การศึกษาแห่งมนุษยชาติ
การศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อมวลมนุษยชาติ เพราะการศึกษาเปรียบเสมือนดวงประทีปส่องนำชีวิต เป็นประตูของความสำเร็จ และเป็นกุญแจแห่งอารยธรรม ดังนั้นจึงไม่มีประชาชาติใดในโลกอันกว้างใหญ่นี้ที่ปฏิเสธความสำคัญของการศึกษา เพราะต่างตระหนักดีว่า พวกเขามิอาจจะดำเนินชีวิตอยู่ได้อย่างสงบสุขหากปราศจากการศึกษา ความจริงการศึกษาไม่เพียงแต่จะมีความจำเป็นต่อมนุษย์เท่านั้น หากแต่ยังมีความสำคัญทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสิ่งถูกสร้างอื่นๆของอัลลอฮ์ อีกด้วย
การศึกษาเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อใด ?
ยากมากที่จะตอบคำถามนี้ได้อย่างตรงประเด็น เมื่อเราศึกษาบรรดาอายะฮต่างๆ ในอัลกุรอาน เราจะประจักษ์ชัดว่า ก่อนที่การศึกษาของมนุษยชาติจะถือกำเนิด การศึกษาได้เริ่มขึ้นกับสิ่งถูกสร้าง นั่นคือการศึกษาของบรรดามลาอิกะฮ จุดเริ่มแรกของการศึกษาในบรรดามลาอิกะฮนั้นได้เริ่มขึ้นก่อนการกำเนิดมนุษย์ เพราะเมื่อครั้งพระองค์ตรัสแก่บรรดามลาอิกะฮว่า พระองค์จะทรงสร้างมนุษย์และแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนของพระองค์บนผืนแผ่นดิน บรรดามลาอิกะฮได้ถามถึงหิกมะฮ ( วิทยปัญญา ) ที่พระองค์จะทรงสร้างมนุษย์ในครั้งนั้น
เพราะบรรดามลาอิกะฮได้ประจักษ์พยานว่า ญินซึ่งเป็นมัคลูกที่ถูกสร้างมาก่อนมนุษย์นั้นได้สร้างความเสียหายให้แก่โลกเป็นอย่างมาก จากคำถามดังกล่าวพระองค์ทรงตอบว่าพระองค์รู้ในสิ่งที่บรรดามลาอิกะฮไม่รู้
เมื่ออัลลอฮ์ทรงสร้างอาดัมเสร็จ พระองค์ทรงสอนชื่อต่างๆ แก่อาดัม แล้วพระองค์ทรงเรียกบรรดามลาอิกะฮมาถามว่าสิ่งนั้นคืออะไร บรรดามลาอิกะฮตอบว่าพวกตนไม่รู้เว้น แต่สิ่งที่พระองค์ทรงสอนให้เท่านั้น เรื่องราวเหล่านี้อัลลอฮ์ตรัสในซูเราะฮอัล บะเกาะเราะฮ อายะฮที่ 32 ว่า
قالوا سبحانك لاعلم لنا الا ما علمتنا انك انت العليم الحكيم
“ พวกเขาทูลตอบว่า มหาบริสุทธิ์แห่งพระองค์ เราไม่มีความรู้ (ในชื่อเหล่านั้นเลย)
ยกเว้นสิ่งที่พระองค์ได้ทรงสอนเราให้รู้ไว้เท่านั้น แท้จริงพระองค์ทรงรอบรู้ยิ่ง อีกทั้งทรงปรีชาญาณนัก ”
จากอายะฮดังกล่าวข้างต้นผู้เขียนมั่นใจว่า ก่อนที่พระองค์จะทรงสอนท่านอาดัม พระองค์ทรงสอนวิชาความรู้บางอย่างให้แก่บรรดามลาอิกะฮแล้ว มิฉะนั้นบรรดามลาอิกะฮคงจะไม่กล่าวว่า “ เราไม่มีความรู้ ยกเว้นสิ่งที่พระองค์ได้ทรงสอนเราให้รู้เท่านั้น ” ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผู้เขียนจึงขอสรุป ณ ที่นี้ว่าการศึกษาของบรรดามลาอิกะฮนั้นได้เกิดขึ้นก่อนการศึกษาของมนุษยชาติ
เมื่อมีคนถามว่าการศึกษาของมนุษยชาติเกิดขึ้นเมื่อใด คำตอบก็คือ การศึกษาของมนุษยชาติได้เริ่มขึ้นหลังการกำเนิดมนุษย์คนแรกแห่งประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เรื่องราวเหล่านี้อัลลอฮ์ตรัสไว้ในอัลกุรอานว่า
وعلم آدم الاسماء كلها ثم عرضهم على الملئكه فقال أنبؤني بأسماء هؤلاء إن كنتم صدقين قالوا سبحانك لا علم لنا إلا ما علمتنا إنك أنت العليم الحكيم، قال يادم أنبئهم بأسمائهم فلما أنبأهم بأسمائهم قال ألم أقل لكم أني أعلم غيب السموت والارض وأعلم ما تبدون وماكنتم تكتمون
البقرة : ٣١ - ٣٣
“และพระองค์ทรงสอนอาดัมให้รู้บรรดาชื่อทั้งหมด ( ของสรรพสิ่งทั้งหลาย )
หลังจากนั้นทรงเสนอสิ่งเหล่านั้นแก่เหล่ามลาอิกะฮ และตรัสว่า พวกเจ้าจงแจ้งแก่ข้าเถิดถึงบรรดาชื่อของสิ่งเหล่านี้ หากพวกเจ้าเป็นผู้สัจจริง
พวกเขาก็ทูลตอบว่า มหาบริสุทธิ์แห่งพระองค์ เราไม่มีความรู้(ในชื่อเหล่านั้นเลย) ยกเว้นสิ่งที่พระองค์ได้ทรงสอนเราให้รู้เท่านั้น
แท้จริงพระองค์ทรงรอบรู้ยิ่ง อีกทั้งทรงปรีชาญาณ ”
พระองค์ตรัสว่า “ โอ้อาดัม จงแจ้งชื่อของสิ่งเหล่านั้นให้พวกเขาทราบเถิด"
และแล้วเมื่ออาดัมได้แจ้งแก่พวกเขาถึงรายชื่อของสิ่งเหล่านั้น
พระองค์ ตรัสว่าข้ามิได้บอกพวกเจ้ามาก่อนดอกหรือว่า อันที่จริงข้านี้หยั่งรู้ในความลี้ลับแห่งชั้นฟ้าและแผ่นดิน
และข้าหยั่งรู้ในสิ่งที่พวกเจ้าเปิดเผยและสิ่งที่พวกเจ้าปิดบังไว้ ”
(อัล บะเกาะเราะฮ : 31-33 )
เมื่อพระองค์อัลลอฮ์ ตรัสแก่บรรดามาลาอิกะฮว่า พระองค์จะทรงสร้างตัวแทน ( เคาะลีฟะฮ ) บนผืนแผ่นดิน บรรดามลาอิกะฮจึงถามพระองค์อัลลอฮ์ว่า พระองค์จะทรงสร้างมนุษย์บนผืนแผ่นดิน ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นจะนำมาซึ่งความพินาศและการนองเลือด ความจริงบรรดามลาอิกะฮได้กล่าวสรรเสริญถึงความยิ่งใหญ่ของพระองค์อยู่เสมอ แต่พระองค์ทรงตอบว่าพระองค์รู้ในสิ่งที่บรรดามลาอิกะฮไม่รู้ ที่บรรดามลาอิกะฮถามเช่นนั้น ไม่ได้หมายความว่าบรรดามลาอิกะฮมีความอิจฉาริษยา หรือคิดจะต่อต้านอัลลอฮ์ ( อิบนุกะษีร , 1981, 1 : 121) เพราะพวกเขาตระหนักอยู่เสมอว่าพระองค์เป็นผู้ทรงรอบรู้อีกทั้งเป็นผู้ทรงปรีชาญาณยิ่ง แต่บรรดามลาอิกะฮถามเช่นนั้นเพราะพวกตนต้องการจะรู้ถึงหิกมะฮ ( วิทยปัญญา ) ที่พระองค์จะทรงสร้างมนุษย์ในฐานะตัวแทนของพระองค์ทั้ง ๆ ที่มนุษย์มีธาตุกำเนิดมาจากดินดังที่อัลลอฮ์ได้ตรัสไว้ว่า
الحجر : ٢٦ ولقد خلقنا الانسان من صلصال من حماء مسنون
“ ขอยืนยันว่าแท้จริงเราได้สร้างมนุษย์ขึ้นมาจากดินเหนียว ที่แห้งซึ่งเดิมมาจากโคลนสีดำที่มีกลิ่น ”
(อัล ฮิจญร 26)
คำว่า “ เคาะลีฟะฮ ” (خليفة) มาจากรากศัพท์เดิมภาษาอาหรับว่า “ เคาะละฟะ ” (خلف) ซึ่งแปลว่าผู้สำเร็จราชการ ตัวแทน ผู้ที่ตามมา แทนที่ (Cowan, 1976 : 257) ตามความหมายของรากศัพท์ดังกล่าว นักวิชาการมุสลิมมีความเห็นที่ตรงกัน แต่คำถามมีอยู่ว่าใครเป็นตัวแทนของใคร จากคำถามนี้บรรดานักวิชาการมุสลิมมีทัศนะที่แตกต่างกัน อับดุลลอฮ (Abdullah 1982 :48-49) ได้สรุปทัศนะต่าง ๆ ดังกล่าวไว้สามทัศนะดังต่อไปนี้ :-
ทัศนะแรก
มนุษย์เป็นตัวแทนของสิ่งถูกสร้างอื่น ๆ ที่มีอยู่ก่อนการกำเนิดของมนุษย์ กลุ่มนี้เชื่อว่าญินเป็นสิ่งถูกสร้างที่อัลลอฮ์ทรงสร้างก่อนการสร้างนบีอาดัม ( เฏาะบะรี 1987 , 1:157) ดังนั้น ทัศนะแรกนี้เคาะลีฟะฮจึงหมายถึงมนุษย์ซึ่งเป็นตัวแทนของบรรดาญิน ( الجن ) แต่ไม่ใช่ตัวแทนของญาณ ( الجان ) ผู้ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของญินที่ถูกสร้างมาก่อนมนุษย์
ทัศนะที่สอง
กลุ่มมนุษย์ที่เป็นตัวแทนของมนุษย์กลุ่มอื่น ๆ ทัศนะที่สองนี้ถือว่าเคาะลีฟะฮ หมายถึงมนุษย์ซึ่งเป็นตัวแทนของมนุษย์
ทัศนะที่สาม
มนุษย์เป็นตัวแทนของอัลลอฮ์บนผืนแผ่นดิน เป็นตัวแทนที่จะเชิญชวนมนุษย์ให้ปฏิบัติตามชะรีอะฮของพระองค์ ทัศนะที่สามนี้ได้ให้ความหมายที่ครอบคลุม และได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างมนุษย์กับผู้ทรงสร้าง หากมนุษย์เป็นตัวแทนของญิน หรือเป็นตัวแทนของมนุษย์สิ่งเหล่านี้อาจจะไม่รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับอัลลอฮ์ ซัยยิด อะลี อัชรอฟ (Ashraf 1985 : 3) มีทัศนะเช่นเดียวกันกับทัศนะของกลุ่มที่สามนี้ ท่านได้เขียนในหนังสือ New Horizons in Muslim Education ว่า
“Man is regarded in Islam as the Vicegerent of God on the Earth and the entire creation as subservient to man”
“ ในอิสลามถือว่ามนุษย์เป็นตัวแทนของพระเจ้าบนผืนแผ่นดิน และมัคลูกทั้งหมดล้วนเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ ”
คุณสมบัติอย่างหนึ่งที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นตัวแทนของพระองค์อัลลอฮ์บนผืนแผ่นดินคือ ความรู้ หากปราศจากสิ่งเหล่านี้แล้วมนุษย์ก็ไม่อาจที่จะดำรงตำแหน่งในฐานะเคาะลีฟะฮได้ ซึ่งรวมถึงท่านอาดัม ( ขอความสันติจงมีแด่ท่าน ) ด้วย ที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงสอนความรู้บางอย่างเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นเคาะลีฟะฮบนผืนแผ่นดิน เรื่องราวที่อัลลอฮ์ทรงสอนท่านอาดัมนั้นได้ปรากฏในอัลกุรอานซูเราะฮ อัล บะเกาะเราะฮ อายะฮที่ 31 ว่า
وعلمء ادم الاسماء كلها
“ และพระองค์ทรงสอนอาดัมให้รู้บรรดาชื่อทั้งหมด ( ของสรรพสิ่ง ทั้งหลาย )”
คำว่า الاسماء كلها ในอายะฮนี้ อิบนุ อับบาซได้แสดงทัศนะและได้ให้ความหมายของคำนี้ว่าหมายถึง บรรดาชื่อของทุกสิ่งที่มนุษย์คุ้นเคย และสิ่งอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นต่อมนุษย์บนโลกนี้ ( อิบนุ กะษีร , 1988, 1 : 126) อะนัซมีทัศนะเช่นเดียวกันกับอิบนุ อับบาซ ( ซัยยิด กุตุบ , 1980, 1 : 57) ยูซุฟ อะลี (Yusuf Ali, 1991 : 24)
ในหนังสือ The Holy Quran Translation and Commentary ได้แสดงทัศนะที่แตกต่างกันโดยท่านกล่าวว่า แม้อายะฮนี้ใช้คำว่า " " الاسماء كلها ( ชื่อของสรรพสิ่ง ) แต่คำนี้หมายถึงธรรมชาติและคุณภาพของสิ่งนั้น ซึ่งรวมถึงความรู้สึกด้วย
ดร . ฮัมกา (Hamka, 1984, 1 : 157) ผู้ประพันธ์หนังสือตัฟซีร อัล อัสฮัรได้อรรถาธิบายอายะฮฺ " " الاسماء كلها ว่า พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงสอนอาดัมเกี่ยวกับชื่อของสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในขอบเขตความสามารถที่มนุษย์จะรับรู้ได้ ไม่ว่าจะโดยสัมผัสทั้งห้าหรือโดยสติปัญญา
จากอายะฮที่ 30 – 34 ซุเราะฮอัล บะเกาะเราะฮ จะเห็นได้ว่าจุดเริ่มแรกของการศึกษาแห่งมนุษยชาตินั้นได้ถือกำเนิดทันทีหลังจากการกำเนิดมนุษย์คนแรกในประวัติมนุษยชาติ และอัลลอฮ์เองทรงเป็นผู้สอน พระองค์ทรงสอนอาดัม เกี่ยวกับชื่อของสิ่งต่าง ๆ จากความรู้ที่พระองค์ทรงสอนให้แก่ท่านอาดัมนี้เองที่ทำให้สถานภาพของท่านเหนือกว่าบรรดามลาอิกะฮ อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บรรดามลาอิกะฮต้องน้อมคารวะต่อท่านอาดัม ดังอายะฮฺ
وإذ قلنا للملئكة اسجدوا لآدم فسجدوا إلا إبليس ابى واستكبر وكان من الكافرين.
البقرة : ٣٤
“ พลันพวกนั้น(มลาอิกะฮ)ก็น้อมคารวะ ยกเว้นอิบลีส(เพียงผู้เดียว)เขาขัดขืน และทรนงตน และเขาเป็นผู้หนึ่งในกลุ่มผู้เนรคุณ "
(อัล บะเกาะเราะฮ : 34)
ที่มา : Isalamic Information center Of Fathoni