ซูเราะห์ อัลฟาตีหะฮฺ
  จำนวนคนเข้าชม  71879

ซูเราะห์ อัลฟาตีหะฮฺ

อาจารย์อาหมัด  อัลฟารีตีย์



        
1. ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา กรุณาปรานี เสมอ

2. บรรดาการสรรเสริญ เป็นของอัลลอฮฺ พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก

3. ผู้ทรงเมตตา กรุณาปราณี เสมอ

4. ผู้ทรงเป็นใหญ่แห่งวันตอบแทน

5. พระองค์เท่านั้น ที่เราเคารพภักดี และพระองค์เท่านั้น ที่เราขอความช่วยเหลือ

6. โปรดนำเราสู่ทางอันเที่ยงตรง

7. ทางของบรรดาที่พระองค์ได้ทรงประทานความโปรดปรานแก่เขาทั้งหลาย   ไม่ใช่ของพวกที่ถูกกริ้ว และ ไม่ใช่พวกที่หลงผิด


            ซุเราะห์อัลฟาตีหะฮฺ (อารัมภบท)  มี 7 อายะฮฺ เป็นบทแรก ๆ บทหนึ่ง ที่ถูกประทานที่นครมักกะฮฺ เรียกว่า มักกียะฮฺ

            ซูเราะห์อัลฟาตีหะฮฺ เป็นซูเราะห์ที่สำคัญยิ่งของอัลกุรอาน มีชื่อเรียกกันมาก แต่ที่เลื่องลือนั้น เรียกกันดังนี้

            1. "อุมมุ้ลกิตาบ" = แม่บทของพระมหาคัมภีร์ หรือ "อุมมุ้ลกุรอาน" = แม่บท ของกุรอาน เพราะซูเราะห์นี้ รวมเอาความหมายของอัลกุรอานเข้าไว้หลายประการด้วยกัน

            2. อัชชับอุ้ลมะอานีย์ = เจ็ดอายะฮฺที่ทวนซ้ำ เพราะต้องทวนซ้ำการอ่านในละหมาด คือ ทุกๆ รอกะอัต ต้องอ่านซูเราะห์นี้

            3. อัลอะซาซ = รากฐาน เพราะว่าเป็นรากเง่าของอัลกุรอานและเป็นซูเราะห์ แรก ของอัลกุรอาน

            อัลฟาตีหะฮฺ = บทแรก เพราะว่าเป็นบทแรกของอัลกุรอาน ในการเรียงอันดับ


ประโยคที่ 1

 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา กรุณาปรานีเสมอ


ประโยคที่ 2

การสรรเสริญทั้งสิ้นนั้น เป็นของอัลลอฮฺผู้เป็นเจ้าโลกทั้งมวล

คำอธิบาย

            "อัลหัมดุลิ้ลลาฮฺ" การสรรเสริญทั้งสิ้นนั้น เป็นของอัลลอฮฺ   "อัลหัมดุ" ตามศัพท์ภาษาอาหรับ แปลว่า "การยกย่อง ต่อการทำความดีงาม" เช่น ฉันได้สรรเสริญ "ซัยด์" บนการกระทำของเขา และบนความกรุณาเผื่อแผ่ของเขา  ซึ่งเป็นคำตรงข้ามกับ "อัลละซัม" ซึ่งแปลว่า ติเตียน

            ท่านศาสดามุฮัมมัด ได้ดำรัสว่า "การสรรเสริญนั้น เป็นยอดของการขอบคุณ และการขอบคุณผู้ที่ไม่ได้สรรเสริญอัลลอฮฺ ก็ไม่ได้ขอบใจและขอบคุณอัลลอฮฺ และการติเตียนนั้น เป็นการตรงกันข้ามกับการสรรเสริญ และการไม่เชื่อถือพระเจ้านั้น เป็นการตรงกันข้าม กับการขอบใจและขอบคุณพระเจ้า"

            "อัลหัมดุลิ้ลลาฮฺ" เป็นประโยค "คอบะรียะฮฺ" จึงมีความหมายว่า การสรรเสริญทุกอย่าง ที่เป็นทางดีแล้ว ก็เป็นของอัลลอฮฺ เพราะว่าพระองค์เป็นเจ้าของแห่งการสรรเสริญ และมีสิทธิในการสรรเสริญทั้งสิ้น
            ประโยค "อัลหัมดุลิ้ลลาฮฺ" ในกอมูล-อั้ลอัสรีย์ แปลไว้ 2 อย่าง

            1. แปลว่า  การเสริญนั้นเป็นของพระเจ้า และ

            2. แปลว่า  ขอบคุณพระเจ้า

            "ร็อบบิ้ลอาละมีน"  ผู้เป็นเจ้าโลกทั้งปวง

            "ร็อบบิ"  เดิมเป็น "มัชด๊าด" (อาการนาม) ซึ่งมีคำแปลว่า การเลี้ยงดู ภายหลังเอามาใช้เป็น "ซิฟะตุลมุบาละคฺอฮฺ" หรือคุณลักษณะของพระเจ้า จึงเรียกว่า "อัลมะลิกุ" (เจ้าของ) พระองค์ดูแลระวังรักษาสิ่งซึ่งพระองค์ครอบงำและเลี้ยงดูอยู่

การเลี้ยงดูของพระเจ้าต่อมนุษย์นั้น มี 2 ชนิด

            1. เรียกว่า "การเลี้ยงดูแห่งร่างกาย" คือ การให้ร่างกายมนุษย์เจริญเติบโตขึ้น จนกระทั่งถึงที่สุดของมัน และการให้กำลังของมนุษย์แข็งแรงขึ้นและการให้สติปัญญาของมนุษย์ ฉลาดขึ้น

            2. เรียกว่า "การเลี้ยงดูแห่งศาสนา แห่งการศึกษา" คือให้วะฮฺยูลงมาแก่คนคนหนึ่งจากพวกมนุษย์ เพื่อจะให้เขาผู้นั้น ทำสิ่งซึ่งกระทำให้สติปัญญาของเขาสมบูรณ์ และให้ชีวิตของพวกเขาสมบูรณ์ และให้ชีวิตของพวกเขาแจ่มใสมาสู่มนุษย์ และให้มนุษย์เริ่มเคารพภักดีกับพระองค์ ไม่ให้เคารพภักดีกับสิ่งอื่น และเพื่อจะไม่ให้ผู้ใด "อัลอาละมีน" เป็นคำพหูพจน์ของคำ "อาลัม" ซึ่งแปลว่า "โลก" หมายถึงสิ่งที่ถูกบรรดาลให้มีขึ้นทั้งหมด เมื่อรวมคำสองคำนี้ เข้าด้วยกัน จึงมีคำแปลเป็นภาษาไทยว่า "ผู้เป็นเจ้าโลกทั้งปวง"  และคำว่าโลกในที่นี้ หมายถึงสรรพสิ่งที่มีขึ้นทั้งสิ้น จึงทำให้เรารู้จักพระเจ้าผู้สร้างได้เป็นอย่างดี

            สรุป ความประโยคที่ 2  มีความหมายดังนี้ "แท้จริงทุกๆ การสรรเสริญที่ดีนั้น เป็นของอัลลอฮฺ " เพราะว่าพระองค์เป็นผู้บังเกิดสิ่งที่ขึ้นทั้งมวลนี้ ซึ่งพระองค์ได้ครอบงำโลกทั้งปวงไว้ และเลี้ยงดูโลกทั้งปวงไว้ ตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงที่สุดของมัน และหวังให้ชาวโลกรู้ถึงสิ่งที่เป็นความดีและสมควรแก่พวกเขา ฉะนั้นการสรรเสริญ จึงต้องเป็นของพระองค์ ในการที่พระองค์ได้ส่งคำแนะนำนั้นมาให้ และขอบใจและขอบคุณ ในสิ่งซึ่งพระองค์ได้ให้ปกครอง


ประโยคที่ 3

ผู้ทรงเมตตา  กรุณาปรานีเสมอ

            คำ "เมตตา"  พจนานุกรมแปลว่า ความรักและเอ็นดูและปรารถนาให้ผู้อื่น ได้สุข

            คำ  "กรุณา"   แปลว่า ความสงสาร ช่วยเหลือเมื่อเห็นผู้อื่นได้ทุกข์

            และคำดำรัสของท่านศาสดามุฮัมมัด ความว่า

            " อัรเราะห์มานนั้น เป็นลักษณะเมตตาแก่โลกดุนยา และอัรร่อหีมนั้น เป็นลักษณะกรุณา แก่โลกอาคีเราะห์ "


ประโยคที่ 4

ผู้ทรงเป็นใหญ่วันแห่งตอบแทน

            "มาลิกิ"   แปลว่า ผู้ครอบครอง

            "อัดดีน"  แปลว่า ศาสนา ตามศัพท์หมายถึง มีการเชื่อถือ มีการพิจารณา มีการให้รางวัล และมีการตอบแทน ซึ่งตรงกับความหมายในที่นี้

            "เยามิดดีน"  จึงหมายถึง วันที่กำหนดไว้แล้วอย่างแน่นอนวันหนึ่ง ซึ่งผู้ที่ได้กระทำการต่างๆ ไปแล้ว จะได้รับการตอบแทนการกระทำของเขา

             ประโยค "มาลิกิเยามิดดีน" นี้ ตามรอยประโยค "อัรเราะฮฺมานิรรอหีม" เช่นเดียวกับ "ความกลัว" ตามหลัง "ความตื่นเต้น" จึงมีความหมายในภาษาไทยว่า "อัลลอฮฺผู้เป็นเจ้าโลก ผู้ทรงเมตตา กรุณาเสมอ และเป็นผู้ครอบครองในวันอัดดีน"


ประโยคที่ 5

เฉพาะพระองค์เท่านั้น ที่เราเคารพภักดี และพระองค์เท่านั้น ที่เราขอความช่วยเหลือ

            "อี้ยากะ" พระองค์เท่านั้น เป็นคำสรรพนามที่เป็น "มัฟอูลุ้ลมุตะก็อดดัม" กรรมก่อนกิริยา ตามวิชา "มะอานีย์ เขาเรียกว่า "ตัคซีซ" คือ บ่งว่าจำกัดหรือเฉพาะ ฉะนั้น คำ"อี้ยากะ" ในประโยคนี้ จึงมีความหมายว่า ผู้ที่ควรแก่การเคารพภักดีอย่างยิ่งนั้น คือ อัลลอฮฺ องค์เดียวเท่านั้น จะเป็นผู้อื่นหรือสิ่งอื่นไม่ได้เด็ดขาด

             "อัลอิบาดะฮฺ" การเคารพภักดีนั้น คือ การยอมจำนนเข้านอบน้อมเชื่อฟัง และปฏิบัติตามคำสั่ง และศรัทธาในเอกภาพของพระองค์ คือ ตออัตกับอัลลอฮฺ

             การขอความช่วยเหลือนั้น คือ การแสวงหาความช่วยเหลือและแสวงการการอุดหนุนให้การงานสำเร็จสมบูรณ์ขึ้นมา โดยที่ผู้ขอนั้น ไม่สามารถที่จะให้การงานนั้น สำเร็จสมบูรณ์ขึ้นมาได้ด้วยลำพังตนเอง


ประโยคที่ 6

โปรดนำเราสู่หนทางอันเที่ยงตรง

            ประโยคนี้ ตามวิชามะอานีย์ เรียกประโยค อินชาอฺ ชนิด ต้อละบี ซึ่งประกอบขึ้นด้วย "ฟิแอลอะมัร" คำกิริยาใช้ แต่คำแปลเดิมถูกเปลี่ยน มาใช้คำแปลใหม่ เป็นคำขอพร ซึ่งแปลว่า "โปรด" ทั้งนี้ เพราะว่าประโยคนี้ เป็นคำพูดที่ผู้น้อยกล่าวดกับผู้ใหญ่ หรือบ่าวพูดกับนาย

อัลฮิดายะฮฺ  การนำพา คือ นำพาไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง

อัซซิรอตุ     หนทาง     คือ แนวทาง หรือ ทางที่เดินไปสะดวก

อัลมุสตะกีม  เที่ยงตรง คือ ไม่คดเคี้ยว หันเห


ประโยคที่ 7

หนทางของบรรดาผู้ที่พระองค์ได้ทรงประทานความโปรดปรานแก่พวกเขาทั้งหลาย

ไม่ใช่ของพวกที่ถูกกริ้วและไม่ใช่พวกหลงผิด

อามีน