อาหารฮาลาลในบทบัญญัติอิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  76791

อาหารฮาลาลในบทบัญญัติอิสลาม 

 

อ.อัสมัน แตอาลี

เอกสารประกอบการบรรยาย ณ ห้องประชุม รพ.ปัตตานี


บทบัญญัติในอิสลาม

           บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องการกระทำของมนุษย์ อันถือเป็นภาระหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด มี 5 ประการ ด้วยกัน

     1. วาญิบ(واجِب) หมายถึง การบังคับใช้ให้กระทำอย่างเด็ดขาด เช่น ละหมาดห้าเวลา ถือศีลอดเดือนรอมฎอน ปกปิดเอาเราะฮฺ และการรับประทานอาหารที่ฮาลาล เป็นต้น อีกทั้งวาญิบยังมี 2 ลักษณะคือ วาญิบอัยนีย์และวาญิบกิฟาอีย์

     2. หะรอม (حَرام) หมายถึง การห้ามอย่างเด็ดขาด เช่น ห้ามทำร้ายผู้อื่น ห้ามกินดอกเบี้ย และห้ามรับประทานอาหารที่หะรอมเป็นต้น

     3. สุนัต (سُنة) หมายถึง การบังคับใช้ให้กระทำอย่างไม่เด็ดขาดหรือส่งเสริมให้กระทำ เช่น การละหมาดสุนัต การถือศีลอดสุนัต การอ่านอัลกุรอาน และการบริจาคทั่วไป เป็นต้น

     4. มักรูฮฺ (مكروه) หมายถึง การห้ามอย่างไม่เด็ดขาดหรือการกระทำที่ไม่พึงประสงค์ เช่น การรับประทานอาหารที่มีกลิ่นจัด

     5. มุบาหฺ (مباح) หมายถึง การให้เลือกระหว่างจะกระทำหรือละเว้นโดยไม่มีการบังคับใดๆ เช่น กิจกรรมทั่วไป ได้แก่ การกิน การดื่ม การนั่ง การยืน การนอน


บทบัญญัติที่เกี่ยวกับอาหารฮาลาล

          ความหมายของ ฮาลาล (حلال / Halal) หมายถึง สิ่งที่อนุมัติตามบทบัญญัติอิสลาม ซึ่งตรงข้ามกับหะรอม หมายถึง สิ่งที่ต้องห้ามตามบทบัญญัติอิสลาม


บทบัญญัติอิสลามที่เกี่ยวกับอาหารเพื่อการบริโภคนั้นมี 3 ประเภท คือ

     - อาหารฮาลาล หมายถึง อาหารที่อนุมัติ

     - อาหารหะรอม หมายถึง อาหารที่ไม่อนุมัติ

     - อาหารมัชบูฮฺ หรือ ชุบฮาต หมายถึง อาหารที่ยังมีข้อเคลือบแคลงหรือน่าสงสัย ที่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าฮาลาลหรือหะรอม จนกว่าจะผ่านการตรวจสอบ พิสูจน์ และวินิจฉัย ซึ่งตามหลักการแล้วให้หลีกเลี่ยง

 

หลักการต่างๆ เกี่ยวกับอาหารฮาลาล

 

1. ฮาลาลด้วยตัวของมันเอง 

ลักษณะฮาลาล ณ ที่นี้ หมายถึง

 - ต้องไม่เป็นนะญิส(สิ่งสกปรก) ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท

1) นะญิส มุค็อฟฟะฟะฮฺ (เบา) ได้แก่ ปัสสาวะเด็กชายอายุไม่เกินสองปีที่กินแต่นมแม่

2) นะญิส มุตะวัสสิเฏาะฮฺ (ปานกลาง) ได้แก่ อุจจาระ ปัสสาวะ เลือด มูลสัตว์ ซากสัตว์ และอื่นๆ

3) นะญิส มุฆ็อลละเซาะฮฺ (หนัก) ได้แก่ สุกรและสุนัข

      - ต้องไม่เป็นสัตว์ที่มีเขี้ยว งา และกรงเล็บที่แข็งแรง และใช้อวัยวะดังกล่าวนั้นในการหาอาหาร เช่น สิงโต เสือ หมี ช้าง และสัตว์อื่น ๆที่มีลักษณะคล้ายกันนี้รวมถึงนกทุกชนิดที่มีกรงเล็บ เช่น แร้ง เหยี่ยว เป็นต้น

      - ต้องไม่เป็นสัตว์ที่ไม่อนุญาตให้ฆ่าตามหลักการศาสนาอิสลาม เช่น มด และนกหัวขวาน

      - ต้องไม่เป็นสัตว์ที่พิจารณาโดยทั่วไปแล้วว่าเป็นสัตว์ที่น่ารังเกียจ เช่น เหา แมลงวัน หนอน ค้างคาว และสัตว์อื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายกัน

      - ต้องไม่เป็นสัตว์เลื้อยคลานหรือมีพิษร้าย เช่น กิ้งก่า งู และและสัตว์อื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายกัน

      - ต้องไม่เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ

อัลลอฮฺได้ตรัสในบทที่ 2 อัลบะเกาะเราะฮฺ โองการที่ 173 ว่า

﴿إِنَّمَا حَرَّمَ عَلَيْكُمُ الْمَيْتَةَ وَالدَّمَ وَلَحْمَ الْخِنزِيرِ وَمَا أُهِلَّ بِهِ لِغَيْرِ اللهِ﴾ (البقرة : 173)

"แท้จริงพระองค์ทรงห้ามรับประทานซากสัตว์ เลือด เนื้อสุกร และสัตว์ที่เชือดเพื่อสิ่งอื่นนอกเหนือจากอัลลอฮฺ"

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวความว่า

"ท่านรอซูลศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัมได้ห้ามรับประทานสัตว์ที่มีเขี้ยวและนกที่มีกรงเล็บ"

(บันทึกโดยมุสลิม 3574)

2. วิธีการได้มาอาหารดังกล่าวก็ต้องฮาลาล

         ท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัมได้กล่าวความว่า

"แท้จริงอัลลอฮฺทรงโปรดสิ่งที่ดี ดังนั้นพระองค์จะไม่ทรงตอบรับ ยกเว้นสิ่งที่ดีเท่านั้น"

(บันทึกโดยมุสลิม ในกิตาบอัซซะกาต บาบเกาะบูลเศาะดะเกาะฮฺมินัลกัสบิฏฏ็อยยิบ)

 

3. ต้องเป็นสิ่งที่มีประโยชน์

อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

﴿وَكُلُواْ مِمَّا رَزَقَكُمُ اللّهُ حَلاَلاً طَيِّباً وَاتَّقُواْ اللّهَ الَّذِيَ أَنتُم بِهِ مُؤْمِنُونَ﴾ (المائدة : 88 ) 

     "และจงบริโภคจากสิ่งที่อัลลอฮฺได้ทรงให้เครื่องยังชีพแก่สู่เจ้าซึ่งสิ่งที่อนุมัติและที่ดีมีประโยชน์

     และจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ผู้ซึ่งพวกเจ้าศรัทธาในพระองค์"

(อัลมาอิดะฮฺ : 88)


4. ต้องมีความสะอาด ไม่มีสิ่งเจือปนจากนะญิส

           อิสลามถือว่าอาหารที่ฮาลาลจะต้องเป็นอาหารที่ อัลลอฮฺอนุมัติสามารถบริโภคได้ และต้องไม่ปนเปื้อนสิ่งที่เป็นนะญิสหรือสิ่งสกปรกใดๆ  อิสลามได้กำหนดน้ำที่จะต้องชำระล้างวัตถุดิบที่จะเอาไปประกอบเป็นอาหารจะต้องเป็นน้ำสะอาด และเป็นน้ำที่อนุญาตให้ใช้ได้ตลอดจนได้กำหนดกฎเกณฑ์ วิธีการชำระล้างที่ละเอียดเพื่อให้ได้อาหารที่สะอาด


5. ต้องผ่านกระบวนการเชือดที่ถูกต้องตามหลักการ

           สัตว์บกและสัตว์ปีกทุกชนิดที่ได้รับการอนุมัติให้บริโภคได้นั้นจะต้องผ่านกระบวนการเชือดที่ถูกต้องตามหลักการอิสลามก่อนจะนำมาประกอบเป็นผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล ดังนั้นสัตว์บกหรือสัตว์ปีกที่ตายเอง เป็นโรคตาย ถูกรถชนตาย ถูกตีตาย ตกเขาหรือจากที่สูงตาย ฯลฯ รวมถึงที่ถูกเชือดโดยผู้อื่นที่มิใช่มุสลิมหรือมิได้กล่าวด้วยพระนามของอัลลอฮฺถือว่าเป็นซากสัตว์ ซึ่งอิสลามถือว่าหะรอมนำมาบริโภคไม่ได้

 

6. อุปกรณ์ ภาชนะที่บรรจุอาหารและสถานที่ในการผลิตต้องสะอาดเช่นกัน

           อิสลามยัง ได้กำหนดถึงสถานที่และ ภาชนะ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตอาหารต้องสะอาดด้วย ท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัมได้กล่าวความว่า

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัมได้กล่าวว่า

 "ถ้าหากสุนัขเลียภาชนะของพวกท่าน ก็จงล้างด้วยน้ำเจ็ดครั้ง โดยครั้งแรกให้ล้างด้วยน้ำผสมดิน"

(บันทึกโดยอันนะซาอีย์ 337)

           ท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัมได้กล่าวความว่า ท่านอะบี ษะอฺละบะฮฺ ถามท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัมว่า เรามีเพื่อนบ้านเป็นชาวคัมภีร์ ซึ่งพวกเขาจะนำเนื้อสุกรมาทำอาหารในหม้อของเขา และใช้ภาชนะใส่สุราเพื่อดื่มกิน ท่านจึงตอบว่า

     "ถ้าหากท่านสามารถหาภาชนะอื่นได้ก็ใช้ภาชนะอื่นไว้ดื่มกิน แต่หากไม่มีก็จงนำภาชนะดังกล่าวมาชำระล้างให้สะอาด และใช้ดื่มกินได้"

(บันทึกโดยอบู ดาวูด อัล-อัลบานีย์ กล่าวว่าเศาะฮีหฺ ดูในเศาะฮีหฺ อบี ดาวูด เล่ม 2 หน้า 727)


7. ผู้ประกอบอาหารควรเป็นมุสลิมหรือผู้ที่มีความเข้าใจในหลักการอิสลาม

     ท่านอะบี ษะอฺละบะฮฺ ถามท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัมว่า "โอ้ท่านรอซูล ภาชนะของผู้ที่ตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ เราสามารถนำมาใช้ในการทำอาหารได้หรือไม่"

     ท่านจึงตอบว่า "ท่านจงอย่านำมาใช้ในการทำอาหาร"

     เขากล่าวว่า "ถ้าหากเรามีความจำเป็นและเราก็ไม่มีภาชนะอื่นอีกแล้ว "

     ท่านจึงตอบว่า "ท่านจงนำภาชนะดังกล่าวมาชำระล้างให้สะอาด หลังจากนั้นก็จงใช้ในการทำอาหารและรับประทานอาหารได้"

(บันทึกโดยอิบนุ มาญะฮฺ อัล-อัลบานีย์ กล่าวว่าเศาะฮีหฺ ดูในเศาะฮีหฺอิบนุมาญะฮฺ เล่ม 2 หน้า 134)

 

8. ต้องคำนึงถึงความประหยัดหรือความพอดี

อัลลอฮฺ ตรัสในอัลกุรอาน

﴿وكُلُواْ وَاشْرَبُواْ وَلاَ تُسْرِفُواْ إِنَّهُ لاَ يُحِبُّ الْمُسْرِفِينَ﴾ (الأعراف : 31 )

"และพวกเจ้าทั้งหลายจงกิน จงดื่ม และจงอย่าฟุ่มเฟือย แท้จริงพระองค์ทรงไม่รักผู้ที่ฟุ่มเฟือย"

(อัลอะอฺรอฟ โองการที่ 31)

 

9. ต้องชูกูรฺ(ขอบคุณ) ต่ออัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้าที่ได้ทรงประทานอาหารให้

อัลลอฮฺ ตรัสว่า

﴿يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ كُلُواْ مِن طَيِّبَاتِ مَا رَزَقْنَاكُمْ وَاشْكُرُواْ لِلهِ إِن كُنتُمْ إِيَّاهُ تَعْبُدُونَِِِِ﴾ (البقرة : 172 )

     "บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงบริโภคสิ่งที่เราได้ให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้า จากสิ่งดี ๆ ทั้งหลาย

     และจงขอบคุณอัลลอฮฺเถิด พระองค์เท่านั้น ที่พวกเจ้าจะต้องเคารพสักการะ"

(อัลบาเกาะเราะฮฺ โองการที่ 172)

พระองค์ตรัสอีกว่า

﴿وَإِذْ تَأَذَّنَ رَبُّكُمْ لَئِن شَكَرْتُمْ لأَزِيدَنَّكُمْ﴾ (إبراهيم : 7 )

"และเมื่อพระผู้อภิบาลของพวกเจ้าได้ประกาศว่า หากพวกเจ้าขอบคุณ แน่แท้ข้าก็จะเพิ่มพูนแก่พวกเจ้า"

(อิบรอฮีม โองการที่ 7)

 

10. รู้จักใช้หลักการ รุคเศาะฮฺ(การผ่อนปรน) ในภาวะจำเป็นเพื่อรักษาชีวิต

           อิสลามได้กำหนดทางออกไว้ในภาวะที่จำเป็น(เฎาะรูเราะฮฺ) โดยกำหนดหลักการ รุคเศาะฮฺ (การผ่อนปรน) ซึ่งจะเกิดความยากลำบากหรือถึงขั้นสูญเสียชีวิตหากปฏิบัติตามบทบัญญัติที่ได้กำหนดในภาวะปกติ เช่น การรับประทานอาหารที่หะรอมเพื่อประทังชีวิตโดยไม่ละเมิดขอบเขต อัลลอฮฺได้ตรัสในบทที่ 2 อัลบะเกาะเราฮฺ โองการที่ 173 ว่า


﴿إِنَّمَا حَرَّمَ عَلَيْكُمُ الْمَيْتَةَ وَالدَّمَ وَلَحْمَ الْخِنزِيرِ وَمَا أُهِلَّ بِهِ لِغَيْرِ اللهِ فَمَنِ اضْطُرَّ غَيْرَ بَاغٍ وَلاَ عَادٍ فَلا إِثْمَ عَلَيْهِ﴾ (البقرة : 173 )

   

     "แท้จริงพระองค์ทรงห้ามรับประทานซากสัตว์ เลือด เนื้อสุกร และสัตว์ที่เชือดโดยมิได้กล่าวนามอัลลอฮฺ

     แต่หากผู้ใดก็ตามมีความจำเป็น โดยมิได้ตั้งใจและละเมิด ก็ไม่เป็นการบาปสำหรับเขา"

 

Islam House