การศึกษาและความเป็นมาของชนชาติอาหรับ
พื้นที่ของประเทศอารเบียเป็นแหลมใหญ่อยู่ทางตะวันตกของทวีปเอเซีย มีเนื้อที่ประมาณสองล้านตารางกิโลเมตร คำว่า อารเบีย มาจากศัพท์คำว่า อะเราะบะ ( عرب ) ซึ่งเป็นชื่อชนบทหรือตำบลเล็ก ๆ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลเทฮามา ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์สมัยท่านยะรอบ (Yahaya and Halimi, 1993 ; กัลวอช , มปป : 34)
ชนชาติอาหรับมีเชื้อสายมาจากชนชาติเซมิติค (Semitic) ที่อาศัยอยู่ ณ ลุ่มแม่น้ำดัจญละฮ ( ลุ่มแม่น้ำยูเปรตีส ) และ อัล ฟุรอต ( ไทกรีส ) ที่ประเทศอิรัก ชนชาติอาหรับเป็นพวกเร่ร่อนที่ชอบเปลี่ยนถิ่นฐานอยู่เสมอ ต่อมาส่วนหนึ่งของพวกเขาได้ตั้งถิ่นฐานปักหลักอยู่ใกล้ๆ กับทะเล และสถาปนาเมืองต่าง ๆ ขึ้น ซึ่งรวมถึงนครซาบาแห่งยะมันที่เคยรุ่งเรืองมากในอดีตกาล ชนชาติอาหรับกลุ่มนี้ถูกขนานนามว่า อะรอบหะฎอรี (Hadari) (Yahaya and Halimi, 1994 : 3, กัลวอช , มปป : 40)
ชนชาติอาหรับสามารถแบ่งออกเป็นสองเชื้อสาย คือ
1. เชื้อสายบาอิดะฮ (Ba idah) ชาวอาหรับเชื้อสายนี้ได้สูญพันธ์เนื่องจากโทษทัณฑ์ของอัลลอฮ์ ดังปรากฏในคัมภีร์อัล กุรอาน (7:7) (9:70) (11:61,68,95) (14:91) ( 17:59 ) ( 22:42 ) ชาวอาหรับกลุ่มนี้ได้แก่พวกอ๊าด ษะมูด เป็นต้น
2. เชื้อสายบากิยะฮ (Baqiyah) ชาวอาหรับกลุ่มนี้ยังมีการสืบสกุลจนถึงทุกวันนี้ ชาวอาหรับเชื้อสายบากียะฮนี้สามารถแบ่งออกเป็นสองเชื้อสาย คือ
2.1 เชื้อสายชาติคะฮซาน ( คัชอัน - เกาะฏอน ) โอรสแห่งไอเบอร์
2.2 เชื้อสายอัดนาน บุตรแห่งศาสดาอิสมาอีล
เชื้อสายอาหรับคะฮซานเป็นชาวอาหรับแท้ แต่เชื้อสายอาหรับอัดนานเป็นชาวอาหรับผสม ดังนั้นชาวอาหรับอัดนานจึงถูกขนานนามว่า อะรอบ อัล มุซตะอเราะบะฮ ( อาหรับที่ถูกทำให้เป็นอาหรับ ) (Yahaya and Halimi, 1994 : 3 ; กัลวอช , มปป : 40) ชาวอาหรับอัดนานถูกขนานนามเช่นนี้เพราะท่านศาสดาอิสมาอีล บิดาท่านอัดนานผู้เป็นต้นตระกูลของอาหรับกลุ่มนี้พูดภาษาอิบรอนี ( ภาษาฮิบรู ) และพูดภาษาอาหรับไม่ได้ เมื่อครั้งชนเผ่าญุรญูม (Jurjum) อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่มักกะฮ ท่านศาสดาอิสมาอีล จึงได้เรียนรู้ภาษาอาหรับจากชนกลุ่มนี้ และต่อมาท่านศาสดาอิสมาอีล ได้สมรสกับบุตรีของญุรญูม จากการสมรสในครั้งนี้ก็ถือกำเนิดท่านอัดนาน จากเชื้อสายอัดนานนี้เองที่ได้ถือกำเนิดอาหรับกุรอยชในเวลาต่อมา ชาวอาหรับกุรอยชเป็นชนชาติอาหรับที่มีชื่อเสียงและมีความสำคัญ เพราะเป็นต้นกำเนิดของท่านศาสดามุฮัมหมัด ศาสดาคนสุดท้ายแห่งมนุษยชาติ
ในบรรดาชนชาติอาหรับ ราชวงศ์ซาบา ( Sabaean Kingdom ) ถือเป็นชาติอาหรับที่มีอารยธรรมก่อนชนชาติอาหรับอื่น ๆ และมีความเจริญรุ่งเรืองก่อนสมัยญาฮิลียะฮ ยะหยาและหะลีมี (Yahaya and Halimi, 1993 : 12) ได้กล่าวถึงราชวงศ์ซาบาในหนังสือประวัติศาสตร์อิสลาม (Sejarah Islam) ว่า ในด้านวิชาความรู้ ชาวอาหรับในสมัยที่รุ่งเรือง โดยเฉพาะในสมัยราชวงศ์ซาบาพวกเขามีความชำนาญและเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม เกษตรกรรม ช่างฝีมือและการค้า นอกจากนั้นพวกเขายังมีความรู้ในสาขาวิชารัฐศาสตร์การปกครอง เศรษฐกิจและเทคโนโลยี
ในด้านการเมืองนั้น พวกเขาประสบความสำเร็จในการสถาปนารัฐต่าง ๆ ทางตอนใต้และตอนเหนือของคาบสมุทรอาหรับ ตามด้วยการผูกสัมพันธไมตรีทางการทูตกับต่างประเทศ
ในด้านเศรษฐกิจ พวกเขาก็ประสบความสำเร็จในการสร้างเขื่อนมะอริบ (Ma' rib) ซึ่งเป็นเขื่อนเก็บน้ำเพื่อการเกษตร ที่ได้สะท้อนถึงทักษะความสามารถที่สูงยิ่งทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
นอกจากนั้นพวกเขายังสามารถสร้างสิ่งก่อสร้างที่งดงามตระการตา ดังเช่นพระราชวังที่แสดงถึงสถาปัตยกรรมและปฏิมากรรมที่มหัศจรรย์ยิ่ง
นอกจากวิชาต่าง ๆ ที่ได้กล่าวข้างต้น ในสมัยนี้ยังมีการสอนวิชาศาสนา เพราะในสมัยนี้พระองค์อัลลอฮ์ ทรงแต่งตั้งท่านซุไลมานให้เป็นศาสดา เพื่อเชิญชวนมนุษย์ให้เคารพภักดีต่อพระองค์อัลลอฮ์ ภาระหน้าที่เหล่านี้ล้วนเป็นหน้าที่ของมวลศาสดา เนื่องจากสมัยนี้เป็นสมัยที่มีศาสดาเราจึงไม่ถือว่าสมัยนี้เป็นสมัยญาฮิลียะฮ
เมื่อราชวงศ์ซาบาได้เสื่อมลง อาหรับก็เริ่มเข้าสู่ยุคญาฮิลียะฮ และในสมัยญาฮิลียะฮ สังคมอาหรับเต็มไปด้วยความโหดร้าย ป่าเถื่อน ไร้ศีลธรรม ลุ่มหลงในอบายมุข ประหัตประหารกัน ผิดประเวณี ฝังลูกผู้หญิงเป็น ๆ (Husayn 1990 : 20) แทบจะพูดได้ว่า ไม่มีสมัยใดที่ชนชาวอาหรับไร้ศีลธรรมดังสมัยญาฮีลียะฮ
ที่มา : Islamic information center of Fathoni