คืนลัยละตุลก็อดร์ (ดร.อุษมาน อัล อัมร์)
  จำนวนคนเข้าชม  35702

 

คืนลัยละตุล-ก็อดร์

หลักฐานจากอัล-กุรอาน และซุนนะฮฺ

เรียบเรียงโดย   ดร.อุษมาน  อัล-อัมร์


 อัลลอฮฺตรัสว่า

 “แท้จริงเราประทานมัน(อัล-กุรอาน)ลงมาในคืนลัยละตุลก็อดร์”

 “และอะไรเล่าที่ทำให้เจ้าทราบได้ว่า คืนลัยละตุลก็อดร์นั้นคืออะไร”

 “คืนลัยละตุลก็อดร์ คือค่ำคืนที่ดีกว่าหนึ่งพันเดือน”

 “บรรดามะลาอิกะฮฺ และอัร-รูห์(ญิบรีล)จะลงมาในคืนนั้น โดยอนุมัติแห่งพระผู้ทรงอภิบาลของพวกเขา เนื่องจากกิจการทุกสิ่ง”

 “คืนนั้นย่อมมีแต่ความศานติ จนกระทั่งรุ่งอรุณ”

( ซูเราะฮฺอัล-ก็อดร์ / อายะฮฺที่ 1-5 )

 

 “แท้จริงเราได้ประทานอัล-กุรอานลงมาในคืนอันจำเริญ แท้จริงเราเป็นผู้ตักเตือน”

 “ในค่ำคืนนั้นทุกๆกิจการที่สำคัญถูกจำแนกไว้แล้ว”

 “โดยทรงบัญชามาจากเรา แท้จริงเราเป็นผู้ส่งมา”

“เป็นความเมตตาจากองค์อภิบาลของเจ้า แท้จริงพระองค์เป้นผู้ทรงได้ยิน เป็นผู้ทรงรอบรู้ยิ่ง”  

( ซูเราะฮฺอัด-ดุคอน / อายะฮฺที่ 3-6 )

 

 รายงานจากท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ: ท่านนบี กล่าวว่า

“บุคคลใดถือศีลอดในรอมฏอนด้วยความอีม่าน และมุ่งหวังอย่างแท้จริง

ย่อมถูกอภัยให้แก่เขาซึ่งความผิดบาปของเขาที่ผ่านมาในอดีต

 และผู้ใดได้ยืนขึ้น(เพี่อทำอิบาดะฮฺ)ในคืนลัยละตุลก็อดร์ด้วยความอีม่าน และมุ่งหวังอย่างแท้จริง

ย่อมถูกอภัยให้แก่เขาซึ่งความผิดบาปของเขาที่ผ่านมาในอดีต(ด้วยเช่นกัน)

(บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ และมุสลิม)

 และรายงานจากท่านอนัส บินมาลิกกล่าวว่า : เมื่อเข้าสู่เดือนรอมฏอน ท่านเราะซูล ก็ได้กล่าวขึ้นว่า

 “แท้จริงเดือนนี้ได้ย่างกรายมายังพวกท่านแล้ว อันเป็นเดือนที่มีค่ำคืนหนึ่งในนั้นดีกว่าหนึ่งพันเดือน 

หากบุคคลใดพลั้งพลาดจากมัน ราวกับเขาพลั้งพลาดจากความดีงามทั้งหลายไป 

ส่วนบุคคลที่จะพลั้งพลาดมันไป ย่อมมีเพียงผู้ที่อัปโชคเท่านั้น”

(หะดิษหะซัน บันทึกโดยอิบนุมาญะฮฺ)

          จากท่านมาลิกเล่าว่า  เขาได้ยินมาจากผู้มีความรู้ที่เชื่อถือได้ กล่าวว่า

          “แท้จริงท่านเราะซูลุลลอฮฺ  ถูกแสดงให้เห็นถึงอายุขัยของมนุษย์ทั้งหลายก่อนหน้านี้ หรือสิ่งที่อัลลอฮฺทรงประสงค์ให้ชีวิตของพวกเขาเป็นไป กระทั่งทำให้ท่านรู้สึกว่าอายุขัยของประชาชาติของท่านนั้นช่างแสนสั้นเสียเหลือเกิน  จนแทบมิทันปฏิบัติภารกิจใดๆให้ลุล่วงอย่างเช่นผู้คนอื่นๆ(ก่อนหน้านี้)ได้เลย เพราะมีอายุยืนยาวกว่า ดังนั้นอัลลอฮฺจึงทรงได้ประทานคืน “ลัยละตุลก็อดร์” ซึ่ง(คืนหนึ่งนั้น)ดีกว่าหนึ่งพันเดือนให้แก่ท่าน(เป็นการทดแทน)”

(บันทึกโดยอิม่ามมาลิก ในหนังสือ “อัล-มุวัฏเฏาะอ์” ซึ่งท่านอิบนุอับดิลบิรร์กล่าวว่า : นี้คือ 1 ใน  4  หะดีษที่ไม่มีปรากฏในตำราหะดีษเล่มใดนอกจาก“อัล-มุวัฏเฏาะอ์” เท่านั้น)

 และจากท่านมาลิกเช่นกัน เล่าว่าเขาได้รับรายงานว่าท่านสะอีด  บินอัล-มุซัยยิบเคยกล่าวไว้ว่า

“บุคคลใดได้ร่วมละหมาดอีชาอ์ในคืน(ที่ตรงกับ)ลัยละตุลก็อดร์  แน่นอนเขาย่อมได้รับโชคผลของเขาแล้วจากคืนนั้น”

          บันทึกโดยอิม่ามมาลิกในหนังสืออัล-มุวัฎฎออ์  ท่านอิบนุอับดิลบิรร์ให้กล่าวว่า คำพูดของท่านสะอีด  บินอัล-มุซัยยิบดังกล่าวหาใช่ทัศนะของท่านเองไม่ แต่ยึดถือมาอย่างถูกต้อง ในขณะที่สายรายงานของท่านนี้ก็ถือเป็นสายรายงานหนึ่งที่ถูกต้องที่สุด
 

 

จงแสวงหาคืนลัยละตุลก็อดร์ และพยายามทำอิบาดะฮฺให้มากที่สุด

     รายงานจากท่านหญิงอาอีชะฮฺว่า  ท่านเราะซูล เมื่อล่วงสู่สิบวันสุดท้ายของเดือนรอมฏอน  ท่านก็จะกล่าวว่า

“พวกท่านทั้งหลายจงแสวงหาลัยละตุลก็อดร์ในช่วงสิบคืนสุดท้ายของรอมฏอนเถิด”

 (หะดีษมุตตะฟะกุลอะลัยฮฺ)

     อีกรายงานหนึ่งจากท่านหญิงอาอีชะฮฺเช่นกันว่า : แท้จริง ท่านเราะซูล กล่าวว่า

“พวกท่านทั้งหลายจงแสวงหาลัยละตุลก็อดร์ในวันที่จำนวนเป็นคี่จากสิบคืนสุดท้ายของรอมฏอนเถิด”

(หะดีษมุตตะฟะกุลอะลัยฮฺ)

           จากท่านอิบนุอุมัรเล่าว่า : มีชายกลุ่มหนึ่งจากบรรดาเศาะฮาบะฮฺของท่านนบี ถูกให้เห็นคืนลัยละตุลก็อดร์ ในความฝันในช่วง 7  คืนสุดท้าย 

ท่านนบี จึงกล่าวว่า

“ฉันได้เห็นเหมือนเช่นความฝันของพวกท่านนั้นแหล่ะว่ามันได้เกิดขึ้นในช่วง  7 คืนสุดท้าย 

ดังนั้นหากผู้ใดต้องการแสวงหามัน ก็จงแสวงหาในเจ็ด(คืน)สุดท้ายเถิด”

 (หะดีษมุตตะฟะกุลอะลัยฮฺ)

          จากท่านหญิงอาอีชะฮฺอีกว่า : ท่านเราะซูล เมื่อเข้าสู่ช่วงสิบวันสุดท้าย(ของรอมฏอน)ท่านจะรัดผ้านุ่งของท่านจนแน่นและสร้างสรรค์(บรรยากาศ)เวลายามค่ำคืนของท่าน(ด้วยอิบาดะฮฺ) รวมทั้งปลุกครอบครัวของท่านให้ตื่นขึ้นมาด้วย”

 (หะดีษมุตตะฟะกุลอะลัยฮฺ)

           อีกรายงานหนึ่งจากนางเช่นกัน เล่าว่า : ท่านเราะซูล จะมุ่งมั่นพยายามเป็นที่สุดในช่วงเดือนรอมฏอน  อย่างเช่นไม่เคยพยายามในเดือนอื่นๆ  และในช่วงสิบวันสุดท้ายของรอมฏอน  ท่านก็จะยิ่งมุ่งมั่นพยายามเป็นที่สุดอย่างเช่นไม่เคยพยายามในช่วงอื่นๆเลย”

(บันทึกโดยมุสลิม)

 และรายงานจากท่านหญิงอาอีชะฮฺอีกเช่นกันเล่าว่า  :

     ฉันเคยถามว่าโอ้ท่านเราะซูลุลลอฮฺ   ขอให้ท่านบอกมาเถิด หากฉันทราบได้ว่าคืนไหนเป็นคืนลัยละตุลก็อดร์ ฉันควรกล่าวเช่นใดหรือ ?”

     ท่านตอบว่า “ให้เธอกล่าวขอดุอาอ์ว่า"  

ข้อความดุอาอ์

 คำอ่าน  : อัลลอฮุมมะ อินนะกะอะฟูวุน ตุหิบุลอัฟวะ ฟะอ์ฟุอันนีย์

 ความหมาย “โอ้อัลลอฮฺ แท้จริงพระองค์คือผู้ทรงอภัย และใจบุญยิ่ง  ที่ทรงรักซึ่งการอภัย  ดังนั้นขอพระองค์ได้ทรงโปรดอภัยแก่ฉันด้วยเถิด”

 (บันทึกโดยอัต-ติรมิซีย์  กล่าวว่าเป็นหะดีษหะซัน และเศาะหี๊ห์)


 

เครื่องหมายของคืนลัยละตุลก็อดร์

           ท่านอับดุลลอฮฺ  บินมัสอูดกล่าวว่า : บุคคลใดได้ปฏิบัติกิยามุลลัยล์ตลอดทั้งปีเขาย่อมได้พบกับคืนลัยละตุลก็อดร์

          ท่านอุบัยย์จึงกล่าวเสริมขึ้นว่า : ขอสาบานต่ออัลลอฮฺผู้ทรงไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ว่า มันย่อมอยู่ในเดือนรอมฏอนแน่นอน และขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่าแท้จริงฉันได้ทราบแล้วว่ามันคือคืนไหน มันคือค่ำคืนที่ท่านเราะซูล เคยสั่งใช้ให้เราตื่นขึ้นทำกิยามุลลัยล์ มันคือคืนที่  27 โดยเครื่องหมายของมันก็คือดวงอาทิตย์จะโผล่ขึ้นมาในเช้าวันใหม่ในสภาพสีขาวนวล ปราศจากแสงที่ร้อนจ้า”

           ท่านอิบนุอับบาสรายงานจากท่านนบี กล่าวถึงเกี่ยวกับคืนลัยละตุลก็อดร์ว่า

“ยามค่ำคืนของมันนั้นแจ่มใส  ไม่ร้อนและไม่หนาวจัด  ครั้นตกมายามเช้าวันนั้นดวงอาทิตย์จะมีสีแดงอ่อน”

(บันทึกโดยอิบนุคุซัยมะฮฺ)

           จากท่านญาบิร  บินอับดิลลาฮฺ รายงานว่า : ท่านเราะซูล กล่าวว่า

“แท้จริงฉันเคยพบกับคืนลัยละตุลก็อดร์  แต่ต่อมาฉันก็ลืมมันไป แต่ทั้งนี้มันจะอยู่ช่วงสิบวันสุดท้ายในตอนกลางคืน

ซึ่งเป็นคืนที่บรรยากาศแจ่มใส  ปรอดโปร่ง ไม่ร้อนและไม่หนาวจัด”

ท่านอัซ-ซุยาดีย์กล่าวเพิ่มเติมว่า

“ในค่ำคืนนั้นดวงจันทร์จะปรากฏขึ้นพร้อมบรรดาดวงดาวต่างๆของมันถึงรุ่งสาง”

ทั้งสองยังกล่าวอีกว่า

“ชัยฎอนของเวลาค่ำคืนนั้นจะไม่ออกมา จนกระทั่งแสงเวลารุ่งอรุณขึ้น”

(บันทึกโดยอิบนุคุซัยมะฮฺ)

 รายงานจากท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ  ว่า ท่านเราะซูล  กล่าวว่า

“คืนลัยละตุลก็อดร์ คือค่ำคืนที่  27  หรือ  29  ซึ่งค่ำคืนนั้น

จะมีบรรดามลาอิกะฮฺปรากฏขึ้นในโลกจำนวนมากมายเท่าจำนวนเม็ดทราย”

 (บันทึกโดยอิบนุคุซัยมะฮฺ)

 

           ซึ่งนับเป็นความดีงามอย่างยิ่งสำหรับบุคคลที่ได้ใช้เวลาของค่ำคืนดังกล่าวหมดไปกับการทำอิบาดะฮฺ(กิยามุลลัยล์)  อ่านอัล-กุรอาน  ซิกรุลลอฮฺ  อิสติฆฟารและดุอาอ์  โดยเริ่มตั้งแต่เวลาหัวค่ำหรือดวงตะวันตกดิน  จนกระทั่งแสงอรุณขึ้นเริ่มเช้าของวันใหม่  พร้อมทั้งเขาได้ทำละหมาดตะรอเวียะห์เพื่อสร้างคุณค่าให้กับคืนนั้นด้วย