การถือศีลอดของสตรีที่มีประจำเดือน
  จำนวนคนเข้าชม  35432

การถือศีลอดของสตรีที่มีเลือดประจำเดือน

 

คำถาม

         การที่สตรีที่กำลังถือศีลอดอยู่นั้น  มีเลือดประจำเดือนมาก่อนที่ดวงอาทิตย์จะตก  การถือศีลอดในวันนั้นจะยังใช้ได้หรือไม่ ?


คำตอบ

บรรดาการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิ์ของพระองค์อัลลอฮ์ 

         การที่สตรีที่กำลังถือศีลอดอยู่นั้น  เกิดมีเลือดประจำเดือนมา  การถือศีลอดในวันนั้นจะถือว่าใช้ไม่ได้  แม้ว่าการมาของประจำเดือนนั้นจะมาก่อนที่ดวงอาทิตย์จะตกดินเพียงเล็กน้อย  ซึ่งจำเป็นจะต้องทำการถือศีลอดชดใช้  และเป็นที่ต้องห้ามในการที่จะทำการถือศีลอดต่อไป  เมื่อเธอมีเลือดประจำเดือน

ท่าน Al-Nawawi (ขอพระองค์อัลลอฮ ทรงโปรดประทานความเมตตาแด่ท่านด้วย)  ได้กล่าวไว้ใน al-Majmoo’ (2/386)  ว่า

         บรรดาอุมมะฮ์  ได้มีความคิดเห็นตรงกันว่า  เป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับผู้หญิงที่มีประจำเดือน  หรือการมีเลือดหลังจากการคลอดบุตร  ในการถือศีลอดและถ้าหากสตรีได้ทำการถือศีลอด      ศีลอดนั้นถือว่าใช้ไม่ได้  และบรรดาอุมมะฮ์  ได้มีความคิดเห็นตรงกันด้วยว่า  จำเป็นสำหรับสตรีที่จะต้องทำการถือศีลอดชดใช้  ตามจำนวนวันของการถือศีลอดที่ขาดไปในเดือนรอมาฎอน

ซึ่งจากรายงานข้างต้นนี้  ท่าน Al-Tirmidhi, Ibn al-Mundhir, Ibn Jareer และบรรดานักวิชาการอีกหลาย ๆ ท่าน  ที่มีความคิดเห็นสอดคล้องตรงกัน 

ท่าน Ibn Qudaamah ได้กล่าวไว้ใน al-Mughni (4/397)  ว่า

         บรรดานักวิชาการมีความเห็นตรงกันว่า  ไม่เป็นที่อนุญาตสำหรับสตรีที่มีประจำเดือน  หรือมีเลือดหลังจากการคลอดบุตร ในการถือศีลอด  และถ้าหากพวกนางขาดการถือศีลอดในเดือนรอมาฎอนเนื่องจากสาเหตุดังกล่าว  ก็ให้ทำการถือศีลอดชดใช้  แต่ถ้าฝ่าฝืนและถือศีลอดต่อไปในขณะที่มีเลือดประจำเดือนหรือมีเลือดหลังจากการคลอดบุตร  การถือศีลอดดังกล่าวถือว่าไม่เป็นที่ยอมรับ 

ท่านหญิงอาอิชะฮได้กล่าวไว้ว่า

“เราได้มีประจำเดือน  ในช่วงเวลาที่ท่านนบีมุฮัมมัด  ได้อยู่กับเรา  และท่านได้สั่งกับเราว่า  เราจะต้องทำการถือศีลอดชดใช้เนื่องจากการมีประจำเดือน  แต่เราไม่ต้องทำการละหมาดชดใช้  เนื่องจากการมีประจำเดือน” 

ท่าน อะบูซาอีด  ได้กล่าวว่า

 “ท่านนบีมุฮัมมัด   ได้กล่าวว่า  สำหรับสตรีที่มีประจำเดือนนั้น  เธอไม่ต้องทำการละหมาดและถือศีลอด”  (รายงานโดย อัล-บุคอรีย์)

         สำหรับสตรีที่มีประจำเดือนและสตรีที่มีเลือดหลังจากการคลอดบุตรถูกจัดเป็นกลุ่มเดียวกัน  คือเป็นผู้ที่มีเลือดนิฟาสและเป็นผู้ที่มีเลือดประจำเดือน  จะใช้กฎข้อบังคับเดียวกันคือ  ถ้าหากพวกนางมีเลือดประจำเดือนในช่วงต้นของวัน  การถือศีลอดในวันนั้นถือว่าใช้ไม่ได้  ซึ่งเงื่อนไขนี้จะเหมือนกันไม่ว่าเลือดประจำเดือนนั้นจะมาในช่วงต้นหรือช่วงท้ายของวัน  และถ้าหากนางยังตั้งใจที่จะทำการถือศีลอดต่อไป  ด้วยกับการงดการกินการดื่ม  ทั้ง ๆ ที่ทราบว่าเป็นเรื่องที่ต้องห้าม  การกระทำนี้ถือว่านางมีความผิด  และการถือศีลอดนั้น  ถือว่าใช้ไม่ได้

ดังบทความของท่าน Shaykn Ibn ‘Uthaymeen ได้กล่าวไว้ใน al-Dima’ al-Tabee’iyyah li’l-Nisa’ หน้าที่ 28  ดังรายละเอียดข้างล่างนี้ว่า

         ถ้าสตรีที่มีประจำเดือนมาในขณะที่นางกำลังถือศีลอดอยู่  การถือศีลอดของนางในวันนั้นจะถือว่าใช้ไม่ได้  แม้ประจำเดือนนั้น  จะมาก่อนที่ดวงอาทิตย์จะตก  และเธอจะต้องทำการถือศีลอดชดใช้ด้วยถ้าหากว่า      ศีลอดนั้นเป็นการถือศีลอดที่ถูกบังคับใช้ให้ทำ (วายิบ)

          ในกรณีที่นางรู้สึกว่าประจำเดือนนั้นกำลังจะมา  แต่ยังไม่มีสิ่งใดออกมาจนกระทั่งดวงอาทิตย์ได้ตกดินไปแล้ว  การถือศีลอดนี้จะถือว่าสมบูรณ์และใช้ได้  ดังมีรายงานอ้างอิงข้างล่างนี้

จาก The Standing Committee (10/155) ซึ่งได้ทำการตอบคำถามเกี่ยวกับสตรีที่ทำการถือ ศีลอดและได้มีเลือดประจำเดือนออกมาก่อนที่ดวงอาทิตย์จะตกเพียงเล็กน้อย  และก่อนการอะซาน (ของเวลามักริบ)  ว่าศีลอดของนางจะใช้ได้หรือไม่

          ซึ่งคำตอบคือ  การถือศีลอดของสตรีที่มีเลือดประจำเดือนมาก่อนที่ดวงอาทิตย์จะตกดินนั้น  ศีลอดนั้นถือว่าใช้ไม่ได้และจำเป็นจะต้องถือศีลอดชดใช้  แต่ถ้าประจำเดือนมาหลังจากที่ดวงอาทิตย์ตกไปแล้ว  ศีลอดนั้นถือว่าใช้ได้และไม่จำเป็นจะต้องทำการถือศีลอดชดใช้

 

ที่มา http://www.islamqa.com/en/ref/50282

แปลโดย นูรุ้ลนิซาอ