษัทหุ้นจะต้องคัดแยกออกแทนผู้ถือหุ้นหากระบบบริษัทดำเนินกิจการด้วยพื้นฐานที่กล่าวมา  หรือฝ่ายบริหารขององค์กรและมูลนิธิเกี่ยวกับหุ้นจะต้องออกกฎระเบียบเกี่ยวกับซะกาต หรือใช้กฎหมายของประเทศเป็นตัวกำหนดให้บริษัทหุ้นต่างๆจ่ายซะกาต  หรือผู้ถือหุ้นตั้งเงื่อนไขให้บริษัทหุ้นจ่ายซะกาตในส่วนของเขา

          2.ฝ่ายบริหารบริษัทหุ้นจะต้องจ่ายซะกาตเหมือนการจ่ายซะกาตทรัพย์สินของบุคคลทั่วไป  กล่าวคือ  ให้ถือว่าหุ้นของทุกคนเป็นเสมือนทรัพย์สินของบุคคลคนเดียว  และให้ดำเนินการจ่ายซะกาตเหมือนเป็นทรัพย์สินประเภทหนึ่งที่ต้องมีการจ่ายซะกาตเมื่อครบจำนวน  และครบรอบปี  ตลอดจนจำนวนที่จะต้องออกซะกาต  การปฏิบัติเช่นนี้ได้มาจากนานาทัศนะของนักนิติศาสตร์อิสลามหลายๆท่านเกี่ยวกับการจ่ายซะกาตเชิงทรัพย์สิน  ส่วนหุ้นที่ไม่จำเป็นต้องจ่ายซะกาตได้แก่ หุ้นกองทุนหรือกองคลังสาธารณะประโยชน์ส่วนรวม หุ้นบริจาค (วะกัฟ) หุ้นหน่วยงานหรือองค์กรการกุศล  เช่นเดียวกับหุ้นบุคคลที่ไม่ใช่มุสลิม

          3.หากบริษัทหุ้นไม่ดำเนินการจ่ายซะกาตไม่ว่าจะมาจากสาเหตุใดก็ตาม  ผู้ถือหุ้นทุกคนจำเป็นจะต้องจ่ายซะกาต  เช่น กรณีผู้ถือหุ้นสามารถทราบถึงส่วนที่ผู้ถือหุ้นจะต้องจ่ายซะกาตจากบัญชีบริษัท  ก็ให้ผู้ถือหุ้นจ่ายซะกาตเพราะมันเป็นที่มาของการจ่ายซะกาตหุ้น

          เช่นเดียวกับกรณีผู้ถือหุ้นไม่สามารถทราบถึงส่วนที่ผู้ถือหุ้นจะต้องจ่ายซะกาต  และผู้ถือหุ้นหวังเพียงการเติบโตเป็นรายปีโดยไม่มีเจตนาทำธุรกิจและแสวงหาผลกำไร ก็ให้ผู้ถือหุ้นจ่ายซะกาต  แต่ถ้าหากผู้ถือหุ้นเจตนาทำธุรกิจและแสวงหาผลกำไร ก็ให้จ่ายซะกาต (2.5 % ) เมื่อครบรอบปีและเงื่อนไขการซะกาต

          หากผู้ถือหุ้นเจตนาครอบครอบหุ้นเพื่อทำธุรกิจและแสวงหาผลกำไร  ก็ให้จ่ายซะกาตเหมือนการจ่ายซะกาตการค้าทั่วไปเมื่อครบรอบปีตามมูลค่าหุ้นในตลาด  กรณีไม่มีราคาตลาดหุ้นนำมาเปรียบเทียบ  ผู้ถือหุ้นจะต้องมอบแก่ผู้เชี่ยวชาญเพื่อคำนวณหามูลค่าหุ้นก่อนจะจ่ายซะกาต (2.5 % ) จากราคาหุ้นทั้งหมด หรือจากราคาหุ้นบวกผลกำไรที่เกิดจากหุ้น

         4.หากผู้ถือหุ้นขายหุ้นของเขาระหว่างปีหรือก่อนครบรอบปี  ก็ให้นำมูลค่าหุ้นไปรวมกับหุ้นที่เหลือและจ่ายซะกาตเมื่อครบรอบปี  ส่วนผู้ซื้อหุ้นให้จ่ายซะกาตตามจำนวนหุ้นที่ซื้อและตามเงื่อนไขการจ่ายซะกาตดังที่กล่าวมา

          เชคอิบนุบาซ ให้ความเห็นว่า (Fatwa Ibn Baz.)  ผู้ถือหุ้นที่สำรองหุ้นไว้เชิงพาณิชย์และธุรกิจ จะต้องจ่ายซะกาตเมื่อครบรอบปีเหมือนกับสินค้าทั่วไป ไม่ว่าจะเกี่ยวกับที่ดิน รถยนต์ และอื่นๆ   หากผู้ถือหุ้นมีหุ้นสำรองไว้เพื่อการเช่าไม่ใช่เพื่อการขาย เช่น ที่ดิน รถยนต์  ก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายซะกาตหุ้น  แต่ต้องจ่ายซะกาตรายได้จากค่าเช่าแทนเมื่อครบรอบปีและครบจำนวนตามศาสนากำหนด

         หากเป็นหุ้นบริษัทเชิงเกษตรกรรม  ให้จ่ายซะกาตเหมือนการจ่ายซะกาตทางการเกษตรทั่วไป  เช่นเดียวกับหุ้นบริษัทเชิงพาณิชย์ จำเป็นต้องจ่ายซะกาตเหมือนการจ่ายซะกาตการค้า  โดยจะมีการกำหนดอัตราซะกาต ตามราคาหุ้น ณ วันที่ครบกำหนดจ่ายซะกาต  ส่วนหุ้นบริษัทเชิงอุตสาหกรรม  นักนิติศาสตร์อิสลามมีความเห็นแตกต่างกันคือ

ทัศนะที่ 1 จำเป็นต้องจ่ายซะกาตในสิ่งที่เป็นกำไรเท่านั้น  ส่วนสิ่งที่เป็นวัตถุ  อาคาร  สิ่งก่อสร้าง  และอื่นๆไม่จำเป็นต้องจ่ายซะกาต  เชคอับดุลเราะมาน อีซา เห็นด้วยกับทัศนะนี้

ทัศนะที่ 2 ไม่มีความแตกต่างกันระหว่างหุ้นเชิงอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์  ตราบใดที่มีวัตถุประสงค์เพื่อธุรกิจและผลกำไร  โดยเฉพาะการแยกแยะระหว่างสองอย่างถือเป็นเรื่องยาก  โดยเชคยูซุฟ อัลเกาะเราะฏอวีย์  เห็นด้วยกับทัศนะนี้

ทัศนะที่ 3 แยกระหว่างหุ้นเชิงอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์  โดยให้พิจารณาถึงเจตนาเป็นหลัก  ดังนั้นหากผู้ถือหุ้นเจตนาเพียงแค่ครอบครองหุ้นบริษัท ก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายซะกาต  แต่ถ้าหากผู้ถือหุ้นเจตนาครอบครองเพื่อแสวงผลกำไร  ก็จำเป็นต้องจ่ายซะกาตโดยจ่ายซะกาตตามมูลค่าหุ้นในตลาด  และเชคอับดุลเลาะ บิน มุนิอฺ เห็นด้วยกับทัศนะนี้


المراجع:

1-    مجلة مجمع الفقه الإسلامي، العدد (4)، (1/707).
2-    بحوث في الاقتصاد الإسلامي، عبدالله بن سليمان بن منيع، ص(67).
3-     مجموع رسائل الشيخ عبدالله المحمود (4).
4-     زكاة الأسهم والسندات، الشيخ صالح السلان.
5-     أبحاث فقهية في قضايا الزكاة المعاصرة.
6-     فتاوى ابن باز.